Last Place Aversion เมื่อคนตรงกลาง พร้อมสนับสนุนคนเบื้องบน แต่ไม่อยากให้คนข้างล่างก้าวขึ้นมาทัดเทียม
ถ้าคุณเป็นคนที่อยู่ตรงกลาง แล้วคุณมีเงินอยู่ 20 บาท คุณสามารถแจกเงินจำนวน 10 บาทให้ใครก็ได้
คุณจะเลือกให้คนที่มี 30 บาท หรือเลือกให้คนที่มีเงิน 10 บาท?
หากพูดถึงเรื่องการกระจายรายได้ หลายคนน่าจะมีมิติของความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป แต่ถ้าสังคมมนุษย์โดยภาพรวมล่ะ เขามองประเด็นนี้กันอย่างไร?
Ilyana Kuziemko เเละ Michael Norton ทำการศึกษาเกี่ยวกับการกระจายรายได้ใหม่ (Income Redistribution) ได้ข้อสรุปว่า
คนที่มีรายได้สูงมักจะเลือกให้เงินคนที่มีรายได้ที่ต่ำกว่า
ส่วนคนที่รายได้น้อยมักจะเลือกให้เงินคนที่อยู่ในชนชั้นใกล้เคียงกัน
แต่…คนรายได้กลางๆ กลับยินดีให้เงินคนที่รวยกว่า มากกว่าให้คนที่มีรายได้น้อยกว่า เพราะถ้าเขาให้เงินคนที่อยู่สูงกว่า จะได้ไม่ตกเป็นบ๊วย (แต่ถ้าให้เงินคนที่มีรายได้น้อยกว่า เขาก็มีความเสี่ยงที่จะถูกตามทันและตกอันดับ)
พฤติกรรมแบบนี้เรียกว่า ‘ความกังวลว่าจะเป็นที่โหล่’ หรือ ‘The Last Place Aversion’
จากการทดลองดังกล่าว และข้อมูลของพฤติกรรม Last Place Aversion สะท้อนถึงพฤติกรรม ‘ไม่อยากบ๊วย’ ที่เป็นเหมือนธรรมชาติของมนุษย์
มนุษย์ที่พร้อมจะทำทุกวิธีทางเพื่อรักษาที่ยืนของตัวเอง โดยไม่ให้คนข้างล่างก้าวขึ้นมาเทียบหรือก้าวล้ำ แต่ขณะเดียวกัน เรากลับรู้สึกไม่เป็นอะไร หากได้สนับสนุนให้คนที่อยู่สูงกว่าเติบโตนำหน้าเราไปเรื่อยๆ
ย้อนกลับมามองสังคมไทย (และสังคมโลก) ทุกครั้งที่เราพูดถึงเรื่อง Last Place Aversion เรามักโยงไปกับเรื่องของความเหลื่อมล้ำอยู่เสมอ
และนี่อาจเป็นเหตุผลว่า ทำไม ‘ชนชั้นกลาง’ ถึงไม่ยินดียินร้าย และยินยอมกับความเหลื่อมล้ำมากขนาดนี้ แถมชนชั้นกลางส่วนใหญ่ยังยินดีสนับสนุนคนเบื้องบน (เช่น นายทุน หรือธุรกิจที่ผูกขาด) ให้อยู่สูงขึ้นไปอีก เพราะรู้สึกไม่เป็นอะไร หากคนที่อยู่สูงกว่าแล้วจะอยู่สูงขึ้นไปอีก
แต่จะหวาดกลัว ถ้าหากคนข้างล่างจะก้าวขึ้นมา เพราะกลัวว่าจะตกชั้นหรือกลายเป็น ‘บ๊วย’ ของสังคมนั่นเองนักวิชาการหลายท่านมองว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลุ่มนายทุนหรือภาคธุรกิจมักจะหยิบยกช่องว่างทางพฤติกรรมนี้มาใช้เป็นกลยุทธ์ในการมอมเมาชนชั้นกลางอยู่เสมอ เอาเข้าจริงไม่ใช่แค่ชนชั้นกลางครับ
คนที่มีรายได้ต่ำบางกลุ่มก็มีพฤติกรรมเช่นเดียวกัน คือจะไม่พยายามสนับสนุนกลุ่มคนที่รายได้ต่ำกว่า เพื่อให้ขึ้นมาทัดเทียมกับตัวเองนอกเหนือจากเม็ดเงินหรือการกระจายรายได้ คนเรามักจะทำพฤติกรรมต่างๆ ที่อาจไม่ดีต่อสังคมสักเท่าไหร่ แต่ก็ทำลงไปเพื่อไม่ให้คนที่อยู่ ‘ล่าง’ กว่าก้าวขึ้นมาล้ำหน้าหรือเทียบเท่าชนชั้นของตัวเอง
อ้างอิง:
- เศรษฐศาสตร์. ทำไมคนจนบางกลุ่มถึง ‘ต่อต้าน’ การกระจายรายได้ใหม่. https://bit.ly/3fWePQ6
- THE STANDARD. งานวิจัยชี้ ทำไมเรามักหมั่นไส้คนที่ได้ดีกว่า. https://bit.ly/2CDT7lm