‘ปลาแลมป์เพรย์’ (Lamprey) จัดเป็น ‘ปรสิต’ ประเภทหนึ่งที่พบได้ท้ังในน้ำจืดและน้ำเค็ม ใช้ชีวิตเวียนว่ายอยู่ทั้งในมหาสมุทรและทะเลสาบ กระจายพันธุ์อยู่ทั่วโลกทั้งยุโรปตอนบน อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ แอฟริกาตะวันตก ญี่ปุ่น เกาหลี ชิลี ออสเตรเลีย และเกาะแทสมาเนีย
ดูเผินๆ จะมีรูปร่างคล้ายปลาไหล แต่ถ้ามันอ้าปากเมื่อไหร่ ใครเห็นก็ต้องผงะ
ด้วยปากที่อยู่ค่อนลงมาทางด้านท้อง ไม่มีขากรรไกร แต่จะมีลักษณะเป็นวงกลมใช้สำหรับดูด มีฟันแหลมคมชวนสยองหลายซี่ (คล้ายๆ กับหนอนทะเลทรายในภาพยนตร์เรื่อง DUNE)
ปลาแลมป์เพรย์จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ ปลาแลมป์เพรย์น้ำจืด และปลาแลมป์เพรย์ทะเล พวกน้ำจืด จะมีชีวิตอยู่แค่ไม่กี่สัปดาห์ เกิดมาก็มีหน้าที่วางไข่เพียงอย่างเดียว เสร็จสิ้นแล้วก็ตายจากกันไป (เพราะร่างกายที่โตเต็มวัยจะมีเพียงแค่สายของเนื้อเยื่อ ไม่มีระบบทางเดินอาหาร กินอะไรไม่ได้)
ส่วนปลาแลมป์เพรย์ทะเลจะมีอายุยืนหน่อย แถมยังใช้ชีวิตสุดโหดด้วยการคอยดูดเลือดจากปลาต่างๆ ที่มันพบ พวกปลาเล็กจะซวยหน่อยเพราะอาจถูกดูดเลือดจนตาย แต่ปลาใหญ่อย่างฉลาม เรื่องราวก็เป็นดังเช่นการถูกทากตัวเล็กดูดเลือด
แม้ปลาปรสิตชนิดนี้จะคอยไล่ล่าเหยื่อไปเรื่อยๆ แต่ตัวพวกมันก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ เป็นแหล่งอาหารให้กับ ปลา นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลอื่นๆ แบ่งปันพลังงานกันอย่างสมดุล
ตามปกติแลมป์เพรย์ทะเลจะวางไข่ในแหล่งน้ำจืดแล้วไปโตในทะเล ว่ายวนอยู่ทางเก่าซ้ำๆ กัน แต่พอมาถึงยุคสมัยที่มนุษย์เรารู้จักระบบชลประทาน เกิดการขุดคูคลองสายใหม่ขึ้นมากมาย เส้นทางชีวิตของพวกมันก็ไม่ได้ว่ายเป็นเส้นตรงอีกต่อไป
การขุดคูคลองเชื่อมแม่น้ำทะเลสาบทำให้ปลาแลมป์เพรย์ส่วนหนึ่งไม่สามารถเดินทางไปถึงทะเลได้ บ้างอาจถูกกระแสน้ำและระบบนิเวศที่เปลี่ยนพัดพาไปพบถิ่นที่อยู่ใหม่ หรือแหล่งอาหารใหม่ๆ โดยเฉพาะในถิ่นที่ไม่มีศัตรูทางธรรมชาติมาคอยกำจัดพวกมัน
เช่นที่ทะเลสาบ ‘เกรตเลคส์’ (Great Lakes – ทะเลสาบทั้ง 5 ได้แก่ สุพีเรีย มิชิแกน ฮูรอน อิรี และออนแทรีโอ) กลุ่มทะเลสาบน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คือสถานที่ที่ถูกปลาแลมป์เพรย์รุกรานอย่างสาหัสมาแล้วหลายครั้งหลายครา
ความที่ปลาในแม่น้ำหรือทะเลสาบมีขนาดไม่ใหญ่นัก เมื่อถูกปลาแลมป์เพรย์ดูดเลือดเมื่อไหร่ จุดจบก็คงไม่รอด และความที่ปลาแลมป์เพรย์ทะเลวางไข่คราวละ 50,000-120,000 ฟอง ก็ย่อมหมายถึงการหายไปของปลาน้ำจืดในหลักแสนเช่นเดียวกัน
ที่ผ่านมาเคยมีบทเรียนเกิดขึ้น ในระหว่าง ค.ศ. 1940-1960 ที่จำนวนปลาเทราต์ใน ‘เกรตเลคส์’ ลดลงอย่างต่อเนื่อง สมมุติจากที่เคยจับได้ 100 ตัว ก็ลดลงเหลือเพียง 2 ตัว
ด้วยปัญหาที่เคยมี จึงเกิดความพยายามขจัดปัญหาการรุกรานของปลาแลมป์เพรย์ในทะเลสาบต่างๆ ด้วยการสร้างเขื่อนกักขังในฤดูวางไข่ มีการใช้สารเคมีที่ไม่เป็นอันตรายต่อปลาชนิดอื่นๆ พ่นลงไปทำลายไข่ปลา สามารถกำจัดได้ราวๆ 98 เปอร์เซ็นต์
มนุษย์เราทำแบบนี้เรื่อยมา ยอมจ่ายราคาที่ไม่จำเป็น เพื่อกำจัดข้อผิดพลาดที่เราทำในอดีต
กระทั่งโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก หน้าที่การงานหลายอย่างต้องชะงักงัน งานกำจัดไข่ปลาแลมป์เพรย์ทะเลก็ต้องหยุดลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปลาแลมป์เพรย์ทะเลสามารถวางไข่ได้อย่างปลอดภัย
แต่เพราะระยะฟักตัวของปลาชนิดนี้จะใช้เวลาราวๆ 3-4 ปี ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา จึงยังไม่เกิดผลกระทบใดๆ
คาดว่าไข่จะค่อยๆ ฟักตัวหลังจากสิ้นปีนี้เป็นต้นไป และปลาแลมป์เพรย์ทะเลก็จะกระจายตัวรุกรานไปทั่ว ‘เกรตเลคส์’
หลังจากนั้นจะเกิดผลกระทบกับปลาในทะเลสาบมากน้อยแค่ไหน ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป
- อ้างอิง
- Nature World News, Blood-Hungry Parasitic Sea Lampreys Invade Great Lakes, May Cause Millions of Damages, https://shorturl.asia/lH6Tn
- New Week, Invasive Blood-Sucking Lampreys Are About To Spawn in Great Lakes, https://shorturl.asia/w3mQ0