ครบรอบ 64 ปี ‘ไลกา’ หมาอวกาศ ผู้ตายอย่างโดดเดี่ยว และถูกจดจำเอาไว้ในวัฒนธรรมป็อป
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 1957 ซึ่งตรงกับวันนี้เมื่อ 64 ปีที่แล้ว สหภาพโซเวียตประกาศความเป็นผู้นำด้านอวกาศด้วยการยิงจรวดส่งดาวเทียมบรรทุก ‘สิ่งมีชีวิต’ ขึ้นไปยังวงโคจรนอกโลกเป็นครั้งแรก
ผู้ถูกเลือกในครั้งนั้น คือ ‘ไลกา’ (Laika) สุนัขพันทางเพศเมียไร้เจ้าของ อายุราว 3 ปี ที่ผ่านการทดสอบด้านสุขภาพ และ ‘ความเชื่อง’ โดยโครงการอวกาศโซเวียต (SSP) ในยุคนั้น
เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์และการเรียนรู้ Smithsonian ระบุว่า SSP ทดสอบสุนัขหลายตัวด้วยการจับพวกมันใส่ในแคปซูลที่ทนทานต่อแรงดันและการสั่นสะเทือน รวมถึงสวมอุปกรณ์ช่วยขับถ่ายติดตัว แต่สุนัขหลายๆ ตัวซึ่งถูกจับมาพร้อมไลกาไม่ชอบ ทั้งยังดิ้นรนขัดขืนอย่างเต็มที่ แต่ไลกา ‘นิ่ง’ กว่าสุนัขตัวอื่นๆ ทั้งยังตัวเล็ก เหมาะกับพื้นที่ในดาวเทียม ‘สปุตนิก 2’ ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางฐาน 2 เมตร กับความสูงราว 4 เมตรเท่านั้น
มีข่าวลือด้วยว่าในตอนแรก นักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่ของ SSP เลือกสุนัข 2 ตัว คือ ‘คูดรียาฟกา’ (Kudryavka) ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า ‘ไลกา’ (Laika) และ ‘อัลบินา’ (Albina) ซึ่งเพิ่งจะคลอดลูกก่อนถึงกำหนดเริ่มภารกิจอวกาศได้ไม่นาน และถูกใจเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลจนขอเลี้ยงไว้เอง เพราะรู้ดีว่าสุนัขที่ถูกส่งออกไปจะไม่มีทางรอดชีวิตกลับมา เนื่องจากเคยทดลองมาก่อนแล้วหลายครั้ง แต่สุนัขทั้งหมดตายระหว่างทางขึ้นสู่วงโคจร
อย่างไรก็ตาม สาเหตุเบื้องหลังที่ไลกาถูกเลือกไปปฏิบัติภารกิจแทนสุนัขอีกตัว ไม่เคยได้รับการยืนยันข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน
สิ่งหนึ่งที่ SSP ยอมรับ คือ ข้อเท็จจริงว่าไลกาได้รับการดูแลอย่างดีโดยเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง ก่อนจะถูกส่งไปสู่อวกาศ และแม้ว่ามันจะต้องตายอย่างโดดเดี่ยวในความเวิ้งว้างห่างไกลนอกโลก แต่ก็ไม่ทรมานมากนัก เพราะออกซิเจนในยานสปุตนิก 2 ค่อยๆ ลดลงจนหมดไป และทำให้ไลกาตายอย่างสงบในเวลาไม่กี่นาทีหลังจากที่ดาวเทียมดังกล่าวแตะวงโคจรได้สำเร็จ
หลังจากนั้นอีกราว 5 เดือน เศษซากดาวเทียมสปุตนิก 2 ก็ร่วงลงมายังโลก แถวๆ ทะเลแคริบเบียน และร่างของไลกาก็ถูกเผาไหม้ไปพร้อมกับยาน
สหภาพโซเวียตฉลองความสำเร็จในการส่งสิ่งมีชีวิตขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ และประกาศว่าไลกาเป็นดัง ‘ผู้กล้า’ ที่ต้องยกย่อง และมีการนำภาพไลกาไปทำเป็นของที่ระลึก รวมถึงผลิตภัณฑ์อีกมากมาย ทั้งแสตมป์ บุหรี่ กล่องคุกกี้ โปสการ์ด รวมถึงปกหนังสือเกี่ยวกับโครงการด้านอวกาศ

Laika | wikipedia.org
แม้แต่ยุคหลังๆ มาจนถึงปัจจุบันก็ยังมีคนพูดถึงไลกา โดยแง่หนึ่งก็พูดถึงในฐานะ ‘ผู้สละชีวิต’ จนเกิดก้าวกระโดดด้านเทคโนโลยีอวกาศแก่มนุษยชาติ เพราะช่วงนั้นสภาพโซเวียตยังไม่ล่มสลาย และอยู่ในช่วงที่กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือดกับสหรัฐอเมริกาเพื่อชิงการนำด้วยการเป็นมหาอำนาจด้านต่างๆ ยุคสงครามเย็น
การที่ไลกาขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีจนนำไปสู่ภารกิจส่งมนุษย์คนแรกไปยังนอกโลก คือ ‘ยูริ กาการิน’ ที่เดินทางสู่วงโคจรในอวกาศได้สำเร็จและกลับมาได้อย่างปลอดภัยครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 เมษายน 1961
แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่มองว่าไลกาถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และถ้าเหตุการณ์เกิดขึ้นสมัยนี้ก็คงจะหนีไม่พ้นข้อกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิสัตว์
ไลกาจึงถูกรำลึกถึงในงานสตรีทอาร์ตและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่แพร่หลายในวัฒนธรรมป็อป เช่น เสื้อยืด โปสการ์ด หรือเข็มกลัด ที่มีผู้ทำออกจำหน่ายกันในหลายประเทศที่เคยเป็นอดีตสหภาพโซเวียต
อ้างอิง
- Soviet space dogs – in pictures https://bit.ly/3GSwOoq
- The Sad, Sad Story of Laika, the Space Dog, and Her One-Way Trip into Orbit https://bit.ly/3GGTtnq