รวมฮิตหนังกระสือไทยปี 2545-2566 21 ปีมานี้คาแรกเตอร์ผีสาวหัวกับไส้ถูกเล่าใหม่ท่าไหนบ้าง

4 Min
2426 Views
02 Apr 2023

กระสือตำนานผีไทย ผีสาวที่พาหัวกับไส้ลอยละล่องออกไปหากินยามค่ำคืน มักถูกผลิตซ้ำในหนังไทยบ่อยๆ แทบทุกยุคสมัยแบบไม่มีทีท่าว่าจะเบื่อหน่าย จนได้บันเทิงกันทั้งคนสร้างสรรค์และคนดู

คนส่วนใหญ่น่าจะคุ้นเคยกับคุณลักษณะเฉพาะตัวของกระสือกันมาแล้ว ตั้งแต่ต้องเป็นเพศหญิง ถอดหัวไปพร้อมตับไตไส้พุงที่มีแสงวาบๆ แล้วทิ้งร่างกายไว้ที่บ้าน มีพฤติกรรมชอบกินของคาวๆ สดๆ บางรายหนักขนาดถึงกินอึ และส่วนใหญ่มักจะเป็น Introvert ไม่นิยมสุงสิงกับใคร (แหม อินเทรนด์ซะด้วย) หรือถูกกีดกันออกไปจากสังคมก็มี

กระสือไม่ได้มีแค่ในไทย แต่เป็นลักษณะร่วมของผีแบบเดียวกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจจะมีรายละเอียดของชื่อและสไตล์ต่างกันไปบ้างตามพื้นที่ ซึ่งเมื่อคนเซาท์อีสต์เอเชียเก็ตเรื่องผีกระสือร่วมกันได้ขนาดนี้ การส่งออกหนังเกี่ยวกับกระสือของเราไปยังประเทศเพื่อนบ้านก็น่าจะไม่ได้เป็นเรื่องยากจนเกินไป

ว่าแต่หนังกระสือไทยในรอบสองทศวรรษนี้ วงการหนังบ้านเราดีไซน์คาแรกเตอร์กระสือออกมาในท่าไหนกันบ้าง BrandThink Cinema คัดเลือกและรวมตัวตนปังๆ ของพวกชีมาให้คุณได้ลองสำรวจพร้อมกันแล้ว

ตำนานกระสือ (2545)
อุ้ม-ลักขณา อมิตรสูญ รับบทเป็น ‘ตาราวตี’
กำกับโดย บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์

กระสือเวอร์ชั่นนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 1763 เมื่อ ขุนศรีอินทราทิตย์ จากชนเผ่าไทยตีเมืองเขมราชปุระ เมืองที่อยู่ทางด้านเหนือของกรุงละโว้ราชธานีจนแตก

‘ตาราวตี’ ถูกจับเป็นเชลยศึกมายังเมืองแห่งใหม่ เพราะความสาวความสวยจึงถูกคัดเป็นสนมของเจ้าเมือง แต่เธอดันรักกับทหารหนุ่มเลยถูกจับตัดคอ แต่หัวกับไส้ถูกเซฟให้ปลอดภัย จึงลอยหนีไปได้ด้วยมนตร์ของแม่เฒ่าที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นเชลยพร้อมกัน

ความโดดเด่นของกระสือฉบับนี้คือการที่แบ็กกราวด์ของตัวละครย้อนยุคไปไกลถึง 800 ปี แถมเธอยังสามารถไปสิงร่างคนตายในหมู่บ้านแห่งหนึ่งได้อีก หลังจากนั้นก็เป็นกระสือเขี้ยวแหลม มีสัญลักษณ์เหมือนยันต์บริเวณกลางหน้าผาก เวลาหัวออกจากร่างจะเปลือยอกและมีรอยแยกผ่ากลางออกจากคอลงไปจนถึงสะดือ และด้วยแรงอาฆาตก็เลยเฮี้ยนสะบัดแบบไม่เกรงใจใคร แถมเวอร์ชั่นนี้เฮี้ยนขนาดลอยไปกัดคอคนอื่นตายได้ด้วย

กระสือวาเทนไทน์ (2549)
พลอย จินดาโชติ รับบทเป็น ‘สาว’
กำกับโดย ยุทธเลิศ สิปปภาค

กระสือเวอร์ชั่นนี้มาในรูปแบบของหนังแนวพีเรียด เป็นหนังกระสือที่มีปมชีวิตอันสลับซับซ้อน บอกเล่าผ่านเรื่องราวดราม่าเข้มข้น ขณะเดียวกันก็โรแมนติกมากๆ ด้วยเช่นกัน

เริ่มจาก ‘สาว’ เป็นพยาบาลตกหลุมรักกับภารโรงชื่อหนุ่ม กระสือเวอร์ชั่นนี้คนเป็นกระสือยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็น แต่อาการของสาวจะค่อยๆ คลี่คลายมากขึ้นตามลำดับ

ต้นกำเนิดของกระสือในเรื่องนี้ค่อนข้างมีเอกลักษณ์ เพราะที่มาที่ไปข้องเกี่ยวกับเรื่องเวรกรรม กฎของการกระทำที่ส่งผลจากอดีตชาติสู่ปัจจุบัน จนผลลัพธ์คือการเป็นกระสือที่ทั้งเศร้าสร้อย อาภัพ และน่าขนลุก ส่วนในแง่ภาพลักษณ์ เวอร์ชั่นนี้เป็นกระสือที่เรียบง่าย ธรรมชาติ และดูเรียลไม่หวือหวา ทว่าเธอมีชีวิตที่ขมขื่นสุดๆ

กระสือฟัดปอบ (2552)
ทราย-อินทิรา เจริญปุระ รับบทเป็น ‘น้ำผึ้ง’
กำกับโดย นะติ พันธุ์มณี

ฮอลลีวูดมี Freddy vs Jason หรือ Alien vs Predator ฉันใด ปี 2552 บ้านเราก็มีการ cross จักรวาลกระสือฟัดปอบกับเขาด้วยฉันนั้น

เรื่องนี้แหวกแนวตรงที่เป็นหนังตลกเบาสมอง ซึ่งหยิบยกเอากระสือมาปะทะกับปอบแบบไม่มีใครยอมใคร และในบ้านเราก็น่าจะยังไม่เคยมีหนังไทยเรื่องไหนนำสองตำนานผีเฮี้ยนมาฟัดกันปั่นป่วนอลวน

ยิ่งไปกว่านั้นกระสือเวอร์ชั่น ทราย เจริญปุระ ยังเป็นกระสือสาวที่สวยกตัญญู และเป็นคนดี เวลาปอบที่เอาแต่กระหายเลือดสุดๆ จะมาทำร้ายคนทีไรก็เข้ามาช่วยชีวิตมนุษย์ไว้ได้ทุกครั้ง ภาพลักษณ์ของกระสือในเรื่องนี้จึงเป็นตัวแทนของฝ่ายธรรมะเข้ามาปราบอธรรม ส่วนในแง่เทคนิคกระสือเวอร์ชั่นนี้มีลักษณะตามขนบไม่หวือหวา

แสงกระสือ (2562)
มินนี่-ภัณฑิรา พิพิธยากร รับบทเป็น ‘สาย’
กำกับโดย สิทธิศิริ มงคลศิริ

ความน่าสนใจของแสงกระสือคือการตีความกระสือใหม่ในรูปแบบโรแมนติกแฟนตาซี ซึ่งเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบเกิดขึ้นในเขตชนบทห่างไกลพระนคร

เรื่องนี้เป็นหนังกระสือรักสามเส้า ซึ่งแม้จะตีความหมายใหม่ แต่การได้รับเชื้อกระสือของนางเอกเป็นไปตามขนบการถ่ายทอดทางน้ำลาย วิชวลของกระสือแปลกใหม่เพราะเมื่อกลายร่างจะมีดวงตาสีขาวขุ่น พร้อมเส้นเลือดและรอยบอบช้ำปรากฏขึ้นบนใบหน้าและร่างกายของนางเอก แถมยังทิ้งร่องรอยช้ำนั้นเอาไว้หลังหัวกลับเข้าร่างแล้ว ราวกับเป็นการตอกย้ำความผิดบาปที่ตัวละครต้องเผชิญ นับว่าเป็นดีเทลใหม่ไม่ซ้ำใครมาก่อน

ที่สำคัญ ความสนุกของหนังอีกประการก็คือ การช่วยลุ้นให้นางเอกหาทางรักษาตัวเองให้หายขาด กลับมาเป็นคนปกติด้วยวิธีการต่างๆ ให้จงได้

กระสือสยาม (2562)
มิวนิค-นันท์นภัส เลิศนามเชิดสกุล รับบทเป็น ‘โมรา’
กำกับโดย ปรัชญา ปิ่นแก้ว

กระสือสยามคือกระสือร่วมสมัยที่มีความโมเดิร์นฉูดฉาด ดำเนินเรื่องในยุคปัจจุบันและน่าจะเป็นเรื่องแรกๆ เลยที่กระสืออยู่ใจกลางเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ บอกเล่าด้วยโทนเรื่องรูปแบบแอ็กชั่น-ไซไฟ มาพร้อมกับภาพลักษณ์ของกระสือซีจี ที่มีการถอดหัวแบบบิดหมุนออโตเมติกจากหน้ามาหลัง มีรูปทรงของไส้ล้ำจินตนาการ และบินโฉบเฉี่ยวเร็วไว ทั้งยังมีฝูงกระสือฝ่ายร้ายรูปลักษณ์เหมือนแม่มดปีศาจที่ตามล่า ‘โมรา’ นางเอกของเรื่องแบบไม่รู้เหนื่อยอีกด้วย

แสงกระสือ 2 (2566)
นิ้ง-ชัญญา แม็คคลอรี่ย์ รับบทเป็น ‘สาว’
กำกับโดย ปภังกร ปุญจันทรักษ์

‘แสงกระสือ 2’ ดำเนินเรื่องต่อจากภาคแรก ‘สาว’ นางเอกของเรื่องรับเชื้อมาจากน้อยผู้เป็นพ่อ ซึ่งเป็นพระเอกจากแสงกระสือที่บ้านโคกอีนวล การจุมพิตกับสายครั้งนั้นส่งผลโดยตรงต่อเชื้อสายกระสือมาสู่ลูกของเขาในที่สุด

กระสือเวอร์ชั่นสาวถูกดีไซน์การกลายร่างด้วยท่าสะพานโค้งลอยคว้างกลางอากาศ ชวนให้นึกถึงหนังอย่าง The Exorcist ส่วนไส้ของสาวมีลักษณะคล้ายรยางค์หนวดปลาหมึกถี่ๆ ทั้งยังมีไฟติดๆ ดับๆ ตอนกำลังกลายร่าง นับเป็นอีกมิติใหม่ของหนังกระสือไทยที่กล้าดีไซน์ให้มีความแปลกใหม่ไปในอีกรูปแบบหนึ่ง