3 Min

รู้หรือไม่ ปลาไหลไฟฟ้าไม่ใช่ปลาไหล แถมบางทีมันอาจช็อตตัวเองได้ด้วย

3 Min
3314 Views
21 Jul 2022

สัตว์ต่างๆ ในโลกนี้ล้วนมีความสามารถเฉพาะตัวแปลกๆ อย่างไรก็ดี ถ้าจะให้พูดถึงความสามารถที่ประหลาดที่สุดแบบที่มนุษย์มีบ้างก็คงจะเป็นยอดมนุษย์มันก็คงจะเป็นความสามารถในการปล่อยกระแสไฟฟ้าของปลาไหลไฟฟ้า

ปลาไหลไฟฟ้าเอาจริงๆ แล้วชื่อมันเป็นปลาไหลแต่มันไม่ใช่ปลาไหล แต่มันเป็นตระกูลปลาใบมีด’ (Knife fish) ซึ่งก็คือปลาที่มีลักษณะคล้ายๆ ปลากรายบ้านเรา นอกจากนี้ปลาไหลไฟฟ้ามันก็เป็นญาติที่ใกล้เคียงกับปลาดุกมากกว่าปลาไหลเสียอีก

ซึ่งเอาจริงๆ ความสามารถในการปล่อยกระแสไฟฟ้าของสัตว์โลกก็ไม่ได้มีแต่ในปลาไหลไฟฟ้า แต่ปลาอีกจำนวนมากตั้งแต่ ปลาดุก ปลากระเบน ไปจนถึงปลาอีกหลายพันธุ์ก็มีความสามารถในการปล่อยกระแสไฟฟ้าได้เช่นกัน

แต่ที่ปลาไหลไฟฟ้าเด่นสุด ก็เพราะกระแสไฟฟ้าที่มันปล่อยออกมานั้นแรงที่สุด จนมนุษย์จับมันมาศึกษาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว ก่อนที่บ้านเรือนมนุษย์จะมีไฟฟ้าใช้เสียด้วยซ้ำ

ก่อนที่จะหลุดไปไกล เรามาตอบคำถามที่หลายคนอาจสงสัยมาตั้งแต่เด็กๆ ดีกว่า ว่าปลาไหลไฟฟ้าปล่อยกระแสไฟฟ้าได้อย่างไร? มันมีแบตเตอรี่อยู่ในตัวหรือว่าอะไร?

ถ้าจะตอบง่ายๆ ไม่ให้ซับซ้อนมาก ปลาไหลไฟฟ้าไม่ได้มีแหล่งกำเนิดไฟฟ้าพิเศษหรือแบตเตอรี่อะไรในตัว กระแสไฟฟ้าในตัวของมันโดยพื้นฐานเกิดจากการทำงานของการไหลเวียนของสารเคมีในเซลล์ประสาทและเซลล์กล้ามเนื้อต่างๆ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่สิ่งมีชีวิตจำนวนมากก็มี มนุษย์เองก็มี ดังที่เราอาจเคยได้ยินว่า ระบบร่างกายของเรานั้นจริงๆ มันมีกระแสไฟฟ้าแล่นอยู่

แต่ประเด็นก็คือ ในสิ่งมีชีวิตปกติ การทำงานของเซลล์ประสาทเป็นล้านๆ เซลล์พวกนี้ มันไม่ได้ทำงานพร้อมกัน ดังนั้นกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในชั่วจังหวะหนึ่งจึงน้อยมากๆ แต่สำหรับปลาไหลไฟฟ้า (และบรรดาปลาไฟฟ้าต่างๆ) เซลล์พวกนี้จะมีลักษณะในการเชื่อมกับระบบประสาทแบบพิเศษ ซึ่งผลคือมันสามารถสั่งให้เซลล์ทั้งหมดทำงานพร้อมๆ กัน และปล่อยกระแสไฟฟ้าอย่างรุนแรงออกมาได้ (อธิบายง่ายๆ คือ ในขณะที่สมองของมนุษย์สั่งให้เซลล์กล้ามเนื้อมนุษย์หดตัวและทำให้เบ่งกล้ามได้ สมองของปลาไหลไฟฟ้าก็สามารถสั่งให้เซลล์เล็กๆ จำนวนมากของมันทำงานพร้อมๆ กันและปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมาได้) ซึ่งเซลล์ที่มีความสามารถในการสร้างกระแสไฟฟ้าพวกนี้มันเรียกรวมๆ ว่าอวัยวะไฟฟ้า’ (electric organ) 


กล่าวคือ เซลล์แต่ละเซลล์ของปลาไหลไฟฟ้ามันสร้างไฟฟ้าได้ไม่ถึง 0.1 โวลต์ แต่พอมันทำงานพร้อมๆ กัน มันสร้างไฟฟ้าที่มีความต่างศักย์ได้ถึง 500 โวลต์ ซึ่งเป็นไฟที่แรงกว่าไฟฟ้าที่เราใช้ตามบ้านเรือนซะอีก

ด้วยการควบคุมอวัยวะไฟฟ้า ปลาไหลไฟฟ้าจึงสามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าออกไปได้ และทำให้สิ่งที่มีขนาดเล็กกว่านั้นสตัน’ (stun) หรือขยับตัวไม่ได้ และกลายมาเป็นอาหารอันโอชะ

นอกจากนี้อวัยวะไฟฟ้าของปลาไหลไฟฟ้าก็ไม่ได้ทำงานแค่ช็อตแรงๆ ให้สตันการทำงานแบบอ่อนๆ แบบส่งกระแสไฟฟ้าเบาๆ ไปรอบๆ มันยังทำหน้าที่เหมือนเรดาร์ให้ปลาไหลไฟฟ้าสัมผัสสภาพแวดล้อมรอบๆ ด้านได้อีกด้วย

ที่นี้ สิ่งที่หลายคนอาจสงสัยคือ แบบนี้มันไม่ช็อตตัวเองเหรอ? คำตอบสั้นๆ คือ ช็อตได้นะ และถ้าช็อตแรงๆ ตัวมันก็ถึงตายได้

แต่ทำไมปกติมันไม่ตาย?

อันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า ปกติเวลาพูดถึงการปล่อยกระแสไฟฟ้า พื้นฐานด้านไฟฟ้าเลยคือกระแสไฟฟ้าจะไหลจากที่ที่ความต่างศักย์สูงไปยังความต่างศักย์ต่ำ หรือวิ่งจากขั้วลบไปยังขั้วบวก

เวลาปลาไหลไฟฟ้าปล่อยไฟฟ้า ส่วนหางของมันจะทำงานเป็นขั้วลบ และส่วนหัวของมันจะทำงานเป็นขั้วบวก ซึ่งที่ปกติมันไม่ช็อต ก็เพราะกระแสไฟฟ้าที่วิ่งในน้ำมันกระจัดกระจายไปจนเหลือน้อยแล้วก่อนจะมาถึงหัว และสิ่งที่อยู่ระหว่างทางนั่นแหละที่จะโดนช็อต (ตรงนี้พยายามอธิบายให้ง่าย)

ในแง่นี้ท่าไม้ตายของปลาไหลไฟฟ้าคือการงอตัวเป็นตัว U เพราะการทำแบบนี้ มันจะทำให้กระแสไฟฟ้าวิ่งอย่างรุนแรงที่สุดระหว่างหางกับหัว คืออะไรไปอยู่ระหว่างหางกับหัวก็จะโดนช็อตแรงที่สุด 

แต่ถ้ามันพลาดเมื่อไรแบบเอาหัวไปแตะหาง แน่นอนมันก็จะช็อตตัวเอง และถึงตายแน่ๆ เพราะกระแสไฟฟ้ามันจะวิ่งเข้าอวัยวะภายในที่สำคัญที่อยู่บริเวณหัวทั้งหมด (อันนี้ใครเคยกินหัวปลาทั่วๆ ไปคงรู้ว่าอวัยวะสำคัญของปลามันจะอยู่แถวๆ หัวเป็นส่วนใหญ่) ซึ่งนี่ก็ยังไม่ต้องพูดถึงการเอาปลาไหลไฟฟ้าจำนวนมากมาอยู่ในถังหรือบ่อเล็กๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ก็คือ จะมีสักตัวเกิดความตระหนก แล้วก็ช็อตตัวอื่น รวมทั้งตัวมันเองตายหมดก็คงจะเห็นแล้วว่า การปล่อยไฟฟ้าออกจากร่างกายได้ก็ไม่ได้หมายความว่าร่างกายจะไม่ถูกไฟช็อตได้นะ

แม้ว่าไฟฟ้าของปลาไหลไฟฟ้าจะแรงขนาดช็อตตัวเองตายได้ แต่กระแสไฟฟ้าของมันโดยทั่วๆ ไปก็ไม่ได้ทำให้มนุษย์ถึงตาย หรือกระทั่งสตันเพราะมนุษย์ตัวใหญ่กว่าปลาไหลไฟฟ้ามาก ซึ่งนี่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะไปโดนปลาไหลไฟฟ้าช็อตเล่นๆ นะ เพราะไฟที่โดนเข้าไปนี่ก็แรงกว่าเราเอานิ้วไปแหย่ปลั๊กไฟตามบ้านอีก แม้ว่าจะเป็นชั่วเวลาสั้นๆ นักวิทยาศาสตร์ที่เคยโดนช็อตเขาบรรยายไว้ว่า เหมือนโดนรั้วไฟฟ้าช็อต (ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นอย่างไร ไม่เคยโดนช็อต)

ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังสนใจอวัยวะไฟฟ้าของปลาไหลไฟฟ้ากันอยู่ ซึ่งหลักๆ เขาสนใจกลไกในการสร้างไฟฟ้าของมันและคิดว่าจะสร้างอวัยวะไฟฟ้าจำลองเอามาใส่ในพวกอวัยวะเทียมของมนุษย์ที่ต้องใช้ไฟฟ้า เพราะถ้าทำได้จริง มันก็ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่อีกต่อไป ซึ่งจะมีประโยชน์มากๆ สำหรับอวัยวะเทียมหรืออวัยวะเสริมที่ต้องเอาใส่เข้าไปในร่างกายมนุษย์ เพราะมันเปลี่ยนแบตยาก เปลี่ยนทีก็ต้องผ่าตัด และถ้าทำได้จริงๆ คุณภาพชีวิตของมนุษย์ที่ใช้อวัยวะเทียมก็จะดีขึ้นได้มาก

แต่นั่นก็ยังอีกไกล โครงการต้นแบบยังไม่ถึงไหน แต่ในเมื่อไอเดียมันมาแล้วในยุคที่โลกเปลี่ยนไปเร็วแบบนี้ ก็คงต้องบอกคำเดิมว่าอาจไม่นานเกินรอ