กษัตริย์ที่รวยที่สุดในประวัติศาสตร์ รวยได้เพราะเน้นขาย ทองคำ และ ‘เกลือ’
มานซา มูซา (Mansa Musa) คือชื่อของกษัตริย์ในแอฟริกาตะวันตก ในศตวรรษที่ 14 ที่ร่ำรวยกว่าใครทุกคนบนโลกใบนี้ เขารวยล้นฟ้าในอดีต เขารวยชนะเศรษฐีที่หนึ่งของโลกปัจจุบัน เขารวยในระดับที่นักประวัติศาสตร์ไม่อาจจะตีความมั่งคั่งเป็นตัวเลขที่ชัดเจนได้
สาเหตุที่ราชาองค์นี้รวยถึงเพียงนั้น เป็นเพราะได้ครอบครองทะเลทรัพยากรที่ประกอบไปด้วยทองคำ และ ‘เกลือ’
มานซา มูซา เกิดในปี 1280 ในตระกูลผู้ปกครองอาณาจักรมาลี เขามีพี่ชายอยู่หนึ่งคน มานซา อะบูบักร์ (Mansa Abu-Bakr) กษัตริย์ผู้หลงใหลในการเดินทาง เขาปกครองแผ่นดินจนถึงปี 1312 ก็ปล่อยใจไปตามฝันในมหาสมุทรแอตแลนติก พร้อมเรือ 2,000 ลำ และข้ารับใช้นับพัน
มานซา อะบูบักร์ โบกมือลาอาณาจักร และนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ มานซา มูซา ได้เห็นพี่ชายตัวเอง
มานซา มูซา ขึ้นนั่งบัลลังก์กลายเป็นกษัตริย์มูซาที่ 1 แห่งมาลี ภายใต้การปกครองของเขา แผ่นดินมาลีขยายไปไกลถึง 2,000 ไมล์ ด้วยการเข้ายึดครอง 24 อาณาจักร ไล่ตั้งแต่ฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกข้ามไปถึงแผ่นดินที่เป็นประเทศไนจีเรียในปัจจุบัน ผืนดินที่มานซาก้าวเท้าทับนั้นอัดแน่นไปด้วยทองคำและเกลือ
ในโลกเก่ามีทองคำมากเท่าไหร่ ครึ่งหนึ่งถูกนับว่าเป็นของอาณาจักรมาลี
มานซาเป็นชาวมุสลิมหัวใจศรัทธาเต็มเปี่ยม แต่ความรักในพระเจ้าของเขาชักนำให้เศรษฐกิจอาณาจักรสั่นคลอน เมื่อเขาเริ่มต้นขี่อูฐมุ่งสู่นครเมกกะในตะวันออกกลาง คาราวานของมานซายิ่งใหญ่ดั่งอาณาจักรย่อมๆ เคลื่อนที่ ประกอบด้วยมนุษย์ 60,000 ชีวิต มีทั้งข้าราชการ ทหาร ผู้ให้ความบันเทิง พ่อค้า และทาสเป็นหมื่นคน
อาณาจักรมาลีเริ่มกลายเป็นที่รู้จักเพราะการเดินทางครั้งนี้ มานซาพักอยู่กรุงไคโร 3 เดือน ค่าใช้จ่ายมหาศาลที่ปัจจุบันตีราคาได้ราว 1.5 พันล้านดอลลาร์ ลูซี ดูแรน นักชาติพันธุ์วิทยาชาวอังกฤษ กล่าวว่า กระทั่งนักร้องชาวมาลีก็ยังขี้คร้านจะสรรเสริญเขาในบทเพลงเล่าเรื่อง เพราะกษัตริย์ของเขาฟุ่มเฟือยเหลือเกินในเวลานั้น
มานซากลับอาณาจักร และริเริ่มส่งเสริมศิลปะ สถาปัตยกรรม และการศึกษา กระทั่งเปิดมหาวิทยาลัยซานคอร์ ในเมืองทิมบักตู ซึ่งภายหลังกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาของชาวมุสลิมแอฟริกัน ในศตวรรษที่ 14
เรื่องของมานซาปลิวไปไกลถึงหูของชาวยุโรป นักทำแผนที่ชาวสเปนบรรจุเรื่องราวของมานซาลงไปใน ‘แผนที่คาตาลัน’ (The Catalan Atlas) ปี ค.ศ. 1375 โดยกษัตริย์ผู้ปกครองดินแดนแอฟริกาตะวันตกนั่งอยู่บนบัลลังก์ มือข้างหนึ่งถือก้อนสุวรรณ มืออีกข้างถือไม้เท้าทอง
กษัตริย์มูซาที่ 1 สิ้นพระชนม์ในปี 1337 ลูกชายของเขาเป็นผู้สืบทอดอาณาจักรที่ไม่ได้เก่งกล้าสามารถเท่าบิดา อาณาจักรมาลีเริ่มแตกระแหง และการบุกมาเยือนของชาวยุโรปในภายหลังจึงเป็นการตอกตะปูปิดฝาโลงให้กับความยิ่งใหญ่ของแผ่นดินอุดมทองคำ
พื้นที่ประวัติศาสตร์ยุคกลางส่วนมากถูกยึดไว้โดยชาวตะวันตก สาเหตุที่เรื่องราวของกษัตริย์ผู้นี้ไม่ได้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมาก รูดอล์ฟ บุช แวร์ (Rudolph Butch Ware) ศาสตราจารย์วิชาประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียอธิบายว่าเพราะการมาเยือนผิดเวลาของชาวยุโรป
“ถ้าชาวยุโรปจำนวนมากมาเยือนในสมัยของมูซา ที่อาณาจักรมาลีมีอำนาจสูงสุดด้านการทหารและเศรษฐกิจ แทนที่จะเป็นในอีกสองสามร้อยปีต่อมา สิ่งต่างๆ คงจะแตกต่างออกไปอย่างแน่นอน”
อ้างอิง
- BBC NEWS. Is Mansa Musa the richest man who ever lived?. https://www.bbc.com/news/world-africa-47379458
- National Geographic. Mansa Musa (Musa I of Mali). https://education.nationalgeographic.org/…/mansa-musa…