5 Min

รู้ไหมว่า “คิงคอง” เป็นของใคร?

5 Min
1936 Views
04 Apr 2021

ปี 2021 เป็นช่วงที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์เงียบเหงาไปพอสมควรจากการระบาดของ COVID-19 หนังสัตว์ประหลาดอลังการงานสร้างอย่าง Godzilla VS Kong ก็เข้าโรงมาสร้างความคึกคักได้พอสมควร ตรงนี้หลายคนก็ดูแล้วก็น่าจะสนุกดี และก็คิดว่าอะไรมันส์ๆ แบบเอาสัตว์ประหลาดที่อยู่ “คนละเรื่อง” มาสู้กันก็เป็นอะไรที่เข้าท่าดี

แต่ที่นี่ ประเด็นสัตว์ประหลาด “คนละเรื่อง” ในโลกที่มีทรัพย์สินทางปัญญา คงจะยากหน่อย เพราะไม่ว่าจะสัตว์ประหลาดหรือฮีโร่อะไรก็มีเจ้าของทั้งนั้น

ดังนั้น เราก็คงยากจะเห็นหนังอย่าง The Avengers VS Justice League เพราะนั่น “เจ้าของ” เป็นคนละเจ้ากันเลย

แล้วกรณีของ Godzilla VS Kong ล่ะ?

กิ้งก่ายักษ์พลังนิวเคลียร์ Godzilla นี่เป็น “ทรัพย์สิน” ของบริษัท Toho ของญี่ปุ่นแน่ๆ แต่ที่น่าสนใจคือ King Kong หรือ “Kong” นี้ เอาจริงๆ ไม่มีเจ้าของ

ดังนั้นในทางเทคนิค ถ้าเรามีเงิน เราจะสร้างหนัง “หนุมาน ปะทะ คอง” ก็ได้ ไม่มีใครมีสิทธิ์จะฟ้องเรา ไม่ได้ต่างจากที่เราจะแต่งนิยายเอา เชอร์ล็อค โฮล์ม มาสืบคดีในไทยก็ได้ เพราะตัวละครเชอร์ล็อค โฮล์มก็หมดลิขสิทธิ์ และเป็นของสาธารณะแล้ว

กรณีของ “คิงคอง” นี่เรียกได้ว่าเป็นกรณีพิเศษมากๆ เพราะน่าจะเป็น “ไอคอนทางวัฒนธรรม” ไม่กี่อย่างที่ดังมากๆ ในศตวรรษที่ 20 ที่ถือว่า “เป็นของสาธารณชน” แล้ว และที่มัน “ประหลาด” ก็คือจริงๆ “ตัวละคร” คิงคองนั้นถือกำเนิดทีหลังมิกกี้เมาส์อีก แต่เจ้าหนูมิกกี้เมาส์เป็นของดิสนีย์ ยังไม่เป็นของสาธารณชน

กำเนิด “คิงคอง”

ผู้ให้กำเนิดคิงคองคือนักผลิตภาพยนตร์อเมริกันนามว่า Merian C. Cooper ซึ่ง Cooper ก็ชอบลิงยักษ์มาตั้งแต่เด็กๆ โตมาเป็นนักผลิตภาพยนตร์ ก็เลยเอาหนังลิงยักษ์ไปเสนอค่ายหนัง RKO Picture และผลก็คือหนัง King Kong เรื่องแรกของโลกในปี 1933 และมีภาคต่อคือ Son of Kong ตามมาติดๆ ในปีเดียวกัน

โดยในปีเดียวกันนั้นก็มีนิยาย King Kong ที่สร้างจากบทหนังมาด้วย โดยคนที่ได้สิทธิ์ไปเขียนเป็นนิยายที่ว่าคือ Delos W. Lovelace

Merian C. Cooper

Merian C. Cooper | Wikipedia

โปสเตอร์หนังคิงคองปี 1933

โปสเตอร์หนังคิงคองปี 1933 | Wikipedia

หลังจากนั้น Cooper ก็ไม่ได้ร่วมงานกับ RKO Picture อีก และตัว Cooper เองก็เข้าใจมาตลอดว่าเขาคือ “เจ้าของ” ของ “คิงคอง” และทำการ “ขายลิขสิทธิ์” ให้คนเอาไปทำอะไรต่างๆ เต็มไปหมด …ก่อนที่เขาจะมาพบว่าทางสตูดิโอสร้างหนังอย่าง RKO Picture ก็คิดว่าตัวเองเป็น “เจ้าของคิงคอง” เหมือนกัน

King Kong VS Godzilla: สงครามชิงคิงคอง ภาคแรก

เรื่องมันมาแดงตอนปี 1962 ที่หนัง King Kong VS Godzilla ออกมาโดยที่ Cooper ไม่ได้รู้เห็น เพราะหนังเรื่องนี้เกิดจาก RKO Picture ให้ใช้สิทธิความเป็น “เจ้าของคิงคอง” อนุญาตให้ทาง Toho Studio ของญี่ปุ่นเอาตัวละครคิงคองไปสร้างหนัง ซึ่งทาง Cooper นอกจากจะรู้สึกว่านี่เป็นการเอาคิงคองไปปู้ยี่ปู้ยำแล้ว เขายังรู้สึกว่านี่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์กันหน้าด้านๆ เขาเลยฟ้อง

King Kong VS Godzilla (1962)

King Kong VS Godzilla (1962) | Wikipedia

ผลการฟ้อง อธิบายง่ายๆ คือ Cooper ไม่สามารถหาเอกสารสัญญาที่ยืนยันได้ชัดๆ ว่าเขา “ขายลิขสิทธิ์” ให้ทาง RKO Studios ทำหนังไปแค่สองภาคได้ เอกสารมันหายไป และเอกสารที่เขามีชัดๆ นั้นมีแค่เอกสารที่ให้สิทธิ์ Delos W. Lovelace เอาบทหนังไปปรับเป็นนิยายเท่านั้น

ซึ่งผลก็คือ ในทางปฏิบัติ เขาไม่อาจอ้างว่า RKO Pictures ละเมิดลิขสิทธิ์เขาได้ และในทางปฏิบัติ “คิงคอง” ก็เลยเป็นของ RKO Pictures อยู่

King Kong VS King Kong: สงครามชิงคิงคอง ภาคสอง

เรื่องราวเงียบหายไปหลายปีจนในปี 1975 ผู้อำนวยการสร้างหนัง Dino de Laurentiis ได้เอาไอเดีย “รีเมค” หนังคิงคองมาเสนอค่ายยักษ์ใหญ่พร้อมกัน 2 ค่ายอย่าง Paramount และ Universal พร้อมกัน โดยเคลมว่าเขา “ซื้อลิขสิทธิ์” มาจากทาง RKO Picture ผู้สร้าง King Kong ในปี 1933 แล้ว ซึ่งสุดท้ายเขาเลือกจะไปสร้างกับ Paramount และทำให้ Universal ที่วางแผนจะสร้างอย่างดี ทาง Universal เลยจะสร้างสู้ซะเลย ซึ่งผลก็คือมีการฟ้องกันไปมา

Dino de Laurentiis

Dino de Laurentiis | Wikipedia

ผลการฟ้อง ถ้าอธิบายง่ายๆ ก็คือ ทาง Universal สามารถพิสูจน์ได้ว่า “ใครๆ ก็สร้างหนังคิงคองได้” เพราะแม้ว่า ตัวหนังคิงคองในปี 1933 จะถือว่าเป็นของ RKO Pictures อยู่ในตอนนั้น แต่ส่วนของ “วรรณกรรม” เรื่อง King Kong ที่ตีพิมพ์มาในปีเดียวกับหนัง มันดันไม่ไปต่ออายุลิขสิทธิ์ (ในระบบเก่าของอเมริกา ลิขสิทธิ์ต้องไปขึ้นทะเบียนต่ออายุเรื่อยๆ) ทำให้มันหมดลิขสิทธิ์ไปแล้ว และนี่คือ Universal Picture พิสูจน์เองว่า “ใครๆ ก็สร้างหนังคิงคองได้” เพราะถือว่าสร้างจาก “นิยายที่หมดลิขสิทธิ์” ไปแล้ว

อย่างไรก็ดี ถึงจะชนะคดี แต่ความวุ่นวายทำให้ Universal Picture แขวนโปรเจคหนังคิงคองเอาไว้ และในปี 1976 หนังคิงคองที่ออกมาในช่วงนั้นเลยเป็นของทาง Paramount เจ้าเดียว

King Kong (1976)

King Kong (1976) | Wikipedia

แต่ถามว่า Universal Picture หมกมุ่นเกี่ยวกับคิงคองมั้ย?

คำตอบคือหมกมุ่น เพราะหลังเหตุวุ่นวายทาง Universal Picture ได้ซื้อลิขสิทธิ์ทั้งหมดของ King Kong ที่ยังไม่เป็นสาธารณะจากกองมรดกของ Merian C. Cooper ผู้ที่ได้ลาโลกไปแล้วในตอนนั้น
พูดง่ายๆ ในศึกชิงคิงคอง “ภาคสอง” คนในศึกนี่ไม่มีใครจาก “ภาคแรก” ยังมีชีวิตอยู่แล้ว มีแต่คนที่อ้างสิทธิ์เหนือคิงคองเพราะอ้างว่าได้สิทธิ์ที่ว่ามาอย่างชอบธรรม

King Kong VS Donkey Kong: สงครามชิงคิงคอง ภาคสาม

การกว้านซื้อลิขสิทธิ์ “คิงคอง” ของทาง Universal Studio ทำให้ทาง Universal Studio ไปจด “เครื่องหมายการค้า” ของคิงคองเช่นเดียวกับบริษัทที่หากินกับการผูกขาดทรัพย์สินทางปัญญาพึงปฏิบัติกัน และในปี 1984 ทาง Universal Studio ก็อ้างสิทธิเครื่องหมายการค้านี้ครั้งแรกกับการฟ้องค่ายเกมสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Nintendo ฐาน “ละเมิดเครื่องหมายการค้า” ในการทำเกม Donkey Kong หรือพูดง่ายๆ Universal Studio กล่าวหาว่า Nintendo “ก็อป” คิงคองไปเป็นตัวละครในเกมนี่เอง

เกม Donkey Kong ที่ออกมาครั้งแรกปี 1981

เกม Donkey Kong ที่ออกมาครั้งแรกปี 1981 | Wikipedia

ผลการฟ้อง อธิบายง่ายๆ ก็คือ Nintendo โต้กลับได้เจ็บแสบมาก โดย Nintendo ได้อ้างถึงข้อสรุปในสงครามชิงคิงคองภาคสอง ที่ศาลตัดสินว่า ตัวละครคิงคอง และเรื่องราวต่างๆ “เป็นของสาธารณะ” เนื่องจาก “นิยายคิงคอง” นั้นหมดลิขสิทธิ์ไปแล้ว ดังนั้น การอ้างสิทธิ์เหนือเครื่องหมายการค้าของ Universal Studio จึงไม่มีสิทธิ์อ้างมาถึงสิ่งที่เป็น “ของสาธารณะ”

ซึ่งศาลก็เห็นดังนั้น และสั่งให้ Universal Studio จ่ายค่าทนายและค่าเสียหายให้กับ Nintendo มากมาย และนี่ก็เป็นความอัปยศเสียหน้ามากๆ เพราะคดีแบบนี้น้อยคดีจะมาถึงจุดสิ้นสุด และนี่คือสิ้นสุดแบบที่ฝ่ายที่เริ่มฟ้องดันแพ้เอง และต้องจ่ายค่าเสียหายให้ฝ่ายโดนฟ้องด้วย

ตรงนี้จะเห็นได้ว่าถ้าคำตัดสินมาแบบนี้ ในทางปฏิบัติ Universal Studio จึงไม่เป็นเจ้าของ “คิงคอง” จริงๆ เลย ลิขสิทธิ์คิงคองของหนังในภาคต่างๆ ก็ยังอยู่ที่แต่ละสตูดิโอที่เคยสร้างหนังคิงคองมาทั้งนั้น ซึ่ง ณ จุดนี้ Universal Studio ยังไม่ได้ทำการสร้างหนังคิงคองมาสักภาคเลย มีแต่อ้างสิทธิ์เป็น “เจ้าของคิงคอง” แบบลอยๆ แล้วไล่ฟ้องชาวบ้าน และศาลก็ชี้ว่านี่คือสิ่งที่ไม่อาจทำได้
ซึ่งก็ต้องมาถึงปี 2005 นี่แหละที่ทาง Universal Studios จะเริ่มสร้างหนังคิงคองเป็นของตัวเอง

King Kong (2005)

King Kong (2005) | Wikipedia

บทสรุป: ใครเป็นเจ้าของคิงคอง?

สำหรับประเทศส่วนใหญ่ Delos W. Lovelace คนเขียนนิยายคิงคองตายในปี 1967 ดังนั้นนับบวกมา 50 ปีตามกำหนดมาตรฐานการหมดอายุลิขสิทธิ์ เรื่องราวในนิยายคิงคองจึงเป็นสาธารณะไปแล้วในปี 2017 ในประเทศส่วนใหญ่
หรือถ้าจะอธิบายง่ายๆ ก็คือ ตอนนี้เรื่องราวของคิงคองไม่ได้ต่างจากเจ้าหญิงนิทราหรือสโนว์ไวท์ที่ Disney เอามาสร้างการ์ตูนก็จริงและเป็นเจ้าของหนังการ์ตูนที่สร้างๆ มา แต่ Disney ไม่ใช่ “เจ้าของเรื่องราวและตัวละคร” เหล่านี้ เพราะเรื่องราวและตัวละครมันหมดลิขสิทธิ์ และเป็นของสาธารณะไปหมดแล้ว และนั่นก็ไม่ได้ต่างจากการที่ BBC ที่แม้ว่าจะเป็นเจ้าของ Sherlock Holmes เวอร์ชั่นซีรีส์ที่โด่งดังที่สุด แต่ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของเรื่องราวและตัวละครของเชอร์ล็อคโฮล์มที่เป็นของสาธารณะไปแล้ว

ดังนั้นข้อสรุปที่สั้นที่สุดก็คือ คิงคองเป็นของทุกคนครับ ใครจะเอาเรื่องราวของคิงคองไปต้มยำทำแกงอะไรก็ไม่มีสิทธิ์มีใครห้าม ตราบที่รายละเอียดที่เราใส่มามันไม่ไป “ลอก” รายละเอียดใหม่ๆ ที่คนอื่นใส่มาในเรื่องของเขา

อ้างอิง: