ไม่ใช่แค่ราชวงศ์สมัยก่อนที่แต่งกับเครือญาติ ปัจจุบันคู่แต่งงานในปากีสถานครึ่งหนึ่งยังเป็นแบบนี้
เวลาพูดถึงการแต่งงานของคนเป็นญาติกัน ทั่วๆ ไปเราอาจรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ควรหมดไปจากโลกได้แล้ว ไม่ก็ต้องทำแบบแอบๆ ซ่อนๆ
แต่ในความเป็นจริง การแต่งงานประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ในโลกปัจจุบันนี้เป็นการแต่งงานในหมู่เครือญาติที่ใกล้กันระดับมี ‘ทวด’ ร่วมกัน (ศัพท์เทคนิคเขาจะเรียก Second cousin marriage) และจริงๆ ถ้าเราไปดูรายละเอียดก็จะเห็นเลยว่าในโลกมุสลิมพฤติกรรมแบบนี้จะเข้มข้นมาก โดยในโลกอาหรับคู่ผัวเมียประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นญาติกันระดับลูกพี่ลูกน้องด้วยซ้ำ (คือมีปู่ย่าตายาย ร่วมกัน) และอัตรานี้จะไปสูงสุดในโลกที่ปากีสถานที่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของคู่แต่งงาน เป็นญาติกัน
ทำไมเป็นแบบนี้? อันนี้ถ้าจะซีเรียส ต้องอธิบายไล่ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์มนุษย์
คือมนุษย์ดั้งเดิมก่อนมีอารยธรรม มีข้อสันนิษฐานว่า แทบไม่น่าจะมีการแต่งงานกันของญาติใกล้ชิดเลย และเอาจริงๆ งานศึกษาสังคมดั้งเดิมทางมานุษยวิทยาก็ค่อนข้างจะเห็นตรงกันในเรื่องนี้ พวกประวัติศาสตร์ครอบครัวก็เห็นตรงกันว่าคนดั้งเดิม ถึงจะเป็นกลุ่มชนที่ใช้ภาษาเดียวกัน การส่งผู้หญิงไปแต่งงานกับผู้ชายที่หมู่บ้านอื่นก็เป็นเรื่องปกติมากๆ และนี่เป็นการรักษาความสัมพันธ์และความเป็นพันธมิตรกันระหว่างชุมชนด้วยซ้ำ
แล้วการแต่งงานกับญาติใกล้ชิดมันมายังไง? หลักๆ เขาสันนิษฐานกันว่า มันเป็นไปเพื่อให้อำนาจและทรัพยากรไม่หลุดไปถึงคนกลุ่มอื่นๆ และนี่ก็ไม่แปลกเลยที่พวก ‘ราชวงศ์’ ในประวัติศาสตร์น่าจะเป็นพวกแรกๆ ที่เริ่มมีพฤติกรรมแบบนี้ และพอราชวงศ์เริ่มทำ ก็ไม่แปลกที่พวกคนมีอำนาจอย่างพวกชนชั้นสูงจะเริ่มทำตาม
แล้วธรรมเนียมนี้เสื่อมความนิยมไปได้ยังไง? ในโลกตะวันตก การแต่งงานแบบนี้ (อย่างน้อยในระดับคนทั่วไป) มันถูกห้ามเด็ดขาดภายใต้กฎเกณฑ์ของศาสนาคริสต์ในยุคกลาง คือคุณเป็นญาติกัน พระก็จะไม่อนุมัติการแต่งงานของคุณ (ซึ่งแน่นอน กับคนในราชวงศ์มันจะเป็นอีกมาตรฐาน)
อย่างไรก็ดี มันก็มีแค่ศาสนาคริสต์ที่ห้าม ศาสนาอื่นๆ ไม่ได้ห้ามจริงจัง และก็ไม่แปลกที่พฤติกรรมแบบนี้จะไม่หายไปไหน
ถ้าสังเกตการแต่งงานกันในหมู่ญาติใกล้ชิดจะพบมากในโลกมุสลิมแถบตะวันออกกลาง ซึ่งแถวนั้นจริงๆ เขาไม่ได้แค่บอกว่าศาสนาไม่ได้ห้าม แต่มีการอ้างว่าผู้นำทางศาสนามีการบัญญัติให้ทำแบบนี้ด้วยซ้ำ โดยอะไรพวกนี้จะพบมากๆ ในแถบชนบทที่เป็นสังคมแบบ ‘ชนเผ่า’ อยู่
ประเด็นคือ บางทีคนก็อาจจะไม่ได้ ‘อยาก’ ทำแบบนี้เสมอไป แต่มันมี ‘แรงกดดันทางสังคม’ ให้ทำแบบนี้ ซึ่งทางสำนักข่าว DW ก็ได้ไปสัมภาษณ์คนปากีสถานบ้านนอกที่เป็น ‘ชนเผ่า’ เขาก็บอกว่าเมื่อเขามีลูก ทางพวกพี่น้องเขาก็จะมาเล็งแล้วว่าจะให้คนไหนไปแต่งงานกับลูกของตัวเอง ซึ่งถ้าเขาปฏิเสธการแต่งงานแบบคลุมถุงชนนี้ แนวโน้มก็คือครอบครัวของเขาก็จะถูกอัปเปหิออกจากชุมชน
หรือพูดง่ายๆ มันมีกลไกทางสังคมบังคับให้คุณต้องคลุมถุงชนลูกของคุณกับลูกของพี่น้องของคุณ และที่โหดคือ สำหรับในบางเผ่า การที่ใครสักคนไปแต่งงานกับคนนอกเผ่า มันจะเป็นการละเมิดกฎอย่างร้ายแรง และทำให้ 2 เผ่านั้นถึงกับรบราฆ่าฟันกันได้เลย ซึ่งถ้าใครรู้จักวัฒนธรรมอาหรับ ก็คงจะรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่าการ ‘ฆ่าเพื่อรักษาเกียรติ’ (honor killing) หรือพูดง่ายๆ การที่พ่อแม่ฆ่าลูกที่ทำให้วงศ์ตระกูลเสื่อมเสียมันเป็นเรื่องปกติของคนแถบนี้ จนต้องมีคำเรียกอย่างจริงจังขึ้นมา
กลไกการควบคุมมันโหดกันระดับนี้ ก็ไม่แปลกที่คนจะไม่กล้าขัดขืนและทำให้อัตราการแต่งงานกันของญาติใกล้ชิดโหดอย่างคาดไม่ถึง
ก็แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะคุณก็อาจจะไม่ได้อยากแต่งงานกับคนในตระกูลหรอก แต่ถ้าคุณไม่ทำงั้น สิ่งเลวร้ายระดับถึงชีวิตอาจเกิดขึ้นกับคุณหรือครอบครัวคุณได้ คุณจะทำยังไงล่ะ?
ณ ตรงนี้ มันอาจกระอักกระอ่วนที่จะแสดงความเห็นใดๆ เพราะจะบอกว่ามันเป็น ‘วัฒนธรรมของเขา’ ก็ดูจะไม่สนสิทธิมนุษยชนจนเกินไป
แต่สิ่งที่โหดกว่านั้นคือ ผลทางพันธุกรรม
เพราะในทางวิทยาศาสตร์ เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า การผสมพันธุ์กันของสิ่งมีชีวิตที่พันธุกรรมใกล้กัน มันมีแนวโน้มจะทำให้ลูกหลานรุ่นต่อมามีความผิดพลาดทางพันธุกรรมมากขึ้น (พูดง่ายๆ คือ ‘ยีนด้อย’ จะมาแมตช์กันได้ง่ายขึ้น) ดังนั้นการแต่งงานกันของญาติใกล้ชิดระดับมีปู่ย่าตายายร่วมกัน ก็แทบจะเรียกว่าเป็นสูตรหายนะที่จะสร้างมนุษย์ที่มีความบกพร่องทางพันธุกรรมให้กำเนิดขึ้น
ในปากีสถาน โรคทางพันธุกรรมที่พบมากสุดก็คือ ธาลัสซีเมีย หรือโรคโลหิตจางจากการที่เม็ดเลือดแดงทำงานผิดปกติ ลำเลียงออกซิเจนได้ไม่ดี หรือไม่ใช่แค่ปากีสถาน ในอังกฤษเองที่มีผู้ลี้ภัยชาวปากีสถานไม่น้อย ทางหน่วยงานด้านสาธารณสุขก็ถึงกับตั้งข้อสังเกตว่า เด็กที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมแต่กำเนิดในอังกฤษถึง 33 เปอร์เซ็นต์เป็นลูกของชาวปากีสถาน ทั้งๆ ที่ลูกของชาวปากีสถานคิดเป็นเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ของเด็กทั้งหมดที่เกิดในอังกฤษเท่านั้น
พอสืบไปก็คงจะเดาได้ว่า พ่อแม่เด็กนั้นเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน และเคสแบบนี้มันมีเต็มไปหมด
แน่นอน ในปากีสถานก็จะมองว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องปกติ แต่พอมาในอังกฤษ การเกิดเด็กแบบนี้มากขึ้นมันเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขมาก ก็เลยมีการพยายาม ‘ให้ความรู้’ กับชาวปากีสถานมากขึ้นว่า ‘วัฒนธรรม’ ของพวกเขาคือต้นเหตุของความเจ็บป่วยของลูกๆ พวกเขาเอง
อะไรแบบนี้อาจต้องใช้เวลานานพอสมควร แต่มันก็ไม่ใช่จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ดังที่เราจะเห็นได้จากราชวงศ์ทั่วโลกที่ทุกวันนี้การแต่งงานกันระดับเครือญาติใกล้ชิดมากๆ แบบเดิมแทบจะหมดไปแล้ว และการแต่งงานกับคนนอกกลุ่มอย่างสามัญชนก็มีมากขึ้น
อ้างอิง
- DW. Pakistan: Cousin marriages create high risk of genetic disorders. https://bit.ly/3nk1MgH
- Dailymail. The babies paying the price of cultural tradition: It’s estimated that more than half of Pakistani-heritage couples in Britain are in cousin marriages. Now community leaders are confronting the troubling medical risks, writes SUE REID. https://bit.ly/3bzeTrC
- Wikipedia. Cousin marriage. https://bit.ly/2Siicpj
- Emmanuel Todd, Lineages of Modernity: A History of Humanity from the Stone Age to Homo Americanus, (Cambridge: Polity Press, 2019)