อาหารไทยหลายเมนูมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วโลกมานานแล้ว แต่อาหารชาติอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็กำลังสร้างชื่อในเวทีโลกเช่นกัน และคงไม่ปล่อยให้อาหารไทยเฉิดฉายเพียงลำพังอีกต่อไป
ความเคลื่อนไหวล่าสุดในเรื่องนี้ คือ การที่ตำราอาหารเขมร ‘รสชาติแห่งอังกอร์’ (The Taste of Angkor) เพิ่งจะคว้ารางวัลสาขา ‘ตำราอาหารเอเชียยอดเยี่ยม’ (Best Asian Cookbook) จาก Gourmand World Cookbook Award ที่กรุงปารีสของฝรั่งเศส เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ตำราอาหารเล่มนี้ได้รับการสนับสนุนและจัดพิมพ์โดย ‘กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งกัมพูชา’ โดยเป็นทั้งเครื่องมือประชาสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมอาหาร และเป็นของขวัญที่เหล่านักการทูตชาวเขมรจะนำไปมอบให้กับคนทั่วโลกระหว่างการปฏิบัติภารกิจต่างแดน
เรียกได้ว่ารัฐบาลกัมพูชาทั้งผลักทั้งดันตำราอาหารเล่มนี้ในฐานะการทูตด้านอาหาร (Food Diplomacy) ไม่ต่างจากที่หลายๆ ประเทศเคยใช้วิธีนี้มาก่อน รวมถึงประเทศไทย ทำให้สูตรอาหาร 38 เมนูในตำราเล่มนี้ถูกเลือกมาเฉพาะเมนูที่ทำไม่ยาก และสามารถหาวัตถุดิบได้ในตลาดเอเชียทั่วโลก
ส่วนรางวัล Gourmand World Cookbook Award ที่แจกกันมาตั้งแต่ปี 1995 ก่อตั้งโดย เอดูวาร์ด กวงโทร (Edouard Cointreau) นักชิมและผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารชาวฝรั่งเศส แถมยังเป็นทายาทตระกูลผู้ผลิตเหล้าชื่อดังก้องโลกอย่างกวงโทร (Cointreau) และเรมี มาร์แตง (Remy Martin)
เพราะอาหารคือ Soft power ที่ทรงพลัง
อาหารหลายอย่างที่อยู่ในตำรา The Taste of Angkor คล้ายคลึงกับอาหารไทย เช่น นมบันจ๊อก (Num Banh Chok) มีหน้าตาและกรรมวิธีการทำคล้ายๆ ขนมจีนน้ำยา หรือของหวานอย่าง นมเปลอ่าย (Num Ple Ay) ก็ดูแล้วคล้ายกับขนมต้ม
แต่การจะถกเถียงกันว่าประเทศไหนเป็นเจ้าของตำรับอาหารที่แท้จริงก็คงเป็นเรื่องเหนื่อยและเปลืองแรงเปล่าๆ เพราะการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่โบร่ำโบราณทำให้วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในภูมิภาคนี้หลอมรวมกันจนยากจะแยกแยะได้ชัดเจนว่าใครเป็นต้นทางหรือรากเหง้าที่แท้จริงของวัฒนธรรมเหล่านี้กันแน่
อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถโต้แย้งได้ก็คืออาหารเป็น Soft power หรือพลังทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง และสามารถเข้าถึงผู้คนทั่วโลกด้วยองค์ประกอบที่เป็นสากล ซึ่งก็คือรสชาติที่แตกต่างและมีเสน่ห์ดึงดูดให้ผู้คนที่อยู่อีกซีกโลกอยากค้นหาและทดลองอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ
ยิ่งถ้าดูจากความสำเร็จของอาหารไทยในเวทีโลก ก็ไม่น่าแปลกใจที่การทูตด้านอาหารจะเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลหลายประเทศใช้รุกคืบเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์และปูทางไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการค้าหรือการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
ส่วนกรณีของไทย รัฐบาลในอดีตนั้นเคยสนับสนุนซอฟต์เพาเวอร์ด้านอาหารอย่างจริงจังเมื่อราวๆ สองทศวรรษที่แล้ว ผ่านนโยบายสนับสนุนการตั้งร้านอาหารไทย 3,000 แห่งในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ทั่วโลกเมื่อปี 2001
ขณะที่ Vice สื่อดิจิทัลในสหรัฐฯ ก็เคยรายงานว่าระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี ร้านอาหารไทยในต่างประเทศสามารถขยายตัวเพิ่มจากหลักพันเป็น 15,000 ร้านในปี 2018 เพราะได้รับการสนับสนุนจากทั้งกระทรวงพาณิชย์และสถาบันการเงินการธนาคารในไทย จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการกระตุ้นธุรกิจส่งออกสินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหารไทยให้เติบโตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
อ้างอิง:
- Khmer Times. “The Taste of Angkor” crowned “Best Asian Cookbook” at the Gourmand World Cookbook Awards 2021. https://bit.ly/3oqWLUZ
- Ministry of Foreign Affairs & International Cooperation, Kingdom of Cambodia. “The Taste of Angkor”. https://bit.ly/3lxpyFf
- Vice. The Surprising Reason that There Are So Many Thai Restaurants in America. https://bit.ly/32WuZY0
- VOA. Bangkok’s Celebrated Food Scene Decimated by COVID Restrictions. https://bit.ly/3Ezef7f