“กะหรี่ปั๊บ” มรดกร่วมจากวัฒนธรรมโปรตุเกสของประเทศโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

3 Min
3192 Views
30 Jan 2021

Select Paragraph To Read

  • “กะหรี่ปั๊บ” อิทธิพลจากดินแดนฝอยทอง
  • ไส้กะหรี่ปั๊บมาจากไหน?
  • ทำไมไส้กะหรี่ปั๊บที่มี ‘ไก่’ กับ ‘ผงกะหรี่’ ถึงมาจากอังกฤษ

ถ้าจะถามถึงอิทธิพลอาหารโปรตุเกสในบ้านเรา หลายคนก็คงจะนึกถึงทองหยิบทองหยอดที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของหวานจากโปรตุเกส

แต่สิ่งหนึ่งที่มีต้นตอมาจากโปรตุเกสแน่ๆ แต่คนไม่ค่อยรู้คือ “กะหรี่ปั๊บ”

สิ่งที่น่าสนใจคือ กะหรี่ปั๊บหรืออาหารหน้าตาคล้ายกันน่าจะเป็นวัฒนธรรมร่วมของทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA – South East Asian) เลย ถึงแม้ว่าจะมีไส้ที่ต่างกัน แต่หน้าตาที่เหมือนกันก็เป็นหลักฐานที่ยืนยันว่ามี ‘ราก’ เดียวกัน

กะหรี่ปั๊บของไทย | Kapook.com

Epok-Epok ของสิงคโปร์ | Womon’s Weekly

Epok-Epok ของสิงคโปร์ | Womon’s Weekly

“กะหรี่ปั๊บ” อิทธิพลจากดินแดนฝอยทอง

เอาจริงๆ ประเทศใน SEA ไม่มีชาติใดเป็น “อาณานิคม” ของโปรตุเกสเลย แต่ก็เรียกได้ว่าเมื่อราว 500 ปีก่อน โปรตุเกสได้สถาปนาเส้นทางการค้าแถบ SEA เอาไว้หมด และก็เรียกได้ว่าเป็นชาติยุโรปชาติแรกๆ ที่มีอิทธิพลต่อแถบนี้ ซึ่งแต่ละชาติก็เรียกได้ว่ารับวัฒนธรรมโปรตุเกสแบบต่างๆ กันไป แต่สิ่งที่โปรตุเกส “ปฏิวัติ” วัฒนธรรมอาหารชาติแถบนี้ทั้งหมดก็คือการเริ่มทำให้ชนชาติแถวนี้รู้จักอาหารที่ทำจาก ‘ข้าวสาลี’ ซึ่งแถบนี้ไม่มีประวัติการกินอาหารจากข้าวสาลีหรือแป้งสาลีเลยก่อนหน้านั้น เพราะวัฒนธรรมอาหารและขนมของแถบนี้จะมาจากข้าวเจ้าทั้งสิ้น

ซึ่งก็ไม่แปลกนักที่วัฒนธรรม ‘แป้งสาลี’ จะไม่สามารถทะลุทะลวงวัฒนธรรมข้าวเจ้าอันแข็งแกร่งของ SEA ระดับเปลี่ยนแพตเทิร์นอาหารการกินได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอาหารของแถบนี้ก็ยังอยู่บนฐานของข้าวเจ้าเป็นหลัก (ซึ่งต่างจากที่อเมริกาเปลี่ยนให้ญี่ปุ่นมาเป็นชาติที่กินแป้งสาลีหลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม)

แต่อย่างน้อยๆ สิ่งที่หลงเหลือชัดๆ ของมรดกการเปลี่ยนแปลงนี้ก็คืออาหารที่หน้าตาคล้ายกับ “กะหรี่ปั๊บ” บ้านเราที่พบในแทบทุกชาติของ SEA

แต่ถามว่า “กะหรี่ปั๊บ” หน้าตาแบบนี้แต่แรกไหม?

คำตอบคือ “ไม่” เพราะอาหารที่เป็นต้นแบบของกะหรี่ปั๊บแบบ Empanada ของโปรตุเกส หน้าตาเหมือน “พาย” มากกว่ากะหรี่ปั๊บ และไส้ของมันแม้ว่าจะใส่เนื้อสัตว์ แต่ก็ไม่มีการใส่ผงกะหรี่และมันฝรั่งแบบที่เราคุ้นเคย

พูดง่ายๆ ก็คือถึงแม้ว่าโปรตุเกสจะทำให้คนใน SEA รู้จักขนมที่หน้าตาเหมือนกะหรี่ปั๊บในปัจจุบัน แต่ “ไส้กะหรี่ปั๊บ” แบบที่เรารู้จักทุกวันนี้ พัฒนามาทีหลัง

ไส้กะหรี่ปั๊บมาจากไหน?

ในบางเวอร์ชันของ “กะหรี่ปั๊บ” เช่น กะหรี่ปั๊บอินโดนีเซีย ไส้อาจมีความคล้ายกับต้นฉบับของโปรตุเกสอยู่บ้าง ส่วนบางประเทศอย่างเวียดนาม ไส้อาจประยุกต์เป็นของท้องถิ่นไปเลย เพราะไส้ “กะหรี่ปั๊บ” แบบเวียดนามนั้นเหมือนไส้ปอเปี๊ยะ คือใส่ทั้งวุ้นเส้นและเห็ดหูหนู

แต่ “กะหรี่ปั๊บ” ไส้แบบที่ใส่ไก่ ผงกะหรี่ และมันฝรั่งแบบที่กินกันในไทย มาเลเซียและสิงคโปร์นี่มาได้ยังไง? เพราะให้คนโปรตุเกสมาดูก็คงงง เพราะอาหารหน้าตาแบบนี้ บ้านเขาไม่ได้ใส่ไส้แบบนี้

แม้ไม่มีบันทึกชัดเจนว่าไส้แบบนี้เกิดมาเมื่อไร แต่ถ้าดูประวัติศาสตร์ของส่วนประกอบแล้ว น่าจะเดาไม่ยากว่าชาติที่เอามันฝรั่งและ “ผงกะหรี่” เข้ามาในภูมิภาคแถบนี้น่าจะเป็นจักรวรรดิอังกฤษแน่ๆ เพราะอย่างน้อยตอนที่โปรตุเกสเอา Empanada มาให้คน SEA รู้จัก ตอนนั้นคนยุโรปยังไม่น่าจะรู้จักมันฝรั่งด้วยซ้ำ

เพราะกว่าสเปนจะเอา “พืชจากโลกใหม่” อย่างมันฝรั่งไปให้คนยุโรปรู้จัก ก็ปาเข้าไปครึ่งหลังศตวรรษที่ 16 แล้ว และกว่าคนยุโรปจะกินมันฝรั่งกันแพร่หลายก็ปาไปอีกสองสามร้อยปีหลังจากนั้น

ทำไมไส้กะหรี่ปั๊บที่มี ‘ไก่’ กับ ‘ผงกะหรี่’ ถึงมาจากอังกฤษ

ดังที่ทราบกันดี “ผงกะหรี่” ไม่มีในอินเดีย และมันคือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่เจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษต้องการจะสร้าง “เครื่องเทศอินเดียสำเร็จรูป” ผงกะหรี่ก็เลยถือกำเนิดขึ้น

และกะหรี่ปั๊บเวอร์ชันนี้ของเครื่องเทศอินเดียก็เลยแพร่หลายไปตามอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งในกรณีของ SEA นั่นคือช่วงศตวรรษที่ 19

ดังนั้นในแง่นี้ “กะหรี่ปั๊บ” แบบที่เราเข้าใจที่ใส่ไก่ มันฝรั่ง และผงกะหรี่ก็น่าจะเกิดขึ้นในมาเลเซียช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งก็เกิดจากการเอาขนมที่เป็นอิทธิพลของตะวันตกเก่าอย่าง Empanada ของโปรตุเกส มาผสมกับวัตถุดิบอาหารใหม่อย่างมันฝรั่งและผงกะหรี่ที่มาพร้อมๆ กับเจ้าอาณานิคมใหม่อย่างอังกฤษ ก่อนที่ขนมแบบนี้จะแพร่หลายเข้ามาในไทย

จริงๆ เมื่อดูจากหลักฐานทางศัพท์แสงก็ชัดอยู่ เพราะมาเลเซียเรียกกะหรี่ปั๊บว่า “Karipap” ซึ่งดูก็รู้ว่ามันคือคำเดียวกับ “กะหรี่ปั๊บ” ในภาษาไทย และใน SEA มีเพียงสองชาติที่เรียกชื่ออาหารหน้าตาแบบนี้คล้ายกัน

และก็นี่แหละครับ ที่มาของกะหรี่ปั๊บ

อ้างอิง:

  • SCMP. Curry puffs: how a Portuguese snack arrived in Southeast Asia in the 1500s and became a hit across the region. http://bit.ly/2YeJLUj