ส่องประวัติ ‘เค ร้อยล้าน’ ที่ตำรวจเคยบอกว่าเป็นผู้ป่วย ‘อารมณ์แปรปรวน’ และสังคม ‘ควรเห็นใจ’
อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ
‘เค ร้อยล้าน’ ตกเป็นข่าวมาแล้วหลายครั้งจากพฤติกรรมการสร้างความแตกตื่นตกใจในที่สาธารณะ และล่าสุดก็พัวพันข้อหา ‘ทำร้ายร่างกายผู้อื่น’ ทำให้คนจำนวนมากตั้งคำถามว่าเขาคือใคร เพราะอะไรถึงยังออกมาก่อเหตุวุ่นวายได้อยู่เรื่อยๆ แม้ตำรวจจะเคยบอกว่าเขาคือผู้ป่วยโรคอารมณ์แปรปรวนที่สังคม ‘ควรเห็นใจ’ แต่คนในสื่อโซเชียลก็ตั้งข้อสังเกตว่าเจ้าหน้าที่รัฐดูจะรับมือกับ เค ร้อยล้าน ต่างจากผู้ป่วยรายอื่น
คเณศพิศณุเทพ จักรภพมหาเดชา ซึ่งมีฉายาว่า ‘เค ร้อยล้าน’ เคยเป็นเจ้าของร้านตัดสูทและนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คนหนึ่งในกรุงเทพฯ แต่นับจากปี 2549 เป็นต้นมา เขาตกเป็นข่าวในสื่อไทยและสื่อต่างประเทศหลายครั้ง เพราะมีพฤติกรรมชวนให้สงสัยว่า ‘ทำอย่างนั้นไปทำไม’ แต่ตำรวจไทยเคยให้สัมภาษณ์สื่อว่าเขาเป็นโรคอารมณ์แปรปรวน (Bipolar disorder) และสังคมควรเห็นใจ
อย่างไรก็ดีถ้าไล่ดูประวัติย้อนหลังจะพบว่าเคร้อยล้านเกี่ยวพันกับคดีที่มีความคลุมเครือและเป็นคนที่ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าเราควรจะรับมือปัญหาสุขภาพจิตโดยคำนึงถึงความปลอดภัยสาธารณะมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่
ทั้งนี้ เค ร้อยล้าน ปัจจุบันอายุ 47 ปี เคยเปลี่ยนชื่อมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น กันต์ฐพงศ์, ณัฐศักดิ์ญาณ, พงศ์พิษณุเทพ และกฤษณธมิเลย์ แต่ไม่อาจระบุได้ว่าธุรกิจของเขาเป็นหลักร้อยล้านตามฉายาที่สื่อรายงานจริงหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือประวัติการก่อเหตุวุ่นวายของเขาเริ่มขึ้นตั้งแต่ 16 ปีที่แล้ว
กันยายน 2549 – ช่วงนั้น เค ร้อยล้าน ยังใช้ชื่อว่ากันต์ฐพงศ์ ระบุว่าตนเองเป็น ‘พันธมิตรเชื้อสายอินเดีย’ ที่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ซึ่งชุมนุมขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีซึ่งถูกรัฐประหารในปีนั้น โดยเขาพ่นสีสเปรย์รถยนต์ส่วนตัวเป็นข้อความสนับสนุนทหารที่ยึดอำนาจรัฐบาลเดิม และยกย่อง พล.อ.สนธิ บุณยรัตนกลิน ผู้ก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
มกราคม 2551 – เค ร้อยล้าน เข้าแจ้งความกับตำรวจว่าตนเองถูกคุกคาม ถูกคนไล่ยิงรถ และคาดว่าเป็นเพราะตัวเองเป็นพยานในการตรวจสอบคดีทุจริตของอดีตรัฐบาลทักษิณ แต่ในเดือนเดียวกันมีนักธุรกิจหญิงรายหนึ่งแจ้งความ เค ร้อยล้าน ในข้อกล่าวหาว่าหลอกลวงให้มีความสัมพันธ์และฉ้อโกงเงิน แต่คดีนี้ก็เงียบหายไปจากสื่อ
เมษายน 2562 – เค ร้อยล้าน เปลี่ยนชื่อเป็นคเณศพิศณุเทพแล้ว ขับรถไปจอดกีดขวางบนถนนราชดำริ หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ในเขตปทุมวัน ร้องตะโกนโวยวายพร้อมโปรยดอกไม้ และปล่อยงูเห่าลงถนน รวมถึงกรีดแขนทำร้ายร่างกายตนเอง ทำให้ตำรวจมาคุมตัวเขาไปสอบปากคำและทำเรื่องส่งตัวเขาไปตรวจสุขภาพจิต
กุมภาพันธ์ 2565 – ถือเป็นเดือนที่ เค ร้อยล้าน ก่อความปั่นป่วนในที่สาธารณะมากที่สุด เพราะวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เขาขับรถไปจอดบนถนนหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์อีกครั้ง ทั้งยังพยายามจะปล่อยงูเห่า และใช้มีดทำร้ายตัวเอง แต่ถูกตำรวจคุมตัวไปสถานีตำรวจ แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน ก็เกิดกรณีที่เขาไปตะโกนโวยวายที่สนามบินสุวรรณภูมิในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ และไปชูพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ห้างสยามพารากอน พร้อมทั้งโวยวายปาขวดน้ำแดงจนทำให้ผู้ใช้บริการในห้างแตกตื่นตกใจ ซึ่งคลิปเหตุการณ์ก็กลายเป็นไวรัลในสื่อโซเชียลด้วย และวันที่ 24 กุมภาพันธ์เขาขึ้นเครื่องบินไปที่อินเดียและถูกตำรวจอินเดียจับกุมในข้อหาก่อความวุ่นวายในนครมุมไบ
พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการและโฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือ บช.น. แถลงข่าวโดยอ้างข้อมูลจากใบรับรองแพทย์ ระบุว่า เค ร้อยล้าน เป็นผู้ป่วยโรคจิตอารมณ์แปรปรวน และเคยเข้ารักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา แต่ปัจจุบันได้ปฏิเสธที่จะเข้าไปรับยาเพื่อใช้สำหรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง พร้อมเตือนว่าบุคคลใกล้ชิด หรือญาติที่เป็นผู้ดูแลผู้ป่วย หากผู้ป่วยมีการกระทำความผิดซ้ำ ญาติและผู้ดูแลก็จะต้องร่วมรับผิดชอบ เพราะเป็นการปล่อยปละละเลย
พฤษภาคม 2565 – จากที่เคยทำร้ายร่างกายตนเอง เค ร้อยล้าน ยกระดับไปสู่การทำร้ายร่างกายผู้อื่นช่วงต้นเดือนพฤษภาคม โดยเขาได้ตบหน้า วรวรรณ แซ่อั้ง หรือ ‘ป้าเป้า’ หนึ่งในนักกิจกรรมฝ่ายเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง และช่วงปลายเดือนพฤษภาคม เขาได้เข้าไปยั่วยุและก่อความวุ่นวายขณะที่มวลชนฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยจัดกิจกรรมรอรับการปล่อยตัวของ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ทำให้เขาถูกผู้ร่วมกิจกรรมวิ่งไล่และปารองเท้าใส่
มิถุนายน 2565 – ถือพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ร.10 ไปตะโกนท้าทายกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยซึ่งรวมตัวกันบริเวณแยกดินแดง ทำให้เกิดการเผชิญหน้า แต่ตำรวจในที่เกิดเหตุพยายามแยกทั้งสองฝ่ายออกจากกัน
ตุลาคม 2565 – ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ที่ศูนย์สิริกิติ์ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม เค ร้อยล้าน ได้ชูพระบรมฉายาลักษณ์ และตะโกนเสียงดังว่ามีระเบิด ทั้งยังเข้าไปล็อกคอด้านหลังของ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งกำลังแจกลายเซ็นให้แก่ผู้มาร่วมงานหนังสือ ทำให้ธนาธรและสมาคมผู้จัดงานฯ กล่าวว่าจะแจ้งความเอาผิดในคดีอาญาแก่ เค ร้อยล้าน และตำรวจก็อนุญาตให้เขาประกันตัวออกมาได้
ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ตั้งคำถามในสื่อโซเชียลจำนวนมาก ทั้งนักกฎหมายและประชาชน ซึ่งมองว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสุขภาพจิต ปฏิบัติกับ เค ร้อยล้าน ต่างจากผู้ป่วยทางจิตรายอื่น รวมถึงนักกิจกรรมการเมืองที่เคยเป็นคู่กรณีของเขา โดยมีการยกตัวอย่างกรณี ‘ตัวตึงระยอง’ หรือหญิงที่มีอาการทางจิตในจังหวัดระยอง ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่บังคับนำตัวไปตรวจอาการทางจิต และ ‘ป้าเป้า’ ซึ่งถูก เค ร้อยล้าน ทำร้ายร่างกาย แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องการสอบสวนและดำเนินคดี เพราะขณะที่เขาก่อเหตุกับธนาธรก็ยังไม่มีการออกหมายจับแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า ความผิดส่วนใหญ่ของ เค ร้อยล้าน ต่างก็เป็นความผิดลหุโทษ ไม่ร้ายแรง ส่วนใหญ่เป็นความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.รักษาความสะอาด และ พ.ร.บ.จราจร แต่การที่เขาทำร้ายร่างกายผู้อื่นและได้รับการปล่อยตัวอย่างง่ายดายในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้ผู้ใช้สื่อโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของทางการไทยดูจะมีหลายมาตรฐานกับผู้ที่อ้างว่าตัวเองป่วยทางจิต
ยิ่งถ้าเทียบกรณี เค ร้อยล้าน กับ ‘ทิวากร วิถีตน’ ชายไทยที่อาศัยในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าป่วยด้วยโรคจิตเวช จากการใส่เสื้อที่มีข้อความเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในปี 2563 ทำให้ทิวากรถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ, เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) สนธิกำลังควบคุมตัวไปที่ รพ.จิตเวช ขอนแก่นราชนครินทร์ ทันที ทั้งที่ทิวากรไม่เคยมีประวัติทำร้ายร่างกายหรือก่อเหตุวุ่นวายในที่สาธารณะมาก่อน
นอกเหนือจากข้อสงสัยเรื่องมาตรฐานการรับมือผู้มีอาการทางจิตเวชแล้ว ยังมีประเด็นงบประมาณรายจ่ายของกรมสุขภาพจิต ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งช่วงหลายปีที่ผ่านมาถูกปรับลดอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐบาลชุดนี้จะพูดอยู่บ่อยๆ ว่าใส่ใจปัญหาสุขภาพจิต นับตั้งแต่มีการรายงานข่าวสถิติการฆ่าตัวตายที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นตลอดช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วประเทศไทย
แต่ถ้าเปรียบเทียบงบประมาณของแผนปฏิบัติการของทางกรมสุขภาพจิตก็จะพบว่า ในปี 2565 ได้รับงบประมาณราว 2,783 ล้านบาท เท่านั้น ซึ่งลดลงจากปี 2564 ที่เคยได้รับกว่า 2,957 ล้านบาท และปี 2563 รวมเป็นเงินกว่า 3,136 ล้านบาท
อ้างอิง
- กระทรวงสาธารณสุข. .พระราชบัญญัติสุขภาพจิต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๒. https://bit.ly/3rIzE9P
- Prachathai. นาที ตร.นำตัว ‘ป้าเป้าMVP’ ไป สน. อ้างผิด พ.ร.บ.ความสะอาด ขวางเส้นทางจราจร. https://bit.ly/3zftIIL
- Thairath. ตำรวจยัน “เค ร้อยล้าน” เป็นผู้ป่วยโรคอารมณ์แปรปรวน อยากให้สังคมเห็นใจ. https://bit.ly/3zaN168
- Thansettakij. เปิดประวัติ “เค ร้อยล้าน” เป็นใคร ทำอาชีพอะไร กับสารพัดวีรกรรมป่วน. https://bit.ly/3TRHskV
- Matichon. ทนายเกิดผล ฟาดจนท.รัฐ ตั้งคำถาม ทำไมเคส ‘เค ร้อยล้าน’ ปฏิบัติแตกต่าง ‘ตัวตึงระยอง’. https://bit.ly/3MZyxM4