2 Min

‘วันสุดท้ายของชีวิต’ สิ่งที่หลงเหลือในกล้องของ ‘นักข่าวญี่ปุ่น’ ผู้เสียชีวิตขณะทำข่าวประท้วงพม่าเมื่อ 15 ปีที่แล้ว

2 Min
485 Views
03 May 2023

เหตุการณ์ ‘ประท้วงชายจีวร’ ที่บางสื่อเรียกว่า ‘การปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์’ หรือ Saffron Revolution คือการประท้วงโดยสันติวิธีเพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการพม่าเมื่อปี 2007 โดยมีพระสงฆ์พม่าเป็นแกนนำและคอยเป็นโล่กำบังให้ประชาชนที่ร่วมประท้วง ก่อนจะกลายเป็นโศกนาฏกรรมเมื่อทหารพม่าใช้อาวุธเข้าสลายการชุมนุมจนมีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และถูกจับกุมจำนวนมาก

หนึ่งในผู้เสียชีวิต คือ เคนจิ นากาอิ (Kenji Nagai) นักข่าวญี่ปุ่นที่เข้าไปรายงานข่าวในพม่า ณ ขณะนั้นโดยผลชันสูตรบ่งชี้ว่าเขาถูกกระสุนของทหารยิงจนบาดเจ็บสาหัสเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2007 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ขณะมีอายุได้ 50 ปี

อย่างไรก็ตาม กล้องวิดีโอของเขาได้หายไปจากที่เกิดเหตุนานกว่า 15 ปี ก่อนจะถูกส่งคืนให้กับ ‘โนริโกะ โอกาวะ’ (Noriko Ogawa) น้องสาวของเคนจิ ซึ่งเป็นตัวแทนครอบครัวมารับกล้องในพิธีส่งมอบอย่างเป็นทางการ ซึ่งจัดขึ้นที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2023 โดยมีคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (CPJ) เป็นผู้ร่วมจัดงานครั้งนี้ด้วย

ขณะเดียวกัน ‘อาย ชาน ไนง์’ (Aye Chan Naing) ตัวแทนของสำนักข่าว DVB ซึ่งเป็นสื่ออิสระของพม่า และเป็นสื่อที่ประกาศจุดยืนต่อต้านเผด็จการพม่าตั้งแต่การประท้วงชายจีวร เรื่อยมาจนถึงต่อต้านรัฐบาลทหารที่เพิ่งก่อรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 เป็นผู้ส่งมอบกล้องของเคนจิคืนให้โนริโกะ

ภายในกล้องมีวิดีโอเทปซึ่งบันทึกเหตุการณ์ในวันสุดท้ายของเคนจิ และมีการเปิดวิดีโอดังกล่าวในงานส่งมอบกล้องด้วย เพื่อแสดงความเคารพต่อการปฏิบัติหน้าที่สื่ออย่างกล้าหาญของผู้ที่จากไป ซึ่งโนริโกะได้กล่าวย้ำว่าอยากให้ผู้คนจดจำเขาในฐานะนักข่าวที่พร้อมจะสู้จนถึงนาทีสุดท้าย

“ฉันไม่คิดว่าเขาเป็นวีรบุรุษหรอก เพราะถึงแม้ว่าเขาจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม แต่ฉันอยากให้คนจดจำเขาในฐานะนักข่าวที่ต่อสู้ด้วยความมุ่งมั่นมากกว่า… ฉันคิดว่าการที่พี่ชายของฉันเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในช่วงชุลมุนของการปฏิวัติชายจีวร น่าจะเป็นเพราะเขาเชื่อว่าตัวเองสามารถช่วยประเทศเมียนมาได้ ด้วยการบอกให้โลกรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น” โนริโกะเล่ากับสื่อ

อย่างไรก็ดี ตัวแทน DVB ไม่ขอเปิดเผยว่าได้รับกล้องนี้มาอย่างไรและจากใคร แต่บอกเพียงว่ากล้องนี้ถูกเก็บซ่อนและผ่านมือผู้คนและการเดินทางมามากมายในช่วงกว่า 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถ้าแจกแจงเรื่องราวอย่างละเอียดอาจทำให้คนที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบหรือเสี่ยงต่อภัยคุกคามจากรัฐบาลเผด็จการเพราะสุดท้ายแล้วเผด็จการพม่าก็ยังกลับเข้ามาปกครองบ้านเมืองต่อไป และยังคงใช้วิธีการโหดร้ายป่าเถื่อนกับประชาชนที่ลุกฮือขึ้นต่อต้านเหมือนเดิม

อ้างอิง

  • ABC. Slain Japanese journalist Kenji Nagai’s last Myanmar images shared after 15 years missing. https://ab.co/40GF6Ze
  • BBC. Kenji Nagai: Missing camera reveals journalist’s last moments in Myanmar. https://bbc.in/3LfQipQ
  • CPJ. More than 15 years after his killing in Myanmar, journalist Kenji Nagai’s camera returned to family. https://bit.ly/424rMyD