4 Min

รู้ไหมคณะรัฐมนตรีของ โจ ไบเดน เป็นคณะที่มี “ความหลากหลาย” ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติอเมริกา

4 Min
337 Views
27 Jan 2021

หลังจากโจ ไบเดนได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ เขาได้ทำหลายๆ อย่าง เช่น ยกเลิกนโยบายต่างๆ ของโดนัลด์ ทรัมป์ทันที ที่เด่นชัดคือนโยบายผู้อพยพ และนโยบายเกี่ยวกับโลกร้อน

แต่สิ่งที่ทำให้หลายคน “จับตา” เป็นพิเศษ กลับเป็นการตั้ง คณะรัฐมนตรีของโจ ไบเดนที่เรียกได้ว่า “หลากหลาย” ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา

สิ่งที่เรียกว่า “คณะรัฐมนตรี” ในอเมริกา

สำหรับอเมริกา “คณะรัฐมนตรี” มีองค์ประกอบคือ คนในคณะทั้งหมด 16 คน

ได้แก่ รองประธานาธิบดี อัยการสูงสุด และกลุ่มคนที่อเมริกาเรียกว่า “Secretary” อีก 14 คน

ซึ่ง Secretary ในที่นี้เทียบเท่ากับบุคคลที่บ้านเราเรียกว่า “รัฐมนตรี”

ความต่างก็คือ “รัฐมนตรี” แบบอเมริกานั้นจะคุม “กลุ่มงาน” มากกว่าคุมกระทรวง ซึ่งรัฐมนตรี 14 คนที่คุม 14 กลุ่มงานได้แก่

  1. รัฐมนตรีต่างประเทศ
  2. รัฐมนตรีการคลัง
  3. รัฐมนตรีกลาโหม
  4. รัฐมนตรีมหาดไทย
  5. รัฐมนตรีการเกษตร
  6. รัฐมนตรีพาณิชย์
  7. รัฐมนตรีแรงงาน
  8. รัฐมนตรีสุขภาพและบริการสำหรับมนุษย์
  9. รัฐมนตรีที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมือง
  10. รัฐมนตรีคมนาคม
  11. รัฐมนตรีพลังงาน
  12. รัฐมนตรีการศึกษา
  13. รัฐมนตรีทหารผ่านศึกสัมพันธ์
  14. รัฐมนตรีความมั่นคงมาตุภูมิ

ทีนี้พอ โจ ไบเดนเริ่มตั้งรัฐมนตรี สิ่งที่คนสังเกตก็คือ คณะรัฐมนตรีของเขาเกินครึ่งไม่ใช่ผู้ชายผิวขาวเชื้อสายยุโรปที่มีรสนิยมทางเพศชอบเพศตรงกันข้าม หรือพูดอีกแบบคณะรัฐมนตรีของเขาเต็มไปด้วย “คนกลุ่มน้อย” “ผู้หญิง” และ “LGBT”

สำรวจ ‘ความหลากหลาย’ ของคณะรัฐมนตรี โจ ไบเดน

พูดในเชิงปริมาณก็คือ ในคณะรัฐมนตรี 16 คน มีแค่ 5 คน เท่านั้นที่เป็นผู้ชายผิวขาวเชื้อสายยุโรปที่มีรสนิยมชอบเพศตรงกันข้าม อีก 11 คน เป็นคนจากอัตลักษณ์อื่นๆ ทั้งหมด ส่วนจะมีใครบ้าง ไปดูรายชื่อกัน

คนแรกเลยคือ กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกมาพร้อมโจ ไบเดน หลายคนน่าจะรู้จักกันอยู่แล้วว่าเธอเป็นลูกครึ่งอินเดียและคนดำ ทำให้เธอเป็นทั้งรองประธานาธิบดีผู้หญิงคนแรก รองประธานาธิบดีคนดำคนแรก และรองประธานาธิบดีคนเอเชียคนแรกไปพร้อมกัน

กมลา แฮร์ริส | wikipedia

คนที่สอง เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีการคลังของอเมริกาคนแรกที่เป็นผู้หญิง

เจเน็ต เยลเลน | wikipedia

คนที่สาม นายพลลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมคนแรกของอเมริกาที่เป็นคนดำ

นายพลลอยด์ ออสติน | wikipedia

คนที่สี่ เด็บ ฮาแลนด์ รัฐมนตรีมหาดไทยของอเมริกา และเป็นคนอเมริกันพื้นเมือง (ที่บ้านเราคุ้นกับการเรียก “อินเดียนแดง”) คนแรกที่ได้เป็นรัฐมนตรี

เด็บ ฮาแลนด์ | wikipedia

คนที่ห้า จินา ไรมอนโด รัฐมนตรีพาณิชย์ที่เป็นผู้หญิง (มีมาหลายคนแล้วในประวัติศาสตร์อเมริกา)

จินา ไรมอนโด | wikipedia

คนที่หก ฮาเวียร์ เบเซอร์รา รัฐมนตรีสุขภาพและบริการสำหรับมนุษย์ที่มีเชื้อสายลาตินอเมริกัน (มีมาหลายคนแล้วเช่นกัน)

ฮาเวียร์ เบเซอร์รา | wikipedia

คนที่เจ็ด มาร์เซีย ฟัดจ์ รัฐมนตรีที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมืองที่เป็นผู้หญิงคนดำ (เคยมีมาก่อนหน้านี้แล้ว 1 คนเมื่อหลายสิบปีก่อน)

มาร์เซีย ฟัดจ์ | wikipedia

คนที่แปด พีท บูดิเจจ รัฐมนตรีคมนาคม และเป็นสมาชิกคณะรัฐมนตรีของอเมริกันคนแรกที่เป็น LGBT อย่างเปิดเผย

พีท บูดิเจจ | wikipedia

คนที่เก้า เจนนิเฟอร์ เกรนแฮม รัฐมนตรีพลังงานที่เป็นผู้หญิง (เคยมีผู้หญิงรับตำแหน่งนี้มาก่อนแล้ว 2 คน)

เจนนิเฟอร์ เกรนแฮม | wikipedia

คนที่สิบ เมเกล คาร์โดนา รัฐมนตรีการศึกษาที่มีเชื้อสายลาตินอเมริกัน (เคยมีมาก่อนหน้านี้แล้วเช่นกัน)

เมเกล คาร์โดนา | courant

และคนที่สิบเอ็ด อเลฮานโคร มายอร์คาส รัฐมนตรีความมั่นคงมาตุภูมิคนแรกที่มีเชื้อสายลาตินอเมริกัน

อเลฮานโคร มายอร์คาส | wikipedia

นับเป็นปริมาณที่เยอะจริงๆ เพราะในสมัย “โอบามา” ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คณะรัฐมนตรีเกินครึ่งไม่ใช่ผู้ชายผิวขาวเชื้อสายยุโรปชอบเพศตรงข้าม ก็ยังมีรวมกันเพียง 9 คนเท่านั้น แต่สมัยไบเดนคือมีถึง 11 คนจาก 16 คน

แน่นอนนี่เป็นอะไรที่ “อเมริกัน” สุดๆ แบบที่ชาวโลกคงสงสัย เพราะประเทศอื่นๆ เขาก็ไม่ค่อยมานับ “ความหลากหลาย” ในคณะรัฐมนตรีกันขนาดนี้ (เต็มที่คือนับว่ามีผู้หญิงกี่คน) และที่ตลกคือ ขนาดหลากหลายแบบนี้ก็ยังมีฝ่ายก้าวหน้าวิจารณ์เลยว่า “ยังไม่หลากหลายพอ” เช่น ทำไมรัฐมนตรีกลาโหมไม่เป็นผู้หญิงคนดำไปเลย เพราะแค่คนดำผู้ชาย ยังไม่ก้าวหน้าพอ

อย่างไรก็ดี โดยรวมๆ “ความหลากหลาย” แบบนี้ก็เรียกว่าน่าจะ “ได้ใจกองเชียร์” ที่เลือกโจ ไบเดนมาไม่น้อย เพราะคนกลุ่มนี้แหละที่ถูกเบียดขับไปเป็นคนชายขอบสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ และเป็นฐานเสียงสำคัญของโจ ไบเดน

‘ความหลากหลาย’ อาจไม่ใช่ทางออกของอเมริกา

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะฝ่ายซ้ายหรือขวาก็ดูจะเห็นตรงกันว่า “ความหลากหลาย” ของคณะรัฐมนตรีโจ ไบเดนก็ดูจะเป็นแค่เปลือกนอกเท่านั้น เพราะนโยบายเศรษฐกิจระดับโครงสร้างใหญ่ยังเรียกได้ว่าไม่หนีจากแนว “เสรีนิยมใหม่” ที่ริเริ่มมาเกือบ 40 ปีตั้งแต่สมัยโรนัลด์ เรแกน

สำหรับนักวิเคราะห์จำนวนมาก แนวทางเศรษฐกิจนี้แหละที่สร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำระดับนี้ขึ้นมาในอเมริกา และการที่ทั้งสองพรรคใหญ่ไม่ได้มีแนวทางเศรษฐกิจที่หนีไปจากแนวนี้ก็เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้คนอเมริกันเลือก “คนบ้า” อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะสิ่งที่ทรัมป์เสนอแน่ๆ คือ “ความต่าง” ไปจากวงจร “เลือกพรรคไหน ชีวิตก็ไม่ได้ดีขึ้น”

ประเด็นนี้น่าจะทำให้การ “แก้ปัญหาปากท้อง” สำหรับคนระดับรากหญ้าเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดของโจ ไบเดน เพราะไม่ว่าคณะรัฐมนตรีจะหลากหลายแค่ไหน แต่ถ้าปัญหาปากท้องไม่ได้ถูกแก้จนคน ‘รู้สึก’ ได้ คนบ้าๆ แบบโดนัลด์ ทรัมป์ก็อาจโผล่มาอีกครั้ง และก็ไม่แปลกเลยว่าถ้าจะมี “ทรัมป์คนต่อไป” ก็อาจจะโหดยิ่งกว่าเดิม

ซึ่งนี่แหละ ภารกิจจริงๆ ของไบเดนอาจไม่ใช่แค่การยุติการปกครองของทรัมป์ แต่ต้องเป็นการป้องกันไม่ให้เกิด “ทรัมป์คนต่อไป” มากกว่า

อ้างอิง: