3 Min

พบภาพทับซ้อน ใต้ภาพวาด ‘Pintura’ ผลงานของ ‘Joan Miró’ ศิลปินชื่อดังชาวสเปน ที่มีใบหน้าของผู้เป็นแม่ซ่อนอยู่

3 Min
57 Views
06 May 2025

ในปี 2024 มีการค้นพบว่า ภายใต้ภาพวาดสีน้ำมันสัญลักษณ์รูปทรงเรขาคณิต 3 จุด ฉาบพื้นหลังด้วยสีน้ำเงินทั้งเฟรมในชื่อผลงาน ‘Pintura’ ของ โจอัน มิโร’ (Joan Miró) ศิลปินหัวก้าวหน้าชื่อดังของสเปน มีภาพวาดเสมือนเป็นใบหน้าของ ดูโลส ฟาร์รา อี อูรูมี’ (Dolors Ferrà i Oromí) ผู้เป็นแม่ของศิลปินซ่อนอยู่ภายใต้ภาพสีน้ำเงินนั้น 

กรณีนี้เราอาจมองได้ว่า ศิลปินอาจหยิบเฟรมภาพวาดเก่ามาวาดทับเป็นผลงานใหม่เหมือนๆ กับที่ศิลปินคนอื่นก็ทำกันเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับมิโรนั้น ดูเหมือนว่าการวาดภาพทับซ้อนจะมีนัยซ่อนอยู่มากกว่านั้น 

ต้องเล่าก่อนว่า โจอัน มิโร เป็นศิลปิน จิตรกร และประติมากรจากลัทธิเหนือจริงแห่งต้นศวรรษที่ 20 ที่มักจะชอบทดลองวาดภาพแนวใหม่ๆ โดยไม่สนใจกฎเกณฑ์หรือหลักการรูปแบบเดิม ทั้งนี้ก็เพื่อมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในงานศิลปะ ผลงานของเขาจึงโดดเด่นไปด้วยภาพสัญลักษณ์ เรขาคณิต รูปทรงแปลกประหลาดแหวกแนวและลึกล้ำแบบนามธรรมที่เป็นอิสระ 

ในปี 1927 มิโรพูดประโยคเด็ดเมื่อถูกสัมภาษณ์ไว้ว่า “ผมต้องการลอบสังหารงานจิตรกรรม” (I want to assassinate painting.) โดยตีความได้ว่า เขาต้องการจะล้มล้างกฎเกณฑ์แนวคิดศิลปะดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นแนวคลาสสิกหรือแนวเรอเนซองส์ที่ยึดติดกับมาตรฐานความงาม โดยวิธีการของเขาคือการซื้อภาพวาดหลากหลายสไตล์ของศิลปินคนอื่นมา ‘วาดทับ’ ด้วยรูปทรงอันไร้ขอบเขตตามสไตล์เขา เพื่อแสดงออกถึงเสรีภาพในการสร้างงาน 

การวาดทับของมิโรยังเป็นการแสดงออกถึงการต่อต้านระบบชนชั้นสูงที่ผูกมัดคุณค่าของศิลปะไว้กับการซื้อขายในตลาดศิลปะ โดยการวาดทับก็เป็นเสมือนการทำลายเพื่อไม่ให้ตลาดและชื่อเสียงเข้ามามีอำนาจเหนือไปกว่าจิตวิญญาณแห่งการสร้างสรรค์ 

สำหรับ ‘Pintura’ ภาพวาดสีน้ำมันที่ปรากฏเป็นสัญลักษณ์รูปทรง 3 จุด ซึ่งมีขนาดเล็กเพียง 49 ซม. x 60 ซม. มิโรวาดขึ้นในระหว่างปี 1925-1927 โดยวาดให้ ‘โจอัน ปราตส์’ (Joan Prats) เพื่อนผู้ส่งเสริมงานศิลปะของเขา โดยช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่เขาเดินทางไปปารีสเพื่อทดลองสร้างงานศิลปะในลัทธิโฟวิสม์ ลัทธิหลังเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ และลัทธิคิวบิสม์ เพื่อสร้างงานที่เป็นสไตล์ที่มีอิสระและมีความเป็นตัวเองมากขึ้น

Pintura มองผิวเผินอาจไม่ได้แตกต่างไปจากการวาดทับเพื่อแสดงเจตนารมณ์เหมือนผลงานชิ้นอื่นๆ ของเขา เพียงแต่ว่าภาพเก่าที่อยู่ใต้ฝีแปรงของมิโร กลับเป็นภาพเหมือนแม่ของเขาเอง ที่ศิลปินตั้งใจตัดให้เหลือเพียง ‘ใบหน้าแม่’ มาวาดทับเป็นรูป ‘Pintura’ อย่างไรก็ตามการพิสูจน์ว่านี่เป็นภาพของแม่เขานั้นไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด 

การค้นพบดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2024 เมื่อผู้เชี่ยวชาญของมูลนิธิ โจอัน มิโร’ นำโดย ‘เอลิซาเบต เซอร์รา’ (Elisabet Serra) หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์และบูรณะเชิงป้องกัน ร่วมกับศูนย์ Restauració de Béns Mobles de Catalunya และมหาวิทยาลัย Pablo de Olavide ในเมืองเซบียา ตัดสินใจนำภาพเอกซเรย์ของภาพวาด Pintura ที่ถ่ายไว้เมื่อหลายปีมาตรวจสอบอีกครั้ง 

ผ่านการใช้รังสีเอกซ์ แสงอัลตราไวโอเลตและอินฟราเรด การถ่ายภาพแบบไฮเปอร์สเปกตรัม การไล่เฉดสีที่มองเห็นได้ และแสงที่ส่องผ่าน ก็พบว่าภายใต้ภาพ Pintura ปรากฏเป็นภาพเหมือนของผู้หญิงวัยกลางคนแต่งตัวดี ที่วาดด้วยสไตล์แตกต่างไปจากสไตล์ของมิโร โดยต่างหูและเข็มกลัดที่คอของเธอสอดคล้องไปกับสัญลักษณ์ 3 จุดที่ปรากฏบนภาพวาด Pintura ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ผู้หญิงในภาพนี้เป็นใคร 

จากนั้นเซอร์ราได้เดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์ Fundació Mas Miró ตั้งอยู่ในบ้านพักในฟาร์มที่มิโรและครอบครัวของเขาเคยพักอาศัย แต่ไม่พบภาพเหมือนที่ตรงกับใบหน้าหญิงดังกล่าว กระทั่งเธอมาพบภาพเหมือนที่มีลักษณะคล้ายหญิงวัยกลางคนในภาพ Pintura ทุกประการ ที่สตูดิโอ Son Boter ของมิโรบนเกาะบาเลียริก

ภาพเหมือนที่ว่านี้วาดโดยศิลปิน ‘Cristòfol Montserrat Jorba’ ในปี 1907 เพียงแต่สิ่งที่แตกต่างคือเครื่องแต่งกายและต่างหู และที่นั่นก็เป็นที่ที่ทำให้ค้นพบว่านี่คือภาพวาดของ Dolors Ferrà i Oromí หรือแม่ของมิโรนั่นเอง

แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือวิธีการนำภาพเหมือนของผู้เป็นแม่ ที่เดิมทีเป็นแนวตั้ง มิโรนำมาพลิกเป็นแนวนอน แล้วตัดส่วนอื่นออก เหลือไว้เพียงส่วนกลาง ซึ่งก็คือใบหน้าของแม่เขาเอง วิธีการนี้นอกจากจะจงใจสานต่อแนวคิดการวาดภาพทับของเขาแล้ว ว่ากันว่ายังเป็นการแสดงออกถึงการต่อต้านค่านิยมชนชั้นกลางของครอบครัวมิโรที่พยายามจะยกตนเป็นคนชนชั้นสูงอีกด้วย

รวมถึงการต่อต้านอุดมการณ์ของพ่อแม่ที่ต้องการให้มิโรทำงานเป็นเสมียนบัญชี หรืองานที่มั่นคง โดยไม่ให้การสนับสนุนเขาในด้านศิลปะอยู่ช่วงหนึ่ง และในขณะที่เขาได้เป็นศิลปินแล้วก็ยังต้องพิสูจน์ตนเองให้ครอบครัวยอมรับเส้นทางนี้อยู่เสมอ 

หากพิจารณถึงแนวคิดของเขาแล้ว ไม่แน่ว่าเขาอาจจะได้รับอิทธิพลมาจากความคิดที่ไม่ตรงกันระหว่างเขาและครอบครัวมาตั้งแต่แรกแล้วก็เป็นไปได้

อ้างอิง

  • ‘CSI: Miró’: X-ray reveals Spanish artist painted out his mother – but why? https://shorturl.asia/YK9zb
  • อิสระ ไร้กฎเกณฑ์ ‘Miró’ ศิลปินหัวขบถล้ำยุค ผู้ไม่เกรงกลัวความล้มเหลว https://shorturl.asia/ZTxcJ