2 Min

เคยเป็นไหม? ไม่พอใจเวลาเห็นคนอื่นสนิทกับเพื่อนของเรา กับอาการที่เรียกว่า ‘Friendship Jealousy’

2 Min
3725 Views
14 Jun 2022

หลายคนอาจจะมีความรู้สึกไม่พอใจ เมื่อเห็นคนอื่นกำลังเข้าหาหรือพูดคุยกับคนของเรา ซึ่งไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นแฟนหรือเพื่อนก็ตาม การรู้สึกหวงแฟนอาจเป็นสิ่งที่ใครๆ ต่างก็ยอมรับว่าเคยเป็น แต่กลับกันการหวงเพื่อนสนิทอาจเป็นสิ่งที่คนไม่ค่อยยอมรับเท่าไหร่

พูดถึงความรู้สึกหึงหวงคนเราอาจจะนึกถึงแต่ความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก แต่ความจริงแล้วความรู้สึกนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกความสัมพันธ์ แม้กระทั่งในความสัมพันธ์ในรูปแบบเพื่อนก็ตาม

การหวงเพื่อนสนิท (Friendship Jealousy) เป็นลักษณะของอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ในทุกคน เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเพื่อนสนิทเป็นไปในลักษณะที่ผูกพันกันกว่าเพื่อนทั่วไป เราจึงต้องพยายามรักษามิตรภาพนี้ไว้ ไม่ให้ถูกผู้อื่นแย่งความสัมพันธ์ที่มีค่านี้ไป

ผลการศึกษากล่าวว่าอาการหึงหวงเกิดขึ้นกับตัวเราตั้งแต่ยังเด็ก โดยเริ่มจากการเรียนรู้ที่จะครอบครองและเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสิ่งของ และเมื่อเกิดความอ่อนแอกับตัวเองเมื่อไหร่ จะเกิดความหวาดกลัวว่าจะเสียสิ่งนั้นไป หรือยิ่งไปกว่านั้นคือการกลัวที่จะถูกแย่งจากสิ่งอื่น จากตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อพ่อและแม่มีลูกคนที่สอง ลูกคนแรกจะเกิดอาการหวงและอิจฉาขึ้นมา

หรือการที่จู่ๆ เพื่อนของเราเลือกที่จะไปกินข้าวกับคนอื่นทั้งๆ ที่ปกติเพื่อนคนนี้จะไปกินข้าวกับเรา เมื่อเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นกับเรา เราจะเกิดอาการน้อยใจกับการถูกลดค่าความสัมพันธ์ และรู้สึกเหมือนถูกดีดออกจากวงโคจร ที่อาจจะส่งผลให้เราไม่มั่นใจในตัวเองมากขึ้น

อย่างไรก็ตามเราก็ควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับอารมณ์หึงหวง ไม่ให้ความคิดในแง่ลบมากระทบกับจิตใจของเรา เพื่อป้องกันความรู้สึกแย่ในความสัมพันธ์

ความหึงหวงอาจเป็นอารมณ์ที่ซับซ้อนและเจ็บปวด แต่มันสามารถสะท้อนความรู้สึกไม่มั่นคงภายในจิตใจของเราได้ ดังนั้น เราจึงควรเรียนรู้ที่จะพูดคุยกับเพื่อนสนิทและสังเกตพฤติกรรมของพวกเขา ว่ามีการตีตัวออกห่างหรือลดความสำคัญของเราหรือไม่ เพราะไม่อย่างนั้นทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตัวเราจะเป็นเพียงการคิดไปเองทั้งหมด เราจึงต้องทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนจะตัดสินใจทำอะไรต่อไป

สิ่งสำคัญในการจัดการกับอาการหวงเพื่อนสนิท คือการยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น ที่ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธ โมโห หรือไม่พอใจของเรา เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่ผิดอะไร เมื่อเรายอมรับกับอารมณ์เหล่านี้ได้แล้ว เราจะได้คิดทบทวนมากขึ้นว่า อารมณ์พวกนี้ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อนสนิทดีขึ้นมา มีแต่จะทำให้ความสัมพันธ์เต็มไปด้วยความอึดอัดและไม่เข้าใจกัน เพราะบางที การที่เพื่อนสนิทเหมือนตีตัวออกห่างเรา บางทีเขาอาจจะแค่อยากลองเปลี่ยนบรรยากาศในการใช้ชีวิตบ้างเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด เพื่อนและตัวเราต่างก็มีชีวิตเป็นของตัวเอง แม้จะเป็นคนสำคัญมากๆ แต่เราก็ไม่ใช่เจ้าของชีวิตของกันและกัน เราเองก็มีสิทธิ์ที่จะมีความสุขหรือดำเนินชีวิตในรูปแบบต่างๆ ที่อยากทำเช่นเดียวกัน 

การหึงหวงเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่การเข้าใจและเท่าทันความรู้สึกของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ความสัมพันธ์ของเราราบรื่นไม่ว่าจะเป็นไปในรูปแบบไหนก็ตาม แม้ว่าอาการหึงหวงและอิจฉาจะถูกพัฒนามาจากตัวเราในตอนเด็ก แต่เมื่อเราโตขึ้น การทำความเข้าใจกับอารมณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเราหาทางออกกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้

อ้างอิง