ถ้าพูดถึงความมหัศจรรย์ญี่ปุ่น เราอาจนึกถึงสารพัดเรื่องราวของแดนมหัศจรรย์แห่งนี้ แต่จริงๆ แล้ว สิ่งหนึ่งที่ประเทศนี้มหัศจรรย์สุดๆ แต่คนไม่ค่อยมองคือ เรื่องการบริหารจัดการขยะ
ถ้าใครไปเที่ยวญี่ปุ่นก็คงรู้ว่าประเทศนี้มีระบบการแบ่งประเภทขยะแบบบ้าคลั่งมากๆ คือต้องทำการแยกทิ้ง ต้องทิ้งให้ถูกวิธี ถ้าใครทำผิด ว่ากันว่าทางเทศบาลจะไม่เก็บให้ แถมยังเอากลับมาวางหน้าห้องให้เกิดความอับอายกันไป ซึ่งอะไรพวกนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ของสังคมญี่ปุ่นที่มักใช้มาตรการควบคุมพฤติกรรมคนทางวัฒนธรรมเป็นหลัก
แน่นอน ที่เราพูดกันในที่นี้ มันหมายถึงขยะพื้นๆ อย่างเศษอาหาร เศษบรรจุภัณฑ์ และเศษพลาสติกต่างๆ แต่ประเด็นคือคนในสังคมปัจจุบันกลับมี ‘ขยะ’ มากกว่านั้น คำถามคือไอ้ขยะที่มากกว่านั้น มันจัดการยังไง?
ในญี่ปุ่น มีขยะ 2 ประเภทใหญ่ๆ ที่ ‘ห้ามทิ้งเด็ดขาด’ ในสารบบขยะปกติ อย่างแรกคือขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ อย่างที่สองคือ ‘ขยะชิ้นใหญ่’ หรือขยะมีขนาดเกิน 30x30x30 ซม.
สำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ คนญี่ปุ่นต้องไปทิ้งที่ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าเท่านั้น เพราะเขาถือว่าร้านพวกนี้จะรู้ว่าส่วนไหนยังใช้ได้อยู่และทำการรีไซเคิลได้ดีที่สุด ซึ่งการทิ้งของพวกนี้ เราต้องจ่าย ‘ค่ากำจัดขยะ’ ให้ทางร้านด้วย และค่ากำจัดขยะพวกนี้ก็โหดไม่ใช่เล่น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนญี่ปุ่นจะทิ้งคอมพิวเตอร์ เขาต้องจ่ายประมาณ 1,000 บาทเป็นค่ากำจัดขยะด้วย ไม่ใช่จะทิ้งฟรีๆ ได้
อาจฟังดูขัดสามัญสำนึกคนบ้านเรามาก แต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในญี่ปุ่น และมันเป็นมาตรฐานที่เขาออกแบบมาเพื่อให้คน ‘รีไซเคิล’
แน่นอนว่าไม่มีใครอยาก ‘เสียเงิน’ เพื่อทิ้งขยะพวกนี้ ดังนั้นสิ่งที่เกิดตามมาก็คือพวกร้านรับซื้อขยะเพื่อนำมาขายเป็นของมือสอง ซึ่งในภาษาอังกฤษเขาจะใช้คำว่า ‘ร้านรีไซเคิล’ (recycle shop) ร้านในกลุ่มนี้มีตั้งแต่ร้านเล็กๆ ในท้องถิ่น ไปจนถึงเครือใหญ่ๆ แบบเครือ Book Off ที่เริ่มจากการรับซื้อหนังสือมือสองมาขาย แล้วขยายมาเป็น Hard Off ที่ขายเครื่องใช้ไฟฟ้ามือสอง รวมถึง Mode Off ที่ขายเสื้อผ้ามือสอง
ถ้าใครเคยไปร้านพวกนี้แล้วสงสัยว่าเขาสินค้าเหล่านั้นมาจากไหน คำตอบคืออย่างที่เล่าครับ คนเอาไป ‘ทิ้ง’ ต้องเสียเงิน ร้านพวกนี้เลยรับซื้อแบบถูกๆ มาทำเป็นของมือสองขาย
ถามว่าของพวกนี้บางทีสภาพแย่มาก ขายไม่ได้แน่ๆ แล้วจะเอาไปไหน?
คำตอบคือ เคยไปเดิน ‘โกดังสินค้าญี่ปุ่น’ ในไทยไหมครับ มันจะมีส่วนของ ‘เครื่องใช้ไฟฟ้าขายตามสภาพ’ อยู่ ทั้งหมดล้วนมาจากระบบคัดขยะของญี่ปุ่นนี่แหละ ถ้าสภาพใช้ได้ ทั่วๆ ไป ก็ขายในญี่ปุ่น ถ้าเกินเยียวยา เขาจะตีเป็น ‘ขยะ’ แต่ในทางปฏิบัติคือส่งมาขายในเมืองนอกอย่างประเทศไทย ซึ่งคนนำเข้าก็ซื้อและจ่ายภาษีในราคาถูก เพราะภาษีนี้อยู่ในเรทแบบ ‘ขยะ’ เลย
แต่ถ้าเราเคยเดินร้านพวกนี้ เราจะพบว่ามันมีกีตาร์ มีตู้ มีของใหญ่ๆ เต็มไปหมดเลย คำถามคือมันคือ ‘ขยะ’ เช่นกัน เหรอ? คำตอบคือ ใช่ แต่มันคือ ‘ขยะชิ้นใหญ่’ ในญี่ปุ่น
ในญี่ปุ่น มันจะมีคำเรียก ‘ขยะชิ้นใหญ่’ ว่า ‘Sodai Gomi’ โดยขยะพวกนี้มักจะมีขนาดใหญ่เกิน 30x30x30 ซม. ซึ่งบางทีแค่ขนย้ายก็ยากแล้ว เช่นพวกตู้ เตียง ชั้นวาง หุ่นโชว์ หรือสำหรับบางคน กีตาร์ที่หมดสภาพมากๆ ก็ถูกจัดให้อยู่ในหมวดขยะพวกนี้ด้วย
คำถามคือต้องทำยังไง? คือถ้าอยู่ญี่ปุ่น ทุกเขตการเก็บขยะ เขาจะมีรถเฉพาะที่จะมาเก็บขยะพวกนี้เดือนละครั้ง ซึ่งต้องโทรนัดล่วงหน้าก่อน
กระบวนการก็ง่ายๆ โทรไปเทศบาล สอบถามวันเวลานัด และบอกประเภทของขยะที่จะให้เขามาเก็บพร้อมกับระบุพิกัดพื้นที่ ทางเทศบาลก็จะบอกให้เราไปซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อซื้อสติกเกอร์ที่ยืนยันว่าเราจ่ายเงินค่ากำจัดขยะพวกนี้แล้วมาติดไว้ที่ขยะก่อนวางทิ้ง (คล้ายๆ ติดแสตมป์) สนนราคาสติกเกอร์ก็จะมี 2 ราคา คือ 250 เยน กับ 500 เยน หรือประมาณ 75 บาท กับ 150 บาท
เมื่อถึงวันเวลานัดหมาย เราก็เอาของมาวาง รถก็มารับไป ขยะก็จะหายไป ซึ่งขยะพวกนี้มันก็จะไปอยู่ในเป็นศูนย์แยกขยะ หลายครั้งสภาพของมันดีๆ ทั้งนั้น บางชิ้นเป็น ‘ตู้ไม้แท้’ แต่คนญี่ปุ่นจะไม่ค่อยชอบซื้ออะไรพวกนี้ เพราะเขามีความเชื่อว่าอาจมีวิญญาณติดอยู่กับพวกเฟอร์นิเจอร์มือสอง ดังนั้นหลายครั้งของพวกนี้จึงถูกส่งมาในฐานะ ‘ขยะ’ เพื่อขายนอกประเทศญี่ปุ่น และส่วนหนึ่งก็คือถูกส่งมาไทยนี่แหละครับ
จะเห็นได้ว่าคนจะทิ้งขยะอะไรพวกนี้ก็ต้องเสียเงิน มันก็เลยกระตุ้นให้เกิดธุรกิจ ‘รับซื้อขยะสภาพดีราคาถูก’ เช่น ถ้าคุณจะทิ้งกีตาร์แบบที่มันเก่าและเน่าจริงๆ (เพราะถ้าเป็นกีตาร์ ‘มียี่ห้อ’ จะมีร้านรับซื้อเครื่องดนตรีมือสองอยู่ และให้ราคาดีด้วย) คุณจะทิ้งแบบให้เทศบาลมาเก็บแล้วเสียเงินก็ได้ หรือคุณจะไปขายให้ร้าน Hard Off ในราคาถูก หรือถ้าสภาพมันเละจริงๆ เขาก็อาจจะ ‘กำจัดให้ฟรี’ หรือเราจะทิ้งได้โดยไม่เสียเงิน ซึ่งของพวกนี้ ก็อย่างที่บอกคือ ถ้าสภาพมันแย่พอ มันจะไม่ถูกเอามาขายในญี่ปุ่น แต่จะส่งขายในประเทศอื่น ซึ่งพวกกีตาร์ญี่ปุ่นมือสองราคาถูกในไทยที่เราพบได้มากมายในรอบสิบปีหลัง มันก็เป็นผลผลิตของอะไรแบบนี้นี่เอง
ไม่ใช่มีแค่พวกคอมพิวเตอร์ หรือตู้เตียงเท่านั้น ระบบที่ ‘บีบให้คนรีไซเคิล’ ก็รวมไปถึงรถยนต์ด้วย แต่กรณีรถยนต์จะต่างออกไป เพราะกฎหมายญี่ปุ่น รถยิ่งเก่าคนจะยิ่งเสียภาษีรายปีเยอะ ดังนั้นรถเก่าถึงจุดหนึ่ง เขาก็จะขายทิ้ง และในญี่ปุ่นมันก็จะมีเอเจนซีมากมายคอยรับซื้อ ‘รถเก่า’ เพราะสภาพที่คนญี่ปุ่น ‘ทิ้ง’ มันยังดีพอจะใช้ในต่างประเทศ ซึ่งรถจำพวกที่เป็น ‘ขยะ’ ในญี่ปุ่นแต่ถูกส่งไปขายต่างประเทศเยอะๆ ได้แก่ รถกระบะเล็กของญี่ปุ่นที่เรียกกันว่า ‘Kei Car’ บางทีขายกันในต่างประเทศแค่หลักหมื่นเท่านั้น (เราพบราคาแบบนี้ได้แน่นอนตาม ‘เต็นท์รถ’ ในอเมริกา)
ทั้งหมดที่เล่ามา อยากจะทำให้เห็นว่า ในภาพรวมของประเทศญี่ปุ่นนั้น วิธีคิดเรื่องการ ‘จัดการขยะ’ มันไปไกลกว่าการ ‘คัดแยกขยะ’ แล้ว แต่มันรวมไปถึงการวางระบบแรงจูงใจ ทั้งระบบให้ ‘ขยะ’ กลายมาเป็น ‘สินค้า’ หรือการคิด ‘ค่ากำจัดขยะ’ ก็จูงใจให้คนเอาขยะไป ‘ขาย’
นี่คือ ‘ความมหัศจรรย์’ ของญี่ปุ่นแท้ๆ เพราะแม้แต่ประเทศที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือประเทศที่ประกาศสู้โลกร้อนอย่างดุเดือดในยุโรป ยังไม่มีปัญญาทำสิ่งที่ญี่ปุ่นทำมาช้านานนี้เลย
อ้างอิง
- Tokyo Cheapo. 5 Ways to Recycle or Dispose of Stuff Cheaply in Tokyo. https://bit.ly/3Dr57ke
- Japan Mobility. Doing away with unwanted items in Japan. https://bit.ly/3CoewI0