ถ้าท่านผู้อ่านเคยไปเยี่ยมเยือนญี่ปุ่น สิ่งหนึ่งที่ผู้อ่านน่าจะรู้สึกทึ่งก็คือความสะอาดของท้องถนนญี่ปุ่น
ความสะอาดของท้องถนนญี่ปุ่นแน่นอนว่าส่วนหนึ่งก็เกิดมาจากวินัยของคนญี่ปุ่นที่จะทิ้งขยะเป็นที่ (ทั้งที่จริงๆ ญี่ปุ่นมีถังขยะน้อยมากในที่สาธารณะ ทำให้บางทีมีขยะต้องเก็บมาที่บ้านด้วยซ้ำ) ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการไม่มีร้านอาหารข้างถนนและหาบเร่แผงลอย
แต่มันมีอีกสิ่งที่หลายๆ คนอาจไม่สังเกตญี่ปุ่นไม่มีหมาข้างถนนเลย
หมาข้างถนนเป็นปัจจัยของความสกปรกในพื้นที่สาธารณะไม่น้อยแน่ๆ เพราะทั่วๆ ไปก็ไม่มีใครตามรับผิดชอบเก็บมูลสัตว์เหล่านี้ และท้องถนนญี่ปุ่นก็สะอาดได้เพราะไม่มีสัตว์เหล่านี้อยู่
ว่าแต่ทำไมญี่ปุ่นถึง ‘จัดการ’ ปัญหานี้ได้ ในขณะที่หลายๆ ประเทศจัดการไม่ได้?
คำตอบค่อนข้างซับซ้อนครับ ลองไปดูกัน
สังคมรักหมาและตลาดใหญ่ยักษ์ของสินค้าหมา
จริงๆ ญี่ปุ่นปัจจุบันเป็นสังคมที่นิยมเลี้ยงสัตว์มากๆ ในมาตรฐานเอเชีย และสัตว์เลี้ยงยอดนิยมสุดของคนญี่ปุ่นก็คือหมาซึ่งมีจำนวนมากกว่าแมวเยอะ (ซึ่งต่างจากโลกตะวันตกที่มักจะมีจำนวนหมาและแมวใกล้ๆ กันโดยแมวมักจะมีมากกว่านิดหน่อย) จากการประเมินของหลายๆ แหล่ง ญี่ปุ่นเป็นประเทศในโลกที่มีประชากรหมามากที่สุดแบบน่าจะติด Top 5 ซึ่งในเอเชียปริมาณหมาในญี่ปุ่นน้อยกว่าจีนเท่านั้น และถ้าเทียบประมาณของหมาต่อประชากรประเทศแล้ว ในญี่ปุ่นจะเป็นรองแค่ฟิลิปปินส์ (ส่วนไทยเราจะมาอันดับ 3)
เนื่องจากญี่ปุ่นมีหมามากขนาดนี้และเป็นประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาไปไกลระดับประเทศตะวันตก ก็ไม่แปลกอีกว่าผลการประเมินการจับจ่ายสินค้าเพื่อสัตว์เลี้ยงนั้น ญี่ปุ่นจะเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย (อันดับ 2 คือจีน และอันดับ 3 คือไทย) และสำหรับสินค้าสัตว์ที่มียอดจำหน่ายและมูลค่าสูงสุดก็เป็นสินค้าเกี่ยวกับหมาอย่างแทบไม่ต้องสงสัย
สาเหตุส่วนหนึ่งที่คนญี่ปุ่นจับจ่ายสินค้าเกี่ยวกับหมากันเยอะขนาดนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะคนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นไม่นิยมมีคู่ชีวิตและสร้างครอบครัวกัน (หรือกระทั่งไม่นิยมการมีเพศสัมพันธ์) แต่นิยมเลี้ยงหมาเป็นเพื่อน และก็เลี้ยงและดูแลหมาเหมือนลูก สติถิหลายแหล่งยืนยันตรงกันว่าจำนวนหมาในญี่ปุ่นมีมากกว่าเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีมาเป็น 10 ปีแล้วด้วยซ้ำ และนี่ก็ไม่แปลกอีกที่ญี่ปุ่นในหลายๆ โซนเราจะพบว่าร้านขายสินค้าหมานั้นหาง่ายกว่าสินค้าเด็กเสียอีก และนี่ก็ยังไม่นับว่ามีคาเฟ่สำหรับหมาที่มีเมนูให้กับทั้งเจ้าของและหมาอีกมากมายมหาศาล
ซึ่งหมาในญี่ปุ่นก็ไม่ได้มีราคาถูกเลย คนญี่ปุ่นค่อนข้างนิยมเลี้ยงหมาตัวเล็กกันเพราะส่วนใหญ่ก็จะอยู่อาศัยกันในห้องเช่าเล็กๆ (ซึ่งปกติจะประกาศชัดเจนด้วยซ้ำว่าจะให้เลี้ยงหมาได้หรือไม่ในใบประกาศให้เช่า) และหมาเหล่านี้ก็มีราคาตามร้านค้ากันตัวละหลายแสนเยน หรือพูดง่ายๆ ก็คือราคาตัวละหลายหมื่นบาทหรือจะราคาเป็นแสนบาทก็ไม่แปลกอะไร ทุกวันนี้ถ้าเดินเล่นในย่านที่พักของคนรวยหรือสวนสาธารณะในโตเกียวเราก็แทบจะเห็นแต่คนเอาหมาพันธุ์เล็กๆ เหล่านี้มาจูง หมาพันธุ์ใหญ่ๆ เราจะพบน้อยกว่ามากและหมาพันทางแบบที่เราเห็นทั่วๆ ไปในไทยนั้นก็จะแทบไม่พบเลย
มาตรการลงทะเบียนหมา
ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่มีการเก็บข้อมูลหมาเป็นระบบมากน่าจะอันดับต้นๆ ของโลก ทุกคนที่นำหมามาเลี้ยงจะต้องไปลงทะเบียนที่หน่วยงานเทศบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขท้องถิ่นทันที (ในขณะที่การเลี้ยงแมวนั้นไม่ต้องลงทะเบียนและแทบไม่มีการควบคุมอะไรทั้งนั้น) ซึ่งการลงทะเบียนนี้ก็ต้องมีการระบุเจ้าของและที่พักอาศัย แล้วเขาก็จะให้ป้ายอนุญาตเลี้ยงหมาที่เอาไว้ติดกับปลอกคอหมาไว้ตลอดเวลาเพื่อระบุเจ้าของ พูดง่ายๆ ก็คือกระบวนการนี้ก็คล้ายกับการออกบัตรประชาชนให้หมานั่นเอง (ซึ่งเวลาเจ้าของย้ายที่อยู่ ก็ต้องไปแจ้งเช่นกัน) ซึ่งค่าธรรมเนียมในการลงทะเบียนเพื่อทำใบอนุญาตนี้จะอยู่ราวๆ 3,000 เยน (หรือราว 900 บาท)
นอกจากนี้หมาทุกๆ ตัวก็จะต้องไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าตามกำหนด ตามสถานสาธารณสุขของสัตว์ และทางสถานบริการสาธารณสุขก็จะให้ป้ายรับรองการฉีดวัคซีนมา ซึ่งก็ต้องติดไว้ที่ปลอกคอหมาตลอดเวลาเช่นกัน
สุดท้าย เวลาที่หมาจากโลกนี้ไป เจ้าของก็ต้องไปแจ้งที่หน่วยงานเทศบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขท้องถิ่นเช่นกัน และหลักฐานการแจ้งก็คือทั้งป้ายใบอนุญาตเลี้ยงหมาและป้ายรับรองการฉีดวัคซีนที่หมาต้องใส่ติดตัวมาตลอดชีวิต
แม้ว่าทางการจะเก็บข้อมูลหมาขนาดนี้ แต่ญี่ปุ่นก็ต่างจากประเทศตะวันตกจำนวนมากในการไม่ต้องเสียภาษีการเลี้ยงหมาแบบรายปีแบบมาตรฐาน การเก็บภาษีจะขึ้นอยู่กับท้องถิ่นเป็นหลัก ซึ่งเหตุผลหลักๆ ในการเก็บภาษีเหล่านี้ ก็คือการนำมาเป็นงบประมาณในการจัดการกับหมาข้างถนนนั่นเอง
การ ‘จัดการ’ หมาข้างถนนของญี่ปุ่น
สังคมที่มีคนเลี้ยงหมาจำนวนมาก ก็จะมีการทิ้งหมาจำนวนมากด้วย และญี่ปุ่นก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น คนญี่ปุ่นไม่ค่อยทิ้งขยะกันเรี่ยราดก็จริง แต่ก็ทิ้งหมากันเป็นปกติ แต่ทางการญี่ปุ่นก็มีมาตรการคุมเข้มมากๆ ในการจับหมาข้างถนนไปไว้ที่สถานพักพิงอย่างจริงจัง (เช่นเดียวกับที่คนญี่ปุ่นทำทุกเรื่อง) และนี่เป็นเหตุผลที่เราแทบจะไม่เห็นหมาข้างถนนในญี่ปุ่นเลย
แต่เรื่องเศร้าๆ จะเกิดขึ้นต่อจากนี้
ปกติในตะวันตก มาตรการการกำจัดหมาข้างถนนก็คือถ้าไม่จับทำหมันก่อนปล่อยกลับไปข้างถนนเพื่อไม่ให้แพร่พันธุ์ต่อ ก็จะจับเข้าสถานพักพิงของรัฐ ก่อนจะนำไปหาผู้อุปการะต่อไป โดยผู้อุปการะหมาที่ทำหมันแล้วก็มักจะได้การลดหย่อนทางภาษีสัตว์เลี้ยงเป็นแรงจูงใจในการอุปการะ
แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดกับหมาข้างถนนในญี่ปุ่นส่วนใหญ่
คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่นิยมซื้อหมาใหม่และไม่นิยมอุปการะหมาข้างถนนที่เจ้าของทิ้ง ผลคือสถานพักพิงหมาของญี่ปุนก็เต็มไปด้วยหมาจนรัฐรับภาระไม่ไหว และสุดท้ายก็จำต้องปลิดชีวิตหมา ซึ่งญี่ปุ่นใช้วิธีรมแก๊ส อันเป็นวิธีที่ทางตะวันตกมองว่าป่าเถื่อน เพราะถ้าตะวันตกจำต้องปลิดชีวิตหมาที่ไม่มีเจ้าของจริงๆ วิธีการที่ศิวิไลซ์กว่าคือการฉีดยา
อัตราการปลิดชีวิตหมาในสถานพักพิงของญี่ปุ่นน่าจะสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก (หรืออาจจะอันดับ 1 ด้วยซ้ำ) เพราะในญี่ปุ่นอัตราการรับเลี้ยงหมาในสถานอุปการะมีเพียงราวๆ 10 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น และอัตราการปลิดชีวิตหมาในสถานพักพิงก็สูงเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนี่ต่างจากตัวเลขเฉลี่ยของการจำต้องปลิดชีวิตหมาในสถานพักพิงในโลกตะวันตกที่อยู่ราวๆ 20-30 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น และสูงกว่าของจีนที่อยู่ราวๆ 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นเท่าตัวด้วยซ้ำ
และนี่หมายถึงญี่ปุ่นปลิดชีวิตหมาไปปีหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 200,000 ตัว การต้องปลิดชีวิตหมาของญี่ปุ่นเป็นราคาที่สังคมต้องจ่ายเพื่อท้องถนนที่สะอาดปราศจากหมาจรจัด และนักกิจกรรมจำนวนมากก็พยายามจะหาทางออกให้กับปัญหานี้โดยการรณรงค์ให้คนญี่ปุ่นรับหมาจากสถานพักพิงมากขึ้น และการที่เทศบาลท้องถิ่นหลายๆ หน่วยของญี่ปุ่นจะเริ่มเก็บภาษีการเลี้ยงหมาส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการเพิ่มงบประมาณให้สถานพักพิง เพื่อให้สถานพักพิงสามารถรองรับหมาได้มากขึ้น และจำต้องปลิดชีวิตน้อยลง
ทั้งนี้ ในสายตาของนักสิทธิสัตว์ การที่ญี่ปุ่นมาถึงจุดนี้ได้ก็เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสำนึกของสิทธิสัตว์ในระดับต่ำมากๆ กฎหมายสวัสดิการสัตว์ญี่ปุ่นมีก็จริง แต่ก็มีความคลุมเครือในตัวบท (ที่ห้ามเพียงแค่ให้สัตว์บาดเจ็บ ‘โดยไม่มีเหตุผล’ แต่ไม่มีการระบุว่าอะไรคือเหตุผลบ้าง) แต่ก็ไม่ใช่กฎหมายที่บังคับใช้กันแพร่หลายเช่นเดียวกับชาติตะวันตกจำนวนมาก
ซึ่งนี่ก็ไม่แปลกว่าการเอาหมามากัดกันเพื่อดูเป็นกีฬาที่ตะวันตกยกเลิกไปเป็นร้อยปีแล้วยังทำได้ถูกกฎหมายในญี่ปุ่น (มีเพียง 5 จังหวัดจาก 47 จังหวัดในญี่ปุ่นเท่านั้นที่มีมีกฎห้าม และหนึ่งใน 5 จังหวัดที่ห้ามก็คือโตเกียว ดังนั้นนี่จึงเป็นสิ่งที่พ้นหูพ้นตาชาวโตเกียว) ซึ่งสำหรับญี่ปุ่นนี่เป็นกีฬาตามประเพณีที่มีมาแต่โบราณแล้ว มีหมาพันธุ์ญี่ปุ่นที่เพาะพันธุ์มาเพื่อกัดกันให้คนดูด้วยซ้ำคือพันธุ์โทสะ (Tosa) นอกจากนี้เหล่านักสิทธิสัตว์ก็ไม่กล้าจะไปงัดรณรงค์สู้ด้วย เพราะผู้สนับสนุน ‘กีฬา’ เหล่านี้คือเหล่ายากูซ่า
จะเห็นได้ว่าชีวิตของหมาๆ ในญี่ปุ่นนั้นก็ไม่ได้สดใสไปเสียทั้งหมด ด้านหนึ่งคนญี่ปุ่นก็เลี้ยงดูปูเสื่อหมาเป็นอย่างดีเหมือนลูก และอาจกล่าวได้ว่าคนญี่ปุ่นเลี้ยงดูหมาดีกว่าคนประเทศเทศเจริญแล้วไม่น้อยด้วยซ้ำ แต่อีกด้านหนึ่งทางการญี่ปุ่นก็มีการกำจัดหมาที่ไม่มีเจ้าของที่เตร็ดเตร่ตามถนนด้วยมาตรการขั้นเด็ดขาดในระดับที่คนตะวันตกรับไม่ได้ นอกจากนี้สิทธิของหมาและสัตว์ต่างๆ ในญี่ปุ่นยังมีค่อนข้างต่ำมากๆ อีกด้วยถ้าเทียบกับบรรดาประเทศเจริญแล้ว
และนี่แหละครับ อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถมีถนนสะอาดๆ ให้เราทึ่ง
อ้างอิง
- The Guardian. Why Japan prefers pets to parenthood. https://bit.ly/3rq9Sqb
- The Atlantic. The Dog Economy Is Global—but What Is the World’s True Canine Capital? https://bit.ly/37NaLCp
- The Japan Times. It seems Japan has literally gone to the dogs. https://bit.ly/3uMS6Qm
- Tofugu. A DOG’S LIFE, JAPAN JAPANESE DOG-OWNING CULTURE IS FOR THE DOGS (LITERALLY!). https://www.tofugu.com/japan/dog-ownership-in-japan/
- The Expat’s Guide to Japan. Keeping Pets. https://bit.ly/3rueiwu
- GaijinPot. Finding Pet Friendly Apartments in Japan. https://bit.ly/3JKAqJo
- Tokyo Weekender. Why You Shouldn’t Buy a Pet in Japan. https://bit.ly/3ElVDbw
- Mirror. Dog death row… Sunday Mirror investigation reveals 250,000 cats and dogs are gassed each year in Japan. https://bit.ly/3vespXC
- Newsweek. Dogfights in Japan Are a Family Outing. https://bit.ly/3KHTJ7g
- Reuters. In dog we trust: Japan’s childless turn to canines. https://reut.rs/36gy6vN
- dgi-joho Japan. Dog keeping laws and regulations in Japan. https://bit.ly/3Ek7GWs
- JapanToday. 500 cats & dogs legally killed in Japan each day. https://bit.ly/37SeQFo