3 Min

หรือของมือสองญี่ปุ่นในไทยจะเป็นของคนตาย???

3 Min
3582 Views
30 Jun 2022

ในรอบหลายปีมานี้ในบ้านเรา จะเห็นว่ามีร้านขายของมือสองญี่ปุ่นจำนวนมากในราคาถูกสุดๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านเฉพาะทางแบบเสื้อผ้ามือสองญี่ปุ่น หรือจะเป็นโกดังมือสองญี่ปุ่นแถบชานเมืองที่ของสารพัดมีตั้งแต่ถ้วยโถโอชาม เฟอร์นิเจอร์ เครื่องดนตรี ไม้กอล์ฟ หรือกระทั่งรถยก

ของหลายๆ ชิ้นสภาพดีเหลือเชื่อ ราคาก็ถูกแสนถูก 

ซึ่งถ้าพูดถึงคนญี่ปุ่น ก็ขึ้นชื่อด้านการรักษาของอยู่แล้ว บางทีเราก็เดาว่าคนญี่ปุ่นเขาคงจะเอาของที่เขาไม่ใช้แล้ว แต่ยังเก็บรักษาไว้อย่างดีมาขายล่ะมั้ง แล้วก็รวมๆ กันส่งมาขายเมืองไทยอีกที

อันที่จริง คนญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมเอาของไปขายเป็นของมือสองอยู่แล้ว โดยเฉพาะหนังสือ ซึ่งนั่นทำให้ในญี่ปุ่นมีธุรกิจหนังสือมือสองใหญ่โตมากๆ และทำให้เครือร้านหนังสือมือสองอย่าง Book Off นั้นขยายกิจการไปรับซื้อและขายของอย่างอื่นอีกเต็มไปหมด 

แต่ถ้าใครเคยได้ไปญี่ปุ่น แล้วไปเดินตามร้านขายของมือสองเหล่านี้ ก็จะพบว่าราคามันไม่ได้ถูกแบบที่ขายกันในไทย ราคามันต่างกันอย่างเรียกได้ว่า ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทีเดียว นอกจากนี้สภาพยังดูดีและเกรดดีกว่าด้วย

ดังนั้น เอาจริงๆ ของมือสองในไทยอาจไม่ได้มาจากแหล่งเดียวกันกับของมือสองที่ขายกันในญี่ปุ่นก็เป็นได้

ว่าแต่ของมือสองในไทยมาจากไหนกัน?

คืออย่างนี้ เราคงเคยได้ยินว่าประเทศญี่ปุ่นนี่เต็มไปด้วยคนแก่ที่ตายอย่างโดดเดี่ยวใช่ไหม? ปรากฏการณ์นี้มีแพร่หลายสุดๆ ในญี่ปุ่น จนทำให้เกิดอาชีพคนทำความสะอาดห้องที่คนแก่ตายอย่างเดียวดายเลยทีเดียว

แต่สงสัยกันไหมว่า สิ่งของจำนวนมากในห้องเหล่านั้นไปไหนต่อ?

ในญี่ปุ่นเองจะมีอาชีพที่เรียกว่านักเคลียร์ของซึ่งปัจจุบันมีบริษัทกว่า 100,000 แห่งที่มีใบอนุญาตในการทำธุรกิจนี้

งานของนักเคลียร์ของก็ง่ายๆ และตรงตามชื่อเลย คือมีหน้าที่เคลียร์ของออกจากห้องให้หมด ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องเป็นห้องคนตาย เขารับเคลียร์บ้านหรือห้องที่เต็มไปด้วยสิ่งของทุกรูปแบบ เช่นบ้านที่ไม่มีคนอยู่แล้ว ก็ไปจ้างคนเหล่านี้มาเคลียร์ของทำให้บ้านกลายเป็นบ้านโล่งๆ พร้อมที่จะมีคนมาเช่าอยู่ต่อ

ซึ่งสนนราคาค่าบริการของเหล่าผู้ให้บริการเคลียร์ของนี้ก็จะอยู่ราวๆ 60,000-100,000 บาทต่อวัน

เราอาจรู้สึกว่า ทำไมค่าแรงของเขาแพงจัง? จริงๆ งานนี้ก็ทำกันหลายคน และเป็นทีม เรียกว่าเฉลี่ยแล้วก็ได้คนละไม่เท่าไรหรอกในมาตรฐานค่าแรงญี่ปุ่น ซึ่งการที่เจ้าของบ้านไม่ทำงานเหล่านี้เอง คือไม่เอาของไปทิ้งเอง แต่จ้างบริษัททำ ส่วนหนึ่งก็เพราะเวลามีคนตาย ของที่ต้องขนออกมันมีเยอะมาก (ถึงเป็นทีมมืออาชีพยังต้องใช้เวลาทั้งวัน) 

อีกส่วนหนึ่งคือ เพราะค่าทิ้งขยะของญี่ปุ่นมีราคาสูง ยิ่งถ้าเป็นของชิ้นใหญ่ๆ (ของขนาดใหญ่ต้องโทรนัดรถขยะ และซื้อสติกเกอร์ตามร้านสะดวกซื้อติดเอาไว้เพื่อให้รถขยะรู้ว่าต้องขนไป โดยสติกเกอร์มี 2 ราคา คือ 250 เยน กับ 500 เยน หรือราวๆ 75 บาท กับ 150 บาท) และถ้าจะทิ้งขยะ ก็ต้องแยกขยะอีกที งานพวกนี้รวมๆ ถ้าทำเองก็เสียเวลามาก ดังนั้นเขาเลยจ้างเหล่านักเคลียร์ของทำให้ เพื่อตัดปัญหา

พูดง่ายๆ คือ บริการพวกนี้ในญี่ปุ่นมันมาแทนการต้องเก็บของไปทิ้งเอง ของคนที่ต้องการเคลียร์ห้อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของห้องที่จะปล่อยให้คนอื่นเช่าต่อ หรือญาติพี่น้องของคนที่เคยอยู่ในห้องนั้นที่เสียชีวิตไป

ประเด็นคือ เหล่านักเคลียร์ของเขาไม่ได้เก็บไปทิ้งแต่เก็บเอามาขาย

ดังที่เล่ามาทั้งหมด คนที่จ้างนักเคลียร์ของต้องการแค่ให้ของมันพ้นๆ ไปจากห้อง ดังนั้นในทางปฏิบัติมันคือการจ้างเอาไปทิ้งแต่ประเด็นคือ ของพวกนี้แทบทั้งหมดมันยังอยู่ในสภาพดีที่ใช้งานต่อได้ ดังนั้น มีหรือที่นักเคลียร์ของจะเอาของพวกนี้ไปทิ้ง เขาก็เอามาขายเสียสิ

ในทางปฏิบัติ ของพวกนี้คือสิ่งที่นักเคลียร์ของได้ฟรีมาทั้งหมด ดังนั้นจะขายในราคาถูกสุดๆ ยังไงก็ได้ หรือชั่งกิโลขาย ราคามันอาจถูกชนิดที่เรียกได้ว่า ถ้าพวกพ่อค้าของมือสองไปซื้อโดยตรงในราคาส่ง เขาจะขายกันแบบ 10 ชิ้น (หยิบอะไรมาก็ได้) ในราคา 30 บาท (100 เยน) ซึ่งแน่นอนว่าเขาก็จะคัดแยกประเภทไว้ ไม่ใช่กองรวมกันหมด ถ้าเป็นพวกกีตาร์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเสียง ราคาก็คงไม่ได้แบบนี้ แต่คาดได้เลยว่าราคาถูกแบบเว่อร์แน่ๆ เพราะเขาได้มาฟรี และถ้าขายไม่ออก เขาก็ต้องเอาไปทิ้งไม่ก็เผาเอง ซึ่งทำให้สิ้นเปลือง ดังนั้นเขาจึงอยากขายสุดๆ

ของพวกนี้ส่วนหนึ่งไปลงเอยตามตลาดนัดในญี่ปุ่น ซึ่งราคาก็ไม่ได้ผิดกับที่เห็นในไทยเท่าไร อีกส่วนก็จะถูกจับใส่คอนเทนเนอร์ขายในต่างประเทศ ซึ่งตลาดที่รับของเหล่านี้ก็มีทั่วโลก โดยเฉพาะในบรรดาประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการของมือสองถูกๆ จากญี่ปุ่น แถบแอฟริกาก็ยังมีส่งไปเลย แต่ตลาดใหญ่ที่สุดคือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรานี่แหละ

อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็คงเดาออกว่าบ้านเราคือหนึ่งในปลายทางของสิ่งของเหล่านี้ ซึ่งจริงๆ ช่วงก่อนหน้านี้ บ้านเราคือปลายทางหลัก ก่อนที่ช่วงหลัง ฟิลิปปินส์จะเป็นแชมป์ในการนำเข้าของมือสองจากญี่ปุ่นแทนเราไป

แล้วของทั้งหมดที่มาขายๆ กันนี้เป็นของคนตายทั้งหมดหรือ? จริงๆ ก็คงไม่ใช่ เพราะอย่างที่บอก แหล่งของมันมีหลากหลาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นของคนตายเสมอไปนักเคลียร์ของเขาไม่แยกหรอกว่าของคนตายหรือไม่ตาย ของที่เคลียร์มาสุดท้ายมันก็กองรวมๆ กันหมด และแน่นอนคนที่ซื้อมาขายต่อเขาก็ไม่ซีเรียสเช่นกัน ขอให้ราคาถูกและใช้การได้เป็นพอ

ดังนั้นถ้าเราไม่ซีเรียส จะซื้อของพวกนี้มาใช้ก็ไม่เสียหาย คิดเสียว่าของพวกนี้ได้มาโดยชอบแน่ๆ ไม่ใช่ของโจร เป็นการประหยัดทั้งทรัพยากรเราเองและทรัพยากรโลกซะอีก ช่วยส่งเสริมการ reuse ระดับโลกเลยด้วยซ้ำ

อ้างอิง