3 Min

ทำไมคนญี่ปุ่นถึงเชื่อว่า ‘ลูกกระปู๋’ ทานูกิจะทำให้เงินไหลมาเทมา?

3 Min
1433 Views
23 Jun 2022

รู้จักตัวทานูกิกันไหม หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินชื่อมันมาบ้าง อาจจะเคยเห็นมันมาในการ์ตูนบ้าง เกมบ้าง ซึ่งถ้าบางคนเคยไปญี่ปุ่นก็อาจจะได้สังเกตว่าร้านค้าต่างๆ ของญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยก็มีรูปปั้นเจ้าตัวทานูกินี่วางไว้อยู่หน้าร้าน 

สงสัยไหมว่าเขาเอามาวางไว้ทำไมกัน?

ถ้าจะให้เดา บางคนอาจจะคิดว่าเอาไว้ปัดรังควานบ้าง (แบบสไตล์การแก้ฮวงจุ้ยของจีน) บางคนก็อาจจะคิดว่ามันเอาไว้นำพาโชคดีมาบ้าง

แต่จริงๆ เอาตามความเชื่อของคนญี่ปุ่นเลย ไอ้ตัวทานูกิเนี่ย มันเป็นตัวที่เขาเชื่อกันว่าเป็นตัวที่จะทำให้เงินไหลมาเทมา หรือพูดอีกแบบก็คือ มันเป็นตัวนำโชคของคนทำธุรกิจนี่เอง

ว่าแต่ทำไมคนญี่ปุ่นเขาเชื่อกันแบบนี้ล่ะ? มันมีที่มาที่ไปอย่างนี้

เอาจริงๆ เจ้าตัวทานูกินี่เป็นสัตว์ที่มีอยู่จริงในญี่ปุ่น (รวมถึงที่อื่นๆ ที่มันแพร่พันธุ์ไป) เป็นสัตว์ตระกูลเดียวกับหมา ซึ่งบางคนก็ว่ามันดูน่ารักดี แต่จริงๆ มันเป็นสัตว์ตัวแสบเลย เพราะมันชอบมาขโมยกินโน่นนี่ในพื้นที่อยู่อาศัยของคน (สไตล์เดียวกับแรคคูนของฝรั่งซึ่งแม้จะเป็นสัตว์หน้าตาคล้ายๆ กัน แต่เป็นสัตว์คนละตระกูลกันเลย)

ด้วยความที่เป็นสัตว์ตัวแสบที่ชอบมารังควานคนนี้ คนญี่ปุ่นในอดีตก็เลยมีนิทานพื้นบ้านจำนวนมากที่วาดภาพทานูกิว่าเป็นสัตว์ที่มีพลังเหนือธรรมชาติ แปลงร่างเป็นคนก็ได้ เป็นสิ่งของก็ได้ และก็จะมีนิทานเกี่ยวกับความแสบของทานูกิที่แปลงเป็นโน่นเป็นนี่เพื่อแกล้งคนเต็มไปหมด

พูดง่ายๆ คือ ในคติของคนญี่ปุ่น ตัวทานูกิคือสัตว์ทะเล้นๆ ที่มีพลังเหนือธรรมชาตินี่เอง

อย่างไรก็ดี ในเรื่องเล่าของคนญี่ปุ่นก็แทบไม่ได้มีการกล่าวเน้นถึงความใหญ่โตของลูกกระปู๋ตัวทานูกิเท่าไร

ว่ากันว่าในอดีต ที่เมืองคานาซาวะ ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงมากในการทำทองคำแผ่นของญี่ปุ่น พวกช่างทำทองที่เมืองนี้ เวลาจะตีทองคำให้เป็นแผ่น เขาจะใช้หนังของตัวทานูกิมารองตอนตีทองคำให้แบนเป็นแผ่น ว่ากันว่าหนังมันเหนียวและยืดหยุ่นดีมากระดับที่เอามารองเพื่อตีทองคำก้อนให้กลายเป็นทองคำแผ่นได้ขนาด 8 เสื่อทาทามิ

ทีนี้คนญี่ปุ่นนี่ชอบเล่นคำอยู่แล้ว ไอ้คำว่า ถุงทอง ในภาษาญี่ปุ่นคือ Kin No Tama ส่วนคำว่า ลูกกระปู๋ ภาษาญี่ปุ่นคือ Kintama ดังนั้นสองคำนี้มันเลยเชื่อมโยงกันเพราะออกเสียงคล้ายๆ กัน (อันนี้เป็นอารมณ์ขันสไตล์ญี่ปุ่นจริงๆ)

ซึ่งพอไอ้คำพ้องเสียงนี่มันไปผสมกับเรื่องเล่าที่ว่า ช่างทองที่เมืองคานาซาวะนั้นใช้หนังของตัวทานูกิเพื่อมารองตอนตีทองคำก้อนให้เป็นแผ่น ไอเดียมันก็เลยเพี้ยนกลายมาเป็นว่า ลูกกระปู๋ทานูกินั้นเหนียวและยืดหยุ่นมากๆ ซึ่งพอลองมาดูตัวทานูกิจริงๆ เราก็จะเห็นว่าลูกกระปู๋มันมีขนาดใหญ่จนตลกอยู่เมื่อเทียบกับขนาดตัว (ในบรรดาสัตว์ที่คนญี่ปุ่นคุ้นเคย)

ภาพลักษณ์ของทานูกิก็เลยค่อยๆ กลายมาเป็นสัตว์ที่มีลูกกระปู๋และถุงลูกกระปู๋ใหญ่โต และปรากฏชัดมากๆ ในภาพพิมพ์ช่วงศตวรรษที่ 19 (สมัยเมจิ) ที่ภาพพิมพ์จำนวนไม่น้อยเริ่มแสดงภาพทานูกิในฐานะของสัตว์เพี้ยนๆ ที่ใช้ถุงกระปู๋ทำอะไรเพี้ยนๆ ซึ่งนี่เป็นคาแรคเตอร์ของทานูกิที่มีมาตั้งแต่นิทานพื้นบ้านโบราณแล้วดังที่ได้เล่ามา

และพอกาลเวลาผ่านมา ความเชื่อต่างๆ เรื่องทานูกิก็ผสมและสับสนปนเปกันไป จนมันกลายมาเป็นรูปปั้นสัตว์ทะเล้นที่ตั้งหน้าร้านเพื่อเรียกเงินทองเข้าร้าน ให้ชาวต่างชาติที่เดินผ่านไปมางงว่านี่มันตัวอะไร ทำไมลูกกระปู๋ใหญ่จัง ซึ่งปัจจุบัน หากไปถามคนญี่ปุ่นบางคนก็ให้เหตุผลว่า นั่นเป็นเพราะความเชื่อที่ว่าหนังของทานูกิในอดีตเคยเอามารองตีทองคำแผ่น ซึ่งมันเป็นสัญลักษณ์ของการขยายเงินทองให้ยืดยาวไป (และเราก็จะเห็นว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่ตรงกับตำนานในอดีตแต่ละเรื่องเลย แต่มันเป็นการเอาทุกเรื่องมาผสมปนเปกัน)

แต่ก็นั่นแหละ นี่เป็นเรื่องของความเชื่อ มันไม่แปลกอะไรเลยที่คนที่มีความเชื่อนั้นจะไม่ได้มีความเข้าใจชัดเจนว่าที่ทำไปนั้นทำไปทำไม ตรรกะมันเป็นยังไง แต่เขาก็ทำไปเพราะคิดว่าการทำแบบนั้น มันจะเกิดสิ่งที่ดีบางอย่างตามมา

และแล้วรูปปั้นทานูกิก็เลยมาตั้งอยู่หน้าร้านค้าต่างๆ ในญี่ปุ่นด้วยประการละฉะนี้เอง ซึ่งก็ว่ากันว่า พวกร้านที่ชอบรูปปั้นทานูกิเป็นพิเศษคือร้านเหล้า เพราะรูปปั้นทานูกิมาตรฐานก็มักจะถือโถเหล้าสาเกด้วย ซึ่งอันนี้ก็เกิดจากกความเชื่อว่าทานูกิเป็นสัตว์ที่กินทุกอย่างจริงๆ เหล้าก็ยังกิน และเขาก็ว่าตัวทานูกิจริงๆ มันเป็นสัตว์แบบนั้น

ทั้งนี้การที่ทานูกิกลายมาเป็นสัตว์นำโชคทางการค้าได้ขนาดนี้ ส่วนหนึ่งก็เกิดจากความเชื่อเกี่ยวกับมัน อีกส่วนเพราะความน่ารักของมันเองด้วย ทำให้บางคนเอามันมาเลี้ยงในบ้านเป็นหมาไปเลย

อ้างอิง