ในสหรัฐอเมริกา แถบรัฐไวโอมิงและเซาธ์ดาโกตา มีตำนานเล่าขานว่าแถวนี้มีสัตว์ที่เรียกว่า ‘Jackelope’ หรือ ‘กระต่ายกวาง’ อยู่ ซึ่งก็คือกระต่ายที่มีเขาเหมือนกวาง และตำนานของมันก็สร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่นที่เอากระต่ายมาติดเขากวางแล้วสตัฟฟ์ขายเป็นสินค้าประจำพื้นที่
ชื่อของ Jackelope มาจาก Jackrabbit บวกกับ Antelope ซึ่งแปลไทยก็เรียกกว่า ‘กระต่ายกวาง’ ก็น่าจะถูกแล้ว
ถามว่า ‘สัตว์ชนิดนี้’ มีจริงๆ ไหม หรือเป็นแค่สัตว์ประหลาดในตำนานของชาวชนบท คำตอบคือมีจริงๆ! แถมยังมีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ด้วยว่าทำไมกระต่ายบางตัวถึงมี ‘เขา’
หรือถ้าพูดให้ตรงคือมันไม่ใช่ ‘เขา’ แต่เป็น ‘เนื้องอก’
เรื่องราวของ ‘กระต่ายมีเขา’ มีมาตั้งแต่ยุคกลางแล้วทั้งในวัฒนธรรมยุโรปและอาหรับ แต่เพิ่งจะมาเป็นที่รู้จักในปี 1933 เมื่อนักวิจัยมะเร็งชั้นนำของอเมริกาอย่าง ริชาร์ด อี. โชป (Richard E. Shope) ค้นพบว่า ‘เขา’ ของพวกกระต่ายนั้นจริงๆ ไม่ใช่เขา แต่เป็น ‘เนื้องอก’ ที่เกิดจากเชื้อไวรัสต่างหาก
พูดง่ายๆ มันคือ ‘มะเร็ง’ เป็นมะเร็งที่เกิดจากไวรัส โดยไวรัสจากกระต่ายนี้ทุกวันนี้เขาก็เรียกว่า ‘โชปแพพิลโลมาไวรัส’ (Shope papillomavirus) เพื่อเป็นเกียรติกับผู้ค้นพบ
ถามว่าการค้นพบนี้ทำให้เราอธิบายเรื่อง ‘กระต่ายมีเขา’ ได้แค่นั้นเองหรือ คำตอบคือไม่ใช่ เพราะต่อมามันทำให้เกิดการค้นพบว่า มีเชื้อแพพิลโลมาไวรัสในมนุษย์ด้วย หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า HPV (Human papillomavirus)
คุ้นหรือยัง? มันคือเชื้อที่ทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศที่เรียกว่า ‘หูดหงอนไก่’ (อย่าไปค้นดูรูปก่อนกินข้าวนะ อิอิ) ถ้าเชื้อนี้ติดในกระต่าย กระต่ายจะมีเนื้องอกเหมือนเขา แต่เชื้อในเวอร์ชั่นของคน ก็จะทำให้อวัยวะเพศมีลักษณะเหมือนหงอนไก่
ไม่เพียงแค่นั้น ถ้ามันไปติดผู้หญิงก็จะทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ เนื่องจากสาเหตุมันเกิดจากไวรัส ก็เลยเป็น ‘มะเร็ง’ ไม่กี่ชนิด ที่มี ‘วัคซีน’ ป้องกันได้
ซึ่งที่มาของ ‘วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก’ กับคำอธิบายว่า ‘กระต่ายกวาง’ เกิดขึ้นได้อย่างไร มันก็เลยมาบรรจบกันงงๆ แบบนี้แหละ
อ้างอิง
- Wikipedia. Jackalope. https://en.wikipedia.org/wiki/Jackalope