หลายคนน่าจะได้ข่าวมาบ้างแล้ว ว่าทาง Apple จะยกเลิกการให้บริการ iTunes แล้ว โดยใน OS ใหม่ของทาง Apple ก็จะไม่มี iTunes แนบติดมาอีกแล้วต่อไปนี้
แต่คนที่ซื้ออะไรบน iTunes เยอะ ๆ ก็อย่าได้เหวอไปนะครับ เพราะ Apple ก็ยังให้คุณเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ที่คุณซื้อเอาไว้ไม่ว่าจะเป็นเพลง ภาพยนตร์ หรือ Podcast ได้อยู่ เขาแค่แตกมันออกเป็น 3 แอป เพลงก็อยู่กับเพลง หนังก็อยู่กับหนัง Podcast ก็อยู่กับ Podcast
ดังนั้น คอนเทนต์ที่เราซื้อ ๆ เอาไว้มาเป็นสิบ ๆ ปี กับทาง Apple ก็ไม่ได้หายไปพร้อมกับ iTunes ครับ สบายใจได้
แต่หลายคนก็ยังอดใจหายไม่ได้ ว่าทำไม Apple จะต้องโละแอปคู่บุญอย่าง iTunes ทิ้งไป เพราะมันก็อยู่คู่ Apple มาเกือบ 20 ปี ตั้งแต่ที่ Steve Jobs เปิดตัวมันกับมือในปี 2001
นั่นสิ ทำไมล่ะ ? อันนี้ตอบได้หลายมิติ แต่ถ้าจะตอบไปทีละขั้น เราก็ต้องถามก่อนว่า iTunes เกิดขึ้นมาทำไมและมันมีบทบาทอะไรในฐานะของสินค้าและบริการของ Apple
ถ้าจะตอบให้สั้น ๆ iTunes เกิดขึ้นมาเพราะมันเป็นบริการที่ต้องใช้คู่กับ iPod
อันนี้ต้องเล่าย้อนก่อนว่า ย้อนไปสมัย iTunes เกิดในปี 2001 มันเกิดมาเป็นโปรแกรม Music Player ของ Apple ที่ยังไงก็ต้องมี ต่อมา Apple ก็ใช้ประโยชน์ของมันโดยให้มันเป็นตัวซิงค์ดนตรีกับ iPod แล้วต่อมามันถึงจะเกิด iTunes Store อันลือลั่นในปี 2003
พูดง่าย ๆ ระบบคลาสสิคของ iTunes ที่เรา “ซื้อ” เพลงต่าง ๆ มาไว้ฟังในโปรแกรมและซิงค์เข้ากับ iPod มันเกิดมาตั้งแต่ปี 2003 และมันก็กลายเป็นผลิตภัณฑ์ไฮเทคยอดฮิตของยุคนั้น
กล่าวคือ ความนิยมใน iTunes กับ iPod มันแทบจะแยกกันไม่ออก หรือพูดอีกแบบก็คือ หลัก ๆ คนยุคนั้นมัน “ซื้อ” เพลงบน iTunes ก็เพื่อเอามาใส่ใน iPod นั่นเอง และนี่คือกลยุทธ์ที่ร้ายกาจของ Apple ที่ทำให้คนยอม “ซื้อ” เพลงแบบ mp3 แบบถูกต้องตามกฎหมายลิขสิทธิ์ เพราะถ้าไม่ “ซื้อ” แบบนี้ก็จะเอาเพลงมาใส่ iPod ไม่ได้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดาสุด ๆ ในยุคที่ใคร ๆ ก็ “โหลดเพลง” กันแบบเถื่อน
นี่คือ “ตำนาน” ของ iTunes สำหรับอุตสาหกรรมดนตรี มันเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์แรก ๆ ที่ทำให้คนยอมเสียเงิน “ซื้อ” งานดนตรีในแบบดิจิทัลสำเร็จ ซึ่งตอนนั้นคนก็ยังไม่เข้าใจเรื่องการดึงคนมา “เข้าระบบนิเวศ” ของ Apple กันนัก เลยไปเน้นพูดถึงแต่ iTunes แต่ประเด็นคือการสร้างระบบนิเวศของตัวเองเพื่อขายโปรแกรมและอุปกรณ์ของ Apple มากกว่า
และสิ่งที่เราต้องไม่ลืมคือ Apple ไม่เคยเป็นบริษัทที่ทำรายได้จากแพลตฟอร์มเป็นหลัก แต่มันเป็นบริษัทที่รายได้หลักมาจากการขายอุปกรณ์เป็นหลัก ซึ่งเอาจริง ๆ นี่ทำให้การพูดถึง iTunes โดยไม่พูดถึง iPod มันหลงประเด็นมาก เพราะสำหรับ Apple ในยุคนั้น iTunes มีหน้าที่เป็นโปรแกรมเสริมของ iPod ซึ่งเป็นสินค้าขายดีเท่านั้น กล่าวคือ iTunes คือแอปที่ทำหน้าที่ “ส่งเสริมการขาย” iPod
แต่แน่นอนทุกวันนี้คนก็ไม่ค่อยใช้ iPod กันแล้ว ซึ่งถ้าถามว่าคนเลิกฮิตกันเมื่อไรคนก็คงจะนึกเป๊ะ ๆ ไม่ได้ แต่ถ้าดูตัวเลข เราจะเห็นเลยว่ายอดขาย iPod มันพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่รุ่นแรกออกมา และยอดขายมันตกเป็นครั้งแรกในปี 2010 และตกลงมาเรื่อย ๆ จนถึงทุกวันนี้
ถามว่าปีนั้นเกิดอะไรขึ้น ? คงคนจำไม่ได้กัน แต่ปีนั้นคือปีที่ Apple เปิดตัว iPhone 4 ซึ่งฮิตอย่างถล่มทลายและเป็นการเริ่มต้นยุคของ “สมาร์ทโฟน” อย่างเป็นทางการ
และก็ไม่แปลกที่ในยุคของสมาร์ทโฟน คนจะไม่ใช้ iPod กันอีก เพราะคนมันสามารถเล่นดนตรีได้จากสมาร์ทโฟนโดยตรงผ่านแอปอย่าง iTunes อยู่แล้ว จะไปพก iPod ที่มีหน้าที่ซ้ำซ้อนกันทำไมให้วุ่นวาย ซึ่งพอเกิดสมาร์ทโฟน ผลที่ตามมาก็คือมันเกิดแอปสตรีมดนตรีต่าง ๆ ตามมาเต็มไปหมด แอปเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อประสบการณ์ทางดนตรีโดยตรง ซึ่งมันสร้างประสบการณ์ที่ดีกว่าให้กับผู้ฟังเมื่อเทียบกับ iTunes (ตั้งแต่ระดับอินเตอร์เฟสถึงเพลย์ลิสต์) นี่ทำให้ iTunes เริ่ม “ตาย” อย่างช้า ๆ ตั้งแต่คนใช้สมาร์ทโฟนแล้ว
ความ “ตาย” ของ iTunes อีกส่วนก็เกิดจากความจับฉ่ายของมันเอง ที่ยุคหลัง ๆ มันไม่ได้ให้บริการ “ขาย” ดนตรีเท่านั้น แต่มันยังขายทั้งภาพยนตร์และ Podcast ด้วย ซึ่งจะมองว่ามันมี “สินค้า” หลากหลาย ก็ใช่ แต่การมีความหลากหลายแบบนี้ มันกลับทำให้อินเตอร์เฟสต์มันมีลักษณะแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่ได้ตอบสนองผู้มาใช้บริการแบบทางใดทางหนึ่ง ซึ่งทำให้ประสบการณ์ในการใช้ iTunes มันสู้แพลตฟอร์มเฉพาะทางแบบจะสตรีมเพลงก็สตรีมเพลงอย่างเดียว จะสตรีมหนังก็สตรีมหนังอย่างเดียวไม่ได้
และคนที่เห็นปัญหานี้เองก็คือ Apple ดังนั้นสิ่งที่ทำก็คือการแยก iTunes เป็น 3 แอป ให้เป็นกิจลักษณะ ซึ่งเอาจริง ๆ สิ่งที่ Apple จะไปเน้นคือบริการสตรีมมิ่งของทาง Apple TV หรือพูดอีกแบบคือ Apple ต้องการสร้างความคงเส้นคงวาให้บริการสตรีมมิ่งวิดีโอ จึงทำการ “ฆ่า” iTunes ทิ้ง และเอาบริการสตรีมมิ่งวีดีโอมาจัดการให้ถูกกิจจะลักษณะซะที
พูดอีกแบบก็คือ iTunes มันเกิดมาในยุคที่การ “ขายงานดนตรีออนไลน์” มันมีอนาคต และมันก็ได้ตอบโจทย์ของยุคสมัยมันไปแล้ว มาวันนี้ส่วนเสริมที่เคยเป็นส่วนเล็ก ๆ ของ iTunes อย่างการ “ขายวีดีโอออนไลน์” มันกลายมามีอนาคตกว่า ปัญหาคือแพลตฟอร์มมันทำมาเพื่องานดนตรี จะปรับให้มันกลายเป็นแพลตฟอร์มวีดีโอก็ใช่ที่ ดังนั้น การ “แยก” จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ที่สุด
กล่าวคือแอปเกียวกับวีดีโอที่แยกออกไปจาก iTunes มันก็จะเป็นแอปป์ที่มีบทบาท “ส่งเสริมการขาย” Apple TV แบบที่ iTunes เคย “ส่งเสริมการขาย” iPod ในอดีตนั่นเอง และนี่ก็คือความคงเส้นคงวาของ Apple ที่ใช้ซอฟต์แวร์ทั้งหลายเพื่อส่งเสริมการขายฮาร์ดแวร์เป็นหลัก
เพียงแต่ทุกวันนี้ อะไร ๆ มันก็คงไม่ง่ายเหมือนตอน iTunes และ iPod ร่วมกันสร้างปรากฎการณ์เท่าใดนัก