BUONGIORNO! ขอเปิดด้วยคำทักทายในภาษาอิตาลีกับเพื่อนๆ THINKSTER ทุกท่าน 🤓👋 !
เมื่อเดือนที่ผ่านมา พวกเรา InfoStory ได้ไปเที่ยวพักร้อนที่ประเทศอิตาลี ✈🇮🇹
นอกจากความสวยงาม (ปนร้อนอบอ้าว) ของประเทศอิตาลีแล้ว
ไม่ว่าเราจะกวาดตามองไปทางไหนก็ตาม เราก็จะเห็น ‘บาร์กาแฟ’ ที่มีอยู่ทุกๆ แห่ง เป็นหนึ่งในวิถีชีวิตที่เราพบเห็นจนชินตา
พวกเราเลือกแผนการท่องเที่ยวด้วยการเช่ารถยนต์ขับ ซึ่งเวลาแวะพักในปั๊มน้ำมัน เราก็คงจะคุ้นชินกับมินิมาร์ท หรือร้านขนมปัง-อาหารจานด่วน
แต่สำหรับชาวอิตาลีแล้ว ก็จะต้องมีบาร์กาแฟเอสเพรสโซ เพิ่มเข้าไปด้วย (บางปั๊มคือเล็กมาก ดูไม่น่ามีขนมขาย พื้นที่ดูคับแคบ แต่พอเดินเข้าไป มันไม่มีขนมขาย…แต่ว่ากลับมีบาร์กาแฟ เฉยเลย…)
อันที่จริงแล้ว การดื่มกาแฟของชาวอิตาลี อาจเรียกได้ว่า พร้อมดื่มได้ทุกที่ทุกเวลา…
แต่เวลาที่สำคัญมาก คือ ช่วงเวลาหลังมื้ออาหาร
จากประสบการณ์ที่ได้ไปพบเห็นมา คือเวลาที่เรารับประทานอาหารเสร็จ ทันทีที่เราเรียกพนักงานมาเพื่อเก็บบิลค่าอาหาร
เขาก็จะถามเรากลับมาว่า “Any Caffè?” หรือ คุณต้องการดื่มกาแฟไหม…? ☕
พอดีว่ามื้ออาหารในตอนนั้น เป็นมื้ออาหารเย็นที่พวกเราไปทานในช่วงเวลาประมาณ 20.30 เข้าไปแล้ว…
ในใจก็พลันนึกว่า “เอ้อ..ประหลาดดีแฮะ มาดื่มกาแฟตอนเกือบจะ 3 ทุ่มเนี่ยนะ…ไม่หลับไม่นอนกันพอดี”
คิดในใจเสร็จ จึงหันไปมองรอบๆ ตัว
อ้าว…ไหงชาวอิตาลีทุกโต๊ะ เค้าสั่งกาแฟช็อตหรือเอสเพรสโซมาปิดท้ายกันหมดเลยละหว่า…
พอกลับมาที่ไทย พวกเราก็ได้หอบความสงสัยตรงนี้กลับมาหาคำตอบว่า ทำไมพวกเขาถึงชอบดื่มกาแฟหลังมื้ออาหาร? และทำไมชาวอิตาลีถึงได้คลั่งไคล้การดื่มกาแฟกันมากๆ?
ในบทความพิเศษนี้ พวกเรา InfoStory จะขอพาเพื่อนๆ ไปไขข้อสงสัยกันเลยดีกว่า!
ทำไมชาวอิตาลีถึงชอบดื่มกาแฟหลังมื้ออาหาร ?
เริ่มด้วยการตอบคำถามก่อนเลยดีกว่า!
เท่าที่พวกเราได้สอบถามพนักงานในร้านกาแฟที่อิตาลี และไปหาข้อมูลเพิ่มเติม จึงได้คำตอบดังนี้
1. ชาวอิตาลีเชื่อว่า กาแฟดำ จะช่วยย่อยอาหารได้ดี ช่วยให้ท้องไม่อืด เพราะอาหารส่วนใหญ่ที่เขากิน จะมีส่วนผสมของแป้งเยอะ รวมถึงซอสต่างๆ ที่อาจทำให้รู้สึกเลี่ยน 🤢😣
2. กาแฟดำ ช่วยปรับสมดุลในร่างกายและทำให้มีความสุข ☕😇
จากการสังเกตของพวกเรา ส่วนใหญ่แล้วการดื่มกาแฟหลังอาหารของชาวอิตาลี จะดื่มเป็นกาแฟดำ ไม่ค่อยนิยมใส่นม (อาจมีเติมน้ำตาลได้บ้าง แต่ไม่ค่อยเห็นนะ)
แน่นอนว่ากาแฟดำเข้มๆ เนี่ย ปริมาณสารคาเฟอีนก็จะสูงกว่าผสมนมลงไป จึงเป็นหนึ่งในที่มาของ ‘ความสุข’
3. หนึ่งในวิถีชีวิตที่ทำกันมาจนเป็นนิสัยเคยชิน 😌👍
เหตุผลข้อนี้ เกิดจากการที่เราไปสอบถามนักท่องเที่ยวที่เป็นชาวอิตาลี เขาได้บอกว่า มันเป็นนิสัยที่ทำกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่แล้ว อีกทั้งสังคมรอบๆ ตัว ก็มีพฤติกรรมการกินคล้ายๆ กัน โดยเฉพาะเวลาที่ไปกินอาหารร่วมกันกับคนอื่นๆ (อาจไม่ต่างอะไรกับการที่เราติดกินของหวานหลังมื้ออาหารเย็นเวลาที่ไปเจอกลุ่มเพื่อนๆ ก็เป็นได้ – อันนี้ข้อเปรียบเปรยนะคร้าบ)
หนึ่งในเมนูกาแฟที่เราเห็นและทำให้เกิดความแปลกตา (แปลกลิ้นด้วย) ก็คือ เมนู ‘Coffee Corretto’ กาแฟผสมบรั่นดี (grappa) ก็เป็นหนึ่งในเมนูยอดนิยมที่ชาวอิตาลีดื่มหลังมื้ออาหารเย็น
ชาวอิตาลี ‘ไม่ดื่มกาแฟนม หลังมื้ออาหารเที่ยง/เย็น’ … จริงเหรอ? 🧐☕🥛🇮🇹
หนึ่งในวัฒนธรรมการดื่มกาแฟที่มักจะถูกเล่าต่อกันมา ก็คือ ชาวอิตาลีจะไม่ดื่มกาแฟนม (เช่น คาปูชิโน) หลังจากมื้ออาหารเช้า และชอบมีคำเตือนกับนักท่องเที่ยวว่า…
“ถ้าไปเที่ยวอิตาลี อย่าได้เผลอสั่งเชียวนะ จะถูกเขามองแรงเอาได้…”
และแล้วพวกเราก็ได้ทราบเรื่องนี้เข้ากับตัวเอง เลยลองสั่ง Caffè Latte หลังอาหารมื้อเย็น (เพราะกลัวว่าเดี๋ยวกาแฟช็อตจะแรงไป จะไม่หลับ) แต่ก็กลัวแอบเขิน
บังเอิญว่าวันนั้นพี่พนักงานเสิร์ฟที่เมืองเซียน่า ค่อนข้างใจดีและพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง เราจึงได้มีโอกาสถามเขา
คุณพี่ชาวอิตาลีคนนี้บอกว่า
“มันไม่ผิดหรือไม่มีข้อห้ามอะไรทั้งนั้น และถ้ามีคนสั่งกาแฟนมหลังอาหารเย็น ก็ไม่ได้ถูกมองว่าแปลกด้วย แต่โดยปกติแล้ว ทางร้านจะไม่ค่อยเห็นลูกค้าชาวอิตาลีสั่งกาแฟนมหลังอาหารเย็นกันสักเท่าไร…”
เราเลยถามต่อว่า “งั้นเป็นวัฒนธรรมเฉพาะตัวของชาวอิตาลีเหรอ🤔?”
พี่พนักงานตอบว่า “ในความคิดของเขาแล้ว ที่ชาวอิตาลีนิยมดื่มกาแฟนมในมื้ออาหารเช้า เพราะว่าชาวอิตาลีกินเพียงแค่ขนมปังหรือครัวซองต์ 1-2 ชิ้น เป็นอาหารเช้า ว่ากันง่ายๆ คือเขาไม่กินมื้อเช้าหนัก บางคนที่ดื่มกาแฟดำเข้มๆ เลยอาจทำให้ปวดท้องได้ เขาเลยจะสั่งกาแฟนมเพื่อทำให้มันเบาบางสักนิดนึง”
(เราคิดว่าวัฒนธรรมตรงนี้จะตรงกันข้ามกับ ‘Coffee & Cigarettes’ ของชาวฝรั่งเศส ที่จะต้องสูบบุหรี่พร้อมซดกาแฟดำยามเช้า)
สรุปตามความเข้าใจของพวกเราคือ มันไม่ได้มีกฎเกณฑ์อะไรทั้งนั้นล่ะ
“อยากดื่มเมนูไหน เวลาใด ก็สั่งได้เลย เพราะที่อิตาลี กาแฟพร้อมเสิร์ฟได้ทั้งวัน!”
คล้ายๆ กับความเชื่อที่ว่า คนอิตาลีไม่รู้จักกาแฟดำ ‘Americano’
อันนี้เราก็ไปลองสั่งแทบจะทุกร้าน (เพราะอยากรู้)
ปรากฏว่า ไม่ว่าเราจะสั่งว่า ‘Americano’ หรือ ‘Long Black’ สำหรับชาวอิตาลีก็คือกาแฟเอสเปรสโซช็อตผสมน้ำร้อน ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่หรือขัดกับวัฒนธรรมของเขาแต่อย่างใด
(อาจเพราะหน้าตาของเราที่บ่งบอกว่าเป็นนักท่องเที่ยวด้วยแหละ)
กาแฟคือหนึ่งในวิถีชีวิต สำหรับชาวอิตาลี
หากเรามองย้อนกลับไปที่ประวัติความเป็นมาของกาแฟกับชาวอิตาลี ก็คงพอจะทำให้เราเข้าใจความอินของพวกเขากันมากขึ้น
คงต้องเริ่มด้วยประโยคที่บอกว่า “อิตาลีเป็นประตูที่เปิดรับกาแฟ เข้าสู่แผ่นดินยุโรป”
เริ่มแรกเลยเนี่ย ชาวอิตาลีรู้จักเมล็ดกาแฟที่ถูกนำเข้ามายังประเทศอิตาลีเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1570 ที่เมืองเวนิส (Venice) โดยเริ่มแรก ว่ากันว่ามาจากชาวตุรกี (ชาวเติร์ก) พร้อมกับวิธีการชงกาแฟด้วยหม้อต้ม ‘Cezve’
นี่ถือได้ว่าเป็นการบันทึก ณ ช่วงเวลาแรกสุดที่ชาวยุโรปรู้จักกาแฟ (ก่อนที่อังกฤษและฝรั่งเศสจะรู้จักกับกาแฟในช่วงปี ค.ศ. 1600-1610)
ในสมัยนั้นชาวอิตาลีจะมีความเชื่อกันว่า ‘กาแฟ กาแฟคือยาวิเศษ!’ เพราะทำให้เกิดความกระตือรือร้นและมีความสุข (เข้าใจว่าพวกเขายังไม่รู้จักกับสารคาเฟอีน)
ที่มากไปกว่ายาวิเศษในเวลาว่าง ชาวอิตาลีก็จะนิยมมาร้านกาแฟและจับกลุ่มสนทนากัน ร้านกาแฟ จึงกลายเป็นวิถีชีวิตของการเข้าสังคม อัปเดตข่าวสารแรกๆ (ว่ากันว่า ‘Cafe Florian’ ที่เมืองเวนิส เป็นร้านกาแฟแห่งแรกในประเทศอิตาลี ปัจจุบันยังเปิดให้บริการอยู่นะคร้าบ)
นั่นจึงทำให้ความนิยมของการดื่มกาแฟนั้น เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ถึงแม้ว่าความนิยมในการดื่มกาแฟจะมากขนาดไหน แต่ว่าในช่วงแรกๆ นั้น ประเทศอิตาลีเนี่ย ก็ยังไม่มีการปลูกต้นกาแฟเลยด้วยซ้ำ แต่จะเป็นการนำเข้าเมล็ดกาแฟจากเอธิโอเปียหรือทางแถบทวีปแอฟริกาแทน (ผ่านพ่อค้าชาวเติร์ก)
จนกระทั่งชาวอิตาลีได้เรียนรู้วิธีการเพาะปลูกต้นกาแฟ จนมาถึงเครื่องทำกาแฟแบบเอสเพรสโซ (Espresso Machine) ก็กำเนิดมาจากมันสมองของชาวอิตาลี
ต้องบอกว่า ความคลั่งไคล้และวัฒนธรรมการดื่มกาแฟของชาวอิตาลีเนี่ย มันค่อนข้างเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ ในยุโรป ยกตัวอย่างเช่น
- ต้นกำเนิดของ Parisian Cafés และวัฒนธรรมการดื่มกาแฟของชาวฝรั่งเศส บ้างก็ว่ามาจากการนำเข้าของชาวอิตาลี ที่มีชื่อว่า ‘Francesco Procopio dei Coltelli’ จนได้สร้างร้านกาแฟแบบ Parisian Cafés แห่งแรกในช่วงปี ค.ศ. 1686 กับร้านที่มีชื่อว่า ‘Café Procope’
- ต้นกำเนิดของตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน (London Stock Exchange (LSE)
ตลาดหลักทรัพย์อังกฤษเนี่ย ว่ากันว่าเป็นตลาดซื้อขายหุ้นที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17 จากร้านกาแฟ
ที่มันเชื่อมโยงมาถึงชาวอิตาลี ก็เพราะว่าชาวอังกฤษรู้จักกาแฟ และวัฒนธรรมการพบปะผู้คน จนไปถึงการแลกเปลี่ยนข่าวสารที่ร้านกาแฟแบบชาวอิตาลี จนทำให้เกิดเป็นตลาดหุ้นขนาดเล็ก (ซื้อ-ขาย และปล่อยข่าวธุรกิจกันในร้านกาแฟ)
จากเรื่องราวสั้นๆ ตรงนี้ จึงทำให้เราเริ่มไม่แปลกใจแล้วละว่าทำไมชาวอิตาลีถึงได้ดื่มกาแฟได้ทั้งวัน (โดยเฉลี่ย 4 แก้ว) และทำไมถึงมี Espresso Bar อยู่ทั่วทุกมุมเมือง (รู้สึกเหมือนเป็น 7-11 ในบ้านเราเลย)
‘เอสเพรสโซ’ (Espresso) กาแฟที่มีราคาถูกกว่าน้ำเปล่า
อ่านถึงตรงนี้ เชื่อว่าเพื่อนๆ คงจะพอเห็นบทบาทสำคัญของกาแฟสำหรับชาวอิตาลีกันไปเยอะแล้ว
ยิ่งกาแฟมีความสำคัญมากสำหรับชาวอิตาลี ก็ยิ่งต้องทำให้เข้าถึงง่าย ซึ่งคอนเซ็ปต์นี้ ก็สามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ในเรื่องราวของ ‘เอสเพรสโซบาร์’ (Espresso Bar)
‘เอสเพรสโซบาร์’ พูดให้เห็นภาพง่ายๆ มันคือเคาน์เตอร์บาร์ที่ขายแต่เมนูกาแฟดำ เน้นแวะซื้อดื่มสั้นๆ แล้วก็ไป (จริงๆ มีพวกกาแฟนมอย่างคาปูชิโนด้วยนะ ส่วนใหญ่ที่เห็นจะเป็นเครื่องเอสเพรสโซแบบมีที่ตีนมได้)
สิ่งที่เราสังเกตได้แทบจะทุกบาร์กาแฟ เขาจะมีราคาขายกาแฟเอสเพรสโซที่ประมาณ 1-1.30 ยูโร (35-45 บาท) ไม่ค่อยเห็นมีราคาที่แพงกว่านี้
เว้นแต่บาร์กาแฟที่ขายอยู่ในร้านอาหารแบบ Ristorante หรือ Osteria ที่อาจมีราคา 2-3 ยูโร
แต่เมื่อเทียบกับราคาน้ำเปล่า 1 ขวดแล้ว กาแฟ 1 ช็อต ก็จะมีราคาทีต่ำกว่า (แบรนด์ Acqua Panna จะอยู่ที่ขั้นต่ำ 2.5 ยูโร)
หลังจากหาข้อมูลเพิ่มเติม ก็พอจะเรียบเรียงได้ว่า สาเหตุที่บาร์กาแฟอิตาลี ต้องขายกาแฟในราคาระดับเดียวกัน เพราะอัตราหมุนเวียนของลูกค้าค่อนข้างสูง (พอดื่มเร็ว ก็ลุกออกเร็ว) บวกกับการดื่มกาแฟที่เป็นวิถีชีวิตของชาวอิตาลีอยู่แล้ว
ด้วยเหตุนี้เองรัฐบาลเลยต้องทำให้ราคามันเข้าถึงง่าย ไม่มีการเก็งกำไรกัน โดยในปี ค.ศ. 1911 รัฐบาลอิตาลียุคนั้นได้ประกาศให้เครื่องดื่มกาแฟเป็น ‘สินค้าควบคุมราคา’ ซึ่งผู้ประกอบการจะไม่สามารถขายกาแฟในราคาที่สูงเกินไปได้ (ต้องไปเล่นกับเมนูกาแฟนมแทน)
อย่างไรก็ดี ราคากาแฟสามารถปรับตามเงินเฟ้อได้นะ (คือ รัฐบาลอิตาลีเขาไม่ได้ควบคุมราคากาแฟจนทำให้ผู้ประกอบการหายใจหายคอไม่ได้ขนาดนั้น ไม่ได้ fix ว่าต้อง 1 ยูโรตลอดไป เพียงแค่ราคาตลาดที่ถูกควบคุมมาตั้งแต่ในอดีต มันจะเฉลี่ย 1-2 ยูโร ถ้าคุณจะขายแพงกว่านี้ ก็ทำได้… เพียงแต่ ใครจะมาซื้อกาแฟกับคุณล่ะ?)
ด้วยข้อบังคับตรงนี้ อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมเราไม่ค่อยเห็น Starbucks ในอิตาลี
เพราะราคาของเชนกาแฟจากอเมริกา อาจไม่สามารถยืนหยัดสู้กับราคาของกาแฟท้องถิ่นของชาวอิตาลีได้นั่นเอง
ปิดท้ายด้วยคำถามที่ชวนฉุกคิดต่อ (เพราะพวกเราก็ไม่ทราบคำตอบเหมือนกันคร้าบ)
เมื่อเร็วๆ นี้ พวกเราได้ยินข่าวที่บอกว่า ราคากาแฟโลก กำลังจะพุ่งขึ้น โดยไม่ได้ปรับตัวขึ้นจากเงินเฟ้อ… แต่เป็นเพราะสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนที่ส่งผลทำให้ปริมาณการผลิตกาแฟของโลก ลดลงอย่างรุนแรง
นั่นหมายความว่า ต้นทุนต่อการผลิต/นำเข้า ก็จะเพิ่มสูงขึ้น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แล้วเพื่อนๆ คิดว่า อนาคตของราคากาแฟในอิตาลี (หรือแม้แต่ในไทยเอง) จะเป็นอย่างไรต่อไปกันนะ?
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม:
จากการสอบถามกับชาวอิตาลีระหว่างท่องเที่ยว
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/lifestyle_travel/950754
https://pontevecchiosrl.it/en/what-kind-of-relationship-do-italians-have-with-coffee-find-out-about-in-this-research/
https://www.eurocheapo.com/blog/italian-coffee-culture.html
https://www.businessinsider.com/how-to-drink-espresso-like-an-italian-2015-6
https://readthecloud.co/italian-coffee-culture/
https://www.eataly.com/us_en/magazine/how-to/italian-coffee-culture/
https://www.posttoday.com/life/travel/566572
https://thetravelbunny.com/italian-coffee-culture/
https://rossiwrites.com/italy/coffee-in-italy/italian-coffee-culture/