7 Min

คุยโควิด-19 กับ ‘อิสระ ฮาตะ’ ผู้เติบโตในคลองเตยและเคยย้ายไปอยู่อเมริกา 4 ปี

7 Min
6728 Views
12 May 2021

Select Paragraph To Read

  • คุณคิดอย่างไรบ้างกับการเกิดคลัสเตอร์คลองเตย
  • แล้วสถานการณ์ในคลองเตยตอนนี้เป็นยังไงบ้าง
  • จริงไหมคนคลองเตยกลัวอดตายมากกว่ากลัวติดโควิด-19
  • กังวลไหม ที่คุณแม่ต้องลงพื้นที่ชุมชนคลองเตยด้วยตัวเอง ทั้งที่อายุมากแล้ว
  • สำหรับกรณีคลองเตย คุณคิดว่าการทำงานของภาครัฐเป็นยังไงบ้าง
  • ถ้าอย่างนั้น คิดว่าการจัดการโควิด-19 ในภาพรวมของรัฐบาลตอนนี้เป็นยังไง
  • คิดว่าเป็นเพราะอะไรคนถึงอยากย้ายประเทศ
  • แล้วในฐานะเคยไปใช้ชีวิตในนิวยอร์กมาหลายปี แล้วกลับมาเมืองไทย มองเห็นข้อดีอะไรในการย้ายไปอยู่ต่างประเทศ
  • หลายๆ คนออกมาแชร์ข้อดีกันเยอะเลย คิดว่าการย้ายประเทศมีข้อเสียยังไง
  • คิดว่าประเทศไทยยังมีความหวังไหม ทั้งในเรื่องคุณภาพชีวิต หรือโอกาสในการทำงานต่างๆ
  • ถามทิ้งท้ายสำหรับแฟนๆ ช่อง RUBSARB Production ล็อกดาวน์รอบนี้กระทบกับการทำงานไหม

ถ้าคุณโตมากับยุค VRZO หรือกด Subcribe ช่อง RUBSARB Production อยู่ ไม่มีทางที่คุณจะไม่รู้จัก ‘อิสระ ฮาตะ’ ชายหนุ่มผู้เป็นชาวยูทูบเบอร์ทั้งเบื้องหลังและเบื้องหน้า มาตั้งแต่ยุคบุกเบิก

และถ้าคุณติดตามเขาในเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมส่วนตัวด้วย ก็อาจจะพอทราบว่า อิสระ เติบโตมาในคลองเตย และเคยไปใช้ชีวิตอยู่ในฟิลาเดเฟีย 1 ปี กับนิวยอร์กอีก 3 ปี

แต่หากใครยังไม่คุ้น เราขอพาไปทำความรู้จักเขาสั้นๆ อีกสักหน่อย

‘อิสระ ฮาตะ’ คือลูกชายของ ‘ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ’ นักสิทธิมนุษยชนและผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป เพื่อช่วยเหลือเด็กยากไร้ในคลองเตย ซึ่ง ณ วันนี้ เธอยังคงลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวชุมชนคลองเตยอย่างเด็ดเดี่ยว ในวัย 67 ปี ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมาแบบไม่ทันได้ตั้งตัว

ในวันที่พื้นที่ ‘คลองเตย’ มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งทะลุ 600 กว่าราย ขณะที่ไทยมียอดผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 85,005 คน (วันที่ 10 พ.ค.) และสมาชิกในกรุ๊ป ‘ย้ายประเทศ’ ทะยานสู่หลักล้าน

เราอดไม่ได้ที่จะไม่ต่อสายหา ‘อิสระ ฮาตะ’ ชายผู้อยู่ตรงกลางของสองฟากฝั่ง เพื่อฟังมุมมองเกี่ยวกับการเกิดคลัสเตอร์ที่คลองเตย และเลยเถิดไปถึงกระแสการย้ายประเทศ

ร่วมโอนเงินเพื่อสมทบทุน “โครงการร่วมใจสู้ภัยโควิด-19” ชุมชนคลองเตย กับมูลนิธิดวงประทีป คลิกที่ลิงก์ด้านล่างและกรอกรายละเอียดตามแบบที่แนบมา มูลนิธิฯ จะส่งใบเสร็จให้ท่านต่อไป (https://forms.gle/jxX63FjDfJghzRLv6)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
Tel.0-2671-4045-8
Facebook: มูลนิธิดวงประทีป

คุณคิดอย่างไรบ้างกับการเกิดคลัสเตอร์คลองเตย

จากการระบาดรอบแรก นี่คือสิ่งที่เรากลัวมากที่สุด เพราะความเป็นอยู่ในคลองเตยมันแออัดชนิดที่ว่าบ้านหลังหนึ่งอยู่กัน 5-6 คนในห้องเดียว ดังนั้น ภาพบ้านของคนปกติกับบ้านในคลองเตยในความเป็นจริงมันแตกต่างกัน พออยู่กันเบียดเสียด การจะติดไปสู่เพื่อนบ้านหรือบริเวณโดยรอบมันควบคุมไม่ได้เลย

ครั้งแรกที่ได้ข่าวว่ามีคนคลองเตยติดเมื่อปีที่แล้วก็กังวลมาก เพราะแม่เราอยู่ในนั้นด้วย แต่สุดท้ายก็รอดพ้นมาได้ พอมาปีนี้มันมาโดยที่เราไม่ทันตั้งตัวเลย รู้อีกทีคือระบาดแล้ว จังหวะนั้นคุณแม่ไปดูโครงการที่ต่างจังหวัดพอดี แล้วก็ได้รับสายว่ามีคนในคลองเตยติดแล้ว

แล้วสถานการณ์ในคลองเตยตอนนี้เป็นยังไงบ้าง

สุ่มตรวจยังไงก็เจอหมด มันต่างจากรอบก่อนตรงที่มันระบาดไปแล้ว แต่เรามาเจอทีหลัง ก่อนหน้านี้ ก็เกิดเหตุการณ์โรงพยาบาลสนามไม่พอ แล้วประชากรในชุมชนคลองเตยมี 4 แสนกว่าคน คุณแม่ (ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ) เลยต้องไปคุยกับเจ้าอาวาสวัดสะพาน เพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากครอบครัว มาอยู่ที่อาคารของวัด รอให้ทางหน่วยงานภาครัฐมารับไปรักษาอีกทอด

หลักๆ ตอนนี้ มูลนิธิดวงประทีปทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงานกับหัวหน้าชุมชน ช่วยหน่วยงานรัฐประชาสัมพันธ์ ทำครัว แจกถุงยังชีพ และให้ความรู้กับคนในชุมชนเรื่องโควิด-19

 
 

จริงไหมคนคลองเตยกลัวอดตายมากกว่ากลัวติดโควิด-19

มีบางส่วนที่ไม่กล้าไปตรวจ เพราะถ้าตรวจแล้วจะโดนสั่งหยุดงาน บางเคสถึงขั้นไล่ออก แต่ส่วนใหญ่ให้หยุดงาน ซึ่งเขาก็ไม่ยอมหรอก เพราะเขาไม่มีรายได้ รายได้ค่อนข้างจะวันต่อวัน หลายๆ เคสที่ไม่ยอมไปตรวจ ก็เพราะว่าถ้าเขาขาดรายได้ไปวันหนึ่งคือช็อตเลยทันที มันมีเคสที่ช่วยไม่ได้เยอะ แล้วหลายเคสก็มีความต้องการแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น เคสแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานท่าเรือ เคสที่บ้านที่มีความพิการ กลุ่มคนเปราะบาง หรือกลุ่มคนที่ผู้ติดเชื้ออื่นๆ เช่น วัณโรค เอดส์ หรือคนติดยา

กังวลไหม ที่คุณแม่ต้องลงพื้นที่ชุมชนคลองเตยด้วยตัวเอง ทั้งที่อายุมากแล้ว


คุณแม่เขาผูกพันและอยู่ตรงนั้นมาตลอด ผมเลยไม่ห้าม จริงๆ ไม่กลัวแม่ติดโควิด-19 สักเท่าไร แต่สิ่งที่ผมกลัวที่สุดคือวัคซีนมากกว่า เพราะแม่เพิ่งได้รับวัคซีนด้วยที่คลองเตย

ถ้าถามเรื่องความเป็นห่วง รอบแรกเป็นห่วงมาก บางทีถึงขั้นว่าแม่ต่อหน้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ ซึ่งอันนี้เป็นเนเจอร์ที่ไม่ดีของผมอยู่แล้ว แต่ตอนนี้เรื่องวัคซีน ค่อนข้างเป็นห่วงมากกว่า ก็ถามเขาอยู่ประจำว่ามีอาการอะไรไหม หน้ามืด หรือเหนื่อยง่ายขึ้นไหม

สำหรับกรณีคลองเตย คุณคิดว่าการทำงานของภาครัฐเป็นยังไงบ้าง


ตอนนี้สรรพกำลังของรัฐลงมาแล้ว มีทั้งรถส.ส. รถกทม.ลงมาตรวจอยู่ตลอด ล่าสุดก็มีการฉีดวัคซีน ผมรู้สึกว่าภาครัฐค่อนข้างแอคทีฟ เพราะคลองเตยเป็นชุมชนใหญ่ การลงมาช่วยกันก็ได้แต่สิ่งดีๆ คนในชุมชนเองก็ได้ประโยชน์ เพิ่มคะแนนเสียงทางการเมืองไปด้วย แต่สุดท้ายถ้าไม่พูดถึงปัญหาโควิด-19 แล้วย้อนกลับไปดูปัญหาเชิงโครงสร้าง ตรงนั้นก็ไม่ได้ถูกแก้อยู่ดี เป็นคนละส่วนกัน

ในความเป็นจริง เมื่อเกิดปัญหาในคลองเตย มักจะมีนักการเมืองท้องถิ่นที่พยายามเล่นการเมือง ทำคะแนนเสียงให้ตนเอง ทำให้การช่วยเหลือชาวบ้านทำได้ไม่เต็มที่ บางทีแค่ขนรถตรวจมาตรวจและถ่ายรูปไม่นาน แล้วก็กลับ

ส่วนการเปิดเผยยอดผู้ติดเชื้อ จากปากคำของบุคลากรแพทย์ที่ลงพื้นที่ แจ้งว่ารัฐบาลพยายามปิดตัวเลขผู้ติดเชื้อ รวมถึงการส่งตัวเป็นไปอย่างล่าช้า มีเคสที่ผู้ป่วยที่เรายืนยันว่าติดเชื้อ เริ่มหายใจไม่ออก แต่โรงพยาบาลไม่รับเนื่องจากไม่มีผลตรวจตามที่เขากำหนด ซึ่งทางเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ต้องขอรับบริจาคอุปกรณ์วัดไข้และอุปกรณ์วัดออกซิเจนที่ปลายนิ้วมาวัดเอง เพื่อส่งผลตรวจให้โรงพยาบาล เขาถึงจะยอมรับเข้ารักษา แล้วยังมีเคสลักษณะนี้จำนวนมาก ที่รอโรงพยาบาลอนุมัติอยู่ ทำให้ต้องอยู่ในบ้าน ในพื้นที่ปนกับคนในชุมชน เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อมากขึ้นไปอีก

ถ้าอย่างนั้น คิดว่าการจัดการโควิด-19 ในภาพรวมของรัฐบาลตอนนี้เป็นยังไง


ถ้าโดยภาพรวมของทั้งประเทศ ผมรู้สึกว่ายังไม่ดีพอ เหมือนทุกอย่างต้องขับเคลื่อนด้วยการด่า ล่าสุด มีกระแสเรื่องย้ายประเทศ ก็ตั้งคนมาจับตาดู ผมก็ไม่ทราบว่าทำไมทีเรื่องอย่างนี้ถึงแอคทีฟ ทำไมไม่เอากำลังไปรับสายด่วน 1668

แล้วนโยบายประหลาดๆ ไม่ทราบว่าเป็นข่าวจริงหรือไม่ อย่างเช่น เที่ยวด้วยกันเฟส 3 ตรงนี้ไม่เข้าใจมากๆ ว่าทำไปทำไม คนมันอึดอัดอยู่แล้ว เขาอยากเที่ยวจะตาย ถ้าได้รับวัคซีนมีภูมิคุ้มกันเดี๋ยวไปเที่ยวเอง คนอยากเปิดกิจการก็อยากเปิดจะตายอยู่แล้ว เอาให้มันสร้างความเชื่อมั่นให้ได้ก่อน

คิดว่าเป็นเพราะอะไรคนถึงอยากย้ายประเทศ

ย้ายประเทศมันเป็นทางออกอีกทางหนึ่ง ผมเข้าใจนะว่าพวกเขามองไม่เห็นความหวังในการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ แต่ส่วนตัวเราก็ยังยึดมั่นในสันติวิธีอยู่

เรียนตามตรงว่าสมัยวัยรุ่นผมก็เลือดร้อน เคยคุยกับแม่ตั้งแต่ยุคเสื้อแดงปีพ.ศ. 2553 ว่าทำไมไม่รบกันไปเลย แต่แม่ก็ยังยืนยันในสันติวิธีจนทะเลาะกัน แม่ก็ด่าว่ามันทำไม่ได้ เราต้องใช้วิธีถูกต้องสู้กับความไม่ชอบธรรม แต่พอมาปีนี้ ความคิดสลับกันหมด แม่ก็รู้สึกว่ามันไม่จบหรอก ถ้าไม่มีความรุนแรง ส่วนผมกลับมาคิดแบบสันติวิธี

สำหรับผมตอนนี้คนที่ยึดมั่นในสันติวิธี เขาก็เริ่มไม่เห็นความหวังแล้วเช่นกัน มันเลยทำให้เกิดการอยากย้ายประเทศ เพราะคนที่อยู่ในอำนาจ มีกองกำลัง มีเงิน มีกฎหมายในมือ เขาอยู่ในสภาวะที่ได้เปรียบที่สุด จะให้เขาออกจากตรงนั้นผมว่าเป็นไม่ได้ ถ้าไม่มีอำนาจที่เท่าเทียมในการเจรจา เขาไม่ยอมลงแน่นอน

แล้วในฐานะเคยไปใช้ชีวิตในนิวยอร์กมาหลายปี แล้วกลับมาเมืองไทย มองเห็นข้อดีอะไรในการย้ายไปอยู่ต่างประเทศ

ข้อดีหรือข้อเสียต้องพิจารณาในหลายมุม ผมพูดเสมอว่าประเทศไทยมันเป็นประเทศ 3 ฤดูคือ ร้อน ร้อนมาก แล้วก็ฝน มันมีอยู่แค่นั้น ดังนั้น สิ่งแวดล้อมมันกำหนดวิถีชีวิตมนุษย์แบบกลายๆ อากาศประมาณนี้ ไลฟ์สไตล์ก็จะประมาณนี้ ตารางชีวิตและวินัยก็เช่นเดียวกัน ประเทศที่มี 4 ฤดู จะมีความแอคทีฟมากกว่าในการปรับตัว

แต่ผมก็เชื่ออีกอย่างว่า หลายคนไม่ชอบอากาศร้อนเสมอไป และเท่าที่มีประสบการณ์ ผมเจอที่ที่อากาศดีกว่าเชียงใหม่หลายเท่า เป็นอากาศที่เราอยากใช้ชีวิตอยู่ทั้งชีวิต มันยังมีที่แบบนั้นในโลก

หลายๆ คนออกมาแชร์ข้อดีกันเยอะเลย คิดว่าการย้ายประเทศมีข้อเสียยังไง


การไปอยู่นิวยอร์ก 4 ปี สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึก Feel like home มากที่สุดคือ กลิ่นฉี่ ถ้านึกไม่ออกให้เดินผ่านซุ้มรถที่เขาจอดพักไว้นานๆ แล้วมีคนฉี่ตามกำแพง หรือกลิ่นห้องน้ำชายที่ไม่ถูกล้างนานๆ เวลาลงรถแล้วได้กลิ่นนี้เราจะรู้สึกว่า ‘นี่แหละ นิวยอร์ก’ ฟังดูสกปรกใช่ไหม มันก็สกปรกจริงๆ นั่นแหละ แต่ผมชอบชีวิตเมืองที่มันวุ่นวาย เลยถูกจริตกับนิวยอร์ก

ส่วนข้อเสีย แน่นอนว่ามีการปรับตัวทางวัฒนธรรม มันมีหลายวัฒนธรรมที่ประชากรไทยไม่ได้ถูกจัดเตรียมไว้เพื่อเป็นประชากรโลก อเมริกา ผู้คนเขามีความหลากหลายมากกว่าร้อยพ่อพันแม่ ล้านพ่อล้านแม่เลยด้วยซ้ำ แน่นอนว่าใครมีสิทธิ์ที่จะแสดงออกยังไงก็ได้ และการเหยียดกันเกิดขึ้นเสมอ แล้วแต่ว่าคุณจะโชคดีหรือจะแจ็กพ็อตขนาดไหน แต่ผมแทบไม่เจอ

บางทีการไปเป็นต่างด้าวทำงานในร้านอาหาร คุณภาพชีวิตของเราอาจจะดีกว่าพนักงาน Walmart ซึ่งสวัสดิการค่อนข้างแย่และค่าแรงต่ำ ล่าสุด Amazon ก็เริ่มถูกเอามาเปรียบเทียบเหมือนกัน เพราะเขานำ AI มาใช้ แล้วคัดพนักงานออก ก็จะเจอความเป็น mass production และทุนนิยมจัดๆ

ส่วนที่อยู่อาศัยมีความคับแคบและราคาสูง อาจไม่แย่เท่าฮ่องกง แต่เวลาเช่าต้องดูเจ้าของบ้านดีๆ เพราะเจ้าของบ้านคนจีนมักจะซอยห้องเช่าให้เล็กเกินและเก็บราคาเท่าปกติ

เช่นเดียวกับเสรีภาพเกินที่ขอบเขตของอเมริกาก็เป็นปัญหาได้ เวลาเกิดความไม่พอใจอะไร มันเกิดจลาจลได้ง่ายกว่า บ้านเมืองเขาจึงมีการแบ่งพื้นที่อันตรายเป็นโซน ซึ่งต่างจากบ้านเรา ปกติบ้านเราเวลาเจอเหตุด่วนเหตุร้ายมันมักจะเหมือนโดนแจ็กพ็อต แต่ที่นู่นถ้าไปตรง Red zone คือเจอแน่นอน เป็นแหล่งเลย

ปัญหาเรื่องขนส่งสาธารณะ บ้านเรามีรถเมล์เก่าแก่ ที่นี่ก็มีเหมือนกัน นิวยอร์ก มีรถไฟฟ้าที่ดีที่สุดเมื่อ 70 ปีที่แล้ว ตอนนี้มันเก่าเต็มทีและชำรุดบ่อย แต่ที่นี่ยังมีตัวเลือกในการเดินทางอีกมากมาย เพราะเขาวางโครงสร้างไว้ค่อนข้างดี แต่บ้านเราพอรถไฟฟ้าเสียทีก็อัมพาตเลย หรือวันไหนฝนตกหนักก็จะเห็นภาพคนยืนรอรถตรงจตุจักร

สุดท้ายคือ ทุกพื้นที่มีปัญหาของเขาอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเราจะรับมือได้หรือเปล่า

ระหว่างอยู่ไทยกับอยู่นิวยอร์ก ชอบอะไรมากกว่ากัน

ใจผมที่กลับมาเพราะว่าต้องดูแลลูกชาย เรารู้สึกว่าเขาควรได้รับการเลี้ยงดูและคำสั่งสอนจากเราแล้ว ซึ่งเราเองก็ไม่สามารถพาเขาไปอยู่ที่นู่นได้ทันเวลาด้วย เลยตัดสินใจกลับมาไทย

ส่วนชีวิตในอเมริกาเราชอบอยู่แล้ว มันเจออาชีพ เจอหนทาง มีคอมมูนิตี้ใหม่ๆ ให้เราเรียนรู้ตลอดเวลา ก่อนกลับมาผมเพิ่งเริ่มต้มเบียร์ พี่ๆ ที่เปิดร้านอาหารไทยก็เริ่มชวนให้ต้มมาส่งที่ร้าน แต่พอกลับไทยก็ไม่มีโอกาสต้มเบียร์อีกเลย

คิดว่าประเทศไทยยังมีความหวังไหม ทั้งในเรื่องคุณภาพชีวิต หรือโอกาสในการทำงานต่างๆ

ประเทศไทยยังมีโอกาสอยู่เสมอ ผมสนใจในเรื่องเด็กแว๊นมาก มันอยู่คู่กับบ้านเรามาเป็น10 ปี และไม่มีทีท่าว่าจะหายไป และยังคงได้รับความนิยมมาทุกยุคทุกสมัย ทำไมเราไม่ หยิบมันมาทำให้เป็นประโยชน์กับด้านวัฒนธรรม เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น แทนที่จะมองว่าเป็นปัญหา

มีหลายอย่างที่ถูกมองข้ามและถูกเหยียดในสังคมบ้านเรา ขณะที่เราต่อต้านการเหยียด แต่เราก็ยังเหยียดวัฒนธรรมกับคนบางกลุ่มอยู่ ผมคิดว่าจุดเริ่มต้นของเด็กแว๊นไม่น่าจะต่างจากฮิปฮอป ที่ทุกวันนี้ กลายเป็นวัฒนธรรมที่แทรกซึมอยู่ในทุกวงการเพลง แฟชั่น หรืออะไรต่างๆ มัน ขับเคลื่อนตัวเองมาได้ขนาดนี้เลย ซึ่งในบ้านเรามันมี subculture (วัฒนธรรมย่อย) อีกเยอะ ที่ยังไม่ถูกกะเทาะให้กลายเป็นทอง เป็นเพชร แล้วเราสามารถพามันไปถึงจุดนั้นได้หรือเปล่า

ถามทิ้งท้ายสำหรับแฟนๆ ช่อง RUBSARB Production ล็อกดาวน์รอบนี้กระทบกับการทำงานไหม


รอบนี้ของที่เราเตรียมไว้ไม่เพียงพอเหมือนรอบแรก คือรอบแรกเรายังมีสต๊อกเทปเหลือเยอะ แต่รอบนี้ก็พยายามเอางานค้างหรืออะไรเท่าที่มีออกมา มันไม่ได้มีการเตรียมถ่ายทำ Covid Diary เหมือนรอบที่แล้ว แล้วผมมีโครงการจะทำกลับมาทำ VLOG เหมือนเดิม 1 ปียาวๆ ต่อเนื่อง ก็เลยขอเวลาทำใจด้วยส่วนหนึ่ง การทำงานของ RUBSARB Production ช่วงนี้ ค่อนข้างสะดุดพอสมควร