ในโลกที่รัฐไม่สามารถจัดการสวัสดิการยามแก่ให้กับเราได้ การจัดสรรและวางแผนการเงินเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ถ้าเราต้องการจะแก่ไปอย่างไม่ยากจน
แต่อะไรคือสิ่งที่เขาเรียกกันว่าการ “วางแผนการเงิน” ล่ะ?
พื้นฐานก็คือ ต้องทำให้รายจ่ายเราน้อยกว่ารายได้เป็นอย่างแรก มันจะทำให้เรามีเงินเหลือหรือที่เขาเรียกว่า “เงินเก็บ”
และต่อมาก็นำเอา “เงินเก็บ” นี้แหละไปทำให้มันงอกเงยหรือที่เขาเรียกกันว่า “ลงทุน”
ส่วนแรกน่ะง่าย ใครก็น่าจะเข้าใจได้ แต่ไอ้ส่วน “ลงทุน” นี่แหละ ที่ปราบเซียนมาก เพราะคนที่หาเงินเก่งๆ จำนวนมากก็อาจไม่รู้เรื่อง “ลงทุน” เลยก็ได้ และถ้าไปอ่าน เราก็จะไปเจอความเห็นที่หลากหลายจนปวดหัว เพราะทุกคนก็จะคิดว่าวิธีการของตัวเองดีสุด ส่วนไอ้เราคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลยก็ไม่มีวิจารณญาณก็ไม่รู้จะเอาไง
เราอาจเริ่มด้วยคำถามง่ายๆ ก่อนว่า อายุเท่าไรถึงจะเริ่มลงทุนดี?
แน่นอนนอน ไปถามกูรูกางลงทุน เขาก็จะบอกว่ายิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี และบางคนก็อาจถึงกับบอกว่า เริ่มตั้งแต่เป็นเด็กยังไม่รู้เรื่องรู้ราวยังได้
แน่นอนถ้าทางบ้านพอมีฐานะ หรือ “บ้านรวย” การเริ่มเร็วก็เป็นสิ่งที่ดี แต่คนส่วนใหญ่ที่มาอ่านคู่มือการลงทุนก็อาจไม่ได้ “บ้านรวย” หรอก ดังนั้นการบอกเริ่มตั้งแต่เด็กมันจึงเป็นคำแนะนำที่คงไม่ใช่ทุกคนจะทำตามได้
แล้วจะเริ่มเมื่อไร? ตอนเริ่มทำงานเหรอ?
สำหรับกรณีบ้านเรา เงินเดือนคนที่เพิ่งจบปริญญาตรีหรือ “เด็กจบใหม่” นั้น บอกตรงๆ เลยว่ายากจะเก็บมาลงทุนทำอะไรได้ เพราะมันน้อย ค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็เยอะ ยังไม่รวมการไปเที่ยวสรวลเส เฮฮากับเพื่อน ยันเที่ยวต่างประเทศที่บางทีทำได้แต่ในวัยนี้อีก
รวมๆ แล้ว เอาเป็นว่า ถ้าเพิ่งเริ่มทำงาน ไม่ลงทุนเลยก็ไม่แปลกอะไร เราพอเข้าใจได้ เพราะคุณอาจไม่มีเงินพอ แต่พอทำงานไปสักพัก เงินเดือนขึ้น ตำแหน่งขึ้น ได้โบนัส คุณก็จะเห็นว่าคุณเริ่มมีเงินเหลือ และตรงนั้นแหละ ที่คุณควรจะเริ่มลงทุนได้แล้วนะ!
จุดเริ่มลงทุนที่ว่า เกิดได้ไม่พร้อมกันในแต่ละคน แต่โดยทั่วไป ถ้าคุณทำงานไปแล้วเงินพอใช้ในตอนแรก และคุณไม่เพิ่มคุณภาพชีวิตเร็วกว่าที่รายได้เพิ่ม อายุ 20 กลางๆ คุณก็น่าจะเริ่มตั้งหลักพอมีเงินเหลือได้แล้ว ซึ่งนั่นแหละจุดที่เริ่มลงทุน และตรงนี้ ช้าสุดที่ควรจะเริ่มได้ในกรณีคนทำงานปกติคืออายุ 30 ปี และเราก็ต้องเน้นว่าถึงที่ทำงานคุณจะมี Provident Fund โดยทั่วไป เงินก้อนนั้นก็ไม่พอใช้ยามแก่หรอก มันนิดเดียวเท่านั้น และคุณต้องมาลงทุนเองจะดีที่สุด
ที่นี้เริ่มลงทุนจะทำยังไงดี? อันแรกต้องเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่เขาเรียกว่า “การลงทุน” มันต่างจาก “การเทรด” นะ!
สองคำนี้คนละโลกเลยในโลกการเงิน การเทรดคือการซื้อขายและทำกำไรในระยะสั้น ส่วนการลงทุนคือซื้ออะไรก็ได้ที่มูลค่ามันจะเพิ่มในระยะยาว กรอบเวลาในการมองมันต่างกัน
ทั่วๆ ไปเครื่องมือในการลงทุนพื้นฐานของมนุษย์เงินเดือนคือการซื้อกองทุนรวม อันเป็นเครื่องมือในการลงทุนที่ปลอดภัยที่สุดเพราะมีการกำกับดูแลโดยรัฐอย่างชัดเจน พูดง่ายๆ คือจะไม่มีการฉ้อโกงแบบหลอกเอาเงินไปลงทุนแล้วชิ่งหนีดังที่เห็นตามข่าวแน่ๆ
ในโลกการเงิน การลงทุนในระยะยาวเขาจะแนะนำลงทุนให้ลงทุนในกองทุนรวมกลุ่มหุ้น โดยมาตรฐานผลตอบแทนของการลงทุนพวกนี้โดยเฉลี่ยขั้นต่ำอยู่ที่ 7-8% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่เหมาะสมกับการลงทุนในระยะยาว
แล้วเราลงทุนพวกนี้ได้ที่ไหน? สมัยก่อน เราก็อาจต้องไปธนาคารบอกไปเปิดบัญชีกองทุน แต่สมัยนี้เราแค่มีแอปฯ ของธนาคาร เขาก็จะให้เรากดลงทุนง่ายๆ ในนั้นได้เลย เรียกได้ว่าสะดวกกว่าเมื่อก่อนมาก (เพราะสมัยก่อนถ้าไม่เคยเปิดบัญชีกองทุนเลย อาจต้องใช้เวลาไปเปิดเป็นเกือบชั่วโมง เพราะต้องกรอกเอกสารเยอะมาก)
และก็บอกเลยว่าไม่ต้องกลัวว่าไม่มีเงินเยอะไม่ควรจะลงทุนในกองทุนรวมผ่านแอปธนาคาร เพราะการลงทุนพวกนี้ ลงทุนขั้นต่ำได้หลากหลายมาก โดยทั่วๆ ไปขั้นต่ำ 500-1,000 บาท ต่อครั้งคือมาตรฐาน แต่บางธนาคารก็ให้ลงทุนขั้นต่ำได้ 1 บาทด้วยซ้ำ
ทั้งนี้ ก็ไม่ต้องกลัวลงทุนน้อยแล้วขาดทุน เพราะนี่ไม่เหมือนการซื้อหุ้นที่เก็บค่าธรรมเนียมรายครั้ง การลงทุนกองทุนรวมมันเก็บค่าธรรมเนียมเป็น % ดังนั้น ซื้อกองทุนครั้งละ 100 บาท 10 ครั้ง หรือซื้อ 1,000 บาทครั้งเดียว ก็เสียค่าธรรมเนียมเท่ากัน ซึ่งนี่ต่างจากซื้อหุ้นกับหลายๆ เข้าที่ถ้าเราซื้อน้อยๆ และซื้อบ่อย เราจะยิ่งเสียค่าธรรมเนียมเยอะ
ตรงนี้คงเริ่มเข้าใจกองทุนรวมแล้วนะ ว่ามันซื้อได้ง่ายแค่ไหน และเป็นการลงทุนที่เหมาะกับ “มนุษย์เงินเดือน” ที่ไม่ได้มีเวลาว่างมากมายแค่ไหน
คำถามต่อมาที่สำคัญมาก แล้วจะซื้อกองทุนไหนดี? มันมีเป็นร้อยๆ กองทุน
อันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า ในระดับเบสิคเลย มาตรฐานโลกที่เป็นมาตรฐานการลงทุน เขาจะแนะนำให้ซื้อกองทุนรวมที่กระจายลงทุนในหุ้นใหญ่สุด 500 ตัวของสหรัฐ หรือที่เขาเรียกกันรวมๆ ว่ากองทุนดัชนี S&P500 ซึ่งในไทย กองทุนแบบนี้มีให้เลือกซื้อจากในหลายแอปธนาคารมาก และที่มีให้เลือกซื้อหลากหลายเพราะมันคือว่าเป็น “มาตรฐานการลงทุน” ในระดับสากล เนื่องจากตลาดหุ้นอเมริกาในภาพรวม มันโตไปเรื่อยๆ (เว้นตอนมีวิกฤติเศรษฐกิจ) และกองทุนแบบนี้มันเป็นตัวแทนที่ดีที่สุดของตลาดหุ้นอเมริกา
ซึ่งถ้าเอาชื่อเลย มันคือกองทุน K-US500X ของทางกสิกรไทย SCBS&P500 ของทางไทยพาณิชย์ TMBUS500 ของทหารไทยธนชาติ TISCOUS ของทิสโก้ ASP-S&P500 ของแอสเซทพลัส
กองทุนพวกนี้ลงทุนได้กับสถาบันการเงินในไทยต่างๆ กัน แต่ตัวเนื้อในมันคือการลงทุนกระจายในตลาดหุ้นอเมริกาอย่างที่ว่าหมด ดังนั้นลงทุนกับเจ้าไหนก็ได้ ตามแต่ถนัด
เท่านี้แหละ ณ ตรงนี้
ง่ายๆ แค่นี้เองเหรอ? คำตอบคือใช่แล้ว ไปอ่านดูก็ได้ พวกคนอเมริกันที่ประสบความสำเร็จในการบริหารเงิน ส่วนใหญ่ลงทุนโดยเทคนิคแบบนี้หมด เพราะสุดท้าย สิ่งที่สำคัญจริงๆ มันไม่ใช่ว่าคุณลงทุนกับอะไร เพราะตลาดการเงินมาตรฐาน ผลตอบแทนมันประมาณนี้แหละ
ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ คุณต้องหาเงินมาเติมการลงทุนเรื่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือพูดอีกแบบ ถ้าคุณมีแหล่งรายได้เพิ่ม ก็จงเอามาลงทุน คุณได้ขึ้นเงินเดือน ก็จงเอามาลงทุน
นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะผลตอบแทนมันก็แค่นี้แหละในภาพรวม ถ้ามองในสเกล 20-30 ปีจากตอนนี้ ไม่มีอะไรดู “ชัวร์ สุดแล้วที่จะให้ผลตอบแทนในระยะยาว 7-8% นอกจากหุ้นอเมริกา (ที่มันพิสูจน์ตัวเองมาหลายสิบปีแล้วว่ามันให้ผลตอบแทนเท่านี้ได้จริงๆ)
แต่ก็นั่นเอง ที่เราเล่า มันก็เป็นแค่จุดเริ่มต้นของการเดินทางทางการเงินของคุณเท่านั้น คุณทำแบบนี้ไป คุณอาจคิดว่าคุณมีเทคนิคอื่นที่จะได้ผลตอบแทนเพิ่ม คุณอาจไปเล่นกองทุนจีน กองทุนอินเดียเพราะคุณคิดว่ามันจะโตเร็วกว่าอเมริกา หรือคุณอาจกระโดดไปเล่นตลาดเกิดใหม่จริงๆ แบบคริปโทฯ และโลกใหม่ของการเงินแบบไม่รวมศูนย์ที่เขาเรียกกันสั้นๆ ว่า “DeFi” ก็ได้
แต่ประเด็นคือ “มาตรฐาน” มันไม่เปลี่ยนไปสักเท่าไหร่ ตลาดหุ้นอเมริกายังเป็น “มาตรฐานของผลตอบแทน” ที่ตลาดอื่นๆ เอามาเทียบเสมอ ถ้าคุณไปลงทุนแบบอื่น แล้วได้มากกว่านี้ ก็ลุยโลด แต่ในทางสถิติ มันมีคนไม่เท่าไรหรอกจะชนะตลาดอเมริกาได้
และถ้าคุณเป็นคนส่วนใหญ่ผู้พ่ายแพ้แล้ว การกลับมาลงทุนกับตลาดอเมริกาก็ยังเป็นสิ่งที่เค้าแนะนำกันเสมอมา
นี่เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมมันถึงเป็น “จุดเริ่ม” ที่ดีที่สุดของการลงทุน
ปีนี้ฉันจะรวย แคมเปญที่พาทุกคนรวย (ความรู้) กับข้อมูลทางการเงินที่จับต้องได้และครบครัน ทั้งรูปแบบบทความ อินโฟฯ และวิดีโอ อย่าให้เรื่องการเงินเป็นเรื่องน่ากลัว อยู่กับเงินด้วยความรู้ความเข้าใจ หลังโควิด-19 ผ่านพ้นไป มาเตรียมตัวรวยไปด้วยกัน! มาติดตามเนื้อหาอื่นๆ ในแคมเปญปีนี้ฉันจะรวยได้ที่ : https://www.brandthink.me/campaign/pi-ni-chan-cha-ruai