เคยมีใครสงสัยไหมว่า ทำไมเราถึงใช้ ‘ตราครุฑ’ เป็นตราราชการ?
เชื่อว่าคนที่เคยเกี่ยวข้องกับการทำเอกสารหรือต้องไปสถานที่ราชการบ่อย ๆ คงจะต้องเห็นรูปพญาครุฑสยายปีกอยู่ข้างบนจนเป็นเรื่องปกติ แถมตราครุฑนี้เราไม่ได้เพิ่งเริ่มใช้ แต่มีการใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญของกษัตริย์มาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว
ครุฑเป็นสัตว์กึ่งเทพผู้มีรูปกายครึ่งมนุษย์ครึ่งนกอินทรี ทรงอิทธิฤทธิ์ และเป็นพาหนะประจำพระองค์พระนารายณ์ มีบทบาทในวรรณคดีมากมายนับตั้งแต่สมัยอินเดีย ในคัมภีร์พระเวท ครุฑ เป็นพญานก อาศัยอยู่วิมานฉิมพลีในป่าหิมพานต์ แถบเขาพระสุเมรุ

ครุฑ | postjung.com
แล้วสัตว์วิเศษในตำนานเป็นตัวแทนราชการได้ยังไง?
ถ้าดูจากความนับถือตามพื้นฐานของความเชื่อในพื้นที่หรือศาสนาพุทธที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือ สัตว์วิเศษอย่าง “พญานาค” ดูเหมือนจะมีภาษีมากกว่าเสียด้วยซ้ำ
แต่ด้วยความที่คนไทยนับถือพุทธกึ่งพราหมณ์กึ่งผี รวมทั้งได้รับอิทธิพลลัทธิเทวราชามาจากอินดียและขอมโบราณ เราจึงนับถือกษัตริย์เป็นเทพ หรือเป็นร่างอวตารของพระนารายณ์

พญานาค | kapook.com
ดังนั้นครุฑที่เป็นพาหนะของพระนารายณ์จึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ไปโดยปริยาย
นอกจากนี้ยังเชื่อว่าครุฑเข้ามามีบทบาทกับราชการไทย เนื่องจากภาพลักษณ์ของครุฑ ทรงอำนาจ มีความเป็นอมตะ และสามารถป้องกันสิ่งชั่วร้ายต่างๆ นานาได้
ส่วนตราที่เราใช้กันอย่างเป็นทางการ ’พระราชลัญจกรครุฑพ่าห์’ (พ่าห์” มาจาก “พาหะ” ซึ่งหมายถึง “พาหนะ”) ถูกใช้เป็นตราประทับหนังสือราชการแผ่นดินที่เป็นพระบรมราชโองการ และหนังสือราชการแผ่นดินมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาจึงมีการใช้ ‘ตราครุฑ’ เป็นหัวกระดาษของหนังสือราชการทั่วไป เพื่อทราบว่างานนั้นเป็นราชการ

ตราครุฑในหนังสือราชการทั่วไป | trainflix.com
ต่อมารัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนตราแผ่นดินเป็นตราครุฑพ่าห์ แบบที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้
ไม่ใช่เฉพาะตราสัญลักษณ์เท่านั้น แม้เราจะเรียกตัวเองว่าเป็นเมืองพุทธแต่ตั้งแต่อดีตศาสนาพราหมณ์–ฮินดู และเทพเจ้าต่างๆ มีอิทธิพลต่อความเชื่อสูงมาก ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น ขึ้นบ้านใหม่ ตั้งศาล แต่งงาน รวมถึงพระราชพิธีส่วนใหญ่ก็มีความเป็นพราหมณ์สูงมากเช่นกัน
อ้างอิง:
- Bag in design. พระครุฑพ่าห์ สื่อสัญลักษณ์ถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และตราแผ่นดิน. https://bit.ly/39Ym9Zh
- ไทยรัฐออนไลน์. ‘ครุฑ’ พาหนะพระนารายณ์ ความเชื่อเทวราชา จนกลายเป็น ‘ตราแผ่นดิน’. https://bit.ly/3kkKk8M
- wikisource. พระราชบัญญัติเครื่องหมายครุฑพ่าห์ พ.ศ. ๒๕๓๔/๒๕๓๔.๑๑.๑๕. https://bit.ly/3kmceSa