‘ยชญ์ บรรพพงศ์’ โฮสต์รายการ Untitled Case พอดแคสต์ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับทฤษฎีสมคบคิด เรื่องลึกลับ สัตว์ประหลาด ฆาตกรรม ความลี้ลับที่หาสาเหตุไม่ได้ เรื่องเล่าจากเคสจริงที่น่ากลัวกว่าฟิกชั่น
นอกจากนั้นยังเป็นนักเขียน และพ่วงด้วยตำแหน่งครีเอทีฟยุคใหม่แห่งขายหัวเราะ
เบื้องหน้าที่ทุกคนเห็น เขาคือคนที่ทำงานหน้ากล้องได้อย่างไม่เคอะเขิน แต่รู้หรือไม่ว่าอันที่จริงแล้ว เขาคือมนุษย์อินโทรเวิร์ต (Introvert) ที่หลีกหนีสปอตไลต์มาทั้งชีวิต
ชวนอ่านบทสัมภาษณ์เพื่อทำความรู้จักและทำความเข้าใจ ยชญ์ บรรพพงศ์ ในฐานะมนุษย์อินโทรเวิร์ตที่ต้องทำงานในพื้นที่สาธารณะให้มากยิ่งขึ้น
เป็นโฮสต์ในรายการ Untitled Case ได้อย่างไร
ตอนนั้นเราอยู่ Salmon Lab แล้วเขาก็กำลังจะก่อตั้ง Salmon Podcast ขึ้นมาพอดี เป็นช่วงที่กำลังคุยเรื่องผังรายการกันอยู่ แล้วมันมีรายการหนึ่งที่เขาตั้งใจว่าจะเล่าเรื่องลึกลับ เรื่องที่เราอ่านใน Reddit, Creepypasta หรือว่าเรื่องที่มันเป็นเรื่องจริง แต่ว่ามันมีความน่ากลัวแบบเรื่องแต่ง คือเขาก็มีคอนเซ็ปต์นี้มาแข็งแรงมาก พอผมได้ยินมาว่ามันจะมีรายการนี้ ก็เลยคุยกับเขาว่าเราอยากลองเขียนบทให้รายการนี้ดู เพราะว่าเราชอบเขียน ชอบรีเสิร์ชอะไรพวกนี้ แต่เราไม่ค่อยมั่นใจว่าเราจะพูดได้ ก็เลยขอเขาว่าเป็นคนเขียนบทเฉยๆ ได้ไหม
ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ามันจับพลัดจับผลูไปยังไงมายังไง กลายเป็นว่าเราไม่ได้เขียนแค่บทแล้ว แต่ต้องจัดรายการด้วย แล้วเราก็ลองดู ลองอัดเสียงของตัวเองฟัง ลองเล่าดู ก็รู้สึกว่ามันไม่ค่อยสนุก มันจืดๆ แห้งๆ เพราะว่าเราเป็นคนเรียบๆ ก็คงพูดได้เรื่อยๆ แต่ก็คงไม่ได้สนุกขนาดนั้น เลยคิดว่าถ้ามีคนมาช่วยกันปู ช่วยกันชงมุกตบมุกก็คงดี ซึ่งก็ต้องเป็นคนที่เข้ากันได้ มีความสนใจเรื่องนี้เหมือนกัน เลยนึกถึงพี่ธัญ (ธัญวัฒน์ อิพภูดม) เพราะว่าตอนนั้นพี่ธัญเขาทำคอนเทนต์ลงเพจ The Matter เกี่ยวกับ The Ghost Radio ก็เลยรู้สึกว่าคนนี้มีของ น่าจะมีความคล้ายๆ กันบางอย่าง เลยลองชวนดู แล้วพี่เขาก็ตอบตกลง เราก็ลองอัดเสียงกันในห้องประชุมง่ายๆ แล้วก็ส่งเดโมให้พี่วิชัยกับพี่โจ้ฟัง หลังจากนั้นก็ปรับไปเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นรายการจริงๆ
ซึ่งมันไม่ใช่จุดเริ่มต้นที่เราคาดหวังอะไรใหญ่โตเลย เพราะโฮสต์รายการในเซ็ตแรก มีทั้งครูทอม พี่ทราย พี่นิดนก แต่ละคนมีชื่อเสียงอยู่แล้ว เราก็เลยไม่ได้กดดัน เพราะเราเป็นคนโนเนม รายการเจ๊งก็เจ๊งไป (หัวเราะ) ทำเอามันมากกว่า ก็ตกใจเหมือนกันที่รายการมันมาได้ไกลขนาดนี้ แต่เราก็ไม่ได้ถือว่ารายการมันดังนะ แค่มีกลุ่มคนฟังที่หนาแน่น
Untitled Case เป็นรายการที่เกี่ยวข้องกับความกลัวของคน แล้วเราเป็นคนขี้กลัวไหม
ไม่ค่อยกลัว เมื่อก่อนเคยกลัวผีมากตอนเด็กๆ แต่ว่าพอโตมาหน่อย ก็ไม่ค่อยกลัวแล้ว อันนี้อาจจะดราม่านิดนึง ด้วยความที่พ่อกับแม่เราแยกกันอยู่ เราเลยรู้สึกว่าเราจะต้องโตขึ้น เพราะแม่ต้องหวังพึ่งเรามากขึ้น เราก็อยากเป็นที่พึ่งให้แม่ได้มากขึ้น ก็เลยพยายามกลัวอะไรหลายๆ อย่างน้อยลง เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ไม่ค่อยตกใจกับอะไรง่ายๆ คือรู้สึกว่าเป็นคนที่อารมณ์คงที่ตั้งแต่ตอนนั้นที่เรารู้ตัวว่าต้องเป็นผู้ใหญ่เร็วขึ้น
สิ่งที่กลัวที่สุดในชีวิตคืออะไร
แมงมุม
เราไม่กลัวคอนเซ็ปต์อะไรที่เป็นนามธรรม อย่างความตาย ผี อะไรพวกนี้เราไม่กลัว เราไม่กลัวความตายเลย ถ้าตายตอนนี้ก็ไม่เสียดายอะไร ยังไม่ค่อยเข้าใจความคิดนี้ของตัวเองเหมือนกัน แค่ไม่กลัว แต่ถ้าถามว่ากลัวอะไร แบบที่เห็นแล้วมันขนลุก คือ แมงมุม ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม มันน่ากลัวอะ กลัวความขาแหลมๆ ของมัน คือถ้าเป็น แมงมุมทารันทูลา (Tarantula) ที่เป็นแบบขาขนๆ อันนั้นเฉยๆ นะ ไม่กลัวมาก แต่พอขาแหลมๆ แบบแมงมุมแม่หม้ายดำ อันนี้น่ากลัวมาก
ได้ยินมาว่าเป็นคนกลัวสปอตไลต์ มันเป็นความรู้สึกแบบไหน
เราคิดเสมอว่าถ้าเราดัง หรือว่าเราอยู่ในสปอตไลต์ มันจะตามมาซึ่งความวุ่นวายเยอะมาก เพราะเราต้องการความเรียบง่ายในชีวิต ไม่ต้องการอะไรที่มันวุ่นวาย ก็เลยพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้วุ่นวายมาโดยตลอด เช่น มีแฟนก็คบคนเดียว ไม่สร้างเรื่องให้ชีวิตตัวเองแน่นอน
การที่เราไปอยู่ในสปอตไลต์มันเลยเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงมาตลอด เพราะเรารู้สึกว่ามันทำให้เรามีภาระตามมา แต่ปรากฏว่าการที่ทำ Untitled Case ก็นำมาซึ่งสิ่งเหล่านี้ แล้วก็ทำให้เราค้นพบว่าจริงๆ มันก็ไม่แย่ แค่บาลานซ์ให้ถูกก็สามารถใช้ประโยชน์จากมันได้ สามารถเป็นตัวเองได้ ในขณะที่คนอื่นก็ยังชื่นชอบในตัวเราได้ด้วย
เหมือนตอนแรกเราก็แค่กังวลไปเองว่าการที่เราจะอยู่ในสปอตไลต์มากขึ้น มันจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง ชีวิตไม่น่าจะเอนจอยสิ่งนี้ แต่ด้วยความที่รายการอาจจะยังไม่ดังมากด้วยมั้ง เลยยังอยู่ในจุดที่เรายังเป็นตัวเองได้อยู่ ก็เลยยังมีความสุขอยู่ แล้วก็นำพาให้เราได้ไปทำอะไรใหม่ๆ เยอะเหมือนกัน เช่น บอร์ดเกม, เล่าเรื่องในโรงหนัง, Meet and Greet อะไรแบบนี้
มองว่าตัวเองเป็นอินโทรเวิร์ตไหม
แน่นอน เราเป็นอินโทรเวิร์ตแบบ 70-80 เปอร์เซ็นต์ เท่าที่ทำทุกแบบทดสอบนะ สมมติว่าวันนี้เราทำงานหนักมาก กลับบ้านปุ๊บเราจะไม่มีทางไปที่อื่นได้เลย ถ้าจะออกไปดื่มคือต้องนอนทั้งวันเพื่อชาร์จพลังงานก่อน เพราะเราเป็นคนพลังงานน้อยด้วย แล้วก็อินโทรเวิร์ตด้วย
ต้องทำงานต่อหน้าคนสาธารณะเยอะๆ ปรับตัวอย่างไรบ้าง
เรามองว่ามันเป็นงาน เราว่าหลายๆ คนที่ทำงานจริงๆ น่าจะเข้าใจตรงนี้แหละว่างานกับชีวิตมันคนละอย่างกัน พอเรามองว่าทุกอย่างมันเป็นงาน เราก็แค่คิดว่าต้องทำ มันคือการเพอร์ฟอร์มอย่างหนึ่ง เราคงไม่ได้เป็นตัวเอง 100 เปอร์เซ็นต์ในการอยู่ในที่สาธารณะขนาดนั้น ด้วยความที่ต้องกังวลสิ่งนั้นสิ่งนี้ด้วย ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นการทำงาน เป็นพาร์ตหนึ่งของการทำงานที่แยกออกจากชีวิตเรา แล้วก็สามารถจัดการกับมันได้
ความยากของการทำงานในที่สาธารณะหรือการใช้ชีวิตของคนเป็นอินโทรเวิร์ตคืออะไร
ความยากคือเราคาดเดาพลังงานตัวเองไม่ถูกว่าวันนี้เราจะพลังงานเยอะไหม มันเลือกจุดที่เราจะมีพลังเต็มที่ไม่ได้ ไม่รู้ทุกคนเป็นหรือเปล่า บางวันเราตื่นมาไม่มีพลังงานเลย รู้สึกว่าเราต้องการชาร์จพลังงาน แต่วันนี้เราต้องอัดพอดแคสต์ ต้องไปข้างนอก ต้องไปแจกลายเซ็น มันก็ต้องฮึบ อันนี้คือความยาก แต่ก็อย่างที่บอก ถ้าสมมติเราเอาแว่นการทำงานมาครอบ มันก็จะสามารถทำได้ เพียงแต่ว่าเราจะไม่รู้จริงๆ ว่าวันหนึ่งเราตื่นขึ้นมาแล้วเราจะพร้อมทำงานนี้เต็มที่หรือเปล่า แต่เราก็แค่ต้องทำมันให้ดีที่สุด
ส่วนความยากในการใช้ชีวิต ส่วนตัวเราไม่ค่อยมี ด้วยความที่อยู่ในสังคมคนที่เข้าใจ คนที่ทำงานก็อินโทรเวิร์ตหมดเลย เพื่อนมหา’ลัย เพื่อนมัธยมก็เข้าใจว่าเราเป็นคนไม่ค่อยเข้าสังคม ก็จะรู้อยู่แล้วว่าเราเป็นคนยังไง โชคดีที่คนรอบตัวค่อนข้างเข้าใจ
เรื่องที่คนชอบเข้าใจเราผิดเกี่ยวกับการเป็นอินโทรเวิร์ต
สิ่งที่คนชอบเข้าใจผิดคือ อินโทรเวิร์ตต้องเก็บตัวตลอดเวลา ไม่ต้องการพูดคุย การเข้าไปพูดคุยคือเสียมารยาท แต่เราว่าจริงๆ มันไม่ใช่ อินโทรเวิร์ตก็แค่ส่วนหนึ่งเล็กๆ ของนิสัยของแต่ละคนเท่านั้นเอง อย่าไปให้ความสำคัญกับอินโทรเวิร์ตหรือเอ็กซ์โทรเวิร์ตมากขนาดนั้น สุดท้ายก็แค่พูดคุยว่าเพื่อนคนนี้เป็นคนยังไง แล้วเราก็แค่เข้าหาเขาแบบมนุษย์ มันก็น่าจะแค่นั้นแหละ
การเข้าสังคมใช้พลังงานมากแค่ไหนสำหรับคนที่ไม่ชอบเข้าสังคม
การที่เราเป็นครีเอทีฟมันก็ต้องคุยกับคน ก็เป็นสิ่งที่อินโทรเวิร์ตอย่างเราอาจจะไม่ถนัด แต่สุดท้ายก็กลับมาที่ว่า พอเรามองเป็นงาน เราใช้พลังงานเยอะก็จริง แต่มันมีจุดประสงค์ ตัวเนื้องานถือเป็นกันชนที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราสามารถเข้าสังคมได้
แต่เราจะรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อคนที่คุยกับเราเป็นคนที่ต้องการรู้เรื่องส่วนตัวของเรา นี่คือเหตุผลที่ไม่ค่อยชอบไปดื่ม เพราะบางคนไม่รู้ว่าเราไม่ได้อยากเล่าเรื่องส่วนตัว ใครจะคุยก็คุยกันไป เราเอนจอยโมเมนต์ แต่คนอื่นไม่ต้องมาถามเรื่องส่วนตัวเรา เพราะเราก็ไม่ได้อยากรู้เรื่องของคนอื่น เราก็จะมีขอบเขตที่ค่อนข้างชัดเจนมาก ว่าจะไม่ค่อยพูดเรื่องส่วนตัวกับคนที่ไม่สนิทใจ
อินโทรเวิร์ตก็แค่นิสัยส่วนหนึ่ง แต่ว่าพอมันเป็นงานมันก็ต้องทำงาน ไม่ว่าจะบุคลิกแบบไหนก็ต้องปรับตัวเข้ากับงานให้ได้ การเป็นอินโทรเวิร์ตไม่ใช่ข้ออ้างที่ฟังขึ้นเท่าไหร่ในวงการของการทำงาน แม้จะฟังได้บ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมด
ประสบการณ์ส่วนตัวคือ เมื่อก่อนตอนที่เพิ่งทำงานแรกๆ ก็จะรู้สึกว่าไม่อยากคุยกับคน แม้จะเป็นในเรื่องงาน ก็จะงอแง แล้วก็ผลัดวันประกันพรุ่ง ซึ่งทำให้กระทบคนอื่นที่อยู่ในสายงาน เราก็เลยรู้สึกว่าต้องเลือกว่าจะกระทบคนอื่นหรือว่าจะเหนื่อยตัวเอง เราก็จะเลือกให้เหนื่อยตัวเองมากกว่า ไม่ใช้ความอินโทรเวิร์ตเป็นข้ออ้างในการไม่ทำงาน เพราะไม่อยากให้คนอื่นลำบาก อะไรอย่างนี้
ความยากของการเป็นอินโทรเวิร์ตในการทำงานคืออะไรบ้าง
ถ้าเราคิดว่าอินโทรเวิร์ตเท่ากับเก็บตัว เวลาหัวหน้าตัดสินงานว่าคนไหนทำงานดี แล้วถ้าสมมติว่าหัวหน้าเขาไม่ได้มาคลุกคลีกับเรา เขาก็จะไม่รู้หรอกว่าเบื้องหลังงานชิ้นนี้มันมีกระบวนการอะไรซ่อนอยู่บ้าง เขาอาจจะตัดสินจากคนที่โดดเด่นที่สุด คนที่อยู่ในสปอตไลต์ ซึ่งมักจะไม่ใช่อินโทรเวิร์ต ตรงนี้มันธรรมดามากๆ แต่ถ้ามองลึกๆ จริงๆ อินโทรเวิร์ตก็มีข้อดีของมัน มีจุดเด่นของมัน ซึ่งถ้าหัวหน้าจับทางถูก ไม่ว่าเราจะอินโทรเวิร์ตหรือเอ็กซ์โทรเวิร์ตก็สามารถเติบโตในหน้าที่การงานได้ทั้งหมด
มีคำแนะนำให้กับคนที่เป็นอินโทรเวิร์ตที่ต้องทำงานกับคนเยอะๆ แบบเราไหม
มองเป็นงานแล้วกัน แต่ว่าเราโชคดีตรงที่เราได้ทำงานในสายที่เราอยากทำ เราก็เลยมีแพสชันกับมัน การที่เราเอาหมวกของหน้าที่การงานมาครอบมันไว้ มันเลยทำให้เราโอเค พร้อมที่จะไปคุยกับคน พร้อมที่จะเปิดโอกาสให้กับบริษัทอะไรอย่างนี้
แต่เราไม่แน่ใจว่าคนที่อ่านบทความนี้อยู่เขารักงานตัวเองแค่ไหน ซึ่งถ้าเขาไม่รักงานที่เขาทำอยู่มันไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเลย แล้วเขาก็ไม่จำเป็นต้องฝืนขนาดนั้นก็ได้ คือการใช้ชีวิตไปวันๆ มันไม่ผิด ถ้าเขารู้สึกว่าแค่ใช้ชีวิตก็เหนื่อยมากแล้ว มันก็ไม่จำเป็นที่จะต้องดิ้นรนหรือว่าฝืนตัวเองจนเกินไปจนไม่เป็นตัวเอง
บางทีเขาอาจจะไม่ต้องฝืนการเป็นอินโทรเวิร์ตของตัวเองด้วยซ้ำ เขาอาจจะเลือกทำอาชีพที่ไม่ต้องวุ่นวายกับผู้คน แล้วก็เจริญเติบโตในทางของตัวเอง ผมว่าก็แค่ต้องหาทางของตัวเองให้เจอ
สิ่งที่ทำอยู่มันฝืนตัวเองไหม
ก็แอบฝืนในแง่ธรรมชาติของตัวเอง การทำงานครีเอทีฟมันคือต้องตื๊อคน พยายามหว่านล้อมคน ชักจูงใจคน แต่ด้วยความที่พอมันเป็นหน้าที่การงาน เราดันชอบการทำงานครีเอทีฟ มันก็อาจจะฝืนส่วนหนึ่ง แต่เป็นการฝืนที่เราโอเค เรารับได้ แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น มันก็ต้องผ่านอะไรมาหลายๆ อย่าง
มองตัวเองในอนาคตเป็นอย่างไร
เราอยากเป็นคนเก่ง อันนี้น่าจะเป็นความตั้งใจตั้งแต่เด็ก อยากเป็นคนที่มองงานขาด เป็นคนที่ทำงานกับใครก็ได้ มีหน้าที่การงาน มีเงิน แล้วก็ได้ทำสิ่งที่รัก ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลมันก็ต้องเก่งก่อน แล้วเราก็หาที่ทางของตัวเองให้ได้
เราไม่ได้เป็นคนทะเยอทะยานมาก ถ้าการประสบความสำเร็จมีระดับคะแนนเต็ม 10 เราก็คงไม่ได้มองว่าเราจะไปถึง 10 เพราะว่ามันเหนื่อยเกินไป เราคงไปอยู่ในเกณฑ์ 7-8 ที่เราพอรับได้มั้ง แล้วก็เราให้ความสำคัญกับ Work-Life Balance มากๆ แม้จะทำงานหนักก็จริง แต่จะไม่รบกวนชีวิตเราแน่นอน ถ้าสมมติเราเริ่มเครียดเมื่อไหร่ เราจะเริ่มกังวลว่าจะตัดงานไหนออกจากชีวิตดี เพราะว่าเราไม่ค่อยชอบทำงานขนาดนั้น แพสชันก็ส่วนหนึ่ง แต่ว่าแพสชันกับชีวิตมันก็ต้องไปด้วยกัน ก็คงอยากให้มันเป็นแบบนี้ต่อไปมั้ง ขอไม่ทำงานหนักไปกว่านี้แล้ว