วัด-Stop-Service เมื่อที่พึ่งทางใจ กลายเป็นที่พึ่งสุดท้ายของผู้ป่วยโควิด-19
ไม่ใช่ทุกคนเข้าถึงการตรวจหาเชื้อ ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าถึงโรงพยาบาลของรัฐ
เมื่อผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในระยะเวลาอันรวดเร็ว ภาระงานของระบบสาธารณสุขไทยจึงเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยในประเทศ
ทำให้ประชาชนเริ่มหันมาช่วยเหลือกันเองในทุกทาง และเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ‘วัดสุทธิวราราม’ ได้เปลี่ยนภาพวัดที่ถูกยกให้เหนือเรื่องทางโลก ให้กลายเป็น ‘วัด Isolation’ ที่เกิดขึ้นเพื่อดูแลญาติโยมในชุมชนรอบวัดที่ติดโควิด-19 และเสียชีวิต โดยมีการจัดตั้งทีม ‘พระไม่ทิ้งโยม’ เพื่อช่วยเหลือทุกคนตั้งแต่ขั้นตอนตรวจหาเชื้อ รักษา ส่งต่อ ไปจนการเผาศพ เริ่มต้นถึงจุดจบ
“ภารกิจของเราคือลงไปตรวจผู้ป่วย คัดกรองเชิงรุก ลงพื้นที่เลย ทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย เรารับผู้ป่วยทุกเคส ไม่ใช่โดยเฉพาะสีเขียวอย่างเดียว ถ้าเป็นผู้ป่วยสีเหลืองเราก็ส่งต่อ สีแดงเราก็ส่งต่อ ส่งให้โรงพยาบาลสนาม”
พระมหาพร้อมพงศ์ ปภสุสรจิตฺโต เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทธิวรารามเล่าถึงวัดเปลี่ยนแปลงไปจากที่พึ่งพาทางจิตใจของชาวพุทธ เป็นที่พึ่งสุดท้ายเมื่อโรคระบาดมาถึง พระสงฆ์เปลี่ยนจากการจับตาลปัตรเทศน์มาสวมชุด PPE จับเครื่องตรวจเชื้อให้กับผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง ทั้งคนต่างด้าว ผู้พิการ และคนชรา ทั้งยังจัดหาเตียง ที่กัดตัว และทำอาหารให้กับผู้ป่วยสีเขียวในความดูแล
ปัจจุบันวัด Isolation ดำเนินการมา 1 เดือนเต็ม มีเตียงรองรับผู้ป่วย 152 เตียง โดยมีคนจากวัดเองและอาสาสมัครรวม 20 ชีวิตที่ช่วยกันตั้งแต่การตรวจเชิงรุก และเพิ่มการทำ Community Isolation ในชุมชนโดยรอบเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากขึ้น ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศให้การใช้ Antigen test kit และ Home Isolation นอกจากนี้ปัจจุบันที่วัดสุทธิยังรับตรวจเชื้อแบบ Walk in ได้วันละ 120 คน
แม้จะเริ่มต้นจากการช่วยเหลือชุมชนโดยรอบวัด แต่ในตอนนี้ในระบบวัด isolation มีผู้ป่วยในโครงการจากพื้นที่อื่นๆ ทุกเพศทุกวัย และ ทุกศาสนา ซึ่งวัดช่วยเหลือติดต่อหายาและเตียงสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง เพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนได้เข้าถึงยามากที่สุดแม้มาสามารถเข้าสู่ระบบได้ไม่มีการแบ่งแยก
“เราอย่าลืมว่าคนในชุมชนนั้น บางคนก็ไม่สามารถเดินทางได้ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หรือแม้แต่บางคนตอนนั้น การตรวจด้วย RT-PCR มีราคาค่อนข้างสูง คือราคาตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป และชุดตรวจ Antigen test kit 350 บาท ในยุคนี้ที่คนตกงานก็ดี คนถือว่าลำบาก ขัดสน เงินหลักร้อยก็ถือว่ามีค่าสำหรับเขา แต่เราไปตรวจให้ฟรี ไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น”
การเป็นที่พึ่งให้กับผู้คนเป็นบทบาทสำคัญของศาสนามานาน พระมหาพร้อมพงศ์มองว่าสิ่งสำคัญในเวลานี้คือการช่วยเหลือเพื่อให้ทุกคนรอดพ้นวิกฤตไปได้ และการที่วัดเข้ามาทุ่มเทความช่วยเหลือการระบาดของโควิด-19 ในตอนนี้ ก็ทำให้หลวงพี่มองเห็นปัญหาหลายอย่างที่ฝังรากอยู่ในสังคมไทย
“พอหลวงพี่ลงชุมชนจริงๆ หลวงพี่ยังเห็นความยากจนของประชาชน ยังเห็นประชาชนส่วนมากยังเข้าถึงความรู้ในการป้องกันตนเอง ในการดูแลตัวเองจากโรคภัยไข้เจ็บเนี่ยน้อยมาก และเรายังเห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากมาย ชุมชนแออัด แรงงานต่างด้าว พี่ถ้าเราไม่ลงชุมชนเราก็จะไม่รู้ปัญหาของชุมชนว่า ชุมชนนั้น ในสิ่งที่มองเห็นว่าเป็นเมืองหลวง ยังมีอีกมุมหนึ่งนะ ที่เรายังไม่เคยเห็น”
หลวงพี่เล่าถึงปัญหาความแออัดของชุมชนที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของการระบาดที่ยากจะควบคุม บ้านบางหลังมีพื้นที่เพียง 15 ตร.ม แต่อาศัยอยู่รวมกัน 5-6 ชีวิต หลายคนตกงาน ไม่มีเงิน ถูกไล่ออกจากบ้าน มีผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ ไม่สามารถเข้าถึงยารักษาโรคได้ การช่วยเหลือผู้คนก็ทำให้หลวงพี่พร้อมพงษ์เห็นสัจธรรมของโลกได้ชัดเจนมากขึ้นเช่นกัน
แม้หลายคนจะมองว่าโครงการพระไม่ทิ้งโยมเป็นการทำงานที่เกินบทบาทของศาสนา หน้าที่ทั้งหมดควรเป็นหน้าที่ของสาธารณสุข รวมถึงมีการตั้งคำถามด้วยว่าหลายอย่างที่พระสงฆ์ทำเพื่อช่วยเหลือชุมชนนั้นอาจขัดกับหลักปฏิบัติของสงฆ์ในบางข้อ เช่น การทำอาหาร แต่หลวงพี่พร้อมพงษ์มองว่าศาสนาพุทธมีการปรับเปลี่ยนได้หากเป็นข้ออาบัติเล็กๆ เพื่อช่วยเหลือผู้คน และส่วนการทำงานด้านสาธารณสุขในเวลานี้คิดว่าการช่วยเหลือเพื่อมนุษยชนเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า และมองว่าวัดสามารถเข้ามาช่วยตรงนี้ได้ เป็นการทำงานที่ไม่ได้กระทบกับใคร
“เราเป็นพระเราเป็นที่พึ่งอยู่แล้ว อยากให้เขารู้สึกอิ่มใจ รู้สึกว่ายังมีพระที่ยังไม่ทิ้งโยม เพราะว่าโยมไม่เคยทิ้งพระ เหมือนกันในสถานการณ์ปกติ พระสงฆ์ได้รับความอุปถัมภ์จากญาติโยม ในเวลานี้พระสงฆ์ก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลผู้ป่วย”
โครงการพระไม่ทิ้งโยมไม่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 เพียงอย่างเดียวเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือบทบาทของวัดและศาสนาในสายตาคนรุ่นใหม่ จากสังคมสมัยใหม่ที่ห่างไกลศาสนาการเห็นพระสงฆ์สวมชุด PPE ทับจีวรเพื่อช่วยเหลือชุมชนทำให้ภาพศาสนาในใจบางคนเปลี่ยนแปลง จากศาสนาที่เคยเป็นที่พึ่งเฉพาะทางใจเป็นที่พึ่งพาที่สำคัญสำหรับชีวิตในภาวะวิกฤต
จากโครงการที่วัดสุทธิวรารามเป็นแรงบันดาลใจให้วัดในพื้นที่อื่นๆ เริ่มต้นช่วยเหลือคนในชุมชนรอบๆ โดยใช้โครงการพระไม่ทิ้งโยมเป็นต้นแบบ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานและคนในพื้นที่ แต่เชื่อว่าคงไม่มีใครที่หวังว่าจะเห็นภาพพระสงฆ์ต้องทิ้งภารกิจทางศาสนามาเพื่อช่วยเหลือด้านสาธารณสุขตลอดไป หน้าที่ด้านสาธารณสุขและพิธีทางศาสนาร่วมกันสร้างความเหนื่อยล้าให้กับวัดและอาสาสมัคร รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อมากขึ้นทุกวัน การตรวจหาเชื้อ รักษาพยาบาล และประสานงานไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่เป็นภาระดั้งเดิมของวัด ทุกคนก็คาดหวังว่าภารกิจเหล่านี้ของพระสงฆ์จะจบลงโดยเร็วเมื่อสถานการณ์การระบาดดีขึ้น
“มีคนถามว่า หลวงพี่ไม่กลัวตายเหรอ หลวงพี่ก็บอกว่า อ้าวก็ทุกคนกลัวตาย หลวงพี่ก็กลัวตายเหมือนกัน หลวงพี่ก็ได้ Sinovac 2 เข็มแล้วนะ เหมือนกับทั่วไปเนี่ยแหล่ะ… แต่หลวงพี่สามารถก้าวข้ามความกลัวไปได้เพราะเรามีจิตที่อยากจะช่วยเหลือคน”
*หมายเหตุ*
- ผู้ที่อยากบริจาคอุปกรณ์การแพทย์เพื่อสนับสนุนโครงการพระไม่ทิ้งโยม สามารถบริจาคได้ที่ ศูนย์พักคอยวัดสุทธิวราราม ศาลา 1 หรือส่งมาที่ วัดสุทธิวราราม เลขที่ 222 ถนนเจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพฯ