คุยกับ มีมี่-สรรประภา วุฒิวร ศิลปินนักทำหนังสือเด็กเจ้าของผลงาน ‘เจ้าถ่านกับการให้ไม่รู้จบ’ นิทานภาพที่ทำให้แม้แต่ผู้ใหญ่ก็หัวใจพองโต
ก่อนจะเข้าสู่บทสนทนา ขอเริ่มต้นก่อนว่าเราได้เห็นโพสต์ที่ ‘มีมี่-สรรประภา วุฒิวร’ เล่าถึงฟีดแบ็กจากคุณแม่ของแฟนนักอ่านตัวน้อยของเธอ ลงในเพจ sanpraphav
โดยคุณแม่ได้เข้ามาเล่าถึงความประทับใจที่ลูกชอบหนังสือนิทาน ‘เจ้าถ่านกับการให้ไม่รู้จบ’ มาก อ่านจนปกหนังสือหลุดออกมาจากเล่ม
จากโพสต์นั้น บวกกับตัวเราเองเริ่มมีความสนใจในหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็กอยู่บ้างแล้ว เลยไปหาซื้อหนังสือเล่มนี้มาด้วยความอยากรู้ว่าเด็กคนนั้นชอบอะไรในหนังสือเล่มนี้กันแน่
ปรากฏว่า โดนตกเข้าเต็มๆ หนังสือเล่มนี้มันฮีลใจอย่างบอกไม่ถูก ซึ่งอาจไม่ใช่ความประทับใจเดียวกันกับเด็กๆ ที่ได้อ่านก็ได้ แต่ด้วยการเล่าถึงการแบ่งปัน การเติมพลังใจในเส้นเรื่องที่เรียบง่าย ด้วยเทคนิคการใช้สีสันประกอบกับลายเส้นที่แสดงความน่ารักของน้องแมวแต่ละตัวออกมานั้น คงตกทาสแมวได้ไม่ยาก
หลังอ่านจบก็พลันทำให้คิดว่า ในบางครั้งคนโตๆ อย่างพวกเรา อาจต้องการเวลาพักจากชีวิตรสขมของผู้ใหญ่ แล้วเปิดประตูให้ความซุกซนของเด็กตัวน้อยที่อยู่ข้างในได้ออกมาโลดแล่น ผ่านเรื่องราวที่ประกอบด้วยสีสันแห่งศิลปะ และจินตนาการที่ไม่รู้จบดูบ้าง
จึงทำให้เราได้มีโอกาสสนทนากับมีมี่ในฐานะศิลปินนักทำหนังสือเด็ก ที่เคยเลือกเรียนไม่ตรงสาย คิดว่าเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์แล้วจะได้ออกแบบเกม แต่มารู้ตอนเข้าเรียนจริงๆ ว่าไม่ใช่อย่างที่คิดไว้เลย
เธอแอบหัวเราะตอนเล่าถึงความหลัง ก่อนที่เราจะเริ่มสนทนากัน
ความสนใจในหนังสือภาพสำหรับเด็กเกิดขึ้นตอนไหน
เราชอบวาดรูปมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ ปกติก็ชอบดูพวกรูปวาดอยู่แล้วค่ะ แล้วระหว่างที่ทำงานไปหลายปีก็มีโอกาสได้ไปเดินร้านหนังสือแล้วก็เจอหนังสือเด็ก พอได้หยิบขึ้นมาอ่านแล้วรู้สึกว่า อุ๊ย! มันสบายใจจังเลย เหมือนได้ฮีลใจ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นอ่านการ์ตูนมาตลอด แต่กลายเป็นว่าพอมาเจองานภาพประกอบแบบนี้ก็รู้สึกว่า อยากที่จะทำให้ได้บ้างจัง จุดนี้เลยน่าจะเป็นจุดเริ่มต้น
จู่ๆ ก็ได้ค้นพบตัวตนที่หายไป หลังจากนั้น คุณเข้าสู่วงการหนังสือเด็กด้วยวิธีไหน
ตอนแรกสุดก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มจากไหน แต่พอดีพี่ที่ทำงานด้วยกันเขาเจอว่ามีนักวาดที่ทำงานภาพประกอบ ให้ลองไปขอฝึกงานกับพี่เขาดูสิ เราเลยไปลองหาคนทำงานสายนิทานเด็กเผื่อขอลองฝึกงานดู แต่สุดท้ายก็ได้รู้จักกับพี่บอมบ์ (กฤษณะ กาญจนาภา) และพี่อ้อย (วชิราวรรณ ทับเสือ)
ตอนแรกก็ทักไปว่ารับฝึกงานไหม ซึ่งเขาก็น่าจะแปลกใจเพราะว่าปกติไม่ได้รับฝึกงาน เนื่องจากการทำนิทานค่อนข้างที่จะต้องประสานงานกับบรรณาธิการเป็นหลัก แล้วพี่ๆ เขาก็ไม่ได้มีสตูดิโอการ์ตูนหรือแอนิเมชันจริงจัง ก็เลยไม่ได้มีการรับฝึกงาน
แต่เราก็ได้คำปรึกษาในการเริ่มต้นทำนิทานมาเยอะมากเลยค่ะ อย่างเช่น เวลาที่จะทำนิทานสักเรื่อง ต้องเริ่มจากคิดเรื่อง แล้วขึ้นสตอรีบอร์ด หลังจากนั้นทำ dummy book แล้วก็ลองอ่านออกเสียงจริงๆ ว่าเวลาคนซื้อไปอ่านให้เด็กๆ ฟังแล้วจะเข้าปากไหม
จึงเป็นจุดเริ่มต้นลงมือทำจริงจังแล้วลองส่งเข้าประกวดดู 2 เรื่อง เรื่องแรกไม่ผ่าน แต่เรื่องที่สองคือ ‘เจ้าถ่านกับการให้ไม่รู้จบ’ ที่ได้รับรางวัลแว่นแก้วรองชนะเลิศอันดับ 1 ครั้งที่ 13 หลังจากนั้นก็เลยตัดสินใจไปเรียนต่อที่ Children’s Book Illustration ที่ Cambridge School of Art (Anglia Ruskin University) ประเทศอังกฤษ
ช่วยรีวิวช่วงเรียนให้ฟังหน่อยได้ไหมว่ามีการเรียนการสอนอะไรบ้าง
ช่วงแรกจะเป็นการฝึกวาดภาพอย่างเดียวเลย เขาจะไม่ได้มาสอนทฤษฎีการวาดตั้งแต่เริ่มหรอกว่าต้องวาดเส้นอย่างไร แต่จะมีเป็นคลาสกิจกรรมให้ฝึกหัดวาดในหัวข้อและรูปแบบต่างๆ มากกว่า
ซึ่งเราสามารถเลือกได้ว่าอยากฝึกแบบไหน ฝึกด้วยเทคนิคหรืออุปกรณ์อะไร เช่นบางคนก็เอากระดาษฉีกแปะให้เหมือนกับโมเดลที่มาเป็นแบบให้ในคลาสเลย แต่ก็มีโจทย์ที่สั่งให้นักเรียนทำเหมือนกัน คือให้เลือกหัวข้อที่อยากวาด สมมติคนนี้เลือกว่าจะวาดแต่คนแก่เท่านั้น หรือคนนี้อยากวาดประตูเท่านั้น ให้เราเลือกสิ่งที่สนใจแล้วก็วาด โดยตอนแรกจะเป็นขาวดําไปก่อน แล้วหลังจากนั้นถึงจะเริ่มขึ้นภาพสี
นอกจากวิชาศิลปะแล้ว ต้องเรียนอย่างอื่นด้วยไหม อย่างจิตวิทยาเด็กหรือคลาสที่เราต้องทำกิจกรรมกับเด็กๆ
เลือกเรียนตอนแรกก็เข้าใจว่าน่าจะมี ก่อนสมัครเรียนมีลองถามอาจารย์ดู เขาก็บอกไม่มี แต่สุดท้ายก็ยังตัดสินใจไปเรียนอยู่ดี (หัวเราะ) ส่วนใหญ่ก็จะมีคลาสเลกเชอร์ในแง่ของเทคนิคการเล่าเรื่อง การวาดฉาก การขึ้นปก การสร้างแรงบันดาลใจต่างๆ ให้เข้ากับเรื่องที่อยากเล่า เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับความตาย สงคราม ผู้อพยพ ว่าเราควรเล่าในแง่ไหนดี นอกจากนี้ยังมีการเชิญ ศิษย์เก่าที่ได้ตีพิมพ์มาแชร์ประสบการณ์ด้วยค่ะ
แต่อย่างน้อยตัวนัดวาดเองก็ต้องมีคอมมอนเซนส์ว่าอะไรโอเคกับเด็กหรือไม่โอเค ถ้าเกิดมีหัวข้อที่ค่อนข้างเล่ายาก เช่น มีนิทานหัวข้อความรุนแรงในครอบครัว คุณจะเล่าแบบไหนให้โอเคสําหรับเด็กที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วก็ได้อะไรบางอย่างจากหนังสือเล่มนี้ไป
โดยที่ในระหว่างเข้าคลาสก็สามารถแลกเปลี่ยนกับอาจารย์และเพื่อนๆ ได้ ส่วนตัวเราเองก็ได้ฝึกสังเกตงานและให้ฟีดแบคคนอื่น ทำให้ได้เห็นงานคนอื่นไปในตัวด้วย แล้วตรงไหนที่เราหลุดไปแล้วสามารถทำให้ดีขึ้นได้ อาจารย์กับเพื่อนก็จะช่วยให้คำแนะนำ
มีเพื่อนบางคนชอบดูนกเป็นงานอดิเรก เลยทําหนังสือภาพเหมือนสารคดี หรือบางคนที่ชอบแนวการเมือง เขาจะเล่าการเมืองอย่างไรโดยที่ไม่ได้ตัดสินว่าหนังสือเล่มนี้อยู่ฝ่ายไหน แต่เล่าอย่างเป็นกลางแล้วให้เด็กสามารถเป็นคนตัดสินใจเอง
แต่ก็ไม่จําเป็นที่ทุกคนจะต้องทําหัวข้อยาก อาจารย์เขาจะเน้นให้ทําหัวข้อที่แต่ละคนชอบมากกว่า คือพอเป็นหัวข้อที่เราสนใจ หรือรู้สึกว่าใกล้หัวใจเรามากๆ ก็อาจจะเล่าออกไปได้ดีกว่าเรื่องที่อยู่ไกลตัว ประมาณนั้นค่ะ
เท่าที่ฟังมา ดูเหมือนว่าหนังสือเด็กในต่างประเทศจะมีเนื้อหาที่หลากหลายมาก ทั้งปรัชญาชีวิต การเมือง ความตาย หรือแนวสารคดี ในขณะที่เด็กไทยเราโตมากับบันทึกการอ่าน ที่อ่านแล้วต้องได้ ‘ข้อคิด’ ตลอดเวลาเลย มักจะหนีไม่พ้นคำว่า ‘นิทานคุณธรรม’ คุณมองคำนี้อย่างไร
ถามว่าจำเป็นไหมที่ต้องมีข้อคิดทุกเรื่อง จริงๆ เราว่าบางทีไม่ต้องได้อะไรก็ยังได้ แค่สนุกก็โอเคแล้ว หรือบางทีก็ไม่จำเป็นต้องฮีลใจเสมอไปด้วยซ้ำ แล้วแต่คนเขียนว่าเขาอยากสื่อสารสิ่งไหนออกไป แต่ส่วนที่ยากคือเล่าอย่างไรให้มีชั้นเชิงแล้วสนุก ส่วนตัวคิดว่าน่าจะขึ้นอยู่กับรสนิยมของคนอ่านแต่ละประเทศ หรือค่านิยมบางอย่างว่าเขาเปิดกว้างขนาดไหน
เราเคยเห็นงานของเพื่อนชื่อหนังสือว่า ‘It Isn’t ROUTE to be NUDE’ เป็นหนังสือภาพที่กำลังบอกเด็กๆ ว่า ทุกคนมีร่างกายที่หลากหลายแบบแตกต่างกันไป ดังนั้น อยากให้คนที่อ่านเล่มนี้เห็นว่าร่างกายที่ต่าง ก็ยอดเยี่ยมในแบบของตัวเองค่ะ
แต่หลังๆ มานี้เมืองไทยก็เริ่มมีหนังสือที่มีหัวข้อกว้างขึ้นเหมือนกัน เพราะมีการนำหนังสือต่างประเทศที่มีหัวข้อหลากหลายเข้ามาแปล สำหรับเราคิดว่าหลังจากนี้ก็น่าจะมีทิศทางที่หลากหลายมากขึ้น
ช่วยนิยามคำว่า ‘คุณธรรม’ ในแบบของคุณให้ฟังหน่อยได้ไหม
ถ้าให้นิยามตอนนี้น่าจะเป็นการที่เราสามารถพิจารณาได้ว่าสิ่งไหนควรหรือไม่ควรทำ เราให้เกียรติคนอื่นไหม ซื่อตรงกับตัวเองไหม ทำให้ใครๆ หรือตัวเองเดือดร้อนหรือเปล่า
แต่ที่จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องมีนิยามคุณธรรมที่เหมือนกันก็ได้ ถ้าการมีคุณธรรมหมายถึงการเป็นคนดี อย่างนั้นก็อยากชวนมาลองคิดกันเพิ่ม ว่าแล้วการเป็นคนดีน่าจะเป็นอย่างไร
นิยามแต่ละคนก็อาจไม่เหมือนกันก็ได้ และการเป็นคนดี การมีคุณธรรมก็อาจไม่ใช่หนทางเดียว สังคมแบบไหนที่เราอยากให้เด็กๆ ได้โตขึ้นไปใช้ชีวิตอยู่ เราทำอะไรได้อีกบ้างเพื่อให้สังคมได้สนับสนุนการเติบโตของเด็กๆ มากขึ้น
อย่างบางคนก็อาจจะเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าคนอื่นอาจจะไม่คิดแบบนั้นก็ได้ เพราะคนทั่วไปก็ไม่ได้ดีหรือชั่วไปเลย เรามีทั้งสองด้านปะปนกันไป แต่อย่างบางเรื่องที่เล่าว่าคนนี้คือคนดีเลย คนนี้คือคนไม่ดีอย่างเดียวไปเลย ก็อาจมีจุดประสงค์เพื่อให้เข้าใจง่ายเฉยๆ
คิดว่าการทำหนังสือสำหรับเด็กยากกว่าการทำหนังสือทั่วไปหรือเปล่า เพราะต้องคำนึงถึงหลายๆ เรื่อง
คิดว่าแต่ละอย่างมันก็คงมีความยากในแบบของมัน แต่ถ้าเป็นหนังสือเด็กก็อาจจะยากในแง่ที่ว่าเราจะเล่าเรื่องอย่างไรให้เด็กเข้าใจ ถ้าเราเล่าเรื่องยากเล่าแบบไหนให้เขาไม่รู้สึกกลัว
ช่วงเรียนอยู่อาจารย์จะมีตัวอย่างหนังสือมาให้ดู เป็นหนังสือของศิษย์เก่าที่จบไปแล้วบ้าง หนังสือที่เป็นปรัชญาก็มี เราไม่เคยนึกมาก่อนเหมือนกันว่าจะมีหนังสือเด็กที่เป็นเล่มปรัชญาด้วย เปิดมาหน้าแรกก็จะมีเด็กยืนอยู่แล้วก็ถามว่า “ทำไมเราทุกคนถึงต้องตาย”
ทำไมคุณยายที่เข้าโรงพยาบาลถึงตาย เคยมีรูปถ่ายคุณยาย คุณยายก็ยังอยู่ในรูปถ่ายแต่ว่าตัวจริงไม่อยู่แล้ว เป็นแนวตั้งคำถามชวนให้คิดแล้วก็จะยกโควทนักปรัชญาที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นมาอธิบาย
หรือในแถบสแกนดิเนเวียเปิดกว้างประเด็นต่างๆ มาก มีหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการหย่าร้าง เท่าที่เคยฟังมานักวาดเองมองว่าเป็นความรับผิดชอบของเขา ที่อาจจะต้องเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ให้เด็กๆ ฟัง
แม้ว่าครอบครัวของเด็กไม่ได้มีการหย่าร้างเกิดขึ้น แต่อาจจะมีเพื่อนที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ก็ได้ เด็กจะได้เข้าใจเพื่อนๆ มากขึ้นก็ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมแต่ละประเทศด้วยว่าเขาอยากจะบอกอะไรกับเด็กๆ
มีคลาสหนึ่ง อาจารย์ให้ถกกันเรื่องหนังสือ ‘The Red Tree’ ของ ฌอน ตัน (Shaun Tan) ค่ะ ว่าถ้าผู้ใหญ่อย่างเราอ่านก็จะรู้ว่าตัวละครนี้น่าจะมีภาวะซึมเศร้า ความกังวล หรือความเครียดบางอย่างอยู่ แล้วอาจารย์ถามทุกคนในห้องว่า หนังสือเล่มนี้เหมาะกับเด็กหรือเปล่า ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะตอบว่าไม่น่าจะเหมาะ
แต่มีเพื่อนร่วมคลาสคนหนึ่งที่เคยเป็นครูมาก่อน เขาเคยใช้หนังสือเล่มนี้ในชั้นเรียน แต่ต้องมีวิธีใช้หรืออธิบายให้นักเรียนฟังอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้เด็กๆ กลัวจนเกินไป และได้เรียนรู้บางอย่างจากหนังสือเล่มนี้เพิ่มขึ้นนะ
นอกจากเป็นนักวาดภาพประกอบ ยังเป็นครูสอนศิลปะที่ Musical Theatre for KIDS Bangkok ด้วย แต่ในฐานะนักวาด การได้ใกล้ชิดกับเด็กๆ ทำให้ได้เรียนรู้เด็กๆ อย่างไรบ้าง
มุมมองเรากว้างขึ้น เพราะว่าทำหนังสือเด็กอย่างเดียวโดยที่บางทีเราไม่ได้เจอเด็กๆ เลย ก็อาจจะพลาดในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ว่า เด็กจริงๆ มีการตอบสนองแบบนี้นะ หรือจะไม่ได้พูดแบบนี้หรอก
อย่างเราถามเด็กว่าดอกไม้นี้มันเป็นดอกไม้วิเศษหรือเปล่า บางคนเขาตอบว่า “ไม่ค่ะ” มันมีพลังวิเศษอะไรไหม “ไม่อะ” บางทีเราก็จะได้รีแอ็กชันที่ไม่คาดคิด (หัวเราะ) แถมเด็กๆ แต่ละคนคำตอบก็ไม่เหมือนกันด้วย ทำให้สนุกมากที่ได้ฟังคำตอบ และเรื่องราวที่ต่างกันไป
พอเจอปฏิกิริยาหลายๆ แบบจากการทำงานกับเด็กเยอะขึ้น จะได้เห็นว่าเวลาที่เขาทำงานเขาอาจจะทำท่าทางแบบนี้มากกว่า หรือว่าอย่างเขาจะดมดอกไม้ ดอกไม้มันเตี้ยเขาดมไม่ถึง เขาอาจจะก้มลงไปดม หรืออาจจะมีท่าที่เราไม่คิดว่าเขาจะทำ
หรือสมมติเราจะวาดฉากห้องนอน มันจะไม่ใช่ห้องสี่เหลี่ยมที่มีตู้ มีเตียงแล้วจบ เพราะว่าห้องที่มีคนอยู่จริงๆ จะมีร่องรอยของการใช้ชีวิตอยู่มากกว่าแค่เตียงกับตู้ ถ้าเกิดไปใส่ในนิทานก็จะสมจริงขึ้น
ไม่นานมานี้เห็นว่าได้รับฟีดแบ็กของแฟนนักอ่านตัวน้อย จากคุณแม่ท่านหนึ่งด้วย
เวลาทำหนังสือเด็กปกติก็จะไม่ค่อยได้รับฟีดแบ็กเท่าไหร่ เพราะคนอ่านเป็นเด็กเขาก็คงไม่ได้ติดต่อเรา ไม่ค่อยได้เจอ บางทีก็สงสัยว่าเด็กเขาชอบหรือเปล่านะ แต่พอคุณแม่ท่านนี้เขามาฟีดแบ็กให้ฟัง เราดีใจมากเลยว่ามีเด็กที่ชอบอ่านขนาดที่ปกหลุดออกมาเลย มันชื่นใจมากๆ (ยิ้ม)
คิดว่าสิ่งที่วงการหนังสือเด็กของไทยยังสามารถเพิ่มเติมได้อีกมีอะไรบ้าง
เพื่อนเคยเล่าว่าที่ต่างประเทศสํานักพิมพ์เขาทํางานกันเป็นทีมเลย อย่างถ้าจะทำหนังสือเด็กที่เกี่ยวกับประเด็นอะไรสักอย่าง เขาจะวางแผนและมีทีมรีเสิร์ช ทีมที่หานักวาดนักเขียน แต่ว่าที่ไทยอาจจะยังไม่ได้มีทีมใหญ่พอเพื่อทำงานในระบบแบบนี้ หรืออาจมีแต่ยังน้อยอยู่
แล้วก็มีบางประเทศที่ถ้าหนังสือเราไปอยู่ในห้องสมุดแล้วมีคนยืมไป นักเขียนและนักวาดที่ทำหนังสือเล่มนั้นจะได้รับส่วนแบ่งด้วย
หรือที่ฟินแลนด์มีเขียนขอทุนจากรัฐบาลได้ค่ะ คือเขาจะมีงบมาให้เลยว่ามีทุนสำหรับสายศิลปะนะ แล้วสามารถเขียนขอทุนได้ ซึ่งจะทํานิทานก็ได้ คอมมิก (comic) ก็ได้ หรือในรูปแบบไหนก็ได้
เมื่อผ่านก็ทําจนสําเร็จแล้วรายงานผลกลับไปให้รัฐบาลด้วย ซึ่งก็ทําให้สามารถสร้างงานที่ศิลปินอยากสร้างได้ แล้วก็ยังมีรายได้สนับสนุนด้วย
ถ้าแนวทางนี้มีในเมืองไทยก็น่าจะดีเหมือนกัน อยากให้เมืองไทยมีการสนับสนุนอะไรแบบนี้มากขึ้น
แต่อีกประเด็นหนึ่งที่อาจเป็นช่องโหว่เล็กๆ สำหรับเด็กรุ่นต่อจากนี้ คือพวกเขามีช่องทางเสพสื่อเยอะมาก บางคนอยู่หน้าจอโทรศัพท์มากกว่าจับหนังสือ อยากรู้ในมุมของคนทำหนังสือเด็กว่าเราทำอะไรได้บ้างไหม
เทคโนโลยีก็ห้ามยากเหมือนกันเนาะ เด็กๆ สมัยนี้มีตัวเลือกในการเสพสื่อต่างๆ เยอะขึ้น ได้เข้าถึงเทคโนโลยีเร็วขึ้นเมื่อเทียบกับรุ่นเรา แต่เราคิดว่าจะไปห้ามเลยก็คงไม่ได้
ยกเว้นเด็กเล็กที่ยังไม่ควรใช้หน้าจอนะคะเพราะจะมีผลกับพัฒนาการนะคะ อันนี้จำเป็นต้องห้ามค่ะ
แต่สิ่งที่คิดว่าสำคัญมากกว่าการห้ามคือ การรู้จักใช้เทคโนโลยีให้ปลอดภัย ใช้ในทางที่ถูก และรู้จักควบคุมเวลาในการใช้
ในฐานะคนทำหนังสือเด็ก เราคงไปห้ามรายคนไม่ได้ คิดว่าทำได้ก็คือทำหนังสือให้สนุก ให้เจ๋ง ให้เด็กๆ สนใจค่ะ
แต่ถ้าขยายขึ้นไปมากกว่านั้นในระดับสังคม สำหรับเราคิดว่าน่าจะดีถ้าเราสามารถมีทรัพยากรสมุด หนังสือ หนังสือนิทานที่เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น อย่างถ้ามีห้องสมุดใกล้บ้านที่ให้ยืมหนังสือได้
ทั้งในแง่ของครอบครัวที่ไม่ได้มีทุนทรัพย์เยอะก็สามารถเข้าถึงได้ด้วย โดยที่เด็กเขาอาจจะไม่ต้องรอการบริจาคอย่างเดียว หรือค่าแรงผู้ปกครองทั่วไปสามารถซื้อหาให้เด็กได้อย่างไม่ลำบากนัก เพราะค่าครองชีพในปัจจุบันก็สูงขึ้นเกินกว่าที่รายได้ของผู้ปกครองหลายบ้านจะรับไหว ถ้ามีการสนับสนุนจากหลายด้านก็คงจะดีค่ะ
อีกมุมหนึ่ง คิดว่าการมีอยู่ของหนังสือและเทคโนโลยีก็จะมีควบคู่กันไป แตกต่างกันที่ความรู้สึกในตอนอ่าน การที่เด็กๆ ได้สัมผัสนิทานด้วยมือตัวเอง การมีคนอ่านให้ฟัง หรือได้อ่านด้วยความเร็วที่ตัวเองพอใจก็เป็นคนละความรู้สึกกับการอ่านบนหน้าจอเหมือนกันค่ะ ถ้าอยากให้เด็กๆ สนใจหนังสือมากขึ้น ก็อยากให้เริ่มส่งเสริมให้เด็กๆ ได้ซึบซับกับหนังสือตั้งแต่เล็กเลยค่ะ
แล้วสำหรับคุณ หัวใจของการทำหนังสือเด็กควรประกอบด้วยอะไรบ้าง
หัวใจสำคัญก็น่าจะเป็นเรื่องเล่าเรื่องที่ใกล้หัวใจตัวเอง ให้ความเคารพกับทั้งผู้อ่านกับทั้งตัวเองด้วย แล้วก็อาจจะลองเล่าในมุมมองที่มันเป็นกลางหน่อย เพื่อให้เด็กมีช่องในการคิดบ้าง พวกเขาเองก็มีสิทธิ์ดูและสิทธิ์ตัดสินใจ ไม่ใช่ว่าจะสอนอย่างเดียว เพราะบางทีสอนอย่างเดียวมันก็น่าเบื่ออะเนอะ มาบอกว่าควรจะทำอย่างงี้ๆ เท่านั้นนะ ก็อาจจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่
ตั้งแต่ค้นหาตัวเองจนล่าฝันมาได้ถึงจุดนี้ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเองด้านใดบ้าง
นอกจากความรู้ที่ได้ ก็น่าจะเป็นเรื่องการจัดการงานต่างๆ แล้วในระหว่างการทำงานแต่ละชิ้นบางทีก็เข้าใจตัวเองมากขึ้นเหมือนกัน หรือว่าบางทีพอเราทํางานไปเรื่อยๆ หลายชิ้น ก็อาจจะเริ่มเห็นแนวของตัวเองชัดขึ้นเหมือนกัน ว่าตัวเองน่าจะชอบวาดหรือเล่าเรื่องประมาณนี้นะ
อยากฝากอะไรถึงศิลปินนักทำหนังสือเด็กหน้าใหม่บ้างไหม
อันดับแรกก็อยากให้ลองทำดูเลย อย่าเพิ่งคิดว่าเราทำไม่ได้หรอก ลองทำออกมาก่อนมันอาจจะเวิร์กก็ได้ หรือถ้าเกิดมันไม่เวิร์กแต่อย่างน้อยเราได้ลองทำดูแล้ว เพราะการที่ได้ลองทำมันได้เห็นขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบ เราจะได้รู้ว่ายังสนุกกับการทำไหม มีขั้นตอนไหนบางขั้นตอนที่เราไม่ชอบ หรือโดยรวมแฮปปี้หรือเปล่า
อย่างเราทำนิทานเราก็แฮปปี้ในแง่ของการได้เล่าเรื่องที่อยากเล่า หรือการได้คิดคำ คิดรูป วางองค์ประกอบว่าเล่าแบบนี้ดีไหม แล้วรอดูว่าการที่ได้เล่าเรื่องที่ตัวเองชอบออกไปแล้วจะมีคนสนใจ หรือชอบเหมือนกันบ้างหรือเปล่า ถ้ามีก็ดีใจมากๆ เลยค่ะ (ยิ้ม)
สำหรับศิลปินสาวผู้ชื่นชอบการถ่ายทอดเรื่องราวใกล้หัวใจผ่านภาพประกอบที่พร้อมฮีลใจคนอ่านได้ทุกเมื่อ
ก่อนจากกันไปมีมี่ได้แอบกระซิบกับเราว่า หนึ่งในผลงานที่เคยทำเป็นโปรเจ็กต์จบปริญญาโทกำลังจะได้ตีพิมพ์ฉบับภาษาไทยเป็นครั้งแรก
อยากให้แฟนนักอ่านทุกคนได้รอติดตามกัน เชื่อว่าทุกคนจะได้รับความนุ่มฟูจนหัวใจพองโตกันอีกครั้ง