“สื่อก็ยังจำเป็นอยู่ แต่ถ้าเรายังทำงานแบบเดิมๆ แบบที่โดนด่า ความจำเป็นของมันก็จะน้อยลงเรื่อยๆ” คุยกับ ‘พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์’ สื่อมวลชนผู้ลุกขึ้นมา ‘ฟ้องรัฐ’
หลายคนอาจไม่คุ้นหน้าคุ้นตา ‘พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์’ เพราะเขาไม่ใช่สื่อมวลชนที่ปรากฏตัวตามหน้าจอ แต่สำหรับผู้คนในแวดวงข่าว เขาคือนักข่าวที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 15 ปีและเคยทำงานให้กับสื่อหลายสำนัก ไม่ว่าจะเป็น ThaiPublica, มติชน, ศูนย์ข่าวอิศรา, BBC Thai ก่อนจะเป็นบรรณาธิการข่าวของสื่อออนไลน์รุ่นใหม่อย่าง The Matter จนมาถึงตำแหน่งล่าสุดคือ บรรณาธิการบริหาร Nation Online ที่กำลังปรับภาพลักษณ์องค์กรใหม่
นอกจากนี้เขายังเป็นคน Gen Y ที่คอยเชื่อมต่อระหว่างสื่อมวลชน ‘รุ่นเก่า’ กับ ‘รุ่นใหม่’ อีกด้วย ในฐานะผู้ร่วมขับเคลื่อน ‘ค่ายพิราบน้อย’ ซึ่งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดขึ้นต่อเนื่องนับสิบปี เพื่อฝึกอบรมนิสิตนักศึกษาด้านสื่อสารมวลชน และคนที่เข้าร่วมโครงการนี้หลายๆ คนก็ผันตัวมาเป็นนักข่าวจนถึงปัจจุบัน
แต่สิ่งที่ทำให้ชื่อของ ‘พงศ์พิพัฒน์’ ถูกพูดถึงมากขึ้นตามหน้าสื่อต่างๆ เริ่มขึ้นหลังจากที่เขาใช้กระบวนการทางกฎหมาย ‘ฟ้องรัฐ’ มาแล้วหลายคดี ตั้งแต่การขอให้กองทัพเปิดเผยข้อมูลเงินบริจาคในโครงการ ‘อุทยานราชภักดิ์’ รวมถึงการเรียกร้องให้ ปปช. เปิดรายงานการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งหนึ่งในนั้น รวม ‘นาฬิกายืมเพื่อน’ อันโด่งดังและกลายเป็นมหากาพย์ เพราะข้อมูลที่เขาได้รับจากเจ้าหน้าที่รัฐราวครึ่งหนึ่งเป็นเพียง ‘กระดาษเปล่า’ ทำให้เขาต้องยื่นเรื่องใหม่และคดีนี้ก็ยืดเยื้อมานานกว่า 4 ปี จนกระทั่งถึงปลายปี 2566 ศาลปกครองสูงสุดได้ชี้ขาดว่า ปปช. จะต้องเปิดเผยข้อมูลให้แก่ผู้ร้องขอ ถ้าไม่ทำตามจะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
ส่วน 2 คดีล่าสุด เขาเป็น ‘ผู้ประสานงาน’ ให้กับนักข่าวภาคสนามที่บาดเจ็บจากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเขาขอเรียกแบบสั้นๆ ว่า ‘คดีกระสุนยาง’ กับ ‘คดีกระทืบนักข่าวที่ไปทำข่าวการประชุม APEC ปี 2565’ โดยคดีหนึ่งอยู่ระหว่างการไต่สวนและอีกคดียังรอเอกสารแจ้งจากศาลว่าจะรับคดีไว้พิจารณาหรือไม่ ซึ่งน่าสนใจว่า การที่สื่อลุกขึ้นมาฟ้องรัฐจะส่งผลอย่างไรต่อประชาชน โดยเฉพาะในวันที่สังคมส่วนหนึ่งก็ตั้งคำถามเช่นกันว่า ‘สื่อมวลชนมีไว้ทำไม’
ถ้าบอกว่าคุณคือสื่อรุ่นใหม่ที่ ‘ฟ้องรัฐ’ มากที่สุดจะตรงกับความเป็นจริงไหม
ตอบยากครับ ผมก็ไม่รู้ว่ามีคนอื่นที่ฟ้องเยอะกว่านี้ไหม แต่ผมจะวางเส้นว่าสิ่งที่ฟ้อง ไม่ได้ฟ้องเพื่อเอาผิดใครคนใดคนหนึ่ง ถ้าดูดีๆ ที่ฟ้องศาลปกครอง 2 คดีแรกคือขอให้เปิดข้อมูล กับอีก 2 คดีฟ้องศาลแพ่ง ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐทำงานตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น ไม่ได้ฟ้องเพื่อเอาผิดใคร ไม่ได้ฟ้องให้ใครติดคุก เพราะผมรู้สึกว่าถ้าเป็นแบบนั้นความผิดมันจะจบแค่คนคนเดียว มันไม่นำไปสู่การเปลี่ยนระบบ ไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงซึ่งมันยั่งยืนกว่า
คดีที่ฟ้องไปแล้วมีอะไรบ้าง
ผมฟ้องไป 4 คดี อันแรกที่ฟ้องศาลปกครอง คือ คดีอุทยานราชภักดิ์ นานแล้วเหมือนกัน แต่คนก็อาจจะอ๋อว่ามันมีคดีนี้อยู่นะ คดีจบเพราะผมขี้เกียจอุทธรณ์ต่อ มันก็เลยจบที่ศาลปกครองกลาง ซึ่งอันนี้ผมแพ้นะครับ กองทัพบกไม่ต้องเปิดเผยข้อมูล (คำวินิจฉัย) น่าจะเป็นว่า ‘ทำตามระเบียบแล้ว’ ในการเอาเงินบริจาคมาสร้างอุทยานนั้น ผมขี้เกียจอุทธรณ์เพราะว่ามันต้องทำเอกสารเยอะมาก และผมรู้สึกว่าคนไม่ได้สนใจเท่าไหร่แล้ว แต่คนส่วนใหญ่ก็จำไปแล้วว่าอันนี้คือเงินที่ใช้ไม่ถูกต้อง เป็นโครงการที่ทำขึ้นมาทำไมไม่รู้
อันที่ 2 ฟ้องศาลปกครองกลางเหมือนกัน คือ ‘คดีนาฬิกายืมเพื่อน’ จนป่านนี้ที่คุยกันก็ยังไม่มีการเปิดเผยอยู่ดี ทั้งที่จริงๆ โดยกระบวนการของศาลถือว่าคดีสิ้นสุดแล้ว ที่ตลกคือผมกับพี่วีระ สมความคิด ฟ้องคดีเดียวกันเป๊ะเลย แล้วก็จะไล่มา process เหมือนกันเป๊ะเลย สองคนก็จะโทรหากัน เพราะงง อย่างวันนี้ศาลนัดคดีนี้ เป็นคดีใคร
อีกสองคดีไม่มีชื่อผมเป็นผู้ฟ้อง เพราะผมเป็นผู้ประสานงานให้เฉยๆ คนที่มีชื่อเป็นผู้ฟ้องคือน้องนักข่าวภาคสนามของ The Matter คนหนึ่ง แล้วก็น้องของอีกสื่อออนไลน์หนึ่ง ที่ผมต้องไปเป็นผู้ประสานงานหรือคอยให้ข่าวแทน เพราะว่ามันมีแรงกดดันว่าถ้าน้องสองคนนั้นยังต้องไปทำข่าวม็อบอยู่ ถ้าออกหน้าปุ๊บก็อาจจะเจอแรงกดดันในการทำงาน ผมก็เลยออกหน้าแทน ไปชนแทนในกรรมาธิการสภา เจอตำรวจจนตำรวจจำหน้าได้ คนนี้อีกแล้ว มาอีกแล้ว
คดีนี้เหตุการณ์เกิด 18 กรกฎาคม ปี 2564 น้องนักข่าวคนหนึ่งโดนยิงตั้งแต่บ่าย 3 ที่ราชดำเนินนอก ซึ่งตอนนั้นม็อบยังไม่มีอะไรเลย ตำรวจก็ใช้กระสุนยางแล้ว อีกคนโดนประมาณ 6 โมงเย็น ที่สี่แยกนางเลิ้ง น้องอยู่ห่างจากแนวตำรวจประมาณเกือบร้อยเมตร ก็ยังโดน กว่าจะทำสำนวนส่งฟ้องก็ประมาณเดือน 8 เดือน 9 ปีเดียวกัน ซึ่งจริงๆ ก็ถือว่าเร็วนะครับ ทางเราให้ทีมทนายซึ่งเชี่ยวชาญคดีการเมือง คือ ‘ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน’ เขาช่วยทำ แรกๆ ศาลจะไม่รับฟ้อง แต่ว่าสู้ไปสู้มา สุดท้ายศาลรับฟ้อง
ส่วนคดีล่าสุด อยู่ที่ศาลปกครอง คดี APEC ที่น้อง The Matter ต้องใช้คำว่า ‘โดนกระทืบ’ ได้เลย และก็มีนักข่าวอีก 2-3 คนที่โดนทำร้ายเหมือนกัน รออยู่ว่าศาลปกครองจะรับฟ้องไหม ถ้าศาลรับฟ้องผมก็จะได้รับเอกสารแจ้ง ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะส่งทางไปรษณีย์มาว่ารับฟ้องและจะได้เลขคดี แต่ตอนนี้ยังนิ่งอยู่
คดีที่แพ้รู้สึกว่าสูญเปล่าไหม หรือได้เรียนรู้อะไรจากคดีเหล่านี้บ้าง
มันก็เป็นบทเรียนครับ คดีที่แพ้คือคดีอุทยานราชภักดิ์ มันก็ทำให้คดีที่ 2 เรารัดกุมขึ้น เพราะว่าคดีแรกที่แพ้เราไม่รู้ว่าสิ่งที่ศาลจะเอามาใช้คือเอกสารตั้งแต่หน้าแรกที่เราเขียน บางทีเราใช้คำผิดอะไรบางอย่าง ศาลเอามาชี้ได้ คดีที่สองก็เลยเขียนให้รัดกุมเลยตั้งแต่เอกสารชิ้นแรก ในข่าวทุกอย่าง ในเอกสารทุกกระบวนการ…ผมว่ามันไม่สูญเปล่า แต่ในอีกด้านมันก็ไม่ได้เปลี่ยนได้เร็วขนาดนั้น
ช่วงที่สู้เรื่องคดีนาฬิกายืมเพื่อนอยู่ ต้นเหตุของคดีมันเกิดจากข้อกฎหมายข้อมูลข่าวสารมันล้าสมัย มันบังคับเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ แม้ว่าเราจะชนะทุกขั้นตอน แต่คดีนี้เป็นหนึ่งในกลไกหรือแรงบันดาลใจที่ทำให้คนรู้สึกว่าการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารตามกฎหมายเดิมมันมีปัญหา และต้องทำให้ดีขึ้น ถามว่ามีปัญหายังไงบ้าง? ก็ตั้งแต่ไม่มีคำว่า ‘ดิจิทัล’ แม้แต่คำเดียวอยู่ในกฎหมายเลย มีปัญหาตั้งแต่บอกว่าข้อมูลข่าวสาร 20 รายการที่ต้องเปิดเผยให้ประชาชนที่มาขอ ‘โดยเร็ว’ แต่สำหรับบางคน 5 ปีถือว่าเร็ว 10 ปีก็ถือว่าเร็ว แล้ว ‘โดยเร็ว’ จริงๆ คือเท่าไหร่
ในระหว่างที่สู้คดี 4 ปี ก็มีความพยายามที่จะยกร่างกฎหมายข้อมูลข่าวสารฉบับใหม่ขึ้นมาอย่างน้อย 4 ฉบับ มันมีฉบับหนึ่งที่อาจจะทำให้แย่ลง ร่างของรัฐบาลประยุทธ์ สุดท้ายโดนนิสิตจุฬาฯ และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันช่วยกันค้านจนล้ม อีก 3 ฉบับพยายามร่างให้ดีขึ้น เพราะในตัวร่างกฎหมายที่ผมเห็นเกือบทุกฉบับมีเขียนไว้ว่าให้เปิดเผยข้อมูล ‘ภายใน 15 วัน’ หรือ 30 วัน บอกให้ชัดเลย ผมว่าความเปลี่ยนแปลงมันมีอยู่ เพียงแต่เรายังไม่เห็นเท่านั้นเอง
ส่วนคดีกระสุนยางก็เหมือนกัน คือ เรียนรู้จากความผิดพลาด เรียนรู้จากประสบการณ์ ซึ่งก็อาจจะโชคดีที่เราเรียนรู้จากคนอื่นได้ โดยไม่ต้องเรียนรู้จากตัวเอง เคสนี้ผมเรียนรู้จากนักข่าวประชาไทที่ถูกยิงด้วยกระสุนยางที่แยกคอกวัว วันที่ 20 มีนาคม 2564 พี่เขาก็ไปทำข่าวปกติ แต่โดนตำรวจ คฝ. ที่เข้ามาในซอยคอกวัว มาที่ข้าวสาร ยิงใส่สองนัด
พอแกโดนยิง วันถัดมาสมาคมสื่อออกแถลงการณ์ แต่กลับมีบางข้อที่ตำหนิว่านักข่าวก็ต้องดูแลตัวเอง ปลอกแขน Press ที่ใส่ไม่ใช่เครื่องมือป้องกันความปลอดภัย ซึ่งเป็นข้อความที่ใครก็รู้อยู่แล้ว สมาคมสื่อควรมีหน้าที่ในการปกป้องนักข่าวภาคสนามหรือเปล่า? คุณควรจะเป็นปากเสียงให้กับนักข่าวภาคสนามหรือเปล่า?
ช่วงนั้นจริงๆ ผมก็ติดต่อคนในสมาคม แล้วเขียนเรื่องนี้ลงในโซเชียลส่วนตัวด้วย ก็มีฟีดแบ็กมาเหมือนกัน บางคนก็น้อยใจ บางคนก็รู้สึกว่าเขาทำงานเต็มที่แล้ว แต่ผมก็บอกว่าทำงานเต็มที่แล้วทำไมแถลงการณ์มันออกมาแบบนั้น แล้วพอ (นักข่าวประชาไทที่ถูกยิง) ไปยื่นฟ้องศาลแพ่ง โดยไม่ได้เรียกร้องเป็นเงิน แต่เรียกร้องคำขอโทษและอะไรอื่นๆ ศาลก็ยกฟ้องเลย ไม่ต้องตรวจสอบอะไรทั้งสิ้น
คดีของเราก็เลยเรียกเงิน ตัวเลขก็อนุมานขึ้นมาเอง อันนี้ยอมรับตรงๆ ว่าให้มันสูงพอที่ตำรวจจะรู้สึกว่าอันนี้คือตัวเลขที่สูงไป ฉันจะไม่ทำผิดแบบเดิมแล้ว ไม่งั้นฉันจะโดนเรียกด้วยตัวเลขที่สูงขนาดนี้ และในคำโต้แย้งตำรวจก็เขียนมาแบบนี้จริงๆ เขียนว่าตัวเลขที่โจทก์เรียกมามันสูงมาก สูงเกินกว่าเหตุใดๆ ก็แล้วแต่ ซึ่งมันอาจจะทำให้เขากลัว
การเคลื่อนไหวเรื่องคดีมีอุปสรรคอะไรบ้างไหม
มันมีราคาที่ต้องจ่าย คือเงินวางศาลครับ (หัวเราะ) หลายคนอาจไม่รู้ว่าถ้าไปฟ้องศาลแพ่งต้องเอาเงินไปวางศาล เป็นจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ของค่าเสียหายที่เรียกเท่าไหร่ไม่รู้ ผมจำไม่ได้ แต่ว่าผมกับน้องอีกคนที่เป็น บ.ก. The Matter วางรวมกันไป 40,000 กว่าบาท และก็ศาลตัดสินให้เราชนะคดีจริง แต่ไอ้ 40,000 กว่าบาทนี่หายไปหมดเลย ไม่คืน ไม่รู้ไปไหน โดยที่ศาลบอกว่าเงินที่วางไว้ ‘ให้เป็นพับ’
ภาษากฎหมายก็คือไม่คืนน่ะ ง่ายๆ เพราะคดีนี้มันไม่มีมาตรฐานมาก่อน จริงๆ ฟ้องศาลแพ่งก็วัดใจแล้วประมาณหนึ่ง คดีเรื่องสิทธิเสรีภาพ ถ้าฟ้องศาลปกครอง เราเชื่อมั่นได้ว่าโอกาสชนะเราสูง เพราะศาลปกครองจะเชี่ยวชาญคดีนี้ หรือคดีถ้าจะเอาผิดใคร ไปฟ้องศาลอาญา เราเชื่อมั่นได้ว่าศาลจะมีมุมในการมอง แต่คดีเรื่องสิทธิเสรีภาพไปฟ้องศาลแพ่งก็เหมือนวัดดวงประมาณหนึ่ง
การฟ้องคดีแบบไหนเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่มากกว่ากัน ระหว่างการเปิดเผยข้อมูลที่ประชาชนควรรู้ กับการคุ้มครองสวัสดิภาพของนักข่าว
ผมว่ามันเป็นคนละเลเยอร์กัน คดีกระสุนยางมันเป็นเรื่องความปลอดภัยของการทำงานในสนาม เป็นเรื่องที่เราขอให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น เพราะถ้าเขาปฏิบัติตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น ทั้งสื่อและประชาชนจะปลอดภัย มันชอบมีคนบอกว่าทำไมสื่อไม่ฟ้องให้ประชาชน? พยายามแล้วครับ แต่ศาลไม่รับ ศาลบอกว่าคุณเป็นสื่อ คุณต้องฟ้องในฐานะสื่อ อะไรแบบนี้ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ได้มาตรฐาน มันจะปลอดภัยทุกคน
อย่างเรื่องคดีประวิตร เป็นเรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นอีกเลเยอร์หนึ่ง และคดีประวิตรรู้แต่แรกแล้วว่าไม่เร็วและไม่ได้ เราไม่ได้เอาผลมาเป็นข่าว เราเอา process ของการไม่ให้ข้อมูลมาเป็นข่าวตั้งแต่แรกอยู่แล้วครับ
และมันมีอีกเคสหนึ่ง อันนี้น่ากลัวกว่าถ้าเกิดขึ้นจริงๆ คือช่วงโควิดปี 63-64 มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายกฯ มีอำนาจในการออกข้อกำหนดอะไรต่างๆ เพื่อบังคับโน่นนี่นั่นได้ แล้วมันมีข้อบังคับหนึ่งที่บอกในทำนองว่า สื่อออนไลน์ต่างๆ ถ้านำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ทำให้คนตกใจ เขาสามารถให้ กสทช. สั่งปิดเว็บได้เลย
สมาคม (วิชาชีพสื่อ) ก็ใช้วิธีเดินสายคุย ยื่นหนังสือถึงโฆษกรัฐบาล ยื่นหนังสือกระทรวงดีอีเอส แต่สื่อออนไลน์ 12 ที่ไม่คุยแล้ว จับมือกันฟ้องศาลเลย ฟ้องศาลแพ่ง ศาลก็ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเหมือนกัน บอกว่าข้อกำหนดฉบับนี้ ฉบับที่ 29 ห้ามใช้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญว่าด้วยการติดต่อสื่อสารของประชาชน ของสื่อมวลชน สุดท้ายประยุทธ์ก็เลยออกข้อกำหนดที่ 31 มายกเลิกของเดิม เคสนี้จริงๆ จบเร็ว คนเลยจำไม่ค่อยได้ แต่ถ้าศาลไม่คุ้มครองชั่วคราว มันคือการที่ภาครัฐสามารถจะปิดเว็บไซต์ไหนที่เขาไม่ชอบได้เลย เพราะในข้อกำหนดเขียนไว้กว้างมาก
อันนี้คือสื่อเคลื่อนกันเอง และสมาคมไม่ใช่แกนกลางในการขับเคลื่อนจนได้ผลนี้ออกมา สมาคมแทบไม่รับรู้การเคลื่อนไหวของสื่อเหล่านี้เลย แทบไม่พูดถึงเลย ทั้งที่จริงๆ การที่สื่อไปฟ้องมันมีต้นทุน มันมีราคาที่ต้องจ่าย แทนที่สมาคมจะเป็นคนซัปพอร์ตให้ เฮ้ย ขอบคุณที่เคลื่อนไหว เราไปด้วยกัน อะไรพวกนี้
เคยท้อไหม เพราะการต่อสู้ทางกฎหมายดูจะยาวนานและมีข้อเสียเปรียบอีกมาก
จริงๆ ก็ได้พลังมาจากน้องๆ ที่เป็นสื่อรุ่นใหม่ครับ เวลาไปทำอะไรก็จะรู้สึกว่าไม่ได้ไปคนเดียวนะ แบ่งบทบาทกันเล่นอยู่ สื่อรุ่นใหม่อาจจะเคยถูกผู้ใหญ่ในแวดวงบางคนดูแคลนด้วยคำว่า ‘สื่อกลุ่มหนึ่ง’ หรือ ‘มีแค่สื่อกลุ่มนี้ที่เคลื่อนไหว’ ‘มีแค่สื่อกลุ่มนี้ที่ค้าน’ อะไรพวกนี้ เราก็เลยเอาคำนี้มาตั้งเป็นชื่อกลุ่มเราเอง เวลาเคลื่อนไหวเราก็จะใช้คำว่า ‘สื่อกลุ่มหนึ่ง’ กำลังทำสิ่งนี้ ก็เป็นความกวนตีนอย่างหนึ่ง แต่สื่อเด็กๆ พวกนี้มีพลังโดยไม่ได้คิดถึงคอนเนกชัน ไม่คิดถึงผลประโยชน์ของตัวเองมาก มันก็เลยเป็นการเคลื่อนไหวโดยอิงหลักการ อิงในสิทธิและสังคมที่เขาอยากจะเป็น
จุดพีกของ ‘สื่อกลุ่มหนึ่ง’ กลุ่มนี้ก็คือการที่สามารถโค่นล้มร่าง พ.ร.บ.สื่อ ได้สำเร็จ ซึ่งจริงๆ เป็น พ.ร.บ. ที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในสมาคมบางส่วนสนับสนุนด้วย แต่ปัญหาของร่าง พ.ร.บ.นี้ คือมันไม่ผ่านการคุยให้ตกผลึกในวงการสื่อจริงๆ มันเลยทำให้หลายเรื่องมีคำถาม แล้วผู้เกี่ยวข้องไม่พยายามตอบ และหนึ่งในเรื่องที่ร้ายแรงที่สุดคือเรื่อง ‘นิยามสื่อ’ ในกฎหมายเขียนว่า ใครก็ตามที่สื่อสารและมีรายได้จากสิ่งนั้นเป็นสื่อหมด
ดังนั้น คุณเป็นแม่ค้าพ่อค้าออนไลน์ก็อาจจะกลายเป็นสื่อตามกฎหมายควบคุมนี้ อินฟลูเอนเซอร์บางคนก็จะโดนควบคุมภายใต้กฎหมายนี้ ผมว่าอันนี้เป็นเรื่องใหญ่โตมากกว่าเรื่องที่คนผลักดันบางคนจะได้ไปนั่งในตัวสมาคมสื่อใหม่ตามกฎหมายนี้ คุณอยู่ได้ 8 ปี มีตังค์ให้ใช้ 200 ล้าน อันนี้ผมว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลแล้ว แต่เรื่องนิยามสื่อ อำนาจในการควบคุมบางอย่าง อันนี้เป็นสิ่งที่ผมและน้องๆ เด็กๆ เห็นว่าอันตราย คือจริงๆ ก็ไม่ได้ค้านทั้งหมด แต่ค้านกระบวนการของมันที่คุณไม่ได้ฟังคนอื่นน่ะ คุณผลักดันแล้วพอมีปัญหาคุณก็บอกว่าเป็นเพราะเด็กๆ ไม่เข้าใจ เป็นเพราะคนที่เกี่ยวข้องไม่ยอมมาเข้าร่วมกระบวนการ
แต่การเคลื่อนไหวให้ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมสื่อนี้ถูกปัดตกในสภาฯ ก็ไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนเท่าไหร่
บอกว่ามวลชนไม่สนใจอันนี้ถูกต้องแล้วครับ แต่ก็มีประชาชนจำนวนหนึ่งที่ร่วมลงชื่อในแคมเปญหลายพันเหมือนกัน และก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่เวลาอภิปรายในสภาฯ ก็เอาเรื่องนี้ไปคุยเหมือนกัน ผมว่ามีเสียงสนับสนุนจากคนนอกวงการสื่อประมาณหนึ่งเหมือนกัน อาจจะไม่ได้ป๊อปมากเพราะมันเป็นกฎหมายเชิงเทคนิค
คิดอย่างไรกับความเห็นในสื่อโซเชียลที่บอกว่า ‘อินฟลูเอนเซอร์’ ยุคนี้พึ่งได้มากกว่าสื่อ
ผมว่าอันนี้เป็นเรื่องคุณภาพของวงการสื่อเราเอง แต่ถ้าดูสถิติจริงๆ เวลาเกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆ คนก็ยังหันมาหาสื่อองค์กรอยู่นะครับ เช่น ตอนเลือกตั้งผู้ว่าฯ ปี 2565, กราดยิง, เรื่องทุนจีนสีเทา หรือเลือกตั้ง สส. ตัวเลขคนที่เข้ามาดูสื่อแบบเดิมกระโดดหมดทั้งวงการโดยรวมเลย มันสะท้อนตรงกันว่าเวลามีเหตุการณ์ใหญ่ๆ คนยังกลับมาหาสื่อแบบเดิมอยู่ แต่ที่คนบอกว่าอินฟลูฯ น่าเชื่อถือกว่า ผมมองว่าเป็นเพราะคนผิดหวังเรื่องคุณภาพสื่อมากกว่า
ที่ผ่านมาสื่อก็วิจารณ์กันเองน้อยไปหน่อย เพราะต่างคนต่างก็ทำ อย่างเช่น ผมพูดในฐานะสื่อออนไลน์ตระกูล ‘The’ ที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยปี 2559-60 สื่อรุ่นใหม่ๆ แรกๆ จะโดนดูถูกว่าไม่มีคอนเทนต์ของตัวเองเลย ซึ่งจริง (หัวเราะ) แต่ตอนหลังสัดส่วนคอนเทนต์ที่ทำเองเยอะขึ้นครับ แล้วสิบปีที่ผ่านมาก็อยู่ในช่วงรัฐประหาร ช่วงรัฐบาลทหาร มันทำให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมันยากขึ้น แหล่งข่าวเดิมๆ ที่มีอยู่ก็หายไป รุ่นใหม่ก็ยังไม่กล้าพูดเยอะ กลไกการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมันโดนส่งมาโดยคนในรัฐบาลรัฐประหาร มันทำให้มีอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูล
แล้วคิดว่าสื่อมวลชนยังจำเป็นอยู่ไหม? เพราะคนส่วนหนึ่งในสังคมก็ไม่ได้ ‘ให้ค่า’ หรือ ‘เชื่อมั่น’ กับสื่อมวลชนเท่าเดิมแล้ว
นั่นสิ ผมว่าสื่อทุกที่ก็อยู่ระหว่างหาคำตอบ ในทางธุรกิจ ในทางเทคโนโลยี แล้วก็ในความเป็นสื่อรับใช้สังคม หรือว่าสื่อรับใช้อุดมการณ์ ทั้ง 3-4 โจทย์นี้ตอบยาก และมันต้องหาคำตอบไปเรื่อยๆ เพราะทุกอย่างมันเปลี่ยน
มันคล้ายกับตอนแรกที่เราคุยเรื่องความปลอดภัยนักข่าว สิทธิเสรีภาพ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิทธิการทำงานเป็นสื่อ จริงๆ ทั้งสามก้อนหลังนี่มันโบราณกว่าอีก แต่ก็ยังต้องสู้มาจนถึงทุกวันนี้เลย ผมถึงว่ามันตอบยาก คือถ้าเป็นสมัยเด็กๆ จะตอบอีกอย่างนึง พอโตปุ๊บมันก็เข้าใจแล้วว่ามันมีอะไรที่ต้องหาจุดสมดุลไปเรื่อยๆ
ผมมองว่าสื่อยังเป็นตัวแทน… ซึ่งสื่อเองก็จะชอบอนุมานว่าตัวเองเป็นตัวแทนในการจับตาสังคม การตั้งคำถามกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ให้ชีวิตประชาชนดีขึ้น เพราะว่าประชาชนจำนวนมากไม่สามารถทุ่มชีวิตเขามาทำสิ่งนี้ได้ ดังนั้นคนที่มีอาชีพเป็นสื่อควรจะทุ่มเททำสิ่งนี้ให้กับเขา อะไรประมาณนี้ นี่คือคำตอบเชิงอุดมการณ์นะครับ
ดังนั้นสื่อก็ยังจำเป็นอยู่ แต่ถ้าเรายังทำงานแบบเดิม แบบที่โดนด่า ความจำเป็นของมันก็จะน้อยลงเรื่อยๆ