‘จิม’ โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ ความหลอนที่ซ่อนอยู่ในพื้นที่ความเฮี้ยน ของ ‘เจ้าพ่อหนังอสังหาริมทรัพย์สุดหลอน’

10 Min
1379 Views
11 Apr 2023

“จำได้ว่าตอนที่ทำลัดดาแลนด์ ก่อนที่เราจะทำหนัง เราสร้างบ้านพอดี มีคนงานอยู่บนรถสิบล้อ มาส่งเสาเข็มที่บ้าน แล้วเขาตกลงมาสลบอยู่หน้าบ้าน เราเป็นห่วงเขานะ แต่เราก็คิดไป ถ้าสมมติเขาตกลงมาแล้วเขาตาย มันจะเป็นยังไง”

หากเปรียบหนังเป็นเสมือนบ้าน ‘จิม โสภณ’ น่าจะเป็นคนที่ผูกพันกับบ้านอย่างไม่ยอมย้ายไปไหน ไม่ว่าจะเป็นการยืนหยัดทำหนังสยองขวัญแบบไม่ปันใจไปแนวไหน เขายังใช้ ‘พื้นที่’ เพื่อทำการเล่าเรื่องราวสยองขวัญนี้มาโดยสม่ำเสมออีกด้วย

ในช่วงเวลาที่หนัง ‘บ้านเช่า…บูชายัญ’ หนังสยองขวัญเรื่องใหม่ของเขากำลังเข้าฉาย BrandThink Cinema จึงมาพูดคุยถึงหนังเรื่องล่าสุดของเขา ไปจนถึงไอเดียในการทำหนัง และความผูกพันในสถานที่จนเกิดเป็นฉายา ‘เจ้าพ่อหนังสยองขวัญอสังหาริมทรัพย์สุดหลอน’

‘บ้านเช่า…บูชายัญ’ เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร

เป็นเรื่องเล่าของตัวเอกที่ชื่อว่า กวิน (เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ) กับหนิง (มิว-นิษฐา คูหาเปรมกิจ) เป็นครอบครัวที่มีพ่อ-แม่-ลูก ปรากฏว่าวันหนึ่งหนิงเกิดตกงาน ในช่วงโควิด และเศรษฐกิจไม่ดี แล้วคอนโดที่เคยอยู่มาก่อน คนเช่าออกไป คอนโดกำลังจะถูกยึด หนิงก็เลยคุยกับสามีว่า ปล่อยให้คนมาเช่าบ้านไหมเพราะแถวนี้ก็มีคนสนใจ จริงๆ สามีก็ไม่อยากให้ใครเข้ามาอยู่เท่าไหร่หรอก เพราะว่ามันก็เป็นบ้านที่ตนอยู่มาทั้งชีวิต แต่พอแฟนเขาขอ เขาก็เลยยอม แต่พออยู่ไปอยู่มา มีเพื่อนบ้านเริ่มโทรไปบอกว่าคนที่มาเช่าทำตัวแปลกๆ ไม่เหมือนหมอ ทุกคืนเขาจะตื่นขึ้นมาสวดมนต์กันตอนตี 4 ซึ่งมันแปลก เอาของมาแขวนไว้ตามหน้าบ้าน นานวันเข้า เริ่มน่ากลัว เอาไปเอามากลายเป็นว่า สามีของหนิงเริ่มไปสนิทกับคนเช่า นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่อง

ทำไมคุณถึงผูกพันกับผีและสถานที่มาตลอด

พอมันมีโปรเจกต์หนังมาหนึ่งเรื่อง เราไม่ได้ตั้งเป้าไปที่บ้าน หรือสถานที่นะ เราตั้งเป้าไปที่คนก่อน ด้วยความที่บ้านหรือคอนโดพวกนี้มันเป็นปัจจัย 4 เหมือนกับว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญกับชีวิตเรา เหมือนบ้านก็เป็นบ้านของเรา พอมันเกิดเรื่องสยองขวัญในบ้าน มันเลยทำให้เรารู้สึกว่าจะหนีไปไม่ได้ มันก็เลยเป็นที่มาของเรื่องราวสยองขวัญหลายๆ อัน ซึ่งจริงๆ เราจะโฟกัสที่คนมากกว่า ว่าเรื่องสยองขวัญของเรามันเกิดจากคนแบบไหน เขาเจอเรื่องราวอะไรแบบนี้ แต่ว่าด้วยความที่คอนเซ็ปต์ มันอาจจะไปผูกพันกับสถานที่โดยบังเอิญ ซึ่งมันก็ไม่ได้บังเอิญแหละ แต่เราก็พยายามหาแง่มุม ในทุกๆ สถานที่ มีการทำการบ้าน อย่างถ้าเป็นพวกหนังสยองขวัญ ถ้าเราทำในสถานที่เดิมๆ มันก็จะได้มุมแบบเดิมๆ แต่ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองใหม่ เปลี่ยนโลเคชั่นใหม่ มุกผีหรือความน่ากลัวมันก็จะเปลี่ยนไปตาม ก็เลยรู้สึกว่า พอเราได้ทำหนังเรื่องต่อๆ มาเราจะต้องไม่อยู่ที่เดิม

อีกข้อสังเกตหนึ่ง หนังของคุณจะต้องมีพวกวิกฤตการณ์ทางสังคมต่างๆ อย่างช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ (จากหนัง ‘เพื่อน…ที่ระลึก’) หรือเรื่องนี้เกี่ยวกับโควิด เป็นความตั้งใจ หรือบังเอิญไหม

จริงๆ เรื่องนี้ เราไม่ได้บอกถึงว่ามันเป็นยุคสมัยโควิดอะไรขนาดนั้น เหมือนตัวละครเริ่มตกงานในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี อย่างเวลาเราทำหนังหนึ่งเรื่องเราต้องเห็นภาพชัด ว่าตัวละครของเรามันอยู่ในสังคมแบบไหน ในบริบทแบบไหน ยุคสมัยไหนอะไรแบบนี้ พอเราอ้างอิงจากเหตุการณ์สำคัญๆ มันเลยทำให้เรารู้สึกว่าเราอยู่ในยุคนั้น ทำให้ตัวละครของเรามีความพิเศษ ไม่ใช่อยู่แค่ในปัจจุบันอย่างเดียว เราก็เลยแต่งเติมเข้าไปด้วยความตั้งใจ แต่ไม่ใช่โจทย์แรกของเรา เป็นสิ่งที่ทำให้ตัวละครมีชีวิตมากขึ้น ให้ดูสมจริงขึ้น แล้วเวลาคนไปดู เราเชื่อว่าคนจะอินไปกับบรรยากาศ เพราะมันเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าหนังผีมันไกลตัวมากๆ คนจะไม่ค่อยกลัว แต่ถ้าคนมาดูหนังผีแล้วเห็นว่าสถานที่หรือเหตุการณ์ที่ตัวละครเจอ สอดคล้องกับเขา มันก็จะทำให้พวกเขาอินกับหนังมากขึ้น

ต้องบอกว่าเหมือนผมทำหนังตามความสนใจ ตามวัยมั้ง ในวันที่เราทำ ‘ลัดดาแลนด์’ เราเริ่มโต เริ่มสร้างบ้าน เราก็รู้สึกว่า มันน่าจะมีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้เราเห็นมุมมองเพิ่มมากขึ้น จำได้ว่าตอนที่เราสร้างบ้าน ตอนทำลัดดาแลนด์ก่อนที่เราจะทำหนัง มันมีคนงานอยู่บนรถสิบล้อ มาส่งเสาเข็มที่บ้าน แล้วเขาตกลงมาสลบอยู่หน้าบ้าน เราก็รู้สึกเป็นห่วงเขานะ ซึ่งเขาก็ปลอดภัยดี เราก็คิดไป ถ้าสมมติเขาตกลงมาแล้วเขาตาย มันจะเป็นยังไง เหมือนผีก็ไม่ได้อยู่ในบ้านนะ อยู่หน้าบ้านแทน ก็เหมือนลัดดาแลนด์ที่เราทำให้มีผีอยู่ในหมู่บ้าน ไม่ได้เข้ามาในบ้านคุณด้วยซ้ำไป แต่มันก็เป็นมุมมองอีกอย่างนึงที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันน่ากลัวเหมือนกัน พอเราโตขึ้นมามีครอบครัว มีลูก เราก็อยากเล่าถึงบรรยากาศของครอบครัว ซึ่งมันก็จะเห็นมุมมองของเขามากขึ้น

ถามถึงการคัดเลือกนักแสดง ทำไมต้องเป็น ‘เวียร์ ศุกลวัฒน์’ กับ ‘มิว นิษฐา’

ตอนที่เขียนบท เราก็วางให้ตัวละครหญิงเป็นตัวละครที่มีครอบครัวแล้ว เป็นผู้หญิงที่ทันสมัย working woman เรารู้สึกว่าบทแนวสยองขวัญมันจะไปถึงจุดที่ ตัวละครที่ลูกจะอยู่ในอันตราย ถ้าคนที่เป็นแม่จริงๆ เห็นลูกอยู่ในอันตราย มันจะมีพลังอะไรบางอย่าง ที่ไม่ใช่แค่การแสดง แต่เป็นอินเนอร์ของความเข้าใจ ว่าคนคนหนึ่งสามารถตายเพื่ออีกคนได้นะ แม่สามารถตายเพื่อลูกได้ เพื่อปกป้องลูก เรารู้สึกว่าอินเนอร์ตรงนี้มันแสดงยาก คือการที่ได้นักแสดงที่…คาแรกเตอร์ใช่และมีอินเนอร์ด้วย มันตอบโจทย์กับหนัง แล้วมิวมีลูกพอดี เราเห็นตั้งแต่วันแรกที่เขาอัลตราซาวด์ลูก ผ่านการคลอดลูก จนลูกโตขึ้นมา เราก็รู้สึกว่าอินเนอร์ของมิวเขาพร้อมสำหรับเรื่องนี้มาก สำหรับการที่จะถ่ายทอดออกมาได้

ส่วนของพี่เวียร์เนี่ย ในเรื่องราวของเราจะเล่าถึงตัวละครนี้น้อยมาก พี่เวียร์ถือว่าเป็นตัวละครสำคัญที่มีความลับเยอะ แต่ว่าอย่างหนึ่งที่เราเห็นตอนเขียนบท คืออินเนอร์ของตัวละครกับสิ่งที่แสดงออกมาต้องมีความขัดแย้งกัน เหมือนมีบางอย่างที่เขาต้องปกปิดไว้ ถ้าเราได้นักแสดงที่มีประสบการณ์ ที่สามารถแสดงอินเนอร์ลึกๆ ได้ดี มันน่าจะส่งเสริมบทนี้ ด้วยความที่เวียร์มีลุคในวัยที่พร้อมจะมีลูกได้แล้ว เขาน่าจะเหมาะกับบท

ย้อนกลับไปที่ ‘ลัดดาแลนด์’ คุณมีเทคนิคหรือวิธีการอย่างไรในการเปลี่ยนให้ดารากลายมาเป็นนักแสดงได้ จากคนที่แสดงแต่ละคร มาแสดงภาพยนตร์

ผมเชื่อว่า นักแสดงหลายๆ คนที่อยู่ในวงการมานาน เขามีความสามารถทางการแสดงแหละ มันขึ้นอยู่กับว่าบทบาทไหน ที่จะเอื้อให้เขาแสดงความสามารถนั้นออกมา พอเป็นหนังมันก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่เคยเล่นในละครมาก่อน คนดูก็จะรู้สึกว่า นักแสดงคนนั้นก็สามารถทำได้ในสิ่งที่คนดูไม่เคยเห็นมาก่อน รู้สึกว่าการที่เรามาจูน มาทำความเข้าใจกับนักแสดงให้ได้อินเนอร์จริงๆ บางทีเขาให้อะไรมากกว่าที่เราคาดหวังไว้

เป็นความตั้งใจของคุณไหม ที่เข้ามาในวงการเพื่อทำหนังสยองขวัญอย่างเดียว

จริงๆ คนถามบ่อยมาก ว่าทำหนังผีอีกแล้วเหรอ ต้องบอกว่าผู้กำกับแต่ละคนของ GDH เขาจะทำหนังที่ตัวเองสนใจหรือชอบ เราถึงจะอยู่กับมันได้นานๆ เราก็จะเป็นแนวหนังผี อาจจะเพราะเราโตมากับบรรยากาศในการดูหนังผีที่บ้าน ตั้งแต่เด็กๆ แล้วเราชอบบรรยากาศแบบนี้ นั่งคลุมโปงอยู่ด้วยกัน ดูหนังแล้วตกใจ ด้วยความน่ากลัวของหนังผี ถ้าใครสังเกตเวลาดูหนังในโรงภาพยนตร์ มันจะได้ความสนุก เหมือนเวลาเราเข้าบ้านผีสิง เราก็เลยโตมากับบรรยากาศแบบนี้ ชอบดูหนังแนวนี้ แต่ถามว่ากลัวไหม ก็กลัวนะ พอเรามีโอกาสได้มาทำหนัง เราก็ทำแนวนี้มา แล้วเรารู้สึกว่ามันมีเสน่ห์อะไรบางอย่างที่เราสามารถพัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆ มันมีมุมมองที่เราไม่เคยเห็น มีจังหวะใหม่ๆ ที่น่าสนใจ พอเราเป็นคนกลัวผี เราก็เลยจะคิดมุกผีได้เรื่อยๆ ด้วยจินตนาการ ด้วยความคิด อย่างเวลาเราไปโรงแรมไหนเราก็เริ่มคิดแล้ว ว่ามันจะมีอย่างนั้นอย่างนี้ เรารู้สึกว่าไม่อยากจะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นที่ไม่ได้รู้สึกชอบ แต่นอกจากหนังผีแล้วเราก็สนใจพวกหนังแนวทริลเลอร์ ดราม่า ก็สนใจ แต่เราก็ไม่ถึงกับว่าจะฉีกไปถึงพวกแนวตลกอะไรแบบนั้น

ถ้าไม่ใช่หนังผี อยากทำเกี่ยวกับอะไร

ด้วยความที่เราสนใจบรรยากาศความตื่นเต้น อย่างเรื่อง ‘เคว้ง’ มันก็ไม่เกี่ยวกับผีหรอก แต่ก็จะมีความลึกลับ ความตื่นเต้นอะไรบางอย่าง ถ้าไม่ใช่หนังผี ก็เป็นแนวตื่นเต้น

สำหรับหนังผี มันคือเวทีของการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ คุณเคยมีช่วงที่ไอเดียตีบตันไหม

เราคิดว่า ถ้าเราตั้งเป้าอยากจะทำหนังผี มันจะตันนะ แต่ว่าทุกครั้งเวลาเรานำเสนอไอเดียกับโปรดิวเซอร์ เราจะไม่พูดว่าเราจะทำหนังผีอะไร เราจะคุยกันว่าเราสนใจประเด็นอะไร อย่างเรื่องนี้เราสนใจประเด็นคนเช่า บ้านเช่า สนเรื่องการที่เรารู้หน้าไม่รู้ใจ เหมือนทุกคนก็จะรู้สึกว่า เขาก็ดูดีนะไม่น่าทำเรื่องอะไรแบบนี้ พอวันหนึ่งเกิดเรื่องขึ้นมา เรารู้สึกว่าความซับซ้อนของคนที่เรารู้จัก หรือเป็นคนที่เรารัก เขามีเบื้องหลังหรืออะไรบางอย่างที่ซ่อนไว้ ซึ่งมันเป็นความน่ากลัวอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมันสอดคล้องกับข่าวที่คนมาเช่าบ้านเพื่อทำลัทธิสยอง หรือเกี่ยวกับคนเช่าบ้านทำอะไรแปลกๆ บางอย่าง

ขอย้อนกลับไปตอนทำ ‘เคว้ง’ ทั้งบทวิจารณ์ที่ไม่สู้ดี และการถูกตัดจบจนไม่ได้ทำซีซั่น 2 ต่อ บาดแผลจาก ‘เคว้ง’ สำหรับคุณมีอะไรบ้าง

ส่วนตัวคือเราไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นบาดแผลอะไรเลย เพราะเรารู้เบื้องหลัง เรารู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น รู้ว่าอะไรมันดีไม่ดีเพราะอะไร เราเจอปัญหาอะไร พอเราเป็นคนทำงาน เราทำงานเสร็จก็คือมันจบแค่นั้น คือเราไม่ได้มาบอกคนดูว่าเราทำงานยากแค่ไหน เราเจอปัญหาอะไรบ้าง ทุกอย่างมันอยู่ในข้อจำกัดของมัน เรารู้สึกเสียดายมากกว่า เพราะตอนที่เราทำ ‘เคว้ง’ เรายังไม่พร้อม แล้วมันเป็นโปรเจกต์ที่เราเข้าไปค่อนข้างจะด่วน เราก็ปูทางไว้เพื่อในอนาคตมันจะมีการพัฒนาต่อไป พอมันออกไปแล้วมันมีการเปลี่ยนผู้บริหารภายใน เปลี่ยนธุรกิจของเขา ซึ่งการที่เขาจะทำต่อหรือไม่ทำต่อมันก็เป็นสิทธิ์ของเขา เพราะเราเชื่อว่าถ้าได้ทำต่อ คนดูที่เขารอว่าตรงนี้คืออะไร เราทำคำตอบของมันไว้แล้ว แต่มันน่าเสียดายที่เราทำเกมยาวไปหน่อย ก็เลยไม่มีโอกาสที่จะได้นำเสนอออกมา

จาก GDH พอไปทำซีรีส์ที่ Netflix มีระบบการทำงานที่แตกต่างกันไหม

ตอน ‘เคว้ง’ มันแตกต่างกันที่กองหนังฝรั่งกับไทย เรื่องของการทำงาน อีกอย่างหนึ่งที่แตกต่างกันที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้ เวลาเราทำซีรีส์ผู้กำกับเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการทำงาน ไม่ใช่ทั้งเรื่อง เรื่องจริงๆ คือมันมาจากทาง LA เขาจะมีสิ่งที่เขามองภาพไว้ มีโปรดิวเซอร์ที่เป็นเจ้าของหนังมากกว่าเรา เวลาเราดูข่าวเมืองนอก ผู้กำกับจะถูกถอดออกบ่อยมาก แต่โปรดิวเซอร์จะคงไว้ แต่คนไทยเราจะมองว่าผู้กำกับเป็นเจ้าของหนังทั้งหมด ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ เวลาคนไทยคอมเมนต์เขาก็จะพูดถึงแต่ผู้กำกับ บางทีเราพูดไม่ได้เพราะมันเป็นเรื่องของสัญญาอะไรบางอย่าง แต่เราเชื่อว่าสุดท้ายถ้างานมันออกมาดีหรือไม่ดี ผู้กำกับมีส่วนอยู่แล้ว เราจะไปพูดว่าโปรดิวเซอร์อย่างนั้น บทอย่างนี้ไม่ได้ เราก็รับคำติชม เพื่อพัฒนาโปรเจกต์ต่อไป

พฤติกรรมคนดูที่เปลี่ยนไป คุณรับมือกับสถานการณ์ตรงนี้อย่างไร

เราต้องมาดูเรื่องของปัญหา เรื่องของการฉายหนัง เรื่องภาพยนตร์ก็เป็นปัญหาหนึ่ง เรื่องของคนดูก็เป็นอีกปัญหา ต้องบอกก่อนว่า ธรรมชาติของคนดูกำลังเปลี่ยนไป อย่างเราสามารถดูเน็ตฟลิกซ์ที่บ้านได้ จนเราลืมบรรยากาศดีๆ ที่โรงหนังไป หรือเด็กยุคใหม่ที่เขาโตขึ้นมาในช่วงโควิด บางคนแทบจะไม่ได้เข้าโรงหนังเลย 3-4 ปี ซึ่งธรรมชาติมันเปลี่ยนไป ในฐานะคนทำงานเราก็ต้องทำต่อไปแหละ แต่เราก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบหรือหาวิธีที่จะรับมือเพื่อความอยู่รอด ส่วนเรื่องกระแสตอบรับว่าชอบหรือไม่ชอบ เรารู้สึกว่าคนทำงานต้องยอมรับให้ได้ เพราะว่าเราทำงานกันได้แค่จุดหนึ่ง พอเราทำงานจบแล้ว เข้าโรงหนังไปแล้ว คนดูจะชอบไม่ชอบมันก็เรื่องของเขา เราไปห้ามเขาไม่ได้ เพราะเราเชื่อว่าต่อให้หนังดีแค่ไหนก็ตาม มันเป็นเรื่องของรสนิยม เราไม่สามารถทำงานให้คน 100 เปอร์เซ็นต์ชอบได้อยู่แล้ว เพราะทุกคนมีความหลากหลาย ซึ่งเรารู้สึกว่ามันมีความสนุกเวลาเราคิดโจทย์การทำงาน เราต้องชัดว่าเราจะพุ่งเป้าไปที่คนกลุ่มไหน เราอยากจะสื่อสารกับคนกลุ่มไหน การที่คนกลุ่มหนึ่งจะไม่ชอบ มันเป็นเรื่องปกติมาก รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องรับรู้ไว้ ก็ไม่ควรที่จะไปกำจัดความคิดเห็นของเขา

บรรยากาศหนังผีที่ดูในโรง กับที่บ้าน ในฐานะคนทำ ขั้นตอนการทำงานแตกต่างกันไหม

เราทำงานแต่ละงานเราแยกชัดเจน อย่างเวลาเราทำหนังใหญ่ฉายในโรง เวลาเราทำงาน เราใช้เสียง ใช้ภาพ เราไม่ได้คิดเผื่อคนที่กำลังรีดผ้าอยู่ที่บ้าน คนที่ทำงานไปดูมือถือไป เราพุ่งเป้าไปแค่คนที่มาดูในโรงภาพยนตร์ อยู่ในจอใหญ่ๆ เห็นดีเทลเยอะๆ เขาจะต้องจับอะไรได้บางอย่างในการมาดูที่โรงภาพยนตร์ มีการดีไซน์ของเสียง การใช้ความเงียบ ซึ่งถ้าคุณอยู่บ้านก็จะไม่ได้เห็นสิ่งนี้ แต่ถ้าถามว่าเราต้องทำเผื่อคนที่ดูอยู่บ้านไหม เราก็ทำทุกอย่างที่ไม่ได้ทำเหมือนในซีรีส์ ซึ่งเรามีเป้าหมายชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องทำเพื่อคนที่ดูในโรงหนัง ถ้าคนที่เขาดูอยู่บ้านแล้วรู้สึกไม่ชอบ เขาก็จะมีโจทย์ว่าด้วยปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เขาอาจจะไม่เข้าใจตรงนี้ที่เราถ่าย จอใหญ่มากแต่นักแสดงเล่นน้อยมาก หรือว่าเสียงตรงนี้มันต้องเงียบถึงจะรู้สึก เรารู้สึกเสียดายเวลาทำหนังขึ้นมาหนึ่งเรื่อง แล้วคนจะไปรอดูที่ทีวี เราก็รู้สึกว่าความสนุกมันจะหายไปเกินครึ่ง สำหรับคนที่คิดจะรอ ซึ่งเขาอาจจะรับสารจากเราไปได้ไม่ครบถ้วน

การทำงานในยุคปัจจุบัน ในฐานะผู้กำกับ ยากไหม

ยากนะ ถ้าเราจะทำหนังผีต่อไป เราจะต้องดีไซน์มุกผีใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำกับแบบเดิม เพื่อหาอะไรมาเล่นกับคนดู มันเลยจะยากขึ้นเรื่อยๆ ในการทำงาน อันนี้ไม่ได้พูดถึงปัจจัยภายนอกเรื่องธรรมชาติของคนดู ของข้อจำกัด เรื่องโรงอะไรแบบนี้ ซึ่งเรารู้สึกว่างานแต่ละงานมีความยากของมัน ที่คนภายนอกอาจจะไม่รู้ แต่ว่าเราก็ต้องทำกันต่อไป

ยุคนี้คนทำหนัง นอกจากจะเครียดเรื่องรายได้ ยังกังวลเรื่องชาวเน็ตมาคอมเมนต์ มันมีความเครียด ความหดหู่ หรือความกังวลอะไรไหม ว่าหนังเราจะเป็นสนามอารมณ์ให้ใครหรือเปล่า

สมัยก่อนเราเป็นคนหนึ่งที่ชอบเสพคอมเมนต์ของคนดูอยู่แล้ว จริงๆ เราเข้าไปหาพวกเขาก่อนด้วยซ้ำ บางคนจะพูดว่าฉันวิจารณ์ในมุมมองส่วนตัว ในที่ของฉัน เราสนใจเราเข้าไปดูเองอยู่แล้ว เราก็รู้สึกขึ้นๆ ลงๆ มีคนชอบมันก็ดี คนไม่ชอบเราก็เฟล พอมาถึงจุดนึงเรารู้สึกว่า คนชอบและไม่ชอบมันมีมาหลายเรื่องแล้ว หนังเรื่องแรกที่เราได้ทำก็คือ ‘โปรแกรมหน้าฯ’ (โปรแกรมหน้า วิญญาณอาฆาต) ซึ่งคนที่ไม่ชอบเราก็รู้สึกเฟลนะ ในมุมมองเราเราก็อยากทำให้มันดีกว่านี้ ปรากฏว่าในวันที่เราคิดจะไปเรียนต่อเมืองนอก มีเด็กตัวเล็กๆ กลุ่มนึงวัยประถม นั่งคุยกันว่า ดูเรื่องนี้หรือยัง หนังดีมาก เราก็เลยรู้สึกว่าหนังเรื่องหนึ่งมันไม่ได้ทำเพื่อคนทุกกลุ่ม 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราต้องโฟกัสให้ถูก เราทำมาเพื่อคนชอบหนังผีนะ เรื่องนี้ทำเพื่อคนชอบความบันเทิงนะ ก็เป็นธรรมดาที่คนชอบแนวดราม่าจะรู้สึกว่ามันไม่สมเหตุสมผล ตั้งแต่มีผีแล้วแหละ เราก็ต้องโฟกัสให้ถูก ซึ่งตอนนั้นมีคนฮ่องกงไลน์มาหาเราว่าชอบหนังเรื่องโปรแกรมหน้าฯ มาก เราก็ส่งลัดดาแลนด์ไปให้เขาดู ว่าเราทำหนังเรื่องนี้นะ ซึ่งคนไทยชอบมาก เขาก็บอกไม่ชอบลัดดาแลนด์ ชอบโปรแกรมหน้าฯ มากกว่า เราก็เลยคิดว่าคนเรามีความชอบไม่เหมือนกันจริงๆ ถ้าเราเอาตัวเราว่าเราต้องทำงานเพื่อคนใดคนหนึ่ง เป็นคนๆ ไป เราก็จะรู้สึกเสียตัวตนไป เราก็เลยทำงานเพื่อคนที่เขาชอบก่อน ส่วนคนที่เขาไม่ชอบเราก็ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้พูดบ้าง

ถ้าบอกว่าการที่เรายอมเป็นสนามอารมณ์ เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนควรยอมรับนะ เราไม่ได้บอกว่าการพูดจาทุกวันนี้ที่คนไม่ให้เกียรติกัน เป็นสิ่งที่ดี เพียงแต่ว่าเราควรเคารพสิทธิของเขา ถ้าถามว่าเราเป็นสนามอารมณ์ของเขาไหม เราไม่ได้เอาตัวเองไปอยู่จุดนั้น เราเลยรู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นสนามอารมณ์ เราชอบคนแบบนี้นะอย่างเวลาที่เขาคอมเมนต์ในโซเชียล กับตัวตนจริงๆ ของเขา เขาสุภาพมากเลยนะ เพียงแต่ว่าบางทีบริบทมันพาไป เราก็เลยเข้าใจตัวตนของเขา

พูดอะไรถึง ‘บ้านเช่า…บูชายัญ’ สักหน่อย

สำหรับ บ้านเช่า…บูชายัญ เราทำทุกอย่างมาเพื่อดีไซน์ในโรงภาพยนตร์ เราดีไซน์แม้กระทั่งความเงียบ ที่มันเข้าถึงอารมณ์ของคนดู ถ้าใครสนใจอยากให้มาชมที่โรงภาพยนตร์จริงๆ ไม่อยากให้รอ เราเสียดายที่ความสนุกที่เราตั้งใจทำมา มันจะหายไปครึ่งหนึ่ง ด้วยรูปแบบการฉาย ก็อยากให้เข้ามาชมกันเยอะๆ