“กอล์ฟ” ธัญญ์วาริน ผู้เชื่อว่า “โลกใบนี้ไม่ได้มีแค่สองเพศ”

6 Min
849 Views
03 Sep 2021

“กอล์ฟ” ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ – ผู้คร่ำหวอดในวงการบันเทิง เป็นทั้งผู้กำกับภาพยนตร์ ซีรีส์ ละครเวที รวมถึงเป็นนักเขียนบท ครูสอนการแสดง คุณอาจจะไม่คุ้นชื่อเธอ หรือหน้าเธอก็ได้ แต่เป็นไปไม่ได้ที่คุณจะไม่คุ้นชื่อผลงานที่เธอสร้างไว้

กอล์ฟกลายเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ในช่วงหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม พ.ศ.2562 ที่เธอกลายเป็น ส.ส.ข้ามเพศคนแรกของสภาผู้แทนราษฎรไทย

“กอล์ฟ” ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ เชื่อว่าไม่ว่าคุณจะเป็นเพศอะไร เป็นเกย์ เป็นเกย์คิง เป็นเกย์ควีน เป็นโบท เป็นไบ เป็นเลสเบี้ยน เป็นกะเทย เป็นอดัม เป็นทรานส์ เป็นเควียร์ คุณก็ยังเป็น “คน”

และเมื่อเป็นคนเหมือนกัน จึงต้อง “เท่าเทียม”

“การเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย บทบาททางเพศหญิงหรือเพศชาย เคยตั้งคำถามกับตัวเองหรือเปล่า ว่าถ้าเรามีอวัยวะเพศชาย เเต่เราไม่อยากใช้มันเเบบที่ผู้ชายใช้ล่ะ เเล้วถ้าเราเป็นเพศหญิง มีอวัยวะเพศหญิง เเล้วเราไม่ได้อยากใช้ หรือไม่ได้อยากมีบทบาททางเพศหญิง เรามีสิทธิตรงนั้นหรือเปล่า”

“เมื่อโลกใบนี้บอกว่ามีเเค่เพศชายเพศหญิง ถ้าเราไม่อยากเป็นทั้งสองเพศ เราต้องทำยังไง?”

อะไรที่ทำให้เธอกลายเป็นนักเล่าเรื่อง อะไรที่ทำให้เธอมาลงเล่นการเมือง อะไรที่ทำให้เธอกลายเป็นนักต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ

หากจะตอบคำถามเหล่านั้นทั้งหมด เราต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยที่ “ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์” ยังเป็นเด็กชายหัวเกรียนชื่อว่า “ชุมพล ทองทาบ”

“เด็กชายชุมพล”

“ภาพลักษณ์ภาพจำของกะเทย กะเทยก็จะเป็นตัวตลกที่เราเห็นอยู่ในสื่อทีวี หรือเเม้ว่าจะในชีวิตจริงก็ตาม เราจะรู้สึกว่าทำไมกะเทยต้องดูตลก ทำไมกะเทยมันดูเป็นเเล้วไม่น่าภูมิใจ เรารู้สึกพอตัวเราเป็น เรารู้ว่าเราเป็นตั้งเเต่เด็ก เราก็ไม่กล้าจะบอกใคร ไม่กล้าที่จะเปิดเผยตัวเอง เพราะรู้สึกว่าพอเราเปิดเผยไปเเล้ว เราต้องเป็นตัวตลกของสังคมใช่ไหม? ”

เฉกเช่นเด็กหลายๆ คนที่แบ่งโลกออกเป็นสองใบ ชุมพลมีบทบาทที่ต้องสวมใส่เวลาต้องอยู่ต่อหน้าพ่อแม่

ส่วนโลกอีกใบ โลกที่เธอได้เป็นตัวของตัวเองอย่างภาคภูมินั้นไม่เคยมีบุพการีเป็นพยานรับรู้ ลับหลังบานประตูห้องในบ้านอันเงียบงัน ชุมพลจะแอบหยิบเอาชุดแม่มาใส่ แต่งหญิง มีความสุขกับบทบาททางเพศที่ตัวเองเลือกและปรารถนา

กระทั่งจุดเริ่มต้นการเป็นนักเล่าเรื่องซึ่งเกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนมัธยม ที่เธอได้เริ่มลงมือเขียนบท กำกับ แสดงเอง เป็นนางเอกเอง เป็นดอกไม้วัยเยาว์ซึ่งสะพรั่งไปด้วยจินตนาการและความสามารถ ชุมพลก็ยังไม่กล้าบอกให้ครอบครัวรับรู้

แต่เพราะวันนั้นที่แม่ของเธอมาโรงเรียน และเพราะคุณครูคนนั้น ที่รีบวิ่งมาบอกกับแม่ ว่าเธอเป็นเด็กเก่งแค่ไหน รูปถ่ายของชุมพลในบทบาทที่เธอเลือกเอง จึงได้ถูกยื่นออกมาให้ปรากฏสู่สายตาแม่เป็นครั้งแรก…

ช่วงวินาทีนั้นคงระทึกจับใจ กอล์ฟถึงได้จำรายละเอียดมันได้ทั้งหมด ทั้งรูปถ่ายที่เธอสวมวิกผมยาวและใส่สไบสีชมพู ทั้งเสียงในหัวที่ร่ำร้องว่า “ชิบหายแล้วกู” ชั่ววินาทีที่แม่ก้มลงไปมองรูปเพียงครู่เดียวที่เหมือนนานกัปกัลป์ แม่เงยหน้าขึ้นมามองเขา แล้วบอกว่า…“แต่งหน้าไม่สวย วิกยังไม่ดี”

ชุมพลเหมือนยกภูเขาออกจากอก

แม่ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น

และถ้าหากความเชื่อที่ว่าคนตายไม่ได้จากเราไปไหนเป็นเรื่องจริง พ่อของเขาก็อาจเห็นช่วงเวลาที่งดงามนี้เช่นกัน

“นับตั้งเเต่วันนั้นเรารู้เลยว่ามันยากมาก ที่เเม่เราต้องเผชิญกับคำถามของสังคมมากมายว่า ‘ลูกเป็นตุ๊ดเหรอ? ’ พอเเม่เรารู้ เราก็สบายใจ เราก็เปิดตัวเต็มที่ โดยที่ตอนนี้เราไม่ได้เเคร์คนอื่น เเละเราเเคร์เเม่เรา

เเต่เราก็เห็น ที่เเม่ต้องต่อสู้กับความเชื่อของสังคม ว่าลูกเป็นผู้ชายเเล้วกลายเป็นตุ๊ด อยากเป็นผู้หญิง เพราะฉะนั้นคือเเม่ต้องเข้มเเข็งที่จะปกป้องให้ตัวเราได้เป็นตัวเรามากที่สุด”

กำแพงยักษ์ที่มองไม่เห็น

หลังจบมหาวิทยาลัย กอล์ฟได้ทำหน้าที่ “พ่อ” เป็นครั้งแรก

เขาเป็นพ่อให้ “ฟิล์ม” เด็กชายตัวเล็ก ลูกของน้องชายเขา หลานผู้เป็นที่รักที่กอล์ฟร่วมฟูมฟักกับแม่ คำว่า “พ่อไม่แท้” ไม่เคยเป็นอุปสรรคในใจกอล์ฟ เขาให้เด็กชายคนนี้เรียกเขาว่า “ป๊า” และให้ความรักดั่งที่พ่อคนหนึ่งจะให้ลูกได้ แม้ตนอาจไม่ได้เป็นพ่อในแบบที่สังคมวาดภาพไว้

วันหนึ่งในตอนที่เด็กชายฟิล์มอายุประมาณเจ็ดขวบ กอล์ฟย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ และดูแลหลานชายในช่วงปิดเทอม ทุกอย่างคงเป็นไปตามปกติ หากไม่ติดว่า เด็กชายตัวเล็กคนนี้ยอมยืนสั่น งันงกตัวเปล่าเปลือยหลังอาบน้ำ แล้วปฏิเสธเสื้อยืดของกอล์ฟที่เขายื่นให้ใส่

กอล์ฟบอกเด็กชายสารพัดอย่าง เดี๋ยวป่วย เดี๋ยวไม่สบาย เดี๋ยวปอดบวม เดี๋ยวเป็นหวัด

แต่เด็กชายยืนยันคำเดิม “ไม่ใส่ ยังไงก็ไม่ใส่” กอล์ฟเริ่มโมโห “เสื้อผ้าป๊ามันไม่ได้มีอะไร เสื้อผ้าป๊าซักเเล้ว สะอาด”

แล้วหลานชายที่เขารักดุจลูกก็พูดว่า “ฟิล์มไม่ใส่เสื้อผ้าตุ๊ด”

ช่วงเวลาเงียบงันที่มีเพียงเขาและหลานชายอยู่ในบ้าน กำแพงยักษ์ใหญ่ก่อตัวขึ้นกั้นกลางระหว่างคนสองคน กำแพงที่มองไม่เห็น กำแพงที่ทำให้กอล์ฟรู้สึกเสียใจที่สุดในชีวิต

“เเล้วก็บอกกับตัวเองว่า เราจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อบอกโลกใบนี้ให้ได้ว่า โลกใบนี้ไม่ได้มีเเค่สองเพศ เราจะปล่อยให้สังคมมาทำร้ายคนที่รักกัน เข้าใจกัน อยู่ในครอบครัว กลับกลายเป็นว่าบทบาททางเพศ คำว่า ‘เพศ’ กลายเป็นกำแพงล่องหนที่ใหญ่โคตรๆ ตั้งอยู่กลางบ้านโดยที่เราไม่สามารถทำอะไรมันได้เลย”

เหตุการณ์ฝังใจในวันนั้น กลายเป็นที่มาของหนังเรื่อง “แมลงรักในสวนหลังบ้าน (Insect in the Backyard) ”

“เราก็เลยทำหนังเรื่อง Insect in the Backyard เเมลงรักในสวนหลังบ้าน เพื่อเล่าเหตุการณ์นี้ เพื่อจะบอกสังคมว่า ปัญหาที่เราเจอมันเเก้ไขได้นะ แก้ไขด้วยการทำความเข้าใจ ว่าการอยู่รว่มกันในสังคมมันไม่ได้มีเเค่เพศชายเพศหญิง เราอยู่ด้วยกันด้วยความแตกต่างเเล้วก็หลากหลาย”

ปรากฏว่าหนังเรื่องนี้โดนแบนจากกองเซนเซอร์ กระทรวงวัฒนธรรม อ้างว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มี “เนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน”

หนังเรื่องนี้ต้องใช้การต่อสู้ในชั้นศาลมากมาย และได้ฉายในที่สุด ในฉบับที่ฉากเซ็กซ์เห็นอวัยวะเพศชาย 3 วินาทีถูกตัดออก

“เราก็วิเคราะห์ว่าทำไมเขาถึงเเบนเรา เราก็ถึงบางอ้อ ว่าอ๋อ เพราะระบบการศึกษาไทยมันไม่ได้เอื้อ ไม่ได้บอก ว่าให้คนเคารพกันที่ความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เรื่องเพศ คนที่แบนเรา คือผลลัพธ์ของหลักสูตรการศึกษาไทย ที่ไม่ได้สอนให้ทำความเข้าใจกับความหลากหลายของมนุษย์”

ยูนิฟอร์ม จอมย่ำยี

การโดนกดขี่เสรีภาพการแสดงออก ไม่ใช่รสขมที่กอล์ฟไม่เคยลิ้มชิม เธอเจอมันมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กนักเรียน ที่หนึ่งในคุณสมบัติของคนดีมีวินัย คือต้องสวมเครื่องแบบและไว้ทรงผมตามกฏระเบียบถูกต้อง

รูปแบบนักเรียนดีเด่นถูกปั๊มให้วางเรียงกันเหมือนตุ๊กตาโคลนนิ่ง ไร้ซึ่งความหลากหลายของมนุษย์ ไร้ซึ่งเสรีภาพ

“สำหรับกอล์ฟ การที่เราถูกบังคับให้ใส่ยูนิฟอร์มนักเรียนนักศึกษาเหมือนเป็นการถูกฝึกให้เราโดนข่มขืนอ่ะ ฝึกให้เราถูกย่ำยี ทั้งที่มันเป็นร่างกายของเราเอง…”

“ซึ่งเเทนที่จะเอาเวลาที่สนใจการเเต่งกายของนักศึกษา ไปพัฒนาความรู้พัฒนาการสอนนักศึกษา ทำยังไงให้เด็กที่เราสอนมีความรู้มากที่สุด ตรงนั้นน่าจะมีประโยชน์กว่ามานั่งดูระเบียบร่างกายนักเรียนนักศึกษา”

ในความคิดของกอล์ฟ วินัยฝึกได้โดยไม่ต้องจ้ำจี้จ้ำไชเรื่องการแต่งกาย เธอพูดในฐานะคนที่เคยเป็นครู ว่าการฝึกวินัยสามารถอยู่ในชั้นเรียนได้ การทำการบ้าน การส่งการบ้าน การรับฟังและเคารพความคิดเห็นของคนอื่น เรื่องเหล่านี้ ล้วนสำคัญกว่าการฝึกระเบียบวินัยการแต่งกายมาก

“จากนักเล่าเรื่อง สู่นักการเมือง”

เมื่อถามกอล์ฟว่าทำไมเธอถึงลงมาเล่นการเมือง เธอย้อนกลับไปพิจารณาอดีตมากมาย แล้วก็ได้คำตอบว่า ชีวิตของเธอนั้น จริงๆ แล้วก็เดินบนเส้นทางการเมืองมาตลอด

ตั้งแต่สมัยมัธยมที่เริ่มต่อต้านการกดขี่บทบาททางเพศ ทำหนังเอง เป็น “นางเอก” เองโดยไม่ปล่อยให้คำนำหน้า “นาย” กลายเป็นอุปสรรค

หรือในสมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เธอได้เป็นส.ส.ข้ามเพศในสภานักศึกษา

หรือในสมัยที่เธอต้องต่อสู้ในชั้นศาลนานกว่า 5 ปี เพื่อให้หนังที่โดนแบนของตนเองได้ฉายสู่สาธารณะ การต่อสู้ครั้งนั้นไม่ใช่แค่เพื่อหนัง แต่เพื่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

“เราก็ใช้โอกาสที่เราเป็นสัญลักษณ์ของสังคมว่า มนุษย์มันไม่ได้มีเเค่เพศหญิง เพศชาย เเละไม่ได้มีเเค่กะเทย เเละไม่ได้มีเเค่ความหลากหลายทางเพศ มันยังมีความลื่นไหลทางเพศอีกด้วย ตรงนี้มันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก…”

“คำที่สังคมพยายามจะจัดหมวดหมู่ พยายามจะจับมนุษย์ใส่กล่องแล้วเเยกประเภทให้ได้ มันก็เกิดเป็นความกดทับ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ”

การได้มาเจอกับ “พรรคอนาคตใหม่” ที่มีความเชื่อคล้ายกับเธอ อีกทั้งให้เกียรติเธอในการเป็นตัวของตัวเอง นั่นจึงเป็นเหมือนประตูบานใหญ่ที่เปิดกว้าง บนเส้นทางที่เธอต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและความหลากหลายทางเพศด้วยตัวเองมานานแสนนาน

แต่อุดมการณ์ที่ตั้งมั่นไม่ไปเดินทางไปพร้อมกับตำแหน่ง

ในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เธอพ้นสภาพการเป็นส.ส. ความผิดฐานถือหุ้นสื่อ

ถึงอย่างนั้น เธอก็ไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่งหน้าที่

“กอล์ฟ” ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ยังคงถืออุดมการณ์ทำงานเพื่อประชาชน ต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ สนับสนุนเสรีภาพ และความเท่าเทียมต่อไป

กอล์ฟได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนได้วันที่เธอถูกปลดป้ายตำแหน่ง และกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า

“ต่อให้กอล์ฟไม่ได้เข้าสภาฯ ในฐานะ ส.ส. แต่กอล์ฟก็ทำงานเพื่อประชาชน และก็เป็นผู้แทนราษฎรตลอดชีวิต”

อ้างอิง

  • ประชาชาติธุรกิจ. รู้จัก “กอล์ฟ – ธัญญ์วาริน” ส.ส.ข้ามเพศคนแรกของสภา – คนเดียวที่สังเวยพิษหุ้นสื่อ. https://www.prachachat.net/politics/news-546068