สนทนากับ ‘จ๋า ร้านเล่า’ ถึงเรื่องราวของร้านหนังสืออิสระอายุ 23 ปี ที่เคยเล่าแล้ว แต่ยังเล่าอยู่ และอยากเล่าต่อ

7 Min
1399 Views
15 Jul 2023

ถ้าเปรียบเทียบเป็นคน วัย 23 ปีดูจะเป็นขวบวัยที่คนคนหนึ่งพร้อมเติบโตไปสู่โลกกว้าง

หรือถ้าเปรียบเทียบกับธุรกิจทั่วไป ถ้ายืนระยะจนเข้าสู่ปีที่ 23 ธุรกิจนั้นก็ดูเหมือนจะมั่นคงมากพอจนพร้อมที่จะยืนหยัดได้เช่นกัน

แต่ข้อเปรียบเทียบที่ว่ามา ดูจะใช้ไม่ได้กับกรณีของ ‘ร้านหนังสืออิสระ’ สักเท่าไหร่

เพราะท่ามกลางขวบปีที่ผ่านพ้น ตลอด 23 ปีที่ผ่านมา ต่อให้ไม่ได้อยู่ในวงการหนังสือ ทุกคนก็น่าจะพอสังเกตได้ว่าวงการหนังสือและธุรกิจร้านหนังสือขึ้นรถไฟเหาะตีลังกาขนาดไหน จากที่เคยรุ่งเรืองในยุคที่ทุกคนยังเสพสื่ออยู่ไม่กี่แบบ แต่พอโลกหมุนไปจนมีทางเลือกในการเข้าถึงสื่อมากขึ้น วงการหนังสือและธุรกิจร้านหนังสือก็ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ จนจำนวนปีในวงการไม่ได้เป็นหลักฐานของความยั่งยืนใดๆ ทั้งสิ้น

เราจึงค่อยๆ เห็นผู้ผลิตบางรายที่ล้มหาย ไปจนถึงร้านหนังสือใหญ่ที่ปรับเปลี่ยนหน้าตาเสียจนจำแทบไม่ได้ และยังมีอีกหลายผู้คนที่จำใจจากลาแม้ยังหลงเหลือความรักในอาชีพ ซึ่งจริงอยู่ว่าทั้งหมดนี้คือคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงที่น่าเศร้าและไม่ใช่ทุกคนจะผ่านพ้น แต่ถึงกระนั้นก็เป็นความจริงเช่นกันที่บางคนยังคงยืนหยัดอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้

โดยหนึ่งในนั้นคือ ‘ร้านเล่า’ ร้านหนังสืออิสระในจังหวัดเชียงใหม่ สถานที่ที่ทำหน้าที่เป็นดั่งหมุดหมายของคนรักการอ่านจากทั่วประเทศมาตลอด 23 ปี

แน่ล่ะว่าถ้าเห็นตามนี้ ประเด็นเรื่องการดำรงอยู่ของร้านดูจะเป็นหัวข้อที่ควรค่าแก่การพูดถึง และนั่นก็เป็นแรงผลักดันหลักให้เราเดินทางไปสนทนากับ ‘จ๋า-กรองทอง สุดประเสิรฐ’ หนึ่งในเจ้าของร้านเล่าถึงเชียงใหม่ด้วย

แต่นอกเหนือจากนั้น สำหรับเรา อุดมการณ์ภายในและความตั้งใจของคนที่อยู่เบื้องหลังก็เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การเล่าขานต่อเช่นกัน ว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้คนคนหนึ่งหรือร้านหนังสือสักร้านหนึ่งยังคงเลือกหายใจเข้าออกเป็นตัวอักษรอยู่

เรื่องราวการเดินทางโต้คลื่นของ ‘ร้านเล่า’ ตลอดเวลาที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง และอะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร้านหนังสืออิสระแห่งนี้ยังคงยืนหยัดอยู่ได้แม้ในวันที่โลกของการอ่านไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

ลองฟังคำตอบและเรื่อง ‘เล่า’ ของจ๋าไปพร้อมๆ กัน

ย้อนเวลากลับไปที่วันแรกกันก่อน ความทรงจำของคุณกับ ‘ร้านเล่า’ เริ่มต้นอย่างไร

โห… นานมากแล้วเนอะ (หัวเราะ) ตอนนั้นเราเป็นนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ค่ะ จำได้ว่ากำลังเรียนอยู่ปี 3 แล้วลงไปฝึกงานที่กรุงเทพฯ กับร้านหนังสืออิสระชื่อ ‘ร้านหนังสือเล็กๆ’ อยู่ตรงถนนพระอาทิตย์ (ปัจจุบันร้านอยู่ที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่) พอดี เราเลยได้ข่าวจากพี่เจ้าของร้านว่าเดี๋ยวที่เชียงใหม่กำลังจะมีร้านหนังสืออิสระเปิดใหม่ ชื่อว่า ‘ร้านเล่า’

ต้องเกริ่นก่อนว่าในยุคนั้น ร้านหนังสืออิสระในประเทศมีน้อยมาก ดังนั้นการเกิดขึ้นของร้านหนังสืออิสระใหม่จึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น พอฝึกงานเสร็จแล้วกลับมาเชียงใหม่ เราเลยมาที่ร้านเล่าครั้งแรกในฐานะลูกค้า เริ่มได้รู้จักกับเหล่าผู้ก่อตั้งคือ พี่ก้อย, พี่จิ๋ว, พี่หนู และพี่เก็ท ก็ตอนนั้น ซึ่งหลังจากรู้จักก็เริ่มสนิทและค่อยๆ ได้มาช่วยงานที่ร้าน จนกระทั่งประมาณปี 2546 เราก็ได้เริ่มมาทำงานที่ร้านจริงจัง ลากยาวมาถึงปัจจุบัน

หน้าตาร้านเล่าในวันนั้นแตกต่างจากวันนี้อย่างไรบ้าง

ร้านเล่าในวันแรกไม่ได้ตั้งอยู่หน้านิมมานฯ ซอย 2 (ถนนนิมมานเหมินทร์) แบบวันนี้ด้วยซ้ำค่ะ ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายคือ ร้านแรกจะอยู่ตรงข้ามวอร์มอัพ ในซอยที่เป็นเหมือนเวิ้งรวมร้านขายของอินดี้ หน้าซอยเป็นร้านสวนนม (ปัจจุบันตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่) บรรยากาศนิมมานฯ เมื่อครั้งอดีตก็ไม่ใช่แบบตอนนี้ คือค่อนข้างเงียบ แต่ก็เต็มไปด้วยร้านเก๋ๆ ต่างกับปัจจุบันที่ค่อนข้างคึกคักและเต็มไปด้วยตึกสูง

โดยร้านเล่าอยู่ตรงนั้นประมาณ 2 ปี ก่อนย้ายร้านไปอยู่แถวประเสริฐแลนด์ ห่างจากร้านเก่าไม่เท่าไหร่ ซึ่งช่วงเวลา 4-5 ปีของร้านเล่าที่สองนี่แหละ ถือเป็นช่วงที่ร้านเติบโตและคึกคักมาก เพราะเป็นช่วงที่วงการหนังสือได้รับความนิยมถึงขีดสุด หนังสือเริ่มมีพื้นที่ในชีวิตผู้คนมากขึ้น ร้านเล่าเองก็เริ่มจัดกิจกรรมเกี่ยวกับหนังสือและภาพยนตร์เป็นครั้งแรกก็ช่วงนี้ เรียกว่าเป็นยุคเฟื่องฟูก็ว่าได้ ก่อนที่ร้านจะย้ายอีกครั้ง มาอยู่หน้านิมมานฯ ซอย 2 แบบในปัจจุบัน 

ตลอด 23 ปีที่ผ่านมาที่วงการหนังสือเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในกรณีของร้านเล่าเอง รับมือกับแต่ละความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ถ้าเป็นในช่วงที่วงการหนังสือคึกคัก ตอนนั้นการรับมือน่าจะเป็นการรู้จักและชัดเจนในความเป็นตัวเองว่าเราอยากนำเสนอหนังสืออะไร เพราะด้วยความที่ร้านหนังสือมีอยู่หลายร้าน และแต่ละประเภทร้านก็มีกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน ดังนั้นท่ามกลางการแข่งขันที่สูง การรู้จักตัวเองและกลุ่มลูกค้าของเราจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเราคิดว่าช่วงนั้นร้านเล่าถือว่าผ่านไปได้ด้วยดีเลย

เราพบว่าร้านเล่ามีกลุ่มลูกค้าของตัวเองที่ค่อนข้างชัดเจน คือกลุ่มคนที่ไม่ได้อยากเข้าห้างและชอบหนังสือแบบที่เรามี นั่นคือหนังสือกลุ่มประเภทวรรณกรรม สังคมวิทยา มานุษยวิทยา ศาสนา ปรัชญา ประวัติศาสตร์และการเมือง ดังนั้นในช่วงเวลาเหล่านั้นเลยเป็นเหมือนการโต้คลื่นไปแบบด้วยความเข้าใจ ถือเป็นช่วงที่ขายดี ผู้คนในสังคมเองก็พร้อมเข้าถึงหนังสือและร่วมกิจกรรมที่เราจัดด้วยผลตอบรับที่ดี

แต่ถ้าถามถึงช่วงที่ร้านหนังสือเริ่มเปลี่ยนผ่านเยอะๆ เราว่ามันคือช่วงไม่กี่ปีมานี้ ที่การซื้อขายออนไลน์เริ่มกลายเป็นช่องทางหลัก

ยกตัวอย่างให้เห็นความแตกต่าง อย่างสมัยก่อนมีช่วงเวลาหนึ่งเลยนะ ที่ทีมเซลส์ของนิตยสารจะเข้ามาติดต่อกับทางร้าน หรือเป็นกิจวัตรที่สายส่งจะเข้ามาเก็บนิตยสารตามร้าน ต่างกับตอนนี้ที่นิตยสารแทบจะล้มหายตายจากไปหมดแล้ว รวมถึงหนังสือประเภทอื่นๆ ด้วยที่ได้รับผลกระทบจนปั่นป่วนไปหมด จนทุกคนต้องพยายามเอาตัวรอดโดยกระโดดเข้าไปในช่องทางออนไลน์ ส่งผลต่อเนื่องให้ยุคสมัยนี้กลายเรื่องท้าทายสำหรับร้านหนังสืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสถานการณ์บีบบังคับให้เรามีคู่แข่ง ต้องปรับตัวและโต้คลื่นลูกใหญ่ของความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 

ซึ่งตอนนี้ร้านเล่าก็ยังคงพยายามอยู่ เราเองพยายามก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์ให้ได้และอยากกลับมาจัดกิจกรรมอีกครั้งเพื่อสร้างคอมมูนิตี้อยู่เหมือนกัน 

คนเปลี่ยน ร้านหนังสือก็เปลี่ยน?

(นิ่งคิด) ส่วนหนึ่งก็ใช่ แต่เราว่าสิ่งที่เปลี่ยนเป็นเรื่องของความสะดวกสบายในการเข้าถึงสื่อแต่ละช่องทางมากกว่า ในขณะที่บางอย่างของสังคมก็ยังคงเหมือนเดิมและส่งผลต่อร้านเล่าเหมือนเดิมเช่นกัน เช่น พลังของคนรุ่นใหม่และความพยายามในการแสวงหาของพวกเขา ที่ไม่ว่ายุคไหนสิ่งนี้ก็ยังคงเห็นได้อย่างแจ่มชัด ความคิดสร้างสรรค์ที่สดใหม่เป็นสิ่งที่สัมผัสได้ในแต่ละยุคอยู่ตลอด

ถ้ามองจากมุมคนภายนอก การโต้คลื่นในวงการที่เปลี่ยนผ่านเยอะขนาดนี้ดูเป็นเรื่องที่น่าหวั่นใจมาก ในฐานะที่คุณอยู่กับความเปลี่ยนแปลง คุณเองมีช่วงที่หวั่นใจหรือกลัวบ้างหรือเปล่า

กลัวสิ (ตอบทันที) หวั่นใจในทุกความเปลี่ยนแปลงนั่นแหละ อย่างตอนที่ E-Book เข้ามาแรกๆ เราก็กังวล หรืออย่างตอนนี้ที่ต้องทำช่องทางการขายออนไลน์ เราก็กลัว แต่สุดท้ายคงเป็นความเชื่อในใจลึกๆ ที่ทำให้ผ่านไปได้ ความเชื่อที่ว่าบนโลกนี้ยังคงมีคนที่อยากมาจับต้องหนังสือ อยากเข้าใจในโครงสร้างของหนังสือ และอยากซื้อหนังสือที่เนื้อหาของหนังสือ ไม่ใช่ในฐานะสินค้าลดราคาใดๆ

หรืออย่างในส่วนของลูกค้าเอง พวกเขาก็เป็นแรงให้เราไปต่อ ไม่ว่าจะฟีดแบ็กดีๆ บทสนทนาดีๆ หรือเหตุการณ์ที่ลูกค้าเก่าสมัยมหา’ลัยพาลูกมาที่ร้าน เหล่านี้เป็นความรู้สึกดีๆ ที่หล่อเลี้ยงข้างในทั้งนั้น ทุกวันนี้เราเลยไม่มีคำว่า ‘เลิกทำร้าน’ อยู่ในหัว มีแต่จะปรับร้านยังไงให้สามารถมีรายได้และพยุงร้านต่อไปได้มากกว่า

แล้วก่อนหน้านี้ล่ะ เคยมีความคิดเรื่องเลิกทำร้านเกิดขึ้นบ้างไหม 

มี แต่นานมากแล้ว ประมาณสิบกว่าปีก่อน จำได้ว่าตอนนั้นเป็นช่วงชีวิตที่ทำงานร้านเล่าแค่อย่างเดียว แล้วเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เงินหมุนไม่พอ เลยคุยกับพี่เก็ทว่าเลิกดีไหม ซึ่งก็เป็นพี่เก็ทนี่แหละที่ห้ามไว้ บอกให้ช่วยกันหาทางออกไป หมุนเงินกันจนผ่านมาได้ แล้วหลังจากนั้นก็ไม่ได้คิดอยากเลิกทำอีกเลย

เป็นความตั้งใจหรือความฝันของคุณแต่แรกเลยหรือเปล่า ที่อยากทำงานร้านหนังสือ เพราะจากอุปสรรคทั้งหมดที่เล่ามา ดูคุณต้องใช้อุดมการณ์ภายในมากเหมือนกันถึงผ่านมาได้

แน่นอนว่าในขั้นต้น เราเป็นคนรักการอ่านอยู่แล้วเนอะ แต่ถ้าถามว่าตั้งใจทำงานที่ร้านหนังสือตั้งแต่แรกเลยไหม เราว่าไม่ การได้มาอยู่ตรงนี้มีที่มาจากการได้มาช่วยงานที่ร้านเรื่อยๆ จนรู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นงานหลัก ดังนั้นถ้าให้พูดตรงๆ คือร้านหนังสือไม่เคยเป็นความฝันหรืออุดมการณ์ใดๆ ของเรา 

(นิ่งคิดนาน) แต่มันเป็นความชอบ ใช่แล้ว มันคือความชอบ ที่พอชอบแล้วก็อยากทำ ต่อให้ลองไปทำอย่างอื่นก็ชอบทำงานที่ร้านมากกว่า ดังนั้นพอเป็นแบบนี้ ทุกวันนี้เลยเป็นอะไรที่ง่ายๆ สำหรับเรา คือทำในสิ่งที่ชอบต่อไป จะเศร้า ทุกข์ หรือสุขก็แค่กลับมาที่ร้าน หนังสือมาใหม่ทีก็ตื่นเต้นที เป็นไปง่ายๆ แบบนั้นเอง

ถ้าวันนี้มีคนมาขอความเห็นจากคุณ เรื่องการเปิดร้านหนังสืออิสระเพราะความชอบ คุณจะให้คำแนะนำเขาว่าอย่างไร

เปิดเลย (ตอบทันที) ยิ่งยุคนี้เราว่าเปิดง่ายด้วย การเข้าถึงสำนักพิมพ์เพื่อเอาหนังสือมาวางขายก็ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ยิ่งถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ การสร้างช่องทางการขายออนไลน์ก็สามารถทำได้ อาจมีโจทย์ที่ยากเพิ่มขึ้นมาบ้างอย่างการที่ทุกคนกระโดดเข้ามาขายออนไลน์หมดแล้ว และอาจต้องทำอาชีพเสริมเพื่อพยุง แต่ถ้าคุณชอบ เราก็ยังเชียร์ให้เปิดอยู่ดี 

ในการก้าวเข้าสู่ขวบปีที่ 24 และปีต่อๆ ไป ร้านเล่ามีทิศทางอย่างไรกับอนาคตบ้าง

มีหลายอย่างเลยที่คิดอยู่ เพราะด้วยความที่เราก็อายุเยอะขึ้นด้วย วงการเองก็เปลี่ยนไปทุกวัน เราเลยเริ่มคิดถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ เช่น อาจจะมี 2 ที่ คือเปิดเพิ่มที่บ้านอีกร้านหนึ่งเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเดิมที่ไม่อยากเข้ามารถติดในเมือง เรื่องนี้กำลังชั่งใจ เช่นเดียวกับช่องทางการขายออนไลน์ที่ต้องเริ่มได้แล้ว ก็คงเริ่มหาคนมาทำจริงจัง ปรับตัวกันไปเรื่อยๆ

แล้วมีเรื่องไหนที่ร้านเล่ายังคงตั้งใจเน้นเป็นแกนหลักไหม ที่ไม่ว่าเวลาผ่านไปกี่ปีก็ยังคงเดิม

สิ่งหนึ่งที่ร้านเล่าพยายามบอกเล่ามาเสมอตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ คือการส่งเสริมบรรยากาศทางการอ่าน เพราะในเมื่อมีหน้าร้านแล้ว เราถือว่าร้านเล่าต้องทำบทบาทนี้อย่างเต็มที่ ต่อให้ไม่ใช่นักอ่านแต่ร้านต้องสร้างบรรยากาศให้คนอยากอ่านหนังสือสักเล่มให้ได้ นี่เป็นความตั้งใจที่ตั้งต้นตั้งแต่ผู้ก่อตั้งทั้ง 4 คน และส่งต่อเรื่อยมาผ่านร้าน ซึ่งเราก็รักษาไว้จนถึงตอนนี้

ดังนั้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เวลาลูกค้ามาถามว่า “อยากเริ่มต้นอ่านหนังสือ อ่านเล่มไหนดี?” เราจะดีใจมาก เพราะถือว่าความตั้งใจของร้านสำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว  หรือการที่ร้านได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านได้รับสารที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต นั่นก็ถือเป็นเรื่องดีๆ เหมือนกัน เพราะในฐานะนักอ่าน เราเข้าใจดีว่าประโยคแค่หนึ่งประโยคในหนังสือสามารถมีผลต่อชีวิตได้ขนาดไหน ดังนั้นถ้าเราได้มีส่วนส่งต่อประโยคเหล่านั้นให้กับผู้อ่านคนอื่นก็เป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยเลย

คำถามสุดท้าย ถ้าให้ทบทวนตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา รางวัลสำหรับการทำงานร้านเล่าของคุณคืออะไร

(นิ่งคิด) อย่างแรกคือผลตอบรับของลูกค้าอย่างที่เล่าไป อีกอย่างคือเราว่านี่เป็นอาชีพที่เราทำแล้วมีความสุขนะ ถึงไม่ได้มีค่าตอบแทนเยอะ แต่ในทุกวันที่ตื่นนอน เรายังคงมีความสุขเวลานึกขึ้นได้ว่าเดี๋ยวจะต้องรีบไปเปิดร้าน มันก็ยังคงเป็นความรู้สึกแบบนั้นเสมอตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้

ซึ่งแค่นั้นก็พอแล้วไม่ใช่เหรอ ว่าไหม (ยิ้มกว้าง)