9 Min

“ก้าวไกลสร้างความหวังให้ประชาชน มันเลยไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่ ‘อนุรักษนิยม’ บางส่วน หรือ ‘สลิ่มกลับใจ’ ที่เบื่อรัฐประหาร เขาก็เลือก” ใบตองแห้ง ‘อธึกกิต แสวงสุข’ มองการเมืองไทยนับจากนี้

9 Min
1023 Views
01 Jul 2023

ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาผิดจากที่คาดคิดไว้ไหม

ผิดคาด เกินคาดมาก ไม่ได้คิดว่าก้าวไกลจะมาไกลขนาดนี้ เพราะจริงๆ ประเด็นของเขามันท้าทาย แต่อันที่จริงถึงแม้จะถูกถามอยู่ตลอดเรื่องการแก้มาตรา 112 แต่เวลาหาเสียงเขาไม่ได้ชูเรื่องนี้เป็นตัวนำเสียทีเดียว ก้าวไกลยังใช้เรื่องอื่น เช่น เรื่องการเปิดโปงทุจริต ผลงานอภิปรายในสภาฯ ภาพลักษณ์คนรุ่นใหม่ ความกล้าที่จะทำการเมืองใหม่ เสนอนโยบายที่แหวกความคิดเก่า

มันปลุกให้คนรู้สึกว่าการเมืองมีความหวัง ทำให้รู้สึกว่าการเมืองจะพ้นไปจากเรื่องของการใช้เงินได้

ผมไม่ได้ว่านักการเมืองบ้านใหญ่เลวร้ายอะไรแบบนั้นนะ ผู้ออกกติกาทั้งหลายพยายามทำให้พวกบ้านใหญ่เป็นผู้ร้าย ถ้าเรามองกันจริงๆ ส.ส. ที่ถูกเรียกว่าบ้านใหญ่เขาเป็นคนมีฐานะ แล้วชาวบ้านไม่ได้ร่ำรวย มันจึงมีระบบอุปถัมภ์ มีการดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกันมาตลอด การเมืองในระบบบ้านใหญ่มันเป็นอย่างนั้น 

แต่ที่เราสู้กันมาตลอดคือ เราพยายามที่จะยืนยันว่า “คุณคิดว่าการเมืองบ้านใหญ่มันแย่แค่ไหน แต่รัฐประหารมันแย่กว่านั้น” เพราะรัฐประหารจะพยายามใช้ข้ออ้างว่าการเมืองบ้านใหญ่เป็นผู้ร้าย แล้วก็เลือกทำรัฐประหารเอาโดยอาศัยกลไกสองนคราฯ (สองนคราประชาธิปไตย ทฤษฎีที่บอกว่าคนต่างจังหวัดตั้งรัฐบาล คนเมืองล้มรัฐบาล เสนอโดย อ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์) แต่ก่อนคนชนบทจะโหวตเลือกรัฐบาล คนกรุงล้มรัฐบาล มันเป็นอย่างนี้มาตลอด 

เพราะฉะนั้นเราจะไม่ได้บอกว่าการเมืองบ้านใหญ่เป็นผู้ร้ายหรือมันเลวร้ายอะไรขนาดนั้น แต่ก้าวไกลแค่มาทำให้เห็นว่า เราสามารถมีพรรคการเมืองที่ต้านรัฐประหาร และในเวลาเดียวกันก็ไม่จำเป็นต้องติดกับอยู่กับระบบการเมืองบ้านใหญ่

ก้าวไกลสร้างความหวังให้ประชาชน มันเลยไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่แม้แต่ฝ่าย ‘อนุรักษนิยม’ บางส่วน หรือ ‘สลิ่มกลับใจ’ ที่เบื่อรัฐประหารมาก เขาก็เลือก ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้ตระหนักรู้ทางการเมืองอะไรมากมายอย่างที่คนรุ่นใหม่ตระหนัก ต้องยอมรับว่าคนที่เลือกก้าวไกลมา 14 ล้านคน มันไม่ได้ตระหนักอะไรกันหมดขนาดนั้น แต่เลือกเพราะรู้สึกว่าการเมืองมันพอมีอนาคตมีความหวัง ทั้งที่รู้อยู่ว่าพรรคนี้จะแก้มาตรา 112 แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นที่ทำให้ไม่เลือก 

และที่สำคัญอารมณ์ของผู้คนในตอนนี้คืออยากเห็นความเปลี่ยนแปลงซึ่งตรงกับสิ่งที่ก้าวไกลเสนอ คือการเปลี่ยนเกือบทุกอย่าง เหมือนสโลแกน ‘ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม’ ของเขามันถูก เพราะคนเหลืออดกับสิ่งที่ทนอยู่มา 9 ปี คนอยากเปลี่ยน ไม่ใช่เปลี่ยนแค่เอาประยุทธ์ออกไป แต่เปลี่ยนถึงโครงสร้างมากขึ้น 

เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้บอกอะไร ผมคิดว่า ไม่ว่าก้าวไกลจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว มันแสดงให้เห็นว่าคนที่อยากเปลี่ยนมีจำนวนมาก และมีแต่จะมากขึ้นเรื่อยๆ พลังตรงนี้เห็นชัดเจนและเติบโต

คิดว่าการที่ก้าวไกลถือความหวังของผู้คนเอาไว้มากขนาดนี้ หากพวกเขาทำไม่สำเร็จ มันยิ่งง่ายต่อการหมดศรัทธาหรือเปล่า

ความเป็นก้าวไกลมันเป็นเรื่องของชุดความคิดใหม่ เพราะฉะนั้นมันคงไม่ได้จะล้มเหลวหมด หรือสำเร็จหมด มันอาจจะมีบางอย่าง หรือหลายอย่างที่ก้าวไกลทำไม่ได้ แต่ก็ขอให้อยู่ในภาวะที่สู้แล้วแต่ทำไม่ได้ คิดว่าการสนับสนุนก็จะยังอยู่ เพราะทิศทางการเมืองตอนนี้ คนต้องการการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเปลี่ยนเรื่องของระบบราชการ เรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องการปฏิรูปกองทัพที่ไม่ใช่แค่การเลิกเกณฑ์ทหาร จำนวนนายพลและหน่วยงานที่มีมากเกินความจำเป็น รวมถึงยุบหรือลดอำนาจ กอ.รมน. ซึ่งไม่ควรจะมีอำนาจหน้าที่มาเป็นรัฐซ้อนรัฐ 

คุณกำลังจะบอกว่าแม้จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้จริง แต่การเปลี่ยนแปลงความคิดได้ ก็ยังเป็นชัยชนะอยู่ดี?

ผมคิดว่าสิ่งที่เห็นชัดที่สุดคือเรื่อง ‘การนำเสนอความคิด’ และ ‘วิธีคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง’ ถึงแม้ในอนาคตจะไม่มีพรรคก้าวไกล แต่ความคิดนี้ยังอยู่ และต่อจากนี้ไป ทุกพรรคต้องขยับไปเสนอความคิดในทิศทางดังกล่าว สิ่งนี้มันคือสิ่งที่ก้าวไกลทำสำเร็จแล้ว ถึงแม้ว่าสมัยนี้มันอาจจะเจอแรงเสียดทานอะไรที่ทำให้ทำได้ไม่หมด แต่ก้าวไกลมีวิธีคิดที่เป็นเอกภาพ และเป็นวิธีคิดที่เป็นที่ยอมรับกับสังคมในระดับหนึ่งสำหรับคนรุ่นใหม่ 

จริงๆ คนก่อร่างสร้างชัยชนะของก้าวไกลมันมี 2-3 ส่วน

หนึ่ง คือมาจากคนเสื้อแดงหรือชนชั้นกลางเสียงข้างน้อย ที่อยู่ข้างประชาธิปไตย บางส่วนก็เคยไม่เอาหรือเคยวิจารณ์ทักษิณ (ชินวัตร) แต่ไม่เอาพันธมิตรฯ (กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) ไม่เอามาตรา 7 พอเกิดรัฐประหารก็ต้านรัฐประหารและก็เข้าร่วมกับขบวนประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2549 เราเรียกว่าชนชั้นกลางส่วนข้างน้อย เพราะส่วนข้างมากก็จะเข้าร่วมกับพันธมิตรนกหวีด

สอง คือคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นมาในช่วง 9 ปี โดยเฉพาะม็อบราษฎร ที่เกิดขึ้นหลังยุบพรรคอนาคตใหม่

และสาม คือคนที่เคยเป็นพันธมิตรฯ นกหวีดแล้วเห็นว่าที่เป็นอยู่นี่มันไม่ใช่ทิศทางที่ควรจะเป็น จึงเปลี่ยนใจ แต่มันยังไม่ได้บอกว่าคนกลุ่มหลังนี้มองวิถีประชาธิปไตยถูกเสียทั้งหมดนะ แต่เลือกก้าวไกลเพราะอาจจะเหลืออดกับประยุทธ์ รวมทั้งอยากเห็นการเมืองดี การเมืองที่ไม่ใช้เงิน 

นั่นทำให้เสื้อเหลืองบางคนจึงเปลี่ยนเป็นเสื้อส้มอย่างทุกวันนี้หรือเปล่า

มันคงไม่ใช่แค่การหาเสียงโดยไม่ต้องใช้เงินอย่างเดียว แต่เขาคงหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง เราต้องยอมรับว่าคนที่ไปเป็นพันธมิตรฯ หรือเคยไปเป่านกหวีด ในส่วนที่เป็นมวลชน ไม่ใช่ผู้นำที่มี agenda เขาก็มีด้านที่อยากเห็นประเทศดีขึ้นนะ แต่ว่ามองอีกแบบ คือไปรับวิธีคิดเรื่องคนดีปกครองบ้านเมืองที่มาจากการแต่งตั้ง มาจากการรัฐประหาร แล้วเห็นนักการเมืองที่มาจากเลือกตั้งเลว

พันธมิตรฯ ส่วนหนึ่งก็เป็นเอ็นจีโอ (NGO) ที่ขัดแย้งกับรัฐบาลไทยรักไทยอยู่ 5 ปี เอ็นจีโอไม่เอาทักษิณ ออกมาต่อต้านจนได้รัฐประหาร แต่พอมาถึงยุคประยุทธ์ ระบบราชการล้าหลังก็ยิ่งทำลายการทำงานของเอ็นจีโอมากกว่าเดิมเสียอีก นั่นทำให้เอ็นจีโอก็หันมาต่อต้านประยุทธ์กันหมด แล้วพอเกิดพรรคก้าวไกล เอ็นจีโอก็เทมาให้ก้าวไกลหมด นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น แต่วิธีคิดและอีกหลายๆ เรื่องก็อาจจะยังติดอะไรเดิมๆ อยู่ หรือความระแวงเพื่อไทยก็ยังมีเยอะอยู่ 

‘ติ่งเพื่อไทย’ กับ ‘ด้อมส้ม’ แตกต่างกันอย่างไรในความคิดคุณ ทำไมจึงเกิดวิวาทะระหว่างสองกลุ่มนี้บ่อยครั้ง

เวลามองความขัดแย้งของเพื่อไทยกับก้าวไกล ผมเห็นว่ามันเป็นเรื่องของการเปลี่ยนความคิดในหลายเรื่อง เมื่อกี๊ผมบอกว่าคะแนนเสียงของก้าวไกลสายหนึ่งจากพวกสลิ่มที่เกลียดทักษิณ แล้วกลับใจมาให้คะแนนก้าวไกล แต่สายหนึ่งก็คือคนเสื้อแดงเองนั่นแหละ คนที่บอกว่าเพื่อไทยสู้ไปกราบไป คำว่า ‘สู้ไปกราบไป’ ก็เกิดมาจากเสื้อแดงที่ไม่พอใจพรรคเพื่อไทยนะ ไม่ได้มาจากฝั่งสลิ่ม มันมาจากคนเสื้อแดงที่ผิดหวังรัฐบาลเพื่อไทยปี 2554-2556 มาจนถึงนิรโทษกรรมสุดซอย ซึ่งคนเสื้อแดงส่วนนี้แหละที่ไปร่วมก่อตั้ง สนับสนุน และเลือกก้าวไกล

ส่วนคนรุ่นใหม่ก็ใช้คำว่าเขาไม่รับการเมืองแบบเพื่อไทยแล้ว อันนี้มันคือลักษณะของคนรุ่นใหม่ ซึ่งต้องการซัดตรงๆ ชัดเจนไปเลย แต่การเมืองแบบเพื่อไทยจริงๆ ผมก็ไม่ได้คิดว่าผิดนะ ผมยังคิดว่าถูกด้วยซ้ำไป วางยุทธศาสตร์หาเสียงเรื่องปากท้อง หวังดึงคนวงกว้าง แตะเรื่องโครงสร้างแต่น้อย เลี่ยงประเด็นล่อแหลม ชนะเลือกตั้งแล้วค่อยรื้อทีละอย่าง อันที่จริงมันถูกแล้ว แต่ทำไมคนกลับไม่รับ อันนี้เราก็ตอบไม่ได้

เพราะสำหรับผม ผมก็คิดว่าคนวงกว้างจะเลือกเพื่อไทย ผมน่าจะอยู่ในคนส่วนน้อยที่เลือกก้าวไกล เพื่อกระทุ้งเพดานทางการเมืองให้สูงกว่าเพื่อไทย แต่มันกลับตาลปัตร

คิดว่าพรรคที่ต้องทำงานตามเสียงมวลชนจะทำงานได้จริงๆ ไหม ก่อนหน้านี้พรรคการเมืองส่วนใหญ่อาจต้องฟังเสียงขั้วอำนาจควบคู่ไปด้วย 

ผมคิดว่ามันเป็นการทดลองการเมืองใหม่ เราต้องรอดูเวลาที่ก้าวไกลจะรื้อโครงสร้างกลาโหม ลดนายพล ยุบ กอ.รมน. อะไรพวกนี้ คือมันต้องการพลังมวลชนหนุนเยอะ ในทางเทคนิค ก้าวไกลอาจจะเป็นพรรคที่ไม่ได้ใช้เสียงในสภาฯ หรอก แต่ใช้ฉันทามติมาบีบ ทั้งพลังด้อม กระแสออนไลน์ เสียงของคนชั้นกลางในเมือง ที่เมื่อก่อนเคยเป็นสองนครา ตอนนี้เป็นส้มพรึ่บ มันจะบีบว่ากองทัพต้องถอย 

ผมคิดว่ามันจะเกิดการชนกันแบบนี้ไปตลอด เพราะฉะนั้นภารกิจของก้าวไกลมันไม่ใช่การมาปกครองประเทศให้ราบรื่น แต่เขามาเพื่อชน เพื่อเปลี่ยนแปลง มันก็จะกลายเป็นการเมืองที่อาศัยมวลชนไปตลอด มันอาจจะพลาดก็ได้ ผมไม่แน่ใจ แต่อยู่ที่ว่าจะรักษากระแสระดับนี้ได้แค่ไหน ตีโต้กลับยังไง อันนี้ยากนะ ผมคิดว่ายาก มันต้องจุดกระแสให้ติดตลอด

แต่ก็ไม่น่าจะพลาดอะไรหนักๆ อย่าง #มีกรณ์ไม่มีกู ก็นับว่าพลาด เขาอาจจะคิดเรื่องรวมเสียงตั้งรัฐบาลมากเกินไป โดยคิดว่าพรรคไม่ได้มีกรณ์จริงๆ เพราะกรณ์ไม่ได้เป็น ส.ส. คิดว่ามันเป็นพรรคสุวัจน์ (ลิปตพัลลภ) แต่พอด้อมแฮชแท็ก เขาก็ถอยกลับทันที สะท้อนว่าพรรคฟังเสียงประชาชน เพียงแต่อีกด้านมันก็เสียเครดิตในการเจรจากับคนอื่น

ผมคิดว่าการเมืองที่ก้าวไกลเป็นแกนนำก็จะเดินแบบนี้ มีพลาดมีอะไรบ้าง แต่ถ้ายังอยู่กับวิธีคิดแบบนี้ก็จะไม่พลาดหนักๆ พลาดแล้วก็จะถอย พลาดแล้วก็จะกลับมา น่าจะอยู่กันแบบนี้

แต่สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่เวลาก้าวไกลไปชนตอจริงๆ ตอที่เป็นฝ่ายขั้วอำนาจเขาจะทำยังไง ผมคิดว่าเขาก็คงรู้แล้วแหละว่าทำรัฐประหารไม่ได้แล้ว มวลชนคงไม่ยอม เขาก็ต้องเล่นเกมกัดกร่อนบ่อนเซาะจากข้างใน

อย่างที่เราเห็นภาพ ขณะที่ ส.ว. ประกาศไม่ยอมรับพรรคที่แก้ 112 นักร้องไปชงเรื่องถือหุ้นสื่อ คุณสมบัติต่างๆ แต่วิโรจน์ก็ไปลุยส่วยรถบรรทุกแล้ว ก้าวไกลเขาทำงานเลย แบบนี้มันก็ได้ใจคน ทำให้คนเชื่อถือว่าจะชนเรื่องทุจริต ซึ่งเครดิตของก้าวไกล อย่างโรม (ริงสิมันต์ โรม) พูดแล้วกล้าทำ ก้าวไกลกล้าพูดแล้วก็กล้าทำ ถึงแม้ไร้ประสบการณ์ แต่คิดว่ามันจะชนจะลุยจริงๆ คนก็อยากเห็น

คุณคิดว่าการเมืองไทยกำลังเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ไม่ใช่การค่อยๆ เปลี่ยนแปลงแล้วหรือเปล่า

ผมก็งงอยู่เหมือนกัน ยังคิดว่ามันเร็วจัง ปี 2563 ม็อบธรรมศาสตร์ ผมยังไม่คาดคิดเลยว่าจะมีข้อเสนอแบบนั้น ผมช็อกเลย ตอนรุ้งขึ้นไปประกาศบนวที มันสวนกับทฤษฎีในโลกยุคผม ยุคพี่อ้วน (ภูมิธรรม เวชยชัย) หมอมิ้ง (พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช) คือยุคก่อนเวลาจะเคลื่อนไหวอะไร เราต้องคิดเรื่องแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง ต้องวางจังหวะก้าวที่เหมาะสม สามัคคีฝ่ายก้าวหน้า ช่วงชิงคนตรงกลาง ยุทธศาสตร์คือกินข้าวหมดจาน ยุทธวิธีคือกินทีละคำ 

แต่ทันทีที่ม็อบธรรมศาสตร์ประกาศ 10 ข้อปฏิรูปสถาบัน ผมนี่อ้าปากค้าง ช็อกเลย มันสวนทฤษฎีทุกอย่าง ถ้าเป็นเราคงไม่ทำแบบนั้น ไม่ใช่ไม่กล้า แต่อย่างน้อยเราคงใช้วิธีการนำเสนออีกแบบ พูดภาษาแบบรุ่นผมคือมันเลยธง คนที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหวเมื่อ 40 กว่าปีก่อนช็อกกันทุกคน

แต่เขาก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ความกล้าของเด็กทำให้เส้นแบ่งมันยุ่ยลง ถ้าเป็นยุคเรา เราก็ต้องค่อยๆ ทำ ต้องพูดให้นุ่ม ดึงคนให้มากที่สุด แต่นี่เขาซัดแบบที่เราไม่คาดคิด เขากล้า เขาชน ก้าวไกลก็คล้ายกัน เป็นการเมืองแบบที่เราไม่คาดคิด ใครว่าเอ็กซ์ตรีม มุทะลุ เขากลับชนะ มันก็เหลือเชื่อสำหรับเรานะ 

คุณคิดว่าสังคมไทยคาดหวังประชาธิปไตยที่เบ่งบานจริงๆ สักทีได้หรือยัง

ตรงนี้คือปัญหา เพราะคำว่าประชาธิปไตยเบ่งบาน ที่ผ่านมามันก็เบ่งบานนะ แต่ว่ามันก็เป็นนิยามของแต่ละยุคสมัยใช่ไหมล่ะ อย่างยุคสมัยแบบ 14 ตุลาฯ  มันก็เบ่งบานจริงๆ นะ ไม่ได้บอกว่าไม่เบ่งบาน แต่ว่ามันมีข้อจำกัด มันไปได้แค่นั้น  14 ตุลาฯ มันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดค่อนข้างเยอะ แต่คนอาจจะไม่ได้มองละเอียดมากนัก ช่วงเวลา 3 ปีมันก็เปลี่ยนอะไรเยอะ

เช่น เรื่องการมีปากมีเสียงของคนชนชั้นกรรมกร ของชาวนา เพราะหลังยุครัฐประหารที่กลับมาเป็นยุค พล.อ.เปรม (ติณสูลานนท์) เป็นนายกฯ ก็มีสิทธิ์เสียงมีเสรีภาพทั่วไปที่กว้างขึ้นอีกหน่อย ระบบราชการที่เคยมีอำนาจก็น้อยลง ยกตัวอย่างผมมาอยู่กรุงเทพฯ อายุ 15 ทำบัตรประชาชน รอคิวยาวเหยียด น้าชายผมซึ่งก็เป็นข้าราชการรู้ประเพณี เอาเอกสารยัดเงิน 20 บาทไว้ข้างใน ส่งปุ๊บเสร็จเลยได้บัตรเลย จบ แต่เทียบกับยุคหลัง 14 ตุลาฯ คนมีปากมีเสียงมากขึ้น ระบบราชการก็ลดอำนาจลง

ตอนพฤษภาทมิฬ ปี 2535 คนก็นึกว่าเปลี่ยนได้เยอะแล้ว แต่สุดท้ายแล้วที่ไหนได้ วงจรเดิมมันก็มาอีก แต่ว่ามันก็มีการยกระดับ เรายังไม่ได้เป็นประชาธิปไตยแบบเต็มใบ เพราะขั้วอำนาจเขาก็ยังมีอยู่ตั้งเยอะ แต่อย่างน้อยมันยกระดับวิธีคิดของคนได้

คุณคิดว่าจะเกิดรัฐประหารขึ้นอีกไหม

ทำได้ ถ้าคิดจะทำก็ทำได้ แต่จะเป็นการรัฐประหารที่ไม่แยแสโลก ไม่แยแสใครเลย หาคนสนับสนุนก็ยาก บรรยากาศทางการเมืองมันไม่ได้สร้างความชอบธรรมให้ทหารอีกแล้ว

แม้มีความพยายามปลุกกระแสชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ปลุกเรื่อง 112 แบ่งแยกดินแดน อเมริกาตั้งฐานทัพในไทย แต่มันล้าหลังสุดโต่งมาก ปลุกไม่ขึ้น มีรัฐประหารคนก็จะไม่ยอมรับ ใครคิดทำรัฐประหารโอกาสไม่ได้ปิดนะ แต่มันยากมากๆ และมันเป็นอันตรายอย่างยิ่งกับอำนาจ คิดง่ายๆ ว่า 9 ปีทำให้คนเลือกก้าวไกลขนาดนี้ ผมคิดว่ามันไม่น่าจะมี

บุคลิกของพิธาทำให้ปลุกความเกลียดชังได้ยากด้วยหรือเปล่า

พิธาได้รับกระแสที่ดีจริง คือถ้าเป็นธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) จะเป็นอีกแบบ คนมองว่าธนาธรแข็งไป แต่พิธาซึ่งมาสืบทอดจุดยืนเดียวกันบุคลิกนุ่มนวลกว่า เข้ากับคนได้ เป็นบุคลิกแบบที่ถ้าไม่ใช่หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้หลักผู้ใหญ่คงจะชอบคงจะเอ็นดู ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็เชื่อว่าพรรคยังมีความกล้าความเข้มแข็งเหมือนที่ธนาธรสร้างมา 

แต่พิธาไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของก้าวไกล พรรคยังมีคนอื่นสลับหน้าได้ ช่วงต่อไปคงต้องสลับคนอื่นที่เด่นๆ ช่วงหาเสียงมันยังเร็วไปนิดนึง เขายังไม่ทันเสนอคนใหม่ เช่นทีมเศรษฐกิจยัง low-profile คงต้องพยายามที่จะดันคนอื่นขึ้นมา 

แบบรุ่นแรกเราก็เห็นธนาธร, ปิยบุตร (แสงกนกกุล), ช่อ (พรรณิการ์ วานิช) ตอนนี้ก็มีพิธา, ศิริกัญญา ตันสกุล แล้วก็จะมีอย่าง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, รังสิมันต์ โรม คือพรรคก้าวไกลมีลักษณะเป็นทีมงานที่มีชุดความคิดเดียวกัน ทดแทนกันได้เกือบหมด

เทียบแล้วก็แตกต่างจากยุคคุณทักษิณ คุณทักษิณแกเก่ง เป็นอัศวินจริงๆ แต่แกโดดเด่นคนเดียวแบบ CEO 

วัยรุ่นเดือนตุลาฯ อย่างคุณยังอินการเมืองอยู่ไหม

ผมยังอินกับการเมืองอยู่ ไม่ใช่เพียงเพราะอาชีพ เพื่อนผมก็แบบนี้เกือบทุกคน 

ผมเชื่อว่าพวกออกจากป่าแบบผมหรือพวกรุ่น 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519 แปดสิบเปอร์เซ็นต์หรือมากกว่า น่าจะเลือกก้าวไกล ไม่เหมือนตอนสงครามสีแบ่งแดงเหลือง ที่แบ่งครึ่งๆ หรือบางคนก็ว่าเหลือง 60

ผมบอกเสมอว่า พวกเรานี่แหละเป็นแดงมาก่อนเสื้อแดงเสียอีก 

เสื้อแดงด่าอำมาตย์เราก็ด่ามาก่อน ต่อต้านมานานแล้ว  คนที่ออกจากป่าก็ยึดทฤษฎีชนชั้น น่าจะเข้าข้างไพร่ ข้างกรรมกรชาวนาอยู่แล้ว ถึงแม้เรากลับมาอยู่ในสถานะคนชั้นกลาง พอบางคนจู่ๆ ไปเป็นเหลือง ก็ทะเลาะกันนะ ผมบอกว่ามันผิด พวกที่ไปร่วมกับพันธมิตรฯ ทำไมยังกลับไปเชียร์รัฐประหาร แต่อันที่จริงจากฝ่ายซ้ายมาเป็นฝ่ายขวา มันมาจากวิธีคิดเดียวกัน คือวิธีคิดที่ไม่เชื่อประชาธิปไตย

พรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้เชื่อประชาธิปไตย เชื่อเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ เผด็จการโดยพรรค ซึ่งก็คือคนดี คนที่มีอุดมการณ์สูงสุด ผ่านการต่อสู้ผ่านการดัดแปลงตัวเอง 

วิธีคิดนี้พลิกมานิดเดียวก็กลายเป็นเชื่อรัฐประหาร เพราะเชื่อว่าจะต่อต้านทุน

ผมก็ไม่แน่ใจว่าพวกที่ไปเป็นเหลืองแล้วกลับมาเลือกก้าวไกล จะเปลี่ยนวิธีคิดมากน้อยแค่ไหน เพียงแต่เห็นชัดว่า 9 ปียุคประยุทธ์มันแย่แค่ไหน และเห็นว่าพรรคก้าวไกลมีจุดร่วมทางอุดมการณ์มากกว่า 

แต่ถ้าเป็นเรื่องรัสเซียบุกยูเครน เกลียดอเมริกา อันนี้ก็ยังเถียงกันอยู่นะ ยังเป็น 70-30 คือ 70 เกลียดอเมริกา