“แล้วเวทีประกวดนางงามนำเสนอความงามในรูปแบบเดียวหรือเปล่า?” คุยกับ ‘ครูธัญ’ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. ก้าวไกล ผู้ผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ว่าด้วยเรื่องการตั้งคำถามต่อเวทีประกวดนางงาม

5 Min
1632 Views
06 Nov 2022

ช่วงเดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าคุณจะติดตามข่าวคราวในวงการนางงามหรือไม่ เราเชื่อว่าทุกคนน่าจะได้ยินความเคลื่อนไหวและกระแสต่างๆ บ้างไม่มากก็น้อย

ไม่ว่าจะเป็นผลการประกวด ไปจนถึงการเปลี่ยนมือผู้ถือลิขสิทธิ์เวที เหล่านี้ล้วนสร้างประเด็นพูดคุยให้เกิดขึ้นในสังคมทั้งสิ้น

แต่ในขณะเดียวกันท่ามกลางความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น การถกเถียงเรื่องความเหมาะสมในการประกวดนางงามก็ยังคงถูกหยิบยกมาทุกครั้งไม่ว่าจะเวทีไหน หรือแม้แต่สิ่งที่ผู้เข้าประกวดพูดบนเวที หลายครั้งก็ตามมาด้วยกระแสทั้งดีและไม่ดีให้ได้พูดถึงมาโดยตลอด

และจากเหตุผลเหล่านี้เอง จึงเป็นเหตุให้เราติดต่อเข้าไปพูดคุยกับ ‘ครูธัญ’ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์’ ส.ส. พรรคก้าวไกล ผู้ผลักดันเรื่องสมรสเท่าเทียมและความเท่าเทียมทางเพศ ว่าในมุมมองของครู ครูคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง และในฐานะนักการเมืองคนหนึ่ง เวทีประกวดนางงามนั้นเชื่อมโยงกับภาคการเมืองอย่างไร

ช่วงตอบคำถามเริ่มต้น ณ บรรทัดถัดไป

ความทรงจำเกี่ยวกับเวทีประกวดนางงามของครูธัญเป็นอย่างไรบ้าง

สำหรับครูเอง เวทีนางงามคือสิ่งที่เราเห็นตั้งแต่เด็กค่ะ ครูจำได้เลยว่าครั้งแรกที่ได้รู้จักนางงามแล้วรู้สึกว้าวมากๆ คือยุคของพี่ปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก เจ้าของวลีอมตะ ‘ปุ๋ยรักเด็ก’ เพราะนั่นคือเจ้าของตำแหน่งนางงามจักรวาล ที่ทำให้เราได้เห็นเวทีระดับนานาชาติ ครูจำความรู้สึกตัวเองได้เป็นอย่างดีว่าตอนนั้นมันสุดฤทธิ์มาก ครูเลยติดตามและเป็นแฟนการประกวดนับตั้งแต่นั้นจนถึงช่วงเวลาหนึ่ง ที่ด้วยอายุ หน้าที่การงาน และความสนใจ ก็ทำให้เราไม่ได้ตามมากเท่าแต่ก่อน

จากมุมมองส่วนตัว อะไรในการประกวดนางงามที่ทำให้ครูติดตามมาอย่างยาวนาน

ครูว่าแต่ละยุคก็แตกต่างกันไปนะ อย่างตอนเด็กๆ ครูอาจจะชอบบรรยากาศของงานที่คล้ายการเฉลิมฉลอง แต่พอโตขึ้นด้วยอาชีพ ครูก็เริ่มดูงานโปรดักชั่นเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเอาสิ่งที่ชอบที่สุดคือ ครูชอบโมเมนต์ตอนสวมมงกุฎ (ยิ้ม) อย่างตอนที่พี่ปุ๋ยได้รับการสวมมงกุฎเขาก็จะมีท่าดีใจคือเอามือป้องปาก ครูชอบโมเมนต์ตรงนั้นมาก เพราะรู้สึกว่านางงามได้ปลดปล่อยและแสดงความเป็นตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจำได้เลยนะ ว่าหลังจากดูพี่ปุ๋ย กลุ่มเพื่อนความหลากหลายทางเพศของครูก็ฮิตท่านี้กันหมด ครูเองเวลาดีใจก็ติดเอามือป้องปากอยู่ช่วงหนึ่งเลย (หัวเราะ)

แล้วในปัจจุบันล่ะ เวลาดูประกวดนางงาม ครูสนใจอะไรในนั้น

ครูสนใจช่วงตอบคำถาม ในความคิดครู ครูว่าคำถามบนเวทีประกวดนางงามมันถูกพัฒนาตามยุคสมัยและบริบท อย่างในยุคนี้เราสามารถดูได้เลยว่าปรัชญาของแต่ละเวทีประกวดคืออะไรโดยดูจากคำถาม เช่น เวทีนี้ต้องการเด็กดีตามขนบ เวทีนั้นต้องการความเปลี่ยนแปลง หรือเวทีไหนที่ยังกล้าๆ กลัวๆ คำถามและผู้เข้าประกวดสามารถแสดงออกเรื่องเหล่านี้ได้

ปัจจัยใดที่ทำให้มุมมองต่อเวทีประกวดนางงามของครูเปลี่ยนไป

ครูว่ามันคือการที่ครูค่อยๆ ได้รู้ที่มาที่ไปของเวทีประกวดนั่นแหละ เพราะเมื่อก่อนครูรู้จักแค่การประกวดนางสาวไทยและนางงามจักรวาล ครูก็ชื่นมื่นกับมันแค่นั้น แต่พอเติบโตขึ้น ด้วยความสนใจก็ทำให้เราได้รู้ว่าการประกวดเหล่านี้ ในประเทศไทยนั้นมีที่มาจากการประกวดนางสาวสยาม และมันเกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางด้านสิทธิเสรีภาพ แต่พอเวลาผ่านไป การประกวดก็เปลี่ยนชื่อมาเป็น นางสาวไทย โดยอยู่ภายใต้การดูแลของเครือวชิราวุธ ซึ่งมันก็สะท้อนความไม่เท่าเทียมว่าผู้หญิงควรเป็นของผู้ชายหรือเปล่า นัยทางสังคมที่เปลี่ยนไปเหล่านี้อยู่บนเวทีประกวดมาตั้งแต่ต้น และเหมือนพออายุมากขึ้น ครูเลยเริ่มสนใจลึกขึ้น ไม่ใช่แค่ผิวๆ เหมือนเดิมแล้ว

กับกระแสวิพากษ์วิจารณ์การจัดประกวดนางงามในปัจจุบันล่ะ ครูคิดเห็นอย่างไรบ้าง

(นิ่งคิด) ครูยอมรับนะว่าในปัจจุบัน เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นที่พูดถึงยากอยู่เหมือนกัน อย่างครูเองก็ต่อสู้กับตัวเองในสิ่งที่เห็น ว่าบนเวทีการประกวด มันก็มีผู้หญิงที่ต่อสู้ส่งเสียงเพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดทางสังคมอยู่จริงๆ แต่ในอีกทาง บนเวทีเดียวกันนั้นผู้หญิงก็กำลังอยู่ใต้ Beauty Standard ที่สังคมกำหนด และเราก็ยังเห็นความพยายามขายของจากสปอนเซอร์ ที่พยายามนำเสนอค่านิยมบางอย่างให้เราไม่มีความสุขเพื่ออุดหนุนสินค้า ดังนั้นนี่จึงเป็นทั้งความคับแคบและเปิดกว้างที่กำลังสวนทางกันอยู่ ซึ่งใครจะเห็นด้วยกับการประกวดหรือไม่เห็นด้วย กับตอนนี้ครูเลยมองว่ามันเป็นเรื่องของนานาทัศนะ

แล้วในมุมส่วนตัวครูเองที่ผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในสภา ครูมองเวทีการประกวดนางงามอย่างไรบ้าง

ต้องเท้าความก่อนว่า สมัยก่อนผู้หญิงมักถูกด้อยค่าว่าทำงานไม่ได้ ต้องไปเป็นเมียหรือเป็นแม่เท่านั้น ดังนั้นถ้าผู้หญิงคนไหนเกิดมาไม่สวยก็จะโดนดูถูกเรื่องการหาผัวแล้ว ซึ่งไอ้ค่านิยมเก่าก่อนนี้เองที่ผลักดันให้ผู้หญิงในยุคหนึ่งคิดว่าตัวเองต้องสวย และต้องต่อสู้เพื่อให้คนไม่ดูถูกและหันมาฟังความคิดเห็น

โดยจุดนี้เอง ที่เป็นส่วนหนึ่งให้เวทีประกวดนางงามเกิดขึ้นเหมือนอย่างที่เกริ่นไป ในยุคแรกเริ่มการประกวดสร้างขึ้นเพื่อเป็นลำโพงให้ผู้หญิงได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งถ้ายึดมุมนี้ในการตอบว่าสมควรไหมที่จะมีเวทีการประกวดในปัจจุบัน ครูเห็นด้วยนะว่ามันควรมีพื้นที่ให้ผู้หญิงบ้าง แต่ถ้าผู้หญิงต้องเสียสละมากมายเหลือเกินเพื่อไปให้ถึงลำโพงดังกล่าว ครูคิดว่ามันคงดีกว่าถ้าเวทีเหล่านั้นจะเปิดกว้างขึ้นบ้าง เพื่อให้ผู้หญิงได้ส่งเสียงมากกว่านี้

ไม่ได้มองว่าไม่ควรมี?

คือในมุมมองส่วนตัวของครู ครูคิดว่านอกจากประเด็นความเท่าเทียมที่เราคุยกัน เวทีประกวดนางงามมีความเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์อยู่ด้วย คือเป็นกลไกการตลาดที่เมื่อมีคนอยากดูก็มีคนจัด มันมีหลายมิติ บางคนเลยชอบดู ไม่ว่าจะการตอบคำถาม เสื้อผ้า ไปจนถึงแฟชั่น หรือแม้กระทั่งแบรนด์สินค้าต่างๆ ที่เข้ามาก็เพราะเหตุผลนี้ ดังนั้นในมุมครูจึงไม่คิดว่าควรยกเลิกเวทีการประกวดใดๆ นะ เพราะกลไกการตลาดตรงนั้นทำให้เกิดความสนุกและทุนนิยมที่ผสมอยู่ก็ไม่ใช่เรื่องผิด นานาทัศนะต่างคนต่างวิพากษ์วิจารณ์ได้

แต่ (เน้นเสียง) ครูขอใช้คำว่าเราควรตั้งคำถามต่อเวทีประกวดนางงามต่างๆ ในปัจจุบันดีกว่า ว่าความงามที่นำเสนอออกมา มันหล่อหลอมให้ทุกคนเป็นเหมือนกันหรือเปล่า มันส่งเสริมให้ทุกคนเป็นตัวเองจากข้างใน หรือบอกให้ทุกคนต้องเป็นเหมือนกัน อย่างลองนึกตามดูก็ได้ ว่ามันจะดีกว่าไหมถ้ามีเวทีประกวดนางงามที่คนเข้าประกวดไม่จำเป็นต้องใช้ครีมไวเทนนิ่ง (whitening cream) เพราะไม่ว่าจะสีผิวใด คุณสามารถเป็นตัวเองได้อย่างเท่าเทียมกัน

ซึ่งนี่ต่างหากที่ครูคิดว่าสำคัญ เวทีการประกวดนางงามควรสะท้อนความงามอันหลากหลายในสังคม และสื่อสารว่าทุกคนสามารถมีความคิดของตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันไปหมด

แปลว่ายิ่งมีหลายเวที ก็ยิ่งดีต่อการสื่อสารถึงความหลากหลายหรือเปล่า
ก็ยิ่งดี แต่เน้นย้ำในเรื่องเดิมนะ ว่าก็ต้องมีเสรีภาพและความหลากหลายที่แท้จริง

แล้วถ้าลองถอยออกมามองภาพที่ใหญ่กว่านั้น ในมุมของนักการเมือง ครูเห็นความเชื่อมโยงหรือความเกื้อกูลที่เวทีนางงามกับการเมืองจะส่งผลถึงกันได้ไหม

ครูยกตัวอย่างจากสิ่งที่ตัวเองทำเพื่อให้เห็นภาพแล้วกัน อย่างสิ่งที่ครูทำในฐานะ ส.ส. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเท่าเทียม เรื่องเพศ หรือเรื่องสิทธิ มันคือการเอาเรื่องในสังคมมาพูดผ่านช่องทางในสภา เพื่อสื่อสารหรือเรียกร้องว่าสังคมกำลังมีความคิดแบบไหน แน่นอนว่าด้วยกลไกที่ใกล้เคียงส่วนกลางนี้ มันช่วยให้เกิดการปักธงนำในการเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้ แต่ในขณะเดียวกันครูเองก็มองว่าในกับนอกสภา เราก็ต้องอาศัยการเกื้อกูลกันของวัฒนธรรมร่วมสมัยอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งครูว่าการประกวดนางงามเองก็เป็นหนึ่งในนั้น

อย่างเวลาที่ครูพยายามผลักดันประเด็นไหน แล้วมีนางงามเลือกตอบคำถามโดยพูดถึงประเด็นนั้น ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือสนับสนุน ครูมองว่าสิ่งเหล่านี้แหละที่เป็นประโยชน์ มันช่วยเพิ่มช่องทางให้เกิดการรับรู้ในสังคมที่มากขึ้น เพราะถึงแม้หลายคนจะรู้อยู่แล้วว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะชอบดูประชุมสภา หลายคนเปลี่ยนช่องหนีด้วยซ้ำ ดังนั้นครูว่าดีแล้วถ้าเขาเปลี่ยนช่องไปดูประกวดนางงามแล้วเจอคนที่สื่อสารประเด็นทางสังคมเหมือนกัน

ในฐานะคนในสภา เวลาได้ยินเสียงจากบนเวทีเรียกร้องสิ่งเดียวกัน ครูรู้สึกอย่างไร

(นิ่งคิดนาน) ครูดีใจนะ มันคือความดีใจที่ได้เห็นประชาชนตระหนักถึงสิทธิทางการเมือง

นึกออกไหมว่าจากจุดที่ครูโตมา เวทีการประกวดนางงามล้วนแฝงเรื่องการที่ผู้หญิงต้องเป็นของผู้ชาย แต่กับตอนนี้ในเวทีเดียวกัน มันคือพื้นที่ของผู้หญิงในการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงสิ่งที่ไม่เป็นธรรมในสังคมและความไม่เท่าเทียมแล้ว อีกทั้งยังเป็นการส่งต่อให้สังคมพูดคุยถึงสิทธิพลเมือง ประเด็นปัญหาของยุคสมัยมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้นมันเป็นความรู้สึกดีอยู่แล้วที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงตรงนี้

สุดท้าย ในฐานะผู้ติดตามการประกวดนางงามคนหนึ่ง อยากฝากอะไรถึงคนที่เป็นนางงามหรือคนที่เข้าประกวดบ้างไหม

เอาสั้นๆ ง่ายๆ เลยแล้วกัน คือเป็นตัวของตัวเองค่ะ (ตอบทันทีและยิ้ม)