เมื่อแมวไทยโบราณเป็นดั่งมรดกของชาติที่ยังมีลมหายใจ จึงไม่ควรปล่อยให้สูญพันธุ์ คุยกับ ‘ปรีชา วัฒนา’ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์แมวไทยมงคลโบราณตามตำราแมวไทยและเป็นเจ้าของ ‘บ้านแมวไทยบางรัก’

6 Min
1451 Views
02 Dec 2023

ถ้าพูดถึงมกดกของไทยหลายคนน่าจะนึกไปถึงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ หรือโบราณสถาน แต่ในอีกมุมหนึ่งยังมีมรดกของชาติที่ยังมีลมหายใจอย่าง ‘แมวไทยโบราณ’ สัตว์สายพันธุ์แท้ที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานไม่ต่างจากเต่าหรือจระเข้ ที่ไม่ว่าจะ 500 ปี หรือ 1,000 ปีผ่านไป แมวไทยก็ยังคงมีหน้าตาเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน

แล้วถ้าวันหนึ่งแมวไทยโบราณสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ หรือถูกต่างชาตินำไปผสมกับสายพันธุ์อื่นจนไม่หลงเหลือแมวพันธุ์ไทยแท้อยู่อีกต่อไป เราก็เหมือนสูญเสียมรดกแห่งชาติไปอีกอย่างหนึ่ง

‘ปรีชา วัฒนา’ หรือที่คนในวงการแมวไทยเรียกกันว่า ‘คุณลุงปรีชา’ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์แมวไทยมงคลโบราณตามตำราแมวไทย และเป็นเจ้าของ ‘บ้านแมวไทยบางรัก’ จึงก้าวเข้ามาเป็น Breeder ผู้ที่ฟูมฟักแมวไทยให้คงอยู่มาตลอด 15 ปี ผ่านการศึกษาประวัติศาสตร์แมวไทยในสมุดข่อยที่ได้บันทึกสายพันธุ์ของแมวโบราณไว้ 23 ชนิด แบ่งเป็นแมวมงคล 17 ชนิด และแมวอัปมงคล 6 ชนิด แต่ใครจะคิดว่าวันหนึ่งแมวที่จัดอยู่ในสายพันธุ์อัปมงคลจะหายไปจากโลกใบนี้ และในปัจจุบันพบแมวมงคลเหลือให้เห็นเพียงแค่ 4 ชนิดเท่านั้น คือ ‘วิเชียรมาศ’, ‘โกญจา’ หรือ ‘โกนจา’, ‘โคราช’ หรือ ‘สีสวาท’ และ ‘ศุภลักษณ์’

ปัจจุบัน ปรีชาได้อนุรักษ์แมวไทยโบราณไว้ 5 สายพันธุ์ ซึ่งนอกจากสายพันธุ์ที่ตรงตามลักษณะในสมุดข่อยที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว อีก 1 สายพันธุ์คือ ‘ขาวมณี’ ที่ไม่ได้มีบันทึกไว้ในสมุดข่อย แต่มีการค้นพบหลักฐานการมีอยู่ของแมวชนิดนี้ที่ภาพวาดบนผนังโบสถ์ วัดทองนพคุณ ที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ตรงกับสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จึงถือเป็นสายพันธุ์กึ่งโบราณ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้

ทำไมจึงสนใจอนุรักษ์แมวไทยโบราณ

ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องของโชคชะตาที่ขีดเส้นเอาไว้ว่าคุณต้องเดินทางนี้ เพราะต้องบอกว่าเมื่อก่อนผมไม่ชอบแมวเลย เพราะเคยมีเหตุการณ์ที่แมวมากินลูกไก่แจ้ที่ผมเลี้ยงไว้ จนเจอแมวจรตัวหนึ่งที่ชอบมาเดินแถวบ้าน ตอนแรกผมก็ไล่แมวออกไป แต่วันหนึ่งแมวตัวนั้นก็เดินมาล้มตัวนอนใส่ อ้อนคลอเคลียไม่ไปไหน ผมเลยบอกไปว่า “อยากอยู่บ้านนี้ใช่ไหม ถ้าอยากอยู่ก็อยู่ด้วยกันได้”

ด้วยความที่เขาเป็นแมวหน้าตาดี จึงตั้งชื่อว่า ‘คลีโอพัตรา’ ช่วงนั้นก็เลี้ยงแบบเปิดคือให้อิสระ จนวันหนึ่งเขาหายไปแล้วไม่กลับมาอีก ตอนนั้นผมรู้สึกผูกพันกับแมวแล้ว จึงตัดสินใจเลี้ยงแมวอย่างจริงจังและต้องเป็นแมวไทยเท่านั้น เพราะผมชอบอะไรที่มีความเป็นไทย

เลยได้ติดต่อ Breeder แมวไทย เพื่อซื้อแมววิเชียรมาศมาเลี้ยง และเริ่มศึกษาเรื่องแมวไทยอย่างจริงจัง ได้ไปศึกษาตำราเพิ่มเติมจนรู้ว่ามีการบันทึกเรื่องแมวลงในสมุดข่อย หลังจากนั้นผมได้ตามหาแมวที่มีลักษณะตรงตามสมุดข่อย จากที่ตอนแรกตั้งใจจะเลี้ยงไว้เป็นเพื่อน ก็หันมาเพาะเลี้ยงเพื่ออนุรักษ์

การเลี้ยงเพื่ออนุรักษ์แมวไทยคืออะไร และมีวิธีการอนุรักษ์อย่างไร

การอนุรักษ์คือต้องรักษาลักษณะของแมวไทยให้เหมือนตามที่บันทึกไว้ในสมุดข่อยโบราณ เพราะแมวไทยจะเป็นเหมือนการโคลนนิ่งออกมา ทั้งหน้าตา สีตา สีขน สีตรงเท้าจะเหมือนกับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ทุกอย่าง ต่างจากแมวของต่างประเทศที่ต่อให้สีตา สีขนไม่เหมือนกัน ก็ยังจัดว่าเป็นแมวพันธุ์นั้นอยู่

และบางทีต่างประเทศมีการนำแมวไทยไปผสมกับสายพันธุ์ต่างประเทศ เช่น แมววิเชียรมาศผสมกับแมวเปอร์เซีย จะได้เป็นแมวหิมาลายัน ที่มีจุด 9 แต้มเข้มเหมือนวิเชียรมาศ แต่หน้าตาและลักษณะขนเหมือนเปอร์เซีย

แต่การอนุรักษ์แมวไทยไม่ใช่แบบนั้น เราต้องคงลักษณะทุกอย่างของเขาไว้ให้เหมือนเดิม ผมจึงต้องใช้วิธีการคลุมถุงชน กำหนดเลยว่าแมวตัวเมียตัวนี้ ต้องคู่กับตัวผู้ตัวไหน โดยจะไม่ผสมแบบสายเลือดชิดอย่างลูกสาวผสมกับพ่อ ลูกชายผสมกับแม่ หรือพี่น้องผสมกันเอง ซึ่งหลักการอนุรักษ์แมวที่ดีไม่ควรทำแบบนี้ เพราะจะเกิดลักษณะด้อยปรากฏขึ้นมาได้ในระยะยาว

การเลือกช่วงเวลาผสมพันธุ์ก็สำคัญไม่แพ้กัน ถึงแม้แมวสาวจะสามารถผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 8 เดือน แต่ทางที่ดีควรรอให้ถึงอายุ 14 เดือนขึ้นไปแล้วค่อยผสมพันธุ์กัน เพราะแมวที่อายุน้อยเขาจะยังไม่มีวุฒิภาวะมากพอที่จะเลี้ยงลูกให้อยู่รอด ผมเลยทำบันทึกไว้ตลอดว่าแมวแต่ละตัวพ่อแม่ชื่ออะไร อายุเท่าไหร่ ควรผสมพันธุ์เมื่อไหร่ และจะคลอดลูกตอนไหน ต้องทำขนาดนี้ถึงจะอนุรักษ์แมวไทยโบราณให้อยู่รอดตลอดไปได้

เห็นว่ามีการเลี้ยงแมวศุภลักษณ์ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่คนเข้าใจว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว ตอนนี้สถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง

เมื่อก่อนคนคิดว่าแมวศุภลักษณ์สูญพันธุ์ไปแล้ว เพราะไม่เคยมีใครพบเห็นแมวลักษณะนี้อีกเลย ก่อนจะมีคนอุ้มแมวศุภลักษณ์มาแล้วถามว่าผมสามารถนำแมวสายพันธุ์นี้กลับมาได้หรือไม่ ผมจึงตัดสินใจเพาะพันธุ์แมวศุภลักษณ์ เพราะอยากอนุรักษ์ให้มีแมวชนิดนี้อยู่ และเห็นว่ายังไม่มีคนไทยที่จดทะเบียนแมวไทยได้เลย อย่างแมวโคราช ขาวมณี และวิเชียรมาศคนอเมริกันก็เอาไปจดทะเบียน

ส่วนแมวโกญจาจดไม่ได้ เพราะไปซ้ำกับบอมเบย์แคทที่ต่างชาตินำไป Breed จนคล้ายโกญจาทุกอย่าง จึงเหลือแต่ศุภลักษณ์ที่ผมอยากให้คนไทยนำแมวพันธุ์นี้ไปจดทะเบียนด้วยตนเองให้ได้

ซึ่งการจะจดทะเบียนได้คือจะต้อง Breed แมวให้ได้ 5 เจเนอเรชัน โดยเหมือนกับรุ่นปู่ย่าและพ่อแม่พันธุ์ทุกประการ พอถึงรุ่นที่ 6 จะได้ไม่มีผิดเพี้ยนไปจากลักษณะเดิม ทุกวันนี้ผมพยายาม Breed อยู่ แต่ยังมีบางตัวที่สีเพี้ยน สีไม่เสมอกันทั้งตัวอยู่บ้าง โดยผมอ้างอิงจากลักษณะของแมวศุภลักษณ์ที่มีบันทึกในสมุดข่อยว่า จะมีสีทองแดงสีเดียวทั่วตัว ไม่มีจุด 9 แต้ม อุ้งเท้าจะเป็นสีน้ำตาลแดงอมส้มเท่านั้น

และผมยังได้ติดต่อ ดร.จันทร์จิรา ภวภูตานนท์ ซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กําแพงแสน ที่กำลังศึกษาเรื่องดีเอ็นเอแมว เพื่อขอความช่วยเหลือในการเพาะพันธุ์แมว พอมีเรื่องวิทยาศาสตร์มาช่วย ผมก็สามารถเพาะพันธุ์แมวศุภลักษณ์ได้ง่ายขึ้น

จากการอนุรักษ์แมว ก้าวเข้าสู่การทำฟาร์มแมวได้อย่างไ

ตอนที่ผมเริ่มเลี้ยงแมว ผมเกษียณจากการเป็นพนักงานบริษัทเอกชนในวัย 55 ปี ทำให้พอมีเวลาว่างจากการเลี้ยงแมว ก็ไปเรียนการทำเว็บไซต์และการขายของบนโลกออนไลน์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกใหม่มากในสมัยสิบกว่าปีที่แล้ว ผมเลยลองทำเว็บไซต์เองแล้วขายทรายแมว ซึ่งเป็นของที่ปกติก็สั่งมาให้แมวตนเองใช้อยู่แล้ว ตอนนั้นคิดแค่ว่าขายได้ก็ได้ ขายไม่ได้ก็ให้แมวใช้

แต่พอขายทรายแมวได้จริงๆ ผมก็คิดต่อว่าแบบนี้เราก็ขายแมวได้สิ เพราะเราต้องการที่จะอนุรักษ์แมวไทยไว้อยู่แล้ว เลยโพสต์ภาพแมวบนเว็บไซต์ ใครที่สนใจก็ให้มาดูแมวถึงที่บ้านได้เลย หลังจากนั้นก็มีขายอาหารแมว ของเล่นแมว ทำให้เห็นว่าความต้องการที่อยากจะเลี้ยงแมวไทยมีสูงมาก แม้แต่ช่วงโควิด-19 ฟาร์มแมวของเราก็ไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย ยังรายได้ดีเหมือนเดิม

แต่การทำฟาร์มแมวของผมไม่ได้ขายไปแล้วจบ ผมยังมีการถามไถ่ผู้ซื้ออยู่เสมอว่าแมวเป็นอย่างไร และพร้อมให้คำปรึกษาเมื่อมีปัญหา หากใครที่ซื้อไปแล้วเลี้ยงไม่ไหว ผมก็ซื้อกลับมาเลี้ยงต่อเอง ส่วนใครที่อยากเลี้ยงตัวเดียวแต่ก็อยากเลี้ยงลูกแมวหรือขยายพันธุ์แมว ผมก็รับจ้างผสมพันธุ์แมวให้ โดยเฉพาะถ้าเป็นแมวจากฟาร์มผมก็จะรู้ว่าพ่อแม่เขาเป็นใคร จะได้ไม่เกิดการผสมพันธุ์ในสายเลือดที่ชิดกัน เรียกได้ว่าผมทำแทบจะครบวงจรและรับผิดชอบต่อแมวทุกตัวที่ขายไป

อยากจะบอกอะไรกับคนที่อยากอนุรักษ์แมวไทยเหมือนกัน หรือคนที่คิดอยากจะเลี้ยงแมวไทย

สำหรับคนที่อยากอนุรักษ์แมวไทยตามที่ผมบอกไปเลยว่า ต้องผสมพันธุ์กับแมวสายพันธุ์เดียวกันที่เป็นพันธุ์แท้จริงๆ เพื่อให้ลูกแมวเหมือนกับโคลนนิ่งพ่อแม่เขามา และต้องผสมพันธุ์ในช่วงอายุที่เหมาะสมคือ 14 เดือน หรือถ้าอยากได้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์แมวก็มาหาผมได้

ส่วนใครที่อยากเลี้ยงแมวไว้เป็นเพื่อน ไว้เป็นลูก ผมจะย้ำก่อนขายให้เสมอว่า “ถามคนข้างตัวหรือยัง” เพราะการเลี้ยงแมวละเอียดอ่อนมากๆ บางทีคุณอยากเลี้ยง แต่คนที่บ้านไม่เห็นด้วย ผมว่าก็อย่าเลี้ยงเลย ไม่งั้นจะเกิดปัญหาเปล่าๆ เพราะแมวก็มีเสน่ห์ในเรื่องของความซน อาจจะมีไปกัดข้าวของหรือฝนเล็บบ้าง แต่คนที่บ้านไม่ชอบก็อาจจะทะเลาะกัน หรือบางคนเลี้ยงคู่กับแฟน พอเลิกกันก็เอามาคืนก็มี

และอยากให้คิดว่าการเลี้ยงแมวมีค่าใช้จ่ายแฝงอยู่ ทั้งค่าอาหาร ค่าฉีดวัคซีน ค่าพาไปหาหมอ ผมเคยเจอคนที่เลี้ยงแมวจนหมดตัวก็มี เพราะเขาไม่ได้คิดว่าจะมีค่าใช้จ่ายตรงนี้และไม่ได้วางแผนการเงินให้ดีก่อน แต่ผมยินดีซื้อแมวกลับคืน แต่ก็อยากให้ปรึกษาคนรอบตัว คิดให้ดี และวางแผนก่อนที่จะเลี้ยงแมวจริงๆ ไม่อย่างนั้นจากที่จะเลี้ยงแมวเพื่อสร้างความสุข อาจกลายเป็นการทำลายความสุขของคุณและคนรอบตัวได้

คิดว่าหลังจากนี้จะมีคนอนุรักษ์แมวไทยโบราณต่อไปไหม

ถ้าเป็นที่บ้านแมวไทยบางรัก ผมยังตั้งใจจะอนุรักษ์แมวไทยต่อไปเรื่อยๆ เพราะอย่างบรรพบุรุษเราไม่รู้ว่าเขาเป็นใครมาจากไหน แต่เขายังอนุรักษ์แมวไทยให้คงเหลือไว้ก่อนรุ่นผม ผมก็จะทำให้เต็มที่เหมือนอย่างที่เคยสืบทอดมา และได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับลูกสาวได้รับช่วงต่อ เพราะผมอยากให้แมวไทยที่เหลืออยู่เพียง 5 ชนิดจาก 23 ชนิด ยังคงอยู่ต่อไป และอยากให้มีคนไทยคนแรกที่นำแมวศุภลักษณ์ไปจดทะเบียนให้ได้ 

และอย่างที่บ้านแมวไทยบางรักก็ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ผมได้ไป

บรรยายถ่ายทอดความรู้ตามชุมชน ให้คนในชุมชนและลูกหลานที่อยู่แถวนี้สามารถประกอบอาชีพอนุรักษ์แมวไทย เพื่อหาเลี้ยงปากท้องได้ ผมเชื่อว่ายังมีคนอีกมากที่รักและอยากอนุรักษ์แมวไทยไม่ให้สูญหาย และให้คงอยู่เป็นมรดกคู่ชาติไทยต่อไป