คุยกับ ‘ต้องตา จิตดี’ จากมนุษย์ที่ทำอะไรหลายๆ อย่าง สู่การเป็นครูอนุบาล Full-Time ครั้งแรกในชีวิต

7 Min
1453 Views
20 Mar 2024

ในปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยที่ ‘ทำได้หลายอย่าง’ แต่กลับคิดว่าตน ‘ไม่เก่งสักอย่าง’ หรือที่เราเรียกคนประเภทนี้ว่า ‘มนุษย์เป็ด’

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายของสำนวน ‘รู้อย่างเป็ด’ ไว้ว่า รู้ไม่จริงสักอย่างเดียว หรือคนที่ทำอะไรได้เหมือนเป็ด กล่าวคือ ว่ายน้ำได้แต่ก็ไม่เก่งเหมือนปลา บินได้ก็ไม่สูงเท่านก

แต่ ‘เพลง-ต้องตา จิตดี’ ศิลปินวง Plastic Plastic ได้ทำให้เห็นแล้วว่าการที่เราสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง…สามารถทำได้ และเธอก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ‘คนเราไม่มีขีดจำกัดในอาชีพ’ 

วันนี้ BrandThink มีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘เพลง-ต้องตา จิตดี’ หญิงสาวผู้เป็นทั้งนักดนตรี โฆษก อาสาสมัคร ร้องเพลงประกอบโฆษณา ทำเพลงประกอบหนัง และตอนนี้ก็ยังเป็นครูอนุบาล Full-Time ที่โรงเรียนอนุบาลเทพารักษ์

นิยามของการเป็นมนุษย์ที่ทำอะไรได้หลายอย่าง หรือที่ใครๆ เรียกว่า ‘มนุษย์เป็ด’ เป็นอย่างไร

ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่านิยามคำว่า ‘มนุษย์เป็ด’ ของแต่ละคนเป็นอย่างไร อาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ แต่สำหรับ เพลง ต้องตา รู้สึกว่าการเป็นมนุษย์เป็ดคือการเป็นอะไรก็ได้ เพราะตนเองไม่เชื่อว่าพรุ่งนี้จะเหมือนเดิม คนเราต่างเปลี่ยนไปทุกวัน ความชอบหรือความสนใจก็เช่นกัน วันนี้เราอยากเป็นอย่างหนึ่ง แต่พรุ่งนี้อาจจะไม่ได้อยากเป็นแบบนี้แล้วก็ได้

มนุษย์เป็ดในความหมายและการตีความของหลายๆ คน อาจเป็นได้ทั้งด้านบวก (possitive) หรือด้านลบ (negative) บางคนอาจมองว่า มนุษย์เป็ดคือคนที่เหมือนทำอะไรจับฉ่ายและไม่ลงลึกสักอย่าง แต่จริงๆ ก็มีคนที่ทำหลายๆ อย่าง หรือชอบอะไรหลายๆ อย่างอย่างจริงจังเหมือนกัน

หากให้มองย้อนกลับมาที่ตัวเอง เพลง ต้องตา ก็ไม่ได้อยากจะจำกัดหรือนิยามว่าตัวเองจะต้องเป็นอะไร ไม่อยากจะให้คำนิยามว่าสิ่งที่ตนเองทำลึกหรือไม่ลึก แต่อยากให้คำนิยามในสิ่งที่ตนเองทำว่าเป็นคนที่ไม่ได้มีข้อจำกัดในอาชีพ จะเหมาะกับสิ่งที่เป็นมากกว่า

จุดเริ่มต้นของความชอบที่หลากหลายเกิดขึ้นได้อย่างไร

ความชอบที่หลากหลายด้าน น่าจะเริ่มต้นมาตั้งแต่เด็กๆ เริ่มจากความชอบด้านดนตรีและศิลปะ อย่างความชอบด้านศิลปะ เพลง ต้องตา ก็ไม่ได้ชอบแค่การวาดรูป แต่ยังชอบศิลปะของการเขียน ศิลปะของการอ่าน ศิลปะการเคลื่อนไหว ความชอบเหล่านี้ มันดันกลายเป็นการชอบอะไรหลายๆ อย่างในความเป็นศิลปะ แล้วก็ชอบมามาเรื่อยๆ ตั้งแต่เด็ก และรู้ตัวมาตลอดว่าตัวเองชอบอะไร เลยทำให้สามารถพาตัวเองเดินทางและออกค้นหาสิ่งต่างๆ ในความชอบนั้นๆ

เคยลังเลไหมว่า หรือเราควรทำอะไรให้มันสุดเพียงด้านเดียว?

ช่วงเรียนจบปริญญาตรี กลายเป็นบัณฑิตด้านดนตรีมาใหม่ๆ ก็มีบ้างที่เคยลังเล ตอนนั้นก็คิดว่า เอ๊ะ! เราลองทำอะไรให้มันสุดไปเลยดีไหม ตอนนั้นยังเด็กอยู่ก็เคยคิดว่าหรือว่าจะเรียนต่อปริญญาโทด้านดนตรีที่เมืองนอกเหมือนเพื่อนๆ ดี ไปให้สุดในด้านนี้เลย

แต่พอมานั่งทบทวนดีๆ ก็มีคำตอบในใจว่า ตัวเองก็ไม่ได้อยากจะชำนาญหรือเชี่ยวชาญด้านดนตรีขนาดนั้น หรืออยากจะมีทักษะเฉพาะทาง พูดกันตรงๆ ก็ไม่ได้แฮปปี้ที่จะต้องเก่งที่สุดในด้านอะไร เลยมาตั้งคำถามกับตัวเองใหม่ว่า อยากมีความสุขกับอะไร สุดท้ายก็ได้คำตอบว่า ตัวเองแค่อยากทำสิ่งที่เรา ‘แฮปปี้’ เท่านั้นเอง ตอนนั้นก็เลยตัดสินใจว่าอยากทำอะไรก็ทำ

แล้วตอนนั้นทำอะไรบ้าง

ย้อนกลับไปตอนเรียนจบใหม่ๆ เพลง ต้องตา ก็เลือกทำในสิ่งที่ตัวเองชอบนี่แหละ สิ่งที่ทำบ่อยๆ ก็คงเป็นการเล่นดนตรีให้วง Scrubb แล้วเริ่มทำเพลงของตัวเองบ้าง ใช้ชื่อวงว่า ‘Plastic Plastic’ จากนั้นก็มีโอกาสได้มาเริ่มเขียนหนังสือ จากความเป็นคนชอบอ่านหนังสืออยู่ เมื่อผันตัวมาเป็นนักเขียนเลยต้องทุ่มเทเวลากับการเขียนมากพอสมควร และต้องแบ่งเวลามาจากงานดนตรีด้วย

แล้วในตอนนั้นก็ทำร้านขายของกับเพื่อนๆ เหมือนกัน เป็นร้านจำพวกของเย็บปักถักร้อย ก็ต้องแบ่งเวลามาให้กับส่วนนี้อีก งานเย็บหมวกแฮนด์เมด งานปัก งานทำมือ หรือแม้แต่งานเซรามิก ก็เคยทดลองทำมาแล้วเหมือนกัน (หัวเราะ)

เมื่อได้ลองทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน มีวิธีรับมือกับความเครียดที่ตามมาอย่างไร

วิธีการหรือรูปแบบการจัดการกับความเครียด มันแล้วแต่ช่วงอายุ ถ้าตอนเด็กๆ ก็จะใช้เวลานานพอสมควร อาจนั่งร้องไห้นานหน่อย แต่สุดท้าย ‘มันก็ผ่านไป’ ถ้าเป็น ณ ตอนนี้ มันจะมีอีกชุดความคิดหนึ่งหรือวิธีการที่แตกต่างกันออกไปเข้ามาแทนที่ ความคิดและการรับมือพวกนี้อาจจะมาจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น 

บางทีที่เจอปัญหาก็รู้สึกว่า ‘อันนี้แหละที่เราต้องเจอ เรื่องนี้แหละที่จะทำให้เราเติบโต’ บางปัญหา บางเรื่องราว ถ้าเราไม่เจอมันกับตัวเอง ก็ไม่มีทางรู้ได้เลยว่ามันคือ ‘บทเรียน’

บางคนอาจมองว่าปัญหาเป็นเรื่องยาก เป็นความรู้สึกแย่ๆ ที่ไม่อยากเจอ แต่ เพลง ต้องตา กลับมองว่า เมื่อเจอสิ่งที่มันยาก ให้คิดเสียว่ามันเป็น ‘ของขวัญ’ แทนก็แล้วกัน แต่ก็ยอมรับว่ามันไม่สามารถมองได้แบบนี้ทุกครั้งหรอก แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่นึกขึ้นมาได้ ก็ขอให้เราคิดเสียว่า เรื่องราวหรือปัญหาเหล่านั้นเป็นของขวัญให้ตัวเอง มันไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้นหรอก ‘เดี๋ยวมันก็ผ่านไป’ 

เคยคิดไหมว่าวันหนึ่งจะกลายมาเป็น ‘ครูอนุบาล’ ?
ถ้าย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้ว ก็ไม่ได้คิดเลยว่าตัวเองจะเป็นครู ครูเป็นอาชีพที่ยากมาก ต้องมีจิตวิญญาณ ความรับผิดชอบ และการอุทิศตนให้กับหน้าที่ เพลง ต้องตา เองก็มีแม่เป็นครูเช่นกันและเห็นแม่สวมบทบาทและทุ่มเทให้กับอาชีพนี้มาเป็นเวลานาน ยิ่งทำให้รู้สึกว่า…โห ครูเป็นงานที่หนักจัง ถ้าต้องอดทนอยู่กับเด็กๆ ทั้งวันอย่างนี้ ก็จินตนาการไม่ออกว่าตนเองจะทำอย่างไร

ความหมายของ ‘การเป็นครู’ ในนิยามของ เพลง ต้องตา คืออะไร

การเป็นครูอนุบาล ไม่ใช่ว่าแค่ว่าวันนี้เราจะมาเรียนเพื่อให้ได้ความรู้กันเพียงอย่างเดียว แต่หน้าที่และทุกๆ สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ มันคือการช่วยฝึกทักษะชีวิตให้เด็กคนหนึ่งอยู่ นักเรียนทุกๆ คนเขายังเล็กมาก เรื่องง่ายๆ เรื่องธรรมดาที่ผู้ใหญ่อย่างพวกเราทำได้ บางครั้งเขาทำไม่ได้ อย่างเด็กบางคนถือแก้วไม่ค่อยได้  หรือตักข้าวกินเองไม่เป็น หน้าที่ของครู ก็ต้องฝึกให้เขาถือทำเป็น บางครั้งเรื่องเล็กๆ อย่างการสอนให้เด็กๆ กินผัก นั่นอาจเป็นคําแรกในชีวิตที่เขาสามารถกินผักได้ก็ได้ ทุกๆ อย่าง ทุกๆ หน้าที่ในการเป็นครูอนุบาลจึงมีความหมายมากสำหรับชีวิตเด็กคนหนึ่ง

แล้วกับการเป็นครูอนุบาล เป็นอย่างไรบ้าง

อาชีพครู ไม่ว่าจะเป็นคุณครูสอนเด็กช่วงวัยไหนก็ต้องมีความอุทิศตนให้กับหน้าที่ไม่ต่างกัน และสิ่งตามมาก็คงเป็น ‘ความเหนื่อย’ ตอนแรกต้องปรับตัวกับความเหนื่อยในแต่ละวันที่ต้องพบเจอ จากปกติที่นาฬิกาชีวิตที่คุ้นเคย เราจะรู้ว่าตัวเองตื่นเวลาประมาณนี้ นั่งกินข้าวสบายๆ มีเวลาทำอะไรอย่างอื่นต่อ แต่พอเริ่มทำหน้าที่คุณครูแล้ว นาฬิกาชีวิตก็ถูกเซ็ตใหม่ทั้งหมด พอตื่นขึ้นมาก็จะรู้ตัวว่า อ๋อ…วันนี้ต้องเตรียมการสอนนะ เตรียมเสร็จงานต้องส่งวันอาทิตย์ พอวันจันทร์ตื่นมาก็ต้องเตรียมของเพื่อใช้สอนต่อ เวลาที่เราเคยมีใช้ทำอะไรอย่างอื่นเหมือนเคยก็เริ่มหายไป ความเหนื่อยก็เข้ามาแทนที่ พอหมดวันก็คิดอะไรอย่างอื่นไม่ออกแล้ว

ดนตรีสามารถ ‘เชื่อมต่อ’ กับการศึกษาได้จริงใช่ไหม

บางทีที่เด็กๆ วุ่นวาย ห้องเรียนโกลาหล ก็ใช้ดนตรี เล่นอูคูเลเล่ ร้องเพลง นี่แหละเป็นตัวช่วยทำให้ห้องเรียนสงบลง ทําให้เด็กๆ มีความสุข และบางครั้งดนตรีหรือศิลปะก็สามารถช่วยจัดระบบระเบียบในห้องได้

เด็กก็คือเด็ก? เด็กคือผ้าขาว? แล้วจะจัดการอย่างไรเมื่อเด็กทำผิด

มันก็ต้องกฎระเบียบที่เป็น ‘เกณฑ์เดียวกัน’ หรืออะไรบางอย่างที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นมาตรฐานระดับเดียวกันที่ใช้กับเด็กทุกๆ คน

บางครั้งเด็กๆ เขาจะทำตามๆ กัน ใครทำอะไร คนอื่นก็จะทำตาม เหมือนเขามีแรงดึงดูดกันและกัน บางทีเขาเห็นเด็กคนอื่นทำดีแล้วครูชื่นชม อุ้ย น่ารัก ทำดีมากๆ พอเขาเห็นเพื่อนได้รับคำชื่นชม เขาก็อยากจะทําสิ่งนั้นบ้าง การใช้คําพูดแง่บวกหรือการกระทำเชิงบวกก็ช่วยให้เด็กทำตามในสิ่งที่เราต้องการได้

อีกหนึ่งวิธีที่ เพลง ต้องตา ใช้ในห้องเรียน ก็คือ ‘ความจริงใจต่อกัน’ เมื่อเวลาเด็กนักเรียนทํา ‘สิ่งไม่ดี’ ไม่ว่ามันจะไม่ดีต่อตัวเขาเองหรือไม่ดีกับเพื่อนๆ ร่วมชั้น ก็จะพาเขามานั่งคุยกัน แต่เรา ‘ต้อง’ จ้องตากันนะ มันเป็นวิธีสื่อสารความจริงใจต่อกันที่ดีที่สุด ณ ขณะนั้น

จากนั้นก็จะเริ่มถามกลับไปที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ‘เมื่อกี้ทําอะไรลงไป’ ‘แล้วทําแบบนี้ เพื่อนเจ็บไหม’ ไม่ว่าจะถามอะไรไปก็ตาม สิ่งสําคัญคือต้องมองตาแล้วตอบ ต้องพูดความจริง แล้วเด็กก็จะเข้าใจว่าไม่ควรทำแบบนี้อีก สุดท้ายก็ไม่จำเป็นต้องทําโทษเขา

เคยมีความคิดอยากเลิกเป็นครูบ้างไหม

ถ้าตอนนี้คงยังไม่อยากจะเลิกเป็นครู (หัวเราะ) คิดว่าตัวเองชอบมันมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ เพราะการเป็นครูมัน ‘ฟิน’ มันรู้สึกว่าเป็นงานที่มีความหมาย เหมือนเราได้มีส่วนรวมในการสร้างมนุษย์คนหนึ่งให้เป็นมนุษย์ที่ดีในสังคม ยิ่งเราได้สอนอะไรสักอย่างให้กับเด็ก ได้บอกหรือแนะนำเขาว่าสิ่งนี้มันไม่ถูกต้องนะ ไม่ควรทำ เขาจะได้ไม่เติบโตไปเป็นแบบนั้น ยิ่งรู้สึกว่า ‘เฮ้ย วันนี้เราคอมพลีต (complete) แล้ว’

หรือว่าวันนี้ ในห้องเรียนได้สอนศิลปะได้ชวนให้เด็กๆ ไปสำรวจธรรมชาติ บางครั้งชวนให้เด็กๆ หลับตาฟังเสียงนก แล้วเขาพูดขึ้นมาว่า ‘โห เสียงนกเพราะจังเลย’ ทำให้เรารู้สึกดีมากที่เขาได้มาซาบซึ้งและดื่มด่ำกับธรรมชาติท่ามกลางพื้นที่ในเมือง ที่แทบจะไม่มีโอกาสให้เขาได้ทำอะไรแบบนี้ ทั้งหมดอาจจะอธิบายความรู้สึกนี้ได้ว่า คือ ‘ความดีใจที่ได้สร้างความหมายบางอย่าง ได้สร้างประสบการณ์ให้กับคนคนหนึ่ง ที่มันอาจจะติดตัวเขาไปตอนที่เขาโต’

สิ่งที่เด็กได้ ‘สอน’ ให้ผู้ใหญ่ได้เข้าใจ

‘การไม่รู้อะไรเท่าไหร่’ ของเด็กเนี่ยแหละ คือสิ่งที่สอนผู้ใหญ่อย่างเรามาก 

บางทีที่ให้เด็กๆ ปั้นงานศิลปะ แล้วให้เขาเล่าให้ฟังว่าเขากำลังปั้นอะไรอยู่ สิ่งที่เด็กๆ เล่าให้ฟังมันว้าวสำหรับผู้ใหญ่อย่างเรามาก เพราะว่ามัน ‘จริงใจ’ ไร้เดียงสา บางเรื่องที่ฟัง เรายังคิดไม่ได้แบบนั้นเลย เรายังจริงใจกับตัวเองได้ไม่เท่านี้เลยด้วยซ้ำ 

เด็กก็เหมือนเป็นผ้าขาว มันจริงและบริสุทธิ์มากๆ นี่คือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเด็กๆ พอได้ย้อนกลับมาทบทวนตัวเอง เมื่อเราโตขึ้น เราต่างปรุงแต่งสิ่งต่างๆ รวมถึงตัวเองมากขึ้น ทำให้หลงลืมอะไรบางอย่างไป และบางทีเราก็ไม่ได้ตระหนักถึงความบริสุทธิ์กับสิ่งที่เราทำอยู่จริงๆ หรือเปล่า

อีกหนึ่งหน้าที่ในบทบาทครูอนุบาลของ เพลง ต้องตา คือการรักษาความบริสุทธิ์ หรือ ‘รักษาความอยากรู้อยากเห็น’ ของเด็กๆ ให้ได้มากที่สุด เพราะมันคือสิ่งล้ำค่าในช่วงวัยของเขา

สมมติเด็กสงสัยว่า ‘ทำไมพระอาทิตย์ตกทะเล’ แล้วถ้าเราตอบไปว่า ‘มันก็เป็นแบบนี้แหละ’ พระอาทิตย์ไม่ได้ตกทะเล ทุกอย่างคือเรื่องปกติตามธรรมชาติและเป็นเรื่องจริงของระบบสุริยะ ความอยากรู้อยากเห็นหรือความบริสุทธิ์ของเด็กๆ ก็อาจจะหายไปได้ 

สิ่งที่ครูต้องทำ อาจจะไม่ใช่การตอบคำถามนั้น แต่บอกให้เขาลองชวนพ่อแม่ไปทะเลดูไหม ลองไปดูอีกทีนะว่าพระอาทิตย์ตกน้ำจริงหรือเปล่า ถ้ามันตกลงน้ำ น้ำจะร้อนหรือจะเป็นยังไง วิธีนี้อาจจะเป็นการรักษาสิ่งที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ หรืออะไรบางอย่างที่ผู้ใหญ่ไม่มีเอาไว้ได้

สิ่งที่อยากทำในอนาคตคืออะไร

ตอนนี้สนใจเรื่องการศึกษา สนใจเรื่องการพัฒนามนุษย์ สนใจประเด็นที่ว่า ‘มนุษย์ตัดขาดจากธรรมชาติ’ ตัดขาดจากกันและกัน เหมือนสังคมเมืองทำให้มนุษย์ไม่ปฏิสัมพันธ์กัน 

อย่าง ‘Dances of Universal Peace’ เป็นอีกหนึ่งกิจรรมของ เพลง ต้องตา ที่ใช้การเต้น (dancing) มาเป็น ‘เครื่องมือ’ ในการสื่อสารให้คนได้มาพบปะและทำกิจกรรมร่วมกัน ตอนแรกก็เป็นกิจกรรมทําเล่นๆ ในกลุ่มเพื่อน ต่อมาเกิดการชักชวนกันปากต่อปากจนขยายใหญ่ขึ้น จนจัดเป็นกิจจะลักษณะเดือนละครั้ง

การจัดกิจกรรมแบบนี้ก็เป็นแพสชัน (passion) อย่างหนึ่งของตัวเอง ที่อยากทำมากๆ เวลาเห็นคนได้มาพบปะ ได้สัมผัส ได้มองตา ได้จับต้องกัน เป็นอะไรที่เห็นแล้วฟินมาก

ปัจจัยหลายอย่างในสังคมยุคนี้ ทำให้ผู้คนต่างยิ่งห่างไกลกันออกไปทุกที ทั้งในความหมายด้านกายภาพและด้านจิตใจ คนจำนวนไม่น้อยต่างต้องทนทุกข์กับความเจ็บป่วยด้านจิตใจ เพราะเขาไม่เข้าใจตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองรู้สึกอะไร เลยอยากจัดกิจกรรมเป็นพื้นที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ด้วยการใช้ดนตรีและศิลปะ

ฝากอะไรถึงคนที่กลัวการเป็นเป็ด กลัวการทำอะไรหลายๆ อย่าง ในฐานะที่เคยผ่านมาก่อน

ไม่ต้องกลัวที่จะแตกต่างก็ได้ มั่นใจ (หัวเราะ) ภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ คือสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ มันดีอยู่แล้ว ไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร เป็นธรรมชาติของตัวเอง จริงๆ มันดีด้วยซ้ำไปที่ได้ทำอะไรหลายอย่าง ตัวเราเองก็ชอบแบบนี้ หมายถึงว่าเราเป็นเราแบบนี้ มันก็ไม่ได้ผิดที่ตัวเองจะเก่งได้แค่นี้ แล้วก็ไม่ผิดที่ตัวเราจะชอบอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน