คุยกับ พิม หวังเดชะวัฒน์ ผู้เขียน ‘เราต่างเป็นดวงจันทร์อันโดดเดี่ยว’ เพราะชีวิตมนุษย์เต็มไปด้วยความเปลี่ยวเหงาและสูญเสีย แต่เราจะก้าวผ่านมันไปได้ด้วยการสำรวจอดีต
“อยากให้คนอ่านหนังสือเราแล้วอยู่คนเดียวน้อยลง”
อาจกล่าวได้ว่าเป็นประโยคประจำตัวของ ‘พิม หวังเดชะวัฒน์’ ผู้เขียน ‘The Moon Represents My Heart – เราต่างเป็นดวงจันทร์อันโดดเดี่ยว’
นวนิยายไซไฟที่เล่าเรื่องของครอบครัวหวัง ครอบครัวเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษ พวกเขามีพรสวรรค์ในการ ‘เดินทางข้ามเวลา’
ทว่า จู่ๆ วันหนึ่ง ‘โจชัวและลิลี’ ผู้เป็นพ่อแม่ก็ข้ามเวลาหายไปในอดีต ทิ้งให้ลูกๆ อย่าง ‘ทอมมีและอีวา’ ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าที่สูญเสียการมีอยู่ของพ่อแม่ไป เด็กๆ ทั้งสองจึงเติบโตท่ามกลางความเหงาอันโดดเดี่ยวพร้อมกับการพยายามก้าวผ่านความสูญเสีย
โดยพิมเล่าให้ฟังว่า เธอฝันอยากเป็นนักเขียนมาตั้งแต่เด็ก หลังเรียนจบปริญญาตรี ได้ทำงานเป็นคอนเทนต์ในสายการตลาดสักพักก็ตัดสินใจเรียนปริญญาโทสาขา Creative Writer ที่ Edinburgh Napier University จนได้ผลงานออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้
ที่ไม่ใช่แค่ได้ทำความฝันให้เป็นจริง แต่ยังเป็นหนึ่งในผลพวงในการปลดปล่อยบางสิ่งบางอย่างที่ยังค้างคาในใจออกมา จากประสบการณ์การพบเจอกับความสูญเสียส่วนตัว
หลังจากเวอร์ชันภาษาไทยตีพิมพ์ออกมา กระแสตอบรับของนักอ่านคนไทยเป็นอย่างไรบ้าง แตกต่างกับนักอ่านชาติอื่นไหม
ตอบยากนะ จริงๆ อาจไม่ต่างกันมากนะ แต่ส่วนมากคนที่เขาอ่านหนังสือแล้วชอบ พอมาคุยกับเราเขาจะมีฟีดแบ็กคล้ายๆ กันคือ ทําให้คิดถึงครอบครัวของตัวเอง คิดถึงอากง อาม่า โดยเฉพาะคนที่มีเชื้อสายจีน
อย่างชื่อหนังสือ ‘The Moon Represents My Heart’ ซึ่งเป็นชื่อเพลงของ ‘เติ้ง ลี่จวิน’ เขาก็มาเล่าให้ฟังว่ามีความทรงจําเกี่ยวกับเพลงนี้มาก บางคนบอกว่าเป็นเพลงที่ร้องคาราโอเกะกับแม่ บ้างก็เป็นเพลงโปรดของพ่อ
แล้วก็มีนักอ่านคนหนึ่งเป็นคนไทย ตอนนั้นเราไปแจกลายเซ็นที่ร้านหนังสือคิโนะคูนิยะ เขาก็มาเล่าว่าคุณตาเพิ่งเสียไป พออ่านเล่มนี้จบก็รู้สึกว่าเหมือนมีเพื่อน อันนี้เป็นฟีดแบ็กที่มีความหมายกับเรามาก เพราะอยากให้คนอ่านหนังสือเราแล้วอยู่คนเดียวน้อยลง
ส่วนสิ่งที่แตกต่างกันระหว่างนักอ่านไทยคือ เขาอาจมีคำถามมากขึ้นเกี่ยวกับการเขียนหนังสือของเรา เช่น ไปตีพิมพ์ต่างประเทศได้อย่างไร เป็นนักเขียนไทยทำไมเขียนภาษาอังกฤษ เพราะถ้าเป็นนักอ่านต่างประเทศเขาจะไม่ได้แคร์ขนาดนั้น
“ความเหงาสำคัญตรงที่มันอยู่คู่กับมนุษย์แล้วสามารถสะท้อนอีกด้านหนึ่งว่า การที่เรามีความเหงาแปลว่าต้องการที่จะเชื่อมต่อกับคนอื่น”
‘เราต่างเป็นดวงจันทร์อันโดดเดี่ยว’ อยากรู้ว่าเรื่องราวข้างในกล่าวถึงความโดดเดี่ยวในด้านไหนบ้าง
จริงๆ ความโดดเดี่ยวก็เป็นธีมอารมณ์หลักของหนังสือ เพราะตอนที่เขียนเป็นช่วงที่กำลังต่อสู้กับความเหงาและความโดดเดี่ยว
เวลาที่เราย้ายจากบ้านเกิดไปอยู่ต่างถิ่น มันจะเกิดความเหงาที่มีเอกลักษณ์ ไม่ธรรมดา แล้วก็มีความหมายจากการเกิดขึ้นจากการสูญเสียด้วย ไม่ว่าจะเสียชีวิตหรือเขาแค่เดินออกจากชีวิตเราไป มันมีความเหงาที่ค้างคาจากเหตุการณ์นั้นๆ อยู่
เราเลยคิดว่าชื่อนี้ (เราต่างเป็นดวงจันทร์อันโดดเดี่ยว) ค่อนข้างเหมาะกับหนังสือเล่มนี้
“ความเศร้า การสูญเสีย และความสัมพันธ์กับพ่อแม่ ที่ไม่ว่าจะมาจากวัฒนธรรมไหนก็เข้าใจได้”
แล้วคิดว่า ‘ความเหงา’ เป็นความรู้สึกที่แย่หรือดี
เรารู้สึกว่ารุ่นพวกเราเหงากันเยอะนะ ทั้งที่คนเราสามารถเชื่อมโยงกันได้ตลอดเวลา แค่เปิดแอปพลิเคชันก็เจอกันแล้ว แต่คิดว่าความเหงาสำคัญตรงที่มันอยู่คู่กับมนุษย์แล้วสามารถสะท้อนอีกด้านหนึ่งว่า การที่เรามีความเหงาแปลว่าต้องการที่จะเชื่อมต่อกับคนอื่น และจริงๆ ความเหงาก็ทำให้เราได้ทำอะไรใหม่ๆ ด้วยตัวเอง ดังนั้น ความเหงาจึงสำคัญและจำเป็นที่เราต้องอยู่กับเขาให้ได้
แสดงว่าการลงมือเขียนหนังสือเป็นวิธีช่วยให้คุณบรรเทาความเหงา
ตอนเด็กเรามีความเหงาเยอะมาก เลยชอบหนีไปอยู่ในโลกหนังสือและแฟนตาซี เลยคิดว่าใช่นะ เพื่อนที่เป็นนักเขียนหลายคนก็บอกว่านักเขียนส่วนมากจะขี้เหงา
ซึ่งเราคิดว่า นักเขียนเป็นอาชีพที่เหงา เพราะเรานั่งทำงานอยู่คนเดียวเลยต้องออกไปหาอย่างอื่นทำบ้าง ไปอยู่กับคอมมูนิตีนอกเหนือจากตัวเอง
คือแม้ว่าบางครั้งเราก็ต้องอยู่คนเดียวให้เป็น ด้วยการชอบตัวเองมากพอที่จะอยู่คนเดียวได้ แต่สุดท้ายแล้วเราก็ต้องการการเชื่อมโยงกับคนอื่นเหมือนกัน
เราเลยจะพบ ‘ความเหงา’ ในทุกบทของเล่มนี้
ใช่ค่ะ อย่างตัวละครลูกชาย (ทอมมี) ที่มีความเหงาจากการสูญเสียเลยวิ่งหนีเข้าไปในอดีต แล้วไม่กลับมาปัจจุบันอีกเลย
อย่างตัวละคร เมย์ กับ โจชัว ที่ย้ายจากฮ่องกงไปอยู่ประเทศอังกฤษ จะมีความเหงาจากความแปลกแยกที่เราเป็นคนผิวเหลืองในกลุ่มคนผิวขาว
อีกแบบหนึ่งคือ ลิลี เธอโตในประเทศอังกฤษกับครอบครัวที่มีฐานะและหน้าตาเป็นสิ่งสำคัญในสังคม แม้จะมีทุกอย่างในชีวิตก็ตาม แต่ในด้านของความสัมพันธ์ และความต้องการที่ไม่ได้รับการมองเห็น การถูกเลี้ยงดูมาแบบนั้นก็ทำให้เหงาเหมือนกัน
คำตอบนี้จึงตอบคำถามคาใจหลายคนว่า ต่อให้ไม่ใช่คนไทยเชื้อสายจีนก็สามารถอินไปกับหนังสือเล่มนี้ได้ เพราะหนึ่งในธีมอารมณ์ของเรื่องคือ ทุกคนล้วนมีความเหงา
เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วเรื่องนี้ทุกครอบครัวอินกับมันได้ เพราะเกี่ยวกับความเศร้า การสูญเสีย และความสัมพันธ์กับพ่อแม่ ที่ไม่ว่าจะมาจากวัฒนธรรมไหนก็เข้าใจได้ แต่คนที่มาจากวัฒนธรรมครอบครัวจีนก็อาจเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งในอีกมิติหนึ่ง
“ต่อให้เราสามารถเดินทางย้อนเวลากลับไปได้ แต่สุดท้ายแล้วก็หลีกเลี่ยงการสูญเสียไม่ได้อยู่ดี เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรต่อ”
ทำไมถึงใช้การเล่าเรื่องในอดีตด้วยการให้ตัวละครสามารถย้อนเวลาได้
เราเป็นคนที่ชอบเรื่องราวเกี่ยวกับการย้อนเวลาและประวัติศาสตร์อยู่แล้ว ชอบดู ‘Doctor Who’ ชอบหนัง ‘About Time’ รู้สึกว่ามันน่าสนใจนะ เพราะเวลาเรานั่งอยู่คนเดียวคนเราจะคิดถึงอดีตเยอะ แล้วถ้าเราสามารถย้อนกลับไปได้จะมีอะไรที่ทำได้ไหมเพื่อเปลี่ยนแปลงอนาคตหรือปัจจุบัน มนุษย์เราก็ตั้งคำถามนี้มานานแล้ว
เลยรู้สึกว่า ‘การย้อนเวลา’ เป็นเครื่องมือที่ใช้ทดแทนการสูญเสียได้ ด้วยการสามารถสำรวจว่าตัวละครแต่ละคนมีปฏิกิริยาต่อการสูญเสียอย่างไร
แต่ความน่าสนใจคือ ต่อให้เราสามารถเดินทางย้อนเวลากลับไปได้ แต่สุดท้ายแล้วก็หลีกเลี่ยงการสูญเสียไม่ได้อยู่ดี เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป
เราว่าการย้อนเวลาในหนังสือของเราเป็นเหมือนความฝันและความทรงจำเก่าๆ ที่ให้อารมณ์ขมุกขมัว ประมาณว่ามันเคยเกิดขึ้นใช่ไหมก็เลยอยากเล่นกับตรงนั้นด้วย
ถ้าคุณสามารถย้อนเวลาได้ จะย้อนไปไหม
คิดว่าอยากย้อนนะ อย่างที่บอกว่าเราเป็นคนชอบประวัติศาสตร์ เลยอยากกลับไปเพื่อดูรายละเอียดหลายอย่างที่เกิดขึ้นมากกว่า แต่ไม่ได้อยากย้อนไปเปลี่ยนแปลงอะไร คือไม่ใช่ว่าเราไม่เสียใจอะไรนะ แต่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้
จะมีประโยคหนึ่งที่คนเรามักพูดว่า “อดีตไม่สำคัญ ปัจจุบันสำคัญกว่า” ในฐานะคนที่ชอบประวัติศาสตร์-ความเป็นอดีต คิดอย่างไรกับประโยคนี้
สำหรับเราคิดว่าอดีตสำคัญมากเพราะมันทำให้เราเป็นตัวเราในวันนี้ และสามารถอธิบายได้ว่าทำไมเราถึงเลือกตัดสินใจอะไรบางอย่าง ทำไมเราถึงเป็นคนแบบนี้ ทำไมถึงมีอารมณ์นี้ ทำไมถึงมีนิสัยแบบนี้ มันเป็นอะไรที่เกิดขึ้นเพราะอดีตไม่ใช่ปัจจุบัน
เราเลยคิดว่าการเข้าใจอดีตเป็นอะไรที่สำคัญ มันทำให้เราเข้าใจตัวเองและคนรอบข้างมากขึ้น ดังนั้น การมองย้อนอดีตสำหรับเราจึงสำคัญมาก แต่ต้องมาพร้อมกับมุมมองที่ทำให้เราไม่จมปลักอยู่กับมัน
แม้ว่าบางอย่างเราอาจเสียดายและเสียใจภายหลังว่าอยากทำให้ดีขึ้น แต่สุดท้ายแล้วมันควรจะใช้เป็นแรงผลักดันเพื่อทำให้อนาคต (AKA ปัจจุบัน) ดีกว่าเดิม ถ้าเกิดเรามัวแต่จมปลักอยู่กับเรื่องแย่ๆ จะทำให้เราพลาดสิ่งดีๆ ที่เรามีในปัจจุบัน
“บางทีเราคิดว่าผ่านขั้นนี้ไปแล้วมันก็กลับมาใหม่ได้ เลยคิดว่ามันไม่ได้มีความตายตัวขนาดนั้น”
คิดว่าอะไรทำให้บางคนถึงยังจมปลักกับอดีตของเขา
คิดว่าความเสียดาย ไม่ก็เป็นความกลัวนะ เหมือนกับคนอกหักที่ถ้าเราไม่เสียใจแล้ว ไม่มีอะไรของเขาที่เราเก็บไว้แล้ว นั่นคือการสูญเสียสุดท้าย สำหรับบางคนอาจเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะเราไม่รู้เลยว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จึงกลัวที่จะปล่อยมันไป
แต่บางคนที่สุดโต่งมากๆ คือพอเกิดขึ้นแล้ว แน่นอนว่าเจ็บปวด แต่เขาก็เลือกที่จะไม่สนใจมันเลยแล้วฝังความรู้สึกนั้นไว้ อย่างตัวละครพระเอกของเรา (โจชัว) ก็เหมือนกัน จะมีความลีลาและปฏิเสธ สำหรับเราคิดว่าแบบนั้นทำให้ยิ่งแย่
อีกคีย์เวิร์ดหนึ่งสำหรับหนังสือเล่มนี้คือ ‘การสูญเสีย’ ในทางจิตวิทยาจะมีทฤษฎีที่เรียกว่า ‘5 Stages of Grief’ เพื่อใช้รับมือและก้าวผ่านการสูญเสีย สำหรับคุณเคยมีประสบการณ์การรับมือกับการสูญเสียอย่างไรบ้าง เป็นไปตามทฤษฎีไหม
น่าสนใจ ถ้าจากประสบการ์ของตัวเอง เรารู้สึกว่า 5 ขั้นที่ว่ามันปนกันมั่วไปหมดเลย แล้วมันก็ขึ้นอยู่กับคนที่เราสูญเสียด้วย อย่างเช่นตอนที่เราสูญเสียอากง เราไม่ได้มีขั้นการต่อรอง หรือปฏิเสธ เพราะอากงป่วยมานานระยะหนึ่งซึ่งเราก็เตรียมใจไว้อยู่แล้ว บางขั้นมันเลยไม่ได้เกิดขึ้น
มันยังมีการสูญเสียอีกแบบหนึ่ง เช่น การสูญเสียคนที่มีในชีวิตไป (คนที่ไม่ได้สานสัมพันธ์กันต่อแล้ว) เราสังเกตตัวเองว่า ตอนแรกอาจจะเชื่อยาก ประมาณว่า จริงเหรอ ยังมีโอกาสบ้างไหม อาจมีไปดูดวงบ้าง (หัวเราะ) คือความเป็นผู้หญิงมันจะมีความหวัง มีการต่อรอง หาคำตอบว่าเราผิดตรงไหนบ้างไหม ส่วนความโกรธของเราจะมาสุดท้าย หลังจากนั้นก็อาจจะยอมรับได้มากขึ้น
เราคิดว่าลำดับของทฤษฎีนี้จะแตกต่างกันไปตามแต่ละคน บางทีก็ผสมปนเปกันไปหมด บางทีเราคิดว่าผ่านขั้นนี้ไปแล้วมันก็กลับมาใหม่ได้ เลยคิดว่ามันไม่ได้มีความตายตัวขนาดนั้น
คิดว่าคนเราจะสามารถคุ้นเคยหรือชินชากับการสูญเสียได้ไหม
เรารู้สึกว่าคำว่า คุ้นเคยหรือชินชา ไม่ใช่คำที่ถูกต้องนัก เพราะทุกครั้งที่สูญเสียอะไรไป จะยังมีความรู้สึกหรืออะไรบางอย่างที่อยู่กับเราเสมอ แต่สิ่งสำคัญคือการหาวิธีอยู่กับมันให้ได้โดยที่ไม่ให้มันมาครอบงำชีวิตเรา
บางครั้งเราผ่านเรื่องหนึ่งมาได้ ก็สามารถผ่านไปได้อีกครั้ง แต่บางเรื่องที่คิดว่าเราผ่านมันไปได้แน่นอน แต่ความจริงอาจไม่ใช่เสมอไปก็ได้
สมมติว่ามีนักอ่านที่อ่านหนังสือเล่มนี้ แล้วมาปรึกษาเกี่ยวกับการก้าวข้ามผ่านการสูญเสีย ในฐานะคนเขียนเรื่องนี้จะให้คำแนะนำอย่างไร
อย่ากลัวการสูญเสีย บางทีคนเรากลัวสูญเสียมากจนไม่ทำในสิ่งที่ควร ไม่ได้พูดในสิ่งที่ควรพูดในเวลานั้นๆ ไม่รักเท่าที่ควรจะรักเพราะกลัวจะสูญเสียไป กลัวจะเศร้า กลัวจะเจ็บ แต่สุดท้ายแล้วการสูญเสียเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
เมื่อการสูญเสียเกิดขึ้น แปลว่าเรามีอะไรบางอย่างที่รักมากพอที่เมื่อสูญเสียไปเราจะเสียใจ แต่ถ้าเรามัวแต่กลัวว่าจะสูญเสีย ท้ายที่สุดแล้วเราก็จะสูญเสียมันไปอยู่ดี
ขอบคุณสถานที่: ร้าน Patchworks BKK