8 Min

คุยกับ ‘เท็น ชาครีย์’ และ ‘บิ๊ก รวิน’ Musketeers วงดนตรีที่(เคย)แอนตี้คำว่า ‘รัก’ ผ่าน 17 ปีในเทพนิยายหมาแก่ และเพลง ของขวัญ-พิจารณา-SEA

8 Min
554 Views
15 Jun 2024

แค่บางคำ, ความทรงจำ, ของขวัญ, ดีกว่านี้

แค่คุณ, อยากให้เธอลอง, นิทาน, งานเต้นรำ
ใจความสำคัญ

พิจารณา

และ Sea

เชื่อว่าต้องมีสักเพลงของ ‘Musketeers’ ที่ติดหูจนร้องตามกันได้ หรืออาจอยู่ในสักช่วงชีวิต หรือเป็นข้อความแทนห้วงหนึ่งของความรู้สึก หรืออยู่ในเพลย์ลิสต์ที่กำลังฟังอยู่ ไปจนถึงเป็นเพลงโปรดที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายคน

Musketeers เป็นวงดนตรีโมเดิร์นร็อก (Modern Rock) ระดับตำนานที่อิมพอร์ตมาจากเชียงใหม่ เริ่มจากการเป็นมือสมัครเล่น ฟอร์มวงกันในกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มเล่นงานต่างๆ ภายในคณะและสถานศึกษา ต่อมาได้เริ่มเข้าสู่เส้นทางการประกวด และก้าวสู่การเป็นศิลปินเต็มตัวมาเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ

ปัจจุบัน Musketeers มีสมาชิกทั้งหมด 3 คน ประกอบด้วย ชาครีย์ ลาภบุญเรือง หรือ เท็น นักร้องนำ, สรรพวิชญ์ หวานสนิท หรือ ด๋อย มือเบสประจำวง และ รวิน มิตรจิตรานนท์ หรือ บิ๊ก มือกีตาร์

วันนี้ BrandThink ชวน ‘เท็น-ชาครีย์ ลาภบุญเรือง’ และ ‘บิ๊ก-รวิน มิตรจิตรานนท์’ สองหนุ่มจากวง Musketeers มาย้อนความหลังบนเส้นทางสายดนตรีและแวดวงอุตสาหกรรมเพลง ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา พร้อมเรื่องราวของ 3 เพลงรัก 

จุดเริ่มต้นความสนใจด้านดนตรี

ความสนใจและหลงใหลด้านดนตรีของ บิ๊ก รวิน เริ่มจากการเติบโตในครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นคนรักเสียงเพลง จากหลายๆ เพลงที่คุณพ่อฟังกลายมาเป็นเพลงโปรดของเขาในตอนนั้น และจากเพลงโปรดที่ชอบฟังก็กลายเป็นความนึกสนุกอยากลองเล่นเพลงนั้นด้วยตัวเองบ้าง ทั้งหมดเป็นจุดเริ่มต้นที่บิ๊ก รวิน สนใจอยากเป็นนักดนตรี และเริ่มหัดเล่นกีตาร์กับรุ่นพี่ข้างบ้าน 

ส่วน เท็น ชาครีย์​ มีคุณแม่เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ เธอใช้เพลงเป็น ‘เครื่องมือ’ สอนนักเรียนเพื่อให้เข้าใจความหมายคำศัพท์และโครงสร้างภาษาจากเนื้อเพลง ทำให้เท็นเองก็ได้ฟังเพลงและซึมซับดนตรีจากฝั่งตะวันตกไปด้วย แม้ตอนนั้นยังแปลไม่ออก แต่ก็รู้ตัวว่าชอบฟังเพลง และพอโตขึ้นก็เริ่มฟังเพลงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งเพลงไทย เพลงไทยสากล เพลงกระแสนิยม ไปจนถึงเพลงท้องถิ่น อย่างเพลงหมอลำ

จากตัวประกอบตามงานต่างๆ สู่การเริ่มต้นอยากเป็นศิลปินจริงจัง

หลังจากเริ่มฟอร์มวงดนตรีเล่นงานกิจกรรมรับน้อง เท็น ชาครีย์ และ บิ๊ก รวิน พร้อมกับเพื่อนๆ ก็เริ่มเดินหน้าเล่นดนตรีกันต่อไป แต่ ณ เวลานั้น เวทีที่จะเป็นพื้นที่ให้พวกเขาขึ้นไปปลดปล่อยความชอบ ก็คงหนีไม่พ้นกิจกรรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็น งานเฟรชชี่ งานบายเนียร์ หรืองานต่างๆ ของคณะหรือมหาวิทยาลัย แน่นอนว่างานเหล่านี้ คนส่วนใหญ่ไม่ได้มาร่วมงานเพื่อที่จะฟังเพลงหรือให้ความสนใจกับเพลงและดนตรี พวกเขาจึงกลายเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งในงาน หลายๆ ครั้งที่ไม่มีใครสนใจ นานวันเข้า บ่อยครั้งมากขึ้น ก็เริ่มกลายเป็นเรื่อง ‘บั่นทอนจิตใจ’ 

จนต้องมาคุยกันในวงจริงจังและถามตัวเองว่าจะเอายังไงกันต่อไป จะอยู่แบบนี้กันต่อไปเรื่อยๆ หรือจะออกไปหาพื้นที่ที่มีคนต้องการเราจริงๆ คนอยากฟังเพลงของพวกเขาจริงๆ และ ‘การประกวดวงดนตรี’ ก็คือคำตอบของพวกเขา อย่างน้อยๆ ถ้าได้อยู่บนเวทีประกวดก็ยังมีกองเชียร์ ถึงจะเป็นคนที่มาให้กำลังใจวงอื่น แต่คนเหล่านั้นก็ยังได้ดูพวกเขาเล่นดนตรี และไม่ได้มองพวกเขาเป็นอากาศธาตุอย่างที่ผ่านมา

ประกวดไป…ก็มีแต่แพ้กับแพ้ แต่ก็ยังไม่ละความพยายาม

พอเริ่มฟอร์มวงไปประกวดแข่งขันจริงจัง พวกเขาก็ต้องเริ่มแบ่งเวลาไปซ้อมและต้องให้เวลากับวงมากขึ้นกว่าก่อนมาก แต่ไม่ว่าจะซ้อมหนักแค่ไหน ทุ่มเทมากขึ้นกว่าเดิมเท่าไหร่ พวกเขาก็ไม่เคยชนะเลยสักครั้ง แพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทั้ง เท็น ชาครีย์ และ บิ๊ก รวิน ก็รู้ตัวดีว่า พวกเขาไม่ได้เก่งสู้คู่แข่งวงอื่นๆ บนเวที สมาชิกในวงแต่ละคนก็เรียนนิติศาสตร์บ้าง รัฐศาสตร์บ้าง ล้วนแต่เป็นสายวิชาสังคม ไม่ได้มีความรู้หรือความชำนาญเฉพาะทางด้านดนตรีโดยตรง แต่เมื่อมานั่งลองคิด วิเคราะห์จากจุดด้อย ถ้าจะให้แกะเพลงดังๆ ในสมัยนั้น อย่างเพลงของ Bodyslam ที่ต้องมีทักษะการเล่นดนตรีที่สูงกว่าสกิลของพวกเขา แถมยังมีคู่เปรียบเทียบกับวงอื่นๆ ที่เข้าร่วมแข่งขัน ยังไงก็ยังไม่เห็นแววชนะ สิ่งที่ เท็น ชาครีย์, บิ๊ก รวิน และวงของพวกเขาต้องมองหา นั่นคือ เวทีประกวดที่ใช้เพลงแต่งเอง เพื่อลดคู่เปรียบเทียบ ลดโอกาสและความเสี่ยงที่จะแพ้อีกครั้ง

ก่อนจะเป็น Musketeers วงนี้ชื่อ ‘วงษ์คำเหลา’ มาก่อน (?)

ด้วยความชื่นชอบ ‘หม่ำ จ๊กมก’ หรือ เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา หนึ่งในสมาชิกแก๊งสามช่า จากรายการชิงร้อยชิงล้าน และเป็นนักแสดงตลกมากความสามารถที่กำลังเป็นที่นิยม ณ ขณะนั้น พวกเขาจึงนำนามสกุล ‘วงษ์คำเหลา’ มาเป็นชื่อวงประกวด ตอนแรกทางผู้จัดงานประกวดเวทีต่างๆ และคนเชียร์ก็บอกว่าฟังดูน่าเอ็นดูดี แต่เมื่อเริ่มเดินสายประกวดดนตรีจริงจัง เริ่มมีการออกสื่อต่างๆ มากขึ้น จึงได้มาทบทวนกันจริงจังอีกครั้งว่าควรใช้ชื่อนี้ต่อไปจริงๆ หรือเปล่า ถ้าชื่อวงถูกเผยแพร่ตามสื่อวิทยุและโทรทัศน์มากขึ้นเรื่อยๆ สักวันอาจได้ยินถึงหูหม่ำ จ๊กมก และอาจจะกระทบความรู้สึกเจ้าของนามสกุลได้ ประจวบเหมาะกับที่ช่วงนั้นมีภาพยนตร์เรื่อง ‘The Three Musketeers’ ทุกคนเห็นว่าชื่อนี้มีความหมายที่ดี จึงได้เอามาใช้เป็นชื่อวง ‘Musketeers’

เมื่อมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะลงประกวดเฉพาะเวทีที่ต้องใช้เพลงแต่งเอง แล้วใครเป็นคนแต่ง?

เท็น ชาครีย์ เผยว่า ตนเองคือคนแต่งเพลงหลักๆ ให้กับวง Musketeers มาตั้งแต่สมัยเริ่มประกวด แม้จะไม่เคยแต่งเพลงมาก่อนในชีวิต แต่ด้วยความทะเล้นวัยเด็กที่ชอบแปลงเพลง ใส่ทำนองใหม่ๆ เพื่อความสนุกสนาน

เพลงแรกในชีวิตที่เท็น ชาครีย์ แต่งเอง

‘อยู่ที่เธอ’ เป็นเพลงแรกที่เท็น ชาครีย์ แต่งขึ้นมาและยังไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน โดยเนื้อหาของเพลงนี้เล่าถึงความรักในแบบของเพื่อนมนุษย์ เพราะตอนที่เขียนเพลงนี้ขึ้นมา เขาได้ไอเดียที่อยากเขียนเพลงรัก ที่ไม่ใช่ความรักหนุ่มสาวหรือความรักทั่วๆ ไป จึงลองเติมเรื่องสิทธิมนุษยชนลงไป เพื่อให้เป็นความรักที่แตกต่าง

การประกวดดนตรีชนะครั้งแรก

ครั้งแรกที่วง Musketeers ชนะการประกวดดนตรีครั้งแรก คือ ‘รางวัลเนื้อร้องยอดเยี่ยม’ จากเพลง ‘แบ่งปันน้ำใจ’ ในการประกวดเวที Hunger Free Music Festival
ทั้ง เท็น ชาครีย์ และ บิ๊ก รวิน เล่าย้อนความสำเร็จในวันนั้นให้ฟังว่า อาจเป็น ‘ความโชคดี’ ก็ได้ที่สมัยนั้นแนวเพลงเฮฟวีเมทัล (Heavy Metal) กำลังเป็นที่นิยม วงประกวดส่วนใหญ่จึงหยิบเอาแนวเพลงนี้มาใช้ร้องบนเวที สมมติมีสิบวงก็ร้องว้ากไปแล้ว 9 วง ไม่ใช่วงอื่นไม่เก่ง แต่อาจเพราะกรรมการฟังไม่ออก แนวดนตรีที่ฟังง่ายกว่าที่ Musketeers หยิบไปเอาร้องประกวด เลยแตกต่าง และได้นรางวัล (หัวเราะ)
โดย แบ่งปันน้ำใจ เป็นแนวเพลงเพื่อชีวิต ที่มีเนื้อหาสะท้อนปัญหาการมองคนแต่รูปลักษณ์ภายนอก และการตัดสินคุณค่าของคนจากเพียงสิ่งที่ตาเห็น ไม่ว่าจะสูง ต่ํา ดํา ขาว รวย หรือจน อยากให้มองว่ามนุษย์ก็คือมนุษย์ และการให้เกียรติกันในฐานะมนุษย์ ก็เป็นสิ่งที่เป็นพื้นฐานของทุกคน

เพลงต่างๆ ที่เท็น ชาครีย์ แต่งเอง นอกจากจะนำไปใช้สำหรับการประกวดแล้ว หลังจากที่ทำดนตรีเองกับเพื่อนๆ ในวงเสร็จประมาณ 4 เพลง ก็นำไปอัปโหลดลงใน myspace แพลตฟอร์มออนไลน์ยุคนั้น ทำให้มีคนตามมาฟัง จากที่ลงแบบมั่วๆ ก็มีคนมาติดตามกว่า 60,000 ในตอนนั้นเป็นจำนวนที่เยอะมาก ทำให้คนอื่นๆ ในวงรู้สึกว่าตัวเองทำตรงนั้นได้ดี เลยได้ทำเพลงกันมาเรื่อยๆ

เพลงของ Musketeers (ยุคแรก) แอนตี้คำว่า ‘รัก’…?

เวลาได้ยินคำว่ารัก มันรู้สึกจั๊กจี้ทุกครั้ง ถ้าสังเกต 3-4 เพลงแรกของ Musketeers จะไม่มีคำว่ารักเลย ขนาดเพลง ‘เขียน’ ก็ยังเลี่ยงคําว่ารัก ใช้คําว่าชอบในเนื้อเพลงแทน

จนกระทั่ง Musketeers ได้มาอยู่ภายใต้สังกัด บีลีฟ เรคคอร์ดส (Believe Records) พวกเขาก็ยังปฏิเสธที่จะผลิตผลงานเพลงรักวัยรุ่น แต่ในชีวิตการทำงานจริงทำให้ได้เรียนรู้ว่า ประสบการณ์ชีวิตวัยรุ่นของพวกเขาตอนนั้นมันก็มีอยู่แค่ไม่กี่เรื่อง ความรัก มิตรภาพ ความฝัน และยังต้องเรียนรู้อะไรอีกเยอะ แล้วทำไมยังจะต้องรู้สึกจั๊กจี้เวลาที่ต้องเขียนคำว่า ‘รัก’ ในเนื้อเพลงตัวเอง

เมื่อเปลี่ยนมุมมอง แนวทางการผลิตผลงานก็เปิดกว้างขึ้น แต่เพลงรักสไตล์ Musketeers ก็ยังคงเป็นตัวตนของพวกเขาในแนวทาง ‘เพลงรักที่ไม่ฟูมฟาย’ และมีมุมมองมากกว่าความเศร้าเสียใจ

ของขวัญ: เพลงรักเพลงแรกแบบฉบับ Musketeers ที่ใช้เวลาเขียนเนื้อเพลงนานกว่าครึ่งปี

หากจะให้พูดถึงเพลงรักฉบับ Musketeers ก็คงต้องนึกถึง ‘ของขวัญ’ ที่ทั้ง เท็น ชาครีย์ และ บิ๊ก รวิน ยกให้เป็นเพลงรักเพลงแรก

เพลงนี้เริ่มจากที่ พู-ภาคภูมิ นิ่มละมัย มือกีตาร์ อดีตสมาชิกวง Musketeers มาปรึกษากับเท็น ชาครีย์ ที่เขาอยากมอบของขวัญให้พี่ชายในวันแต่งงาน แต่รู้สึกว่าแค่เงินหรือของขวัญธรรมดามันไม่มีคุณค่า แถมเขาเองก็เป็นนักดนตรีจึงอยากแต่งเพลงให้พี่ชายในโอกาสและช่วงเวลาที่สำคัญในชีวิตเช่นนี้

โจทย์ที่ท้าทายของการแต่งเพลงของขวัญ นั่นคือ เพลงนี้ไม่ใช่เพลงรักอินเลิฟ โรแมนติก หรือรักหวานหยดย้อยเหมือนธรรมเนียมเพลงงานแต่งทั่วไป แต่เพลงนี้จะเป็นเหมือนบันทึกความทรงจำชีวิตรักที่ต้องผ่านอุปสรรคนับไม่ถ้วน สู้กับระยะความห่างไกลทั้งกายและใจ รวมไปถึงความเห็นอกเห็นใจกันและกัน เพื่อก้าวข้ามช่วงเวลาที่เป็นเหมือนบททดสอบความรักของคู่บ่าวสาว

เท็น ชาครีย์ เผยว่า ตนใช้เวลานานถึง 7 เดือนในการแต่งเนื้อเพลงนี้ และคิดว่าจะต้องเป็น ‘เพลงรักที่ทำให้ร้องไห้ได้’ แต่ยังสะท้อนถึงความลำบากและความเข้มแข็ง และเลือกใช้เมโลดีเพลงเศร้าและเนื้อหาที่สื่อถึงความรักที่ผ่านการฝ่าฟันมากมาย จนเกิดเป็นเพลงของขวัญที่เต็มไปด้วยความหมายและความซาบซึ้ง

พิจารณา: เพลงรักโลกทุนนิยม ที่แม้แต่ความสัมพันธ์ยังต้องใช้เงิน

อย่างที่เคยบอก เพลงรักของ Musketeers ไม่ใช่รักที่เป็นความรักในมิติความโรแมนติกอย่างเดียว อีกหนึ่งเพลงรักของ Musketeers ที่โด่งดังจนเรียกได้ว่า ‘แมส’ ติดเทรนด์ TikTok ก็คงหนีไม่พ้น ‘พิจารณา’ 

พิจารณา เป็นเพลงรักในสังคมวัตถุนิยม เล่าเรื่องของคนที่มีความรัก มีแฟน หรือมีครอบครัว แต่ชีวิตก็ต้องใช้เงิน รวมไปถึงเรื่องการประคับประคองความรักและความสัมพันธ์ด้วย ดังนั้น คนหนึ่งคนอาจต้องลงทุนทํางานหนักที่มากถึง 6 วัน/สัปดาห์ เพื่อจะให้ตนเองมีเงินพอที่จะใช้จ่ายเพื่อความรักและทำให้คนที่ตนเองรักได้สุขสบาย

เพลงนี้ไม่ได้แต่งขึ้นมาจากอุดมการณ์หรือความคิดเลื่อนลอย แต่มันคือชีวิตจริงของคนยุคนี้ ที่ต้องบาลานซ์ระหว่างชีวิต ความรัก กับการทำงาน เมื่อมันตรงกับอินไซต์​ (insight) คนฟัง จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเก็ต (get) และอินไปกับ 4 นาทีกว่าๆ ของเพลงพิจารณา

Sea: เพลงอกหักเคล้าเสียงคลื่น พร้อมกับการตั้งคำถาม ทำไมเวลาเศร้าเราชอบไปทะเล?

‘Sea’ คือเพลงอกหักที่จังหวะกำลังดี เป็นผลงานล่าสุดของ Musketeers ที่เพิ่งปล่อยให้ได้ฟังกันเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เพลงนี้เริ่มต้นจากที่เท็น ชาครีย์ สังเกตเห็นผู้คนที่มาเที่ยวเพียง ‘คนเดียว’ และมักจะมาพร้อมกับความทุกข์ที่แบกเอาไว้

Sea จึงเล่าเรื่องราวของ ‘ทะเล’ ที่ไม่ได้เป็นแค่สถานที่พักผ่อนสำหรับผู้ที่กำลังมีความสุขแล้ว แต่ยังเป็นสถานที่ ‘ฮีลใจ’ ให้กับผู้คนที่กำลังเศร้าอีกด้วย
ด้านบิ๊ก รวิน เสริมว่า ความพิเศษของเพลงนี้อยู่ที่เนื้อเพลงและดนตรีแต่ละท่อนเหมือนเป็นฉากในหนังที่ปรากฏภาพในหัวชัดเจน โดยเฉพาะท่อนบริดจ์ (bridge) รวมถึงจังหวะที่ไม่ช้าไม่เร็วเกินไป ทำให้คำว่า Sea หรือ ทะเล กลายเป็นสถานที่ที่มีมนตร์เสน่ห์บางอย่างในการเยียวยาความทุกข์

17 ปี Musketeers การเดินทางจาก ‘มือสมัครเล่น’ สู่ ‘รุ่นเก๋า’ ในวงการเพลง

นับตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ก็นับเป็นเวลากว่า 17 ปี ที่ชื่อของ Musketeers ยังอยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีเมืองไทย ไม่ใช่เรื่องง่ายที่วงดนตรีวงหนึ่งจะมีอายุวงได้นานร่วม 10 ปีเช่นนี้

พอนับตัวเลข (อายุ) วงแล้วก็ใจหายเหมือนกันนะ ถ้าเป็นคน แต่สำหรับวงดนตรีไม่ใช่แบบนั้น มันตรงข้ามกัน วงที่อายุเป็นสิบปีก็คือวงที่ใกล้จะล้มหายตายจากไปจากคนฟังแล้ว หากจะให้เปรียบเทียบ พวกเขาบอกว่า Musketeers ก็เหมือน ‘หมาแก่’ ที่ตาฝ้าฟางและอ่อนแรงเต็มที แต่เรื่องราวตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในนาม Musketeers มันช่างมีความหมายเสียเหลือเกิน ไม่ใช่แค่กับเท็น ชาครีย์ หรือ บิ๊ก รวิน เท่านั้น แต่เชื่อเหลือเกินว่าอดีตสมาชิกวง Musketeers ทุกคน รวมไปถึง ‘ด๋อย-สรรวิช หวานสนิท’ อีกหนึ่งสมาชิกที่ไม่ได้มาร่วมวงสนทนาครั้งนี้ ก็คงรู้สึกไม่ต่างกับพวกเขา และทั้งคู่นิยามว่ามันเป็น ‘เทพนิยายหมาแก่’ เพราะทุกเรื่องราวเหมือนดั่งฝัน เมื่อได้มาเป็นนักดนตรี

บิ๊ก รวิน ยังจดจำความรู้สึกครั้งแรกที่เข้าห้องอัดเสียงได้ หัวใจที่เต้นแรง เลือดที่สูบฉีดไปทั่วร่างกาย ความกังวล ความประหม่า และความตั้งใจทุ่มเทที่จะสร้างผลงานเพื่อสร้างความสุขให้คนฟัง คละเคล้ากันไปในห้องสี่เหลี่ยมห้องนั้น

ส่วน เท็น ชาครีย์ บอกว่า แม้วันนี้ความสดใหม่จะไม่เท่าวันแรกที่ได้เป็นศิลปินเต็มตัว แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาก็ย้ำเตือนพวกเขาว่าหลายๆ ครั้งที่ Musketeers ได้ทดลองผลิตแนวดนตรีใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนภาพจำจากผลงานก่อน มีทั้งได้รับความนิยมอย่างล้นหลามและผิดจากที่คิด แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไป นั่นคือ การต้อนรับที่อบอุ่นเสมอจากแฟนเพลง

แล้วเรื่องราวเทพนิยายของ ‘หมาแก่’ ตัวนี้ จะไปจบลงที่ตรงไหน?

หมาที่แก่แล้ว สักวันก็ต้องตาย แต่ก่อนจะหมดลมหายใจ หมาแก่ตัวนี้ก็คงยังอยากได้ ‘ที่พักพิง’ ให้เอนกาย ล้มตัวลงนอนอย่างปลอดภัย ให้ได้ตายอย่างสงบ หรือไม่แก๊งหมาแก่ก็ยังอยากทัวร์คอนเสิร์ตไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่ทำไหว เพราะเมื่อเวลาอยู่บนเวที ได้ยินเสียงดนตรี ได้ยินเสียงคนร้องเพลงตามเรา ได้พบปะผู้คนที่รักเรา มันคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของพวกเรา Musketeers ทุกคน

แต่ไม่แน่นะ…บางทีหมาแก่ก็ยังอยากปล่อยผลงานระดับ ‘ปรมาจารย์หมา’ อีกสักครั้งเหมือนกัน