การเงินกับโควิดอะไรวิกฤตกว่ากัน และเราจะผ่านเรื่องนี้ไปได้อย่างไร

7 Min
1012 Views
06 Apr 2021

Select Paragraph To Read

  • หลายคนคาดการณ์ว่าปีนี้จะหนักอยู่แล้วเรื่องเศรษฐกิจ แต่มาถึงตอนนี้มันเหมือนจะเลวร้ายกว่าเดิม
  • วิกฤตนี้มันส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปหมด คุณมองสถานการณ์ตรงนี้อย่างไร 
  • สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้กับตอนปี 40 มันเปรียบเทียบกันได้ไหม มีความใกล้เคียงกันในแง่มุมไหนบ้าง
  • สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมันไม่มีใครคิดมาก่อน พอไม่ได้คิดมาก่อนก็ตั้งตัวไม่ทัน วางแผนไม่ทันแล้ว แต่เราจะมีวิธีการจัดการกับการเงินในสภาวะที่เกิดขึ้นตอนนี้อย่างไร
  • เหมือนตอนนี้เราไม่รู้ว่าทุกอย่างมันจะจบเมื่อไร 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน เราจะวางแผนการเงินท่ามกลางความไม่รู้นี้อย่างไร?
  • ในฐานะคนที่ผ่านวิกฤตการเงินช่วงปี 40 มาได้ พี่หนุ่มมีคำแนะนำหรือประสบการณ์ที่อยากแชร์ไหม
  • คุณเชื่อว่าในวิกฤตยังมีโอกาสอยู่จริงไหม เพราะหลายคนมองไม่เห็นโอกาสจริง ๆ มันมืดบอดไปหมดทุกทางในตอนนี้
  • สุดท้าย คุณคิดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องคิด ต้องทำในตอนนี้ ?

ต้นปี 2019 เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ โค้ชหนุ่ม – จักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อ “โค้ชหนุ่ม Money Coach” จนถึงวันนี้เป็นเวลาครบรอบปี เราได้มีโอกาสกลับมาคุยกับโค้ชหนุ่มอีกครั้งในสถานการณ์ที่แตกต่างออกไปจากตอนนั้นอย่างสิ้นเชิง

คนถือกระเป๋า

ความน่ากลัวของ “โควิด-19” ไม่ใช่แค่เพราะมันเป็นโรคระบาดที่อาจพรากลมหายใจของเราไปได้เท่านั้น แต่มันยังอาจพรากเงินในกระเป๋าของเราไปด้วย หลายคนต้องถูกให้ออกจากงาน หลายคนถูกลดเงินเดือน การเติบโตทางธุรกิจที่คิดไว้ต้องหยุดชะงัก ความมั่นคงในชีวิตที่เคยมั่นใจก็หายไปพร้อมกับความไม่แน่นอนที่พัดผ่านเข้ามา ทั้งหมดทำให้เรามานั่งคุยกับโค้ชหนุ่มในวันนี้ พร้อมคำถามและความหวังว่าคำแนะนำจาก Money Coach ที่เคยผ่านวิกฤตปี 40 มาแล้วคนนี้ จะช่วยให้เราผ่านวิกฤตนี้ไปได้เหมือนกัน

 วิกฤตนี้มันทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เรามีสั่งสมกันมานานมันชัดเจนขึ้น ด้วยความที่มันเกิดขึ้นเฉียบพลันไม่ทันตั้งตัว ทำให้ปัญหาสะท้อนออกมาชัดเจน รวดเร็วและรุนแรง

หลายคนคาดการณ์ว่าปีนี้จะหนักอยู่แล้วเรื่องเศรษฐกิจ แต่มาถึงตอนนี้มันเหมือนจะเลวร้ายกว่าเดิม

ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นผลจากโควิด แต่จริง ๆ ก็ต้องบอกว่ามันมีส่วนของปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เรามีสั่งสมกันมานานด้วยนะ ก่อนหน้าจะเกิดวิกฤตเรามีหนี้ครัวเรือน มีหนี้ส่วนตัวเยอะ แต่ว่าเรายังมีรายได้กันอยู่ พอมีรายได้อยู่ เราก็จะไม่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหามาก เพราะว่าในแต่ละเดือนก็ยังมีเงินเข้ามา ยังกัดฟันจ่ายหนี้ต่าง ๆ ได้ แต่พอมาถึงตอนนี้มันกลายเป็นว่าเราออกไปทำมาหากินกันไม่ได้ รวมไปถึงหลายคนก็ได้รับผลกระทบ ที่ทำงานถูกสั่งให้ปิด เอาล่ะทีนี้รายได้ไม่มี แต่มีภาระทางการเงิน ทั้งเป็นภาระที่ต้องกินต้องใช้ และเป็นภาระต่าง ๆ ที่สั่งสมไว้ด้วย มันก็เลยดูหนักพอสมควร

วิกฤตนี้มันส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปหมด คุณมองสถานการณ์ตรงนี้อย่างไร 

ต้องบอกว่าตัวเองเป็นผู้ประสบภัยคนหนึ่งในปี 2540 แต่วิกฤตต้มยำกุ้งรอบนั้นจะไม่เหมือนแบบนี้นะ รอบนั้นคือมันเกิดจากสถาบันการเงิน เรื่องของค่าเงินบาท พูดกันว่าเป็นวิกฤตของคนที่เป็นผู้ประกอบการ สถาบันการเงินเป็นหลัก แล้วค่อยกระทบลามมาถึงแรงงานต่าง ๆ แต่รอบนี้มันไม่ใช่ รอบนี้มันกระทบทุกคน อย่างปี 40 ถ้าพูดกันแบบเอาให้เห็นภาพคือเศรษฐกิจไม่ดีแต่ทุกคนก็ยังออกจากบ้านได้ พยายามหางานทำได้ ทำมาค้าขายได้ แต่ว่าตอนนี้เราจะออกจากบ้านยังไม่ได้เลย มันกลายเป็นว่าเงินกินก็ไม่มี ทำอะไรเพิ่มก็ดูยากลำบากไปหมด เพราะฉะนั้นรอบนี้มันไม่เลือกเลย ก็เหมือนกับทีเดียวปูพรมทุกจุด

สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้กับตอนปี 40 มันเปรียบเทียบกันได้ไหม มีความใกล้เคียงกันในแง่มุมไหนบ้าง

เก้าอี้

ถ้าเปรียบเทียบเรื่องความลำบาก การว่างงาน การหารายได้ น่าจะมีความคล้ายกัน แต่ว่าลักษณะของการจัดการมันอาจจะมีความยากมากกว่าเพราะว่าถ้าเป็นปี 40 มันคือปัญหาทางการเงินอย่างเดียว แต่ตรงนี้มันมีปัญหาเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บบวกกับเศรษฐกิจ มันมีความยาก พี่คิดว่ามันยากกว่าปี 40 เพราะตอนนั้นทุกคนก็มุ่งไปจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างเดียว แล้วกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างตอนนี้เราจะกระตุ้นอะไร มาตรการที่ออกมาในช่วงนี้เลยกลายเป็นยัดเงินใส่มือไปเลย มันกระตุ้นให้เกิดงานก็ไม่ได้ มันเหมือนสองปัญหาที่วิ่งคู่ขนานกัน ระหว่างที่กำลังพยายามหยุดปัญหาหนึ่ง อีกปัญหามันก็ยิ่งลาม แล้วก็ยิ่งแรงขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น เตรียมคิดได้เลยว่าเมื่อไหร่ที่วิกฤตโควิดมันเบาบางลง ซึ่งต้องบอกว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว วันหนึ่งมันก็ต้องจบ แต่ว่าหลังจากจบมันจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มันใหญ่โตมากนะ แล้วสมมติว่าอีก 3 เดือนโควิดจบ แต่เศรษฐกิจนี่อาจจะใช้เวลาอีกเป็นปีกว่าจะฟื้น อย่าเรียกฟื้นเลยต้องใช้คำว่าบูรณะกันใหม่เลยดีกว่า

ผมว่าช่วงเวลาแบบนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนแยก Need กับ Want ได้ชัดเจน ว่าอะไรคือจำเป็นจริง ๆ อะไรไม่จำเป็น

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมันไม่มีใครคิดมาก่อน พอไม่ได้คิดมาก่อนก็ตั้งตัวไม่ทัน วางแผนไม่ทันแล้ว แต่เราจะมีวิธีการจัดการกับการเงินในสภาวะที่เกิดขึ้นตอนนี้อย่างไร

มีคำถามเรื่องนี้มาเยอะ แล้วผมจะให้คำแนะนำเป็นสเต็ป 3 ข้ออย่างนี้เลย คือ 

  1. เราต้องควบคุมเงินของเราให้ได้โดยการทำเป็นงบประมาณรายรับ-รายจ่าย การใช้ชีวิตโดยที่เราไม่รู้เลยว่าพรุ่งนี้จะต้องใช้จ่ายเงินเท่าไรอย่างไร รู้เป็นเลขตัวกลม ๆ ในหัว แล้วเราก็ไม่เห็นมันจริง ๆ ไม่ได้ ผมชวนเลยว่าให้เราทำงบรายรับ-รายจ่าย ล่วงหน้าไปซัก 6 เดือนต่อจากนี้ ลองวางแผนกันแบบประหยัดสุด ๆ ดูนะ ผมว่าช่วงเวลาแบบนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนแยก Need กับ Want ได้ชัดเจน ว่าอะไรคือจำเป็นจริง ๆ แล้วดูสิว่ามันติดลบเท่าไร ถ้ามันเป็นบวกอยู่ ก็ให้รักษาวินัยให้ดี ตัวเลขที่เราเขียนบนกระดาษกับการใช้ชีวิตจริง ถ้าเราไม่ควบคุมตามนั้นมันก็จะไม่เป็นจริง แต่ถ้ามันติดลบ ลองถอยกลับมาดูอีกครั้งว่ามีเงินสำรองหรือมีสินทรัพย์อะไรที่มันพอจะอุดช่องโหว่ใน 6 เดือนต่อจากนี้ได้หรือเปล่า ถ้าไม่ได้เราต้องดูต่อข้อที่ 2 
  2. คือการจัดการกับรายจ่าย ถ้าใส่ตัวเลขตามข้อ 1 แล้วยังติดลบมาดูที่รายจ่าย รายจ่ายประเภทกินอยู่เราจะปรับได้อีกมากน้อยแค่ไหน ลองคุยกับคนในบ้านดู แต่รายจ่ายตัวหนึ่งที่มันสำคัญมากในช่วงเวลาแบบนี้ แล้วถ้าเราพักการจ่ายได้ก็จะเป็นเรื่องดี ก็คือรายจ่ายจากหนี้ ลองไปไล่ดูเลยว่าเรามีรายจ่ายจากหนี้กี่ตัว รีบติดต่อทุกธนาคารที่คุณเป็นหนี้ ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บ้าน หนี้รถ คุยให้หมดเลย เพื่อไม่ให้เราต้องดึงเงินสดออกจากมือ แล้วให้เราเก็บเงินสดไว้ เอาไว้กินไว้ใช้ในช่วงเวลาแบบนี้ ซึ่งตอนนี้ธนาคารทุกธนาคารเปิดให้คุยหมดแล้ว เราก็ไปไล่เจรจาหนี้ทุกตัวเลย ผมเชื่อว่าตรงนี้มันจะทำให้เราเบาไปได้เยอะมาก แม้กระทั่งหนี้นอกระบบนะครับ คือช่วงเวลาแบบนี้มันต้องคุยกันหมดแล้ว การจัดการตรงนี้มันจะทำให้เราเห็นว่ามันเบาลงไปเยอะ ทำให้ตัวเองลีนลงที่สุด
  3. ถ้าคุณเข้าข่ายได้รับเงินชดเชย เงินเยียวยาอะไรก็เข้าไปใช้สิทธิตรงนั้น คุณเป็นพนักงานประจำ ถูกให้หยุดพักงาน สั่งหยุดงานแล้วไม่จ่ายเงินอะไรแบบนี้ คุณก็ไปคุยกับประกันสังคม แต่ถ้าคุณเป็นอาชีพอิสระ คุณก็ไป เราไม่ทิ้งกัน.com ช่วงเวลาแบบนี้ ถ้ามันเป็นสิทธิ เราก็ใช้สิทธิ ถ้าเราคิดว่าไม่ไหวจริง ๆ แล้วก็อีกอันหนึ่งที่อยากจะบอกคือเงินชดเชยนอกจากประกันสังคม หรือเงินที่กระทรวงการคลังเยียวยากรณีโควิด มันจะอยู่กับเราแค่ 3 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้าง คือไม่ใช่สมัครไปแล้วสบายใจ สิ่งที่เราต้องทำคือเราต้องคิดต่อว่าจะหารายได้จากทางไหนได้บ้าง ตรงนี้หัวใจสำคัญคือการตั้งคำถามกับชีวิต ช่วงเวลาแบบนี้เป็นช่วงเวลาที่เราจะดึงทักษะ ประสบการณ์ ความสามารถของเราออกมา จะทำอะไรขาย จะทำอะไรออนไลน์ หรืออะไรต่าง ๆ ต้องคิดแล้ว

 

เหมือนตอนนี้เราไม่รู้ว่าทุกอย่างมันจะจบเมื่อไร 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน เราจะวางแผนการเงินท่ามกลางความไม่รู้นี้อย่างไร?

ในมุมมองส่วนตัว พี่คิดว่ามันคงต้องแยกสองส่วน ระหว่างวิกฤตโควิดกับวิกฤตสภาพคล่อง หรือวิกฤตเศรษฐกิจทางการเงินทั้งหลายที่มันจะต่อจากนี้ คือพี่ว่าพวกเรารอความชัดเจนกันเท่านั้นเอง ว่าโควิดจะจบเมื่อไร ตอนนี้เวลาที่จะแนะนำเรื่องวางแผนการเงิน ก็เลยพยายามจะแนะนำให้เขาตั้งโจทย์นี้ก่อนก็คือ 3-4 เดือนต่อจากนี้ เอาให้รอด ถ้ารอดไปได้โดยที่บริหารจัดการเงิน โดยที่ไม่ได้สร้างหนี้อะไรเพิ่มในช่วงเวลานี้ ผมถือว่าโอเคแล้ว เพราะฉะนั้น 3-4 เดือนต่อจากนี้ วางแผนแค่กินอยู่ให้รอด แล้วในระหว่างที่กำลังถูกจำศีลกันหมดทุกคนตอนนี้ อยากให้เตรียมพร้อม หรือศึกษาช่องทางที่เราจะหารายได้เพิ่ม ตอนนี้พูดปลุกใจแฟนเพจ Money Coach ทุกวันเลยว่าเตรียมตัวนะ ถ้ามันจบ เราต้องพุ่งทะยานเลย

ไม่มีใครรู้ว่าเราจะต้องสู้กันอีกนานแค่ไหน ก็ลองใช้สัญชาตญาณของการเป็นมนุษย์นี่แหละ ทำอย่างไรก็ตามให้เรารอด แล้วลองหันกลับไปดูข้างหลัง นั่นคือครอบครัว สู้เพื่อให้ครอบครัวเรารอดด้วย

ในฐานะคนที่ผ่านวิกฤตการเงินช่วงปี 40 มาได้ พี่หนุ่มมีคำแนะนำหรือประสบการณ์ที่อยากแชร์ไหม

ช่วงเวลาแบบนี้สำหรับคนที่มีปัญหา โดยเฉพาะปัญหาการเงิน ไม่มีใครไม่ทุกข์หรอกครับ แล้วในช่วงปี 40 ตอนพี่แก้ปัญหา พี่เองได้บทเรียนอยู่หลาย ๆ เรื่อง บทเรียนเรื่องหนึ่งที่ได้แล้วพี่ว่ามันสำคัญมากก็คือว่าจังหวะเวลาที่เราเอาเวลามาใช้กับความทุกข์ ใช้กับความคิดที่หมดไปว่าทำไมชีวิตเราต้องเป็นอย่างนี้ ทำไมเราต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ คิดวนไปวนมากับเรื่องนี้ เป็นเวลาที่ไม่มีประโยชน์เลย ช่วงเวลาแบบนี้สิ่งที่สำคัญมากคือวิธีคิด ตอนนั้นเพิ่งเรียนจบใหม่ อายุประมาณ 22 ปี หนี้ที่บ้านก็ประมาณ 18 ล้าน ตอนนั้นใช้คำนี้กับตัวเองนะครับ “เอาวะ จะสู้แบบฉิบหายตายห่าดูซักครั้งหนึ่ง กูจะสู้แม่งเต็มเหนี่ยว 10 ปี แล้วจะดูสิว่าแม่งจะรอดไหม” วิธีคิดตอนนั้นก็คือถ้าสู้เต็มที่ 10 ปี ก็อายุ 32 ถ้ามันผ่านมันคุ้มนะ อายุ 32 หมดหนี้แล้วมันยังมีเวลาที่มีความสุขอีกตั้ง 30-40 ปี มันก็เลยเป็นจุดที่เราเริ่มบอกตัวเองว่า เอาเวลามานั่งคิดทำอะไรแก้ปัญหาดีกว่านะครับ

เรื่องที่สองก็คือมนุษย์เรา ยิ่งเป็นช่วงเวลาที่กำลังเจอวิกฤต หลาย ๆ ครั้งเรามีความตั้งใจจริงกับตัวเอง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตแต่ละวันเราจะเจอเรื่องร้อยแปด บางทีเรากำลังตั้งใจ เรากำลังฮึดขึ้นมา ก็เจอเรื่องร้าย ๆ ทำให้เราจิตตกไปอีกแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องรักษาไว้ตลอดการเดินทาง ในการจัดการกับวิกฤตหรือปัญหาที่เข้ามาในชีวิตก็คือกำลังใจ สิ่งที่พี่ได้เรียนรู้มากที่สุดก็คือ ไม่มีใครให้กำลังใจเราได้ นอกจากตัวเราเอง การรักษากำลังใจเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องรักษามันไว้ตลอดทาง 

เรื่องที่ 3 ที่พี่ได้เรียนรู้ตอนพี่แก้ปัญหาแล้วพบว่าหลังจากผ่านวิกฤต พี่กลายมาเป็นเจ้าของธุรกิจอีกหลาย ๆ อย่างในช่วงเวลาเดียวกันได้เลย เหตุผลเพราะว่าพี่ใช้คำนี้ครับ คือให้เราลดการเล็งลงแต่ให้พยายามลองให้มากขึ้น  ถ้าเห็นช่องทางที่เราพอไปได้ ทำไปเลยไม่ต้องเล็ง คำนวณให้น้อย ช่วงเวลาแบบนี้ทำอะไรได้ลองทำ สิ่งที่ได้เป็นบทเรียนจากปี 40 คือ การตัดสินใจลองทำอะไรสักอย่างหนึ่ง มันจะไม่ต่างอะไรกับการผลักประตู อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ช่วงเวลาแบบนี้อาจจะต้องใช้สัญชาตญาณเยอะขึ้น สัญชาตญาณของการเอาตัวรอด สัญชาตญาณของการอยากจะมีชีวิตที่ดีนะครับ

กรุงเทพ

เรื่องที่ 4 ที่อยากจะฝากก็คือ พอพี่ผ่านปี 40 มา พี่พบความจริงเกี่ยวกับวิกฤต 2 เรื่อง คือเมื่อวิกฤตผ่านเข้ามา เดี๋ยวมันก็ต้องผ่านไป แต่เรานี่แหละต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อ เพราะฉะนั้นก็ให้หลักคิดตรงนี้เพื่อเป็นกำลังใจว่า วันหนึ่งมันจะผ่าน เราต้องอยู่จนถึงวันนั้นให้ได้ แล้วในอีกมุมหนึ่ง วิกฤตก็บอกเราว่า เมื่อมันผ่านไปแล้วมันก็จะมาอีก เพราะฉะนั้นเมื่อผ่านไปแล้วจำวันนี้ไว้ แล้วก็จงระแวดระวังกับชีวิต ตั้งหลักให้ดี ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวมันจะมาอีกแน่นอน

โอกาสในวิกฤต จะเห็นก็ต่อเมื่อมองหา

คุณเชื่อว่าในวิกฤตยังมีโอกาสอยู่จริงไหม เพราะหลายคนมองไม่เห็นโอกาสจริง ๆ มันมืดบอดไปหมดทุกทางในตอนนี้

โอกาสมีเสมอแหละ เพียงแต่ว่าถ้าเราเอาเวลามาทุกข์ มาท้อ ทุกข์ ท้อ ปิดตัวเอง มันก็ไม่ก่อให้เกิดอะไร มันก็จะมองไม่เห็นอะไร คนที่มองเห็นก็คือคนที่พยายามมองหา ใช้คำนี้ดีกว่า โอกาสในวิกฤตนี่จะเห็นก็ต่อเมื่อมองหา คนจะมองเห็นได้คือเขาพยายามมองหา วิกฤตมาโอกาสมันก็มีอยู่ อยู่ที่ว่าใครกำลังมองหาแล้วใครกล้าที่จะลองทำในสิ่งที่มองเห็น พี่โคตรมั่นใจเลยว่าอีก 5 ปีต่อจากนี้ เดี๋ยวจะมีรายการโทรทัศน์ มีบทสัมภาษณ์อย่างพวกเรานี่แหละไปสัมภาษณ์คนที่เขาประสบความสำเร็จในช่วงปี 2568 แล้วถามเขาว่าเกิดอะไรขึ้นทำไมถึงมีวันนี้ เขาก็บอกว่าต้องขอบคุณวิกฤตปี 63 ที่ทำให้เขาคิดและริเริ่มทำอะไรใหม่ ๆ ในขณะเดียวกันปี 2568 ก็จะมีคนบางคนที่ประสบโชคร้ายมาตั้งแต่ปี 63 แล้วชีวิตก็ยังไม่ได้เปลี่ยนอะไร เพราะว่ามองแต่ปัญหา เพราะฉะนั้นคนที่มองหาโอกาสยังไงก็จะเจอ

สุดท้าย คุณคิดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องคิด ต้องทำในตอนนี้ ?

อาจจะมีหลาย ๆ เรื่องประกอบกัน แต่ในมุมการเงิน การใช้ชีวิต ต้องตั้งโจทย์ว่าชีวิตเราต้องอยู่กันอีกนาน เพราะฉะนั้น คิด ทำ แล้วก็สู้ตลอดเวลานะครับ อย่ายอมแพ้ง่าย ๆ ผมทำงานเรื่องการเงินมา 15 ปี มีคนกลุ่มเดียวที่ผมช่วยไม่ได้ คือคนที่ยอมแพ้ไปแล้ว ในขณะที่คนที่สู้ คนที่พยายาม ผมยังไม่เคยเห็นเขาแพ้เลยในท้ายที่สุด