“จัดการกับความคิด และเรียนรู้ว่าเรายังต้องเรียนรู้อีกเยอะ” คุยกับโตและนาว วง Mirrr ถึงตัวตนในวันนี้ ตลอดจนเพลงใหม่ ‘ย้ำคิดย้ำทำ’ ที่พาไปดำดิ่งในความเจ็บปวดกับเรื่องราวซ้ำเดิม แม้พยายามลืมแค่ไหนแต่กลับจำ

8 Min
199 Views
03 Oct 2024

เชื่อว่าหลายคนต้องเคยประสบกับความคิด ความรู้สึก กระทั่งความทรงจำที่ยากจะลืม และยังคงหวนนึกย้อนกลับไปถึงช่วงเวลานั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ว่าถ้าหากเราทำแบบนี้ ไม่ทำแบบนั้น ผลที่เกิดขึ้นจะต่างออกไปจากเดิมไหม

นี่คงเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ย้ำคิดย้ำคิดทำ’ เพลงใหม่กินใจ ที่กระตุกต่อมให้หลายคนน้ำตาไหลไปกับความเจ็บปวดทรมานที่เกิดจากเรื่องราวที่คิดวนเวียนอยู่ในหัว ซึ่งยากละลืมเลือน ผ่านการถ่ายทอดความสัมพันธ์ของครอบครัว จากวง Mirrr (เมอร์) อันประกอบด้วย ‘โต’ เลอทัศน์ เกตุสุข (นักร้องนำ) และ ‘นาว’ วิชชานนท์ ว่องวีรชัยเดชา (มือกีตาร์) ภายใต้ค่ายเพลง What The Duck 

แน่นอนว่าบทสนทนาต่อจากนี้ อาจไม่ได้พาไปเศร้าเหมือนบทเพลงดังกล่าว เพียงแค่อยากชวนทุกคนไปสัมผัสตัวตนของพวกเขา ในวันที่ต้องละเมอตื่นจากฝัน เพื่อมาพบกับความเป็นจริง แม้จะโหดร้ายแค่ไหน ก็ยังคงเลือกที่จะเรียนรู้ ยอมรับกับบาดแผล เพราะเชื่อว่าสักวันจะดีขึ้น  

เดิมทีจากที่พวกคุณเคยรู้สึกว่าเหมือนละเมอตื่นจากฝัน คิดว่า Mirrr ในวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไหม ในแง่ตัวตนก็ได้

นาว: มีมู้ดบางมู้ดมากกว่าที่เหมือนตอนเราเริ่ม เราบอกว่าอยากละเมอทำไป เพราะว่าคนจะบอกว่าเหมือนกับเราทำสิ่งนี้จริงไม่ได้ แต่ตอนนี้ถ้าถามว่าต่างกับตอนเริ่มต้นไหม เรากลับชอบมู้ดที่เหมือนนอนน้อย กึ่งหลับกึ่งตื่น เหมือนอาจจะไม่รู้ก็ได้ว่านี่คือเรื่องจริงหรือความฝัน ว่าเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในโลกไหน 

“เพราะในวันแรกมันมีแต่ความฝัน ไม่ค่อยมีความเจ็บปวดหรอก”

โต: เรารู้สึกว่าทุกวันนี้ในมุมมองของเรา Mirrr เป็นสิ่งที่ชัดเจน ในแง่ที่เราชอบสิ่งนี้ สิ่งที่เรากำลังทำ หรือถ้าเราไม่ถนัดสิ่งนี้เราก็อาจจะคิดก่อนหรืออาจจะไม่ได้ทำ มันเลยเป็นความชัดเจนอะไรบางอย่าง เลยคิดว่า ณ ตอนนี้น่าจะเป็นทางที่ตื่นจากความฝันแล้วมาอยู่ในโลกของความเป็นจริง 

ถ้าอย่างนั้นแปลว่าชอบตัวตนของ Mirrr​ ในปัจจุบันมากกว่าใช่ไหม 

โต: ใช่ ชอบ แต่ถ้ามากกว่าตอนนั้นขนาดนั้นไหม อาจจะจำความรู้สึกตอนแรกไม่ได้ เลยไม่สามารถเอามาเปรียบเทียบกันได้ เรียกว่ามีทั้งช่วงที่ชอบและไม่ชอบเกิดขึ้น แต่เราก็เริ่มทำความเข้าใจ เรียนรู้กับมันมากขึ้น มีบทเรียนแล้ว 

ถ้าให้มองย้อนกลับไป คิดว่าตัวเองมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุด

โต: คิดว่าน่าจะทุกอย่าง ทุกอย่างเปลี่ยนไปเสมอ แล้วก็เป็นความเชื่อของตัวเองมาตั้งแต่ต้นว่า เราไม่มีอะไรที่คงอยู่ต่อเนื่องเสมอไป มักจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ ต่อให้มันจะเล็กน้อยมากแค่ไหนก็ตาม

นาว: เหมือนกัน ก็รู้สึกว่าทุกอย่างเปลี่ยนไป หมายถึงว่าในแง่ของตัวเอง ก็รู้สึกว่าตัวเราเก่งขึ้นกว่าวันก่อนมากเหมือนกัน แต่จะมีบางเรื่องที่รู้สึกว่าเมื่อก่อนเก่งกว่านี้ หรือบางสกิลที่ไม่ค่อยได้ใช้บางทีก็รู้สึกว่าลดถอยลงไป แต่อะไรที่เราทำทุกวัน หรือพัฒนามันอยู่ตลอดๆ เราก็เก่งขึ้น 

นอกจากมุมมอง มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปอีกบ้าง แล้วรู้สึกว่าตัวตนของทั้งคู่โตขึ้นหรือเปล่า 

โต: สำหรับเราเข้าใจว่ามีทั้งมุมที่โตขึ้น และบางมุมที่เด็กลง สิ่งที่คิดว่าโตขึ้นน่าจะเป็นเรื่องเครดิต หรือคำพูดที่เราเคยพูดไปในตอนเด็ก มีคนเชื่อในสิ่งนั้นมากขึ้น ต่อให้เราพูดประโยคเดิม แต่เครดิตเรามากขึ้น ส่วนที่รู้สึกว่าเด็กลง อาจจะเป็นบางโมเมนต์ที่สามารถมีความสุขกับเรื่องเล็กๆ ได้มากขึ้น แค่เปลี่ยนมุมมอง ควรใส่ใจ เอาใจเข้าไป รับฟังคนอื่นมากขึ้น มันก็ช่วยทำให้เรามีความสุขได้

นาว: ก็รู้สึกเหมือนตัวเองโตขึ้น ในทุกๆ พาร์ตการใช้ชีวิตหรือการทำงาน บางทีก็อยากกลับไปเป็นเด็ก ได้เอนจอยกับบางเรื่องที่โตมาแล้วรู้สึกไม่เอนจอยเหมือนเดิม สมมติเราเล่นเกม ตอนเด็กอาจจะสนุกกว่า เพราะตอนนี้มีอะไรให้ต้องคิดต้องทำเยอะขึ้น 

อะไรคือจุดเริ่มต้นไอเดียของเพลงใหม่ อย่าง ‘ย้ำคิดย้ำทำ’ 

โต: จุดเริ่มต้นของย้ำคิดย้ำทำ มาจากตอนที่เรามีความรู้สึกว่าคิดหลายๆ อย่างอยู่ในหัว แล้วมันก็ค่อนข้างตีกัน แล้วเราก็หาทางออกจากความคิดเหล่านี้ เลยเริ่มเขียนเพลง เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกออกมา ซึ่งมันอาจจะยังไม่เสร็จดี 

จริงๆ เราเคยทำเดโม่ลงในอินสตาแกรมส่วนตัวไว้ แล้วตอนแรกเราเคยส่งให้นาวฟัง โดยเหมือนตอนแรกนาวจะยังไม่ค่อยชอบ ไม่ค่อยจอย เพราะว่าเหมือน verse ยังไม่โดนนาวเท่าไหร่ เพราะด้วยความที่คนสองคนไม่ได้มีรสนิยมความชอบไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ เราก็เวิร์กกันไปมา แก้นู่นนี่กันอยู่หลายรอบ กว่าจะชอบกันทั้งสองคนและลงตัว ทางค่ายก็ปล่อยเราอิสระเต็มที่ไม่ได้ห้ามอะไร จนมาได้เวอร์ชันที่เห็นและได้ฟังกันทุกวันนี้

ทั้งคู่คิดว่าตัวเองเป็นคนย้ำคิดย้ำทำบ้างไหม และย้ำคิดย้ำทำกับเรื่องไหนบ้าง

นาว: มีเหมือนกัน ตอนเด็กๆ แม่จะบอก “ให้รักษาของดีๆ นะ อย่าทำของหาย ทำให้เวลาเราทำของหายจะรู้สึกหงุดหงิด รู้สึกไม่ปกติ เหมือนจะต้องคิดว่าย้อนกลับไปกลับมา ว่าไปมันไปอยู่ไหน อยู่ตรงนั้นได้ยังไง ตอนสุดท้ายที่เราเห็นมันเมื่อไหร่ นั่งคิด นั่งนึก นั่งย้อน อย่างเราเป็นมือกีตาร์ ปิ๊กหายก็เป็นของคู่กัน แม้เราจะพยายามรักษามัน แต่สุดท้ายมันก็หายอยู่ดี หรือเป็นเรื่องงาน ที่เหมือนตอนแรกเราโอเคเสร็จแล้ว แต่พอมาฟังอีก ก็ติด หรือยังไม่ดี ก็แก้ๆ วนๆ หลายๆ รอบ

หรือสมมติว่าเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับเพลง เรานึกย้อนกลับไป ถ้าเลือกที่จะทำแบบนี้ มันจะเป็นแบบนี้ไหม หรือว่าถ้าวันนั้นเราไม่ได้ทำแบบนี้ วันนี้มันจะยังโอเคอยู่หรือเปล่า ไม่รู้ว่าการคิดอย่างนี้เรียกว่าย้ำคิดย้ำทำหรือเปล่านะ

โต: เราเป็นจนมันเหมือนเป็นสิ่งปกติ สมมติว่าบางทีออกจากห้องก็จะนึกว่าปิดไฟหรือยัง ปิดแอร์หรือยัง หรือแม้กระทั่งสัมภาษณ์เมื่อกี้ เราก็จะกลับไปคิด…อันนี้เราพูดอะไรไป ซึ่งบางทีมันอาจเป็นปกติของเรา แต่อาจจะไม่ปกติสำหรับคนอื่น เพราะในแง่หนึ่งมันเป็นความหลากหลาย ย้ำคิดย้ำทำสามารถเกิดขึ้นบ่อยๆ ในชีวิตหลายๆ พาร์ต

เราชอบคิดเสมอว่าถ้าตอนนั้นเราทำแบบนี้มันจะเป็นยังไง ทำอันนี้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เสร็จออกมาปลายทาง เราอาจจะกลับไปนั่งคิดว่า ถ้าตอนนั้นจุดเริ่มต้นเราไปทำอย่างอื่น มันจะเป็นยังไง จะดีกว่านี้ไหม ซึ่งมันเป็นอดีต เราผ่านมาแล้ว เรากลับไปไม่ได้ 

แล้วการย้ำคิดย้ำทำที่ทั้งคู่ประสบ จะมีโอกาสหายไป หรือเดี๋ยวก็วนกลับมาอีก?

โต: คิดว่าไม่หาย มันเป็นปกติ สามารถหายได้แล้วก็หายไม่ได้ เหมือนเราเป็นหวัด หายจากการเป็นหวัด เดี๋ยวก็อาจกลับมาเป็นหวัดอีกก็ได้ โดยเราอาจจะไม่ชอบอาการตอนเป็นหวัด แต่เราก็ห้ามไม่ได้ที่จะเป็นหวัด ซึ่งมีวิธีแก้คือนอนพัก หรือไปหาหมอ เหมือนกันถ้าอาการย้ำคิดย้ำทำของเราทำให้เราไม่สบายใจ เราอาจจะหยุดทำ หยุดคิด ลองทำความเข้าใจว่าชีวิตมนุษย์วันหนึ่งเราเสียใจ เจ็บปวด ทำผิดพลาดได้ เกิดขึ้นซ้ำๆ บ่อยๆ เพราะไม่มีอะไรเพอร์เฟ็กต์ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ แม้จะเป็นเรื่องยากมากๆ แต่ก็ไม่ควรไปจมอยู่กับความคิดที่เกินการแก้ไขของตัวเอง 

“เหมือนจัดการกับความคิด และเรียนรู้ว่าเรายังต้องเรียนรู้อีกเยอะ”

นาว: ไม่มีใครอยากมีภาวะนี้กับตัวเองหรอก อย่างเรื่องปิ๊กหาย เราเริ่มเดือดร้อน คนใกล้ตัวก็เริ่มเดือดร้อน แต่ถ้าหาเจอเราก็จะดีใจ ปลดล็อก ภูมิใจว่าเรารักษาของได้ขนาดนี้ แต่เรารักษาใครไว้ไม่ได้เลย ไม่เกี่ยว (หัวเราะ) มันเหมือนเป็นความภูมิใจอะไรบางอย่าง ทำให้การย้ำคิดย้ำทำจึงมีผลในด้านดี ขณะเดียวกันมันก็มีด้านแย่

ขอถามต่อว่า หากการย้ำคิดย้ำทำนั้นกลับมาทำให้เจ็บปวด ทรมาน แล้วจะมีวิธีจัดการให้เราอยู่ร่วมกับมันได้อย่างไร 

โต: นี่ก็เป็นสิ่งที่เราทุกวันนี้ยังคงเรียนรู้อยู่ ด้วยความที่เราอินกับการมีชีวิต และความเป็นมนุษย์มาก เรายิ่งอยากทำความเข้าใจว่าความสุข ความทุกข์ เกิดจากอะไร ลองจินตนาการถ้ามนุษย์ไม่เจ็บเลย เก่งทุกอย่างคงจะไม่ใช่มนุษย์ แล้วถ้าต้องทนกับความเจ็บปวด จะทำยังไง เราคงต้องค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ถึงตอนแรกรู้ตัวว่าป่วย อาจจะกินยาพาราเซตามอล ถ้าหนักขึ้นอาจจะต้องไปหาหมอ หรือถ้าเป็นมากกว่านี้คงต้องฉีดยา เลยคิดว่าเดี๋ยวเราก็มีการพัฒนาวิธีการรักษาเยียวยาตัวเอง จนหายได้ เพราะเคยผ่านมาแล้ว ครั้งต่อไปมันก็จะดีขึ้น 

“มนุษย์ต้องมีบทเรียนเพื่อทำความเข้าใจ แล้วก็ไปเจอบทเรียนใหม่ แล้วก็เจ็บปวดอีก แล้วก็ทำความเข้าใจ สุดท้ายแล้วบางทีเราก็อาจจะสามารถเจ็บปวดกับแผลเดิมได้…แต่เบาลง”

นาว: เราเคยมีความสัมพันธ์สองครั้งที่น่ายกตัวอย่าง คือความสัมพันธ์หนึ่งดีมากเลย ดีมากที่สุดในชีวิต แต่ว่ามันจบเร็วมาก แล้วเราก็นึกย้อนกลับไป ถ้าวันนั้นเราบอกหรือไม่บอกเขา ทำยังไงก็ได้ ก็ยังอยากมีเขาในชีวิต ทุกวันนี้ก็ยังคิดอยู่ เพราะเรารู้สึกดีที่ได้คิดถึงเขามากกว่า 

กับอีกความสัมพันธ์ที่เขาทำไม่ดีกับเราเอาไว้ เหมือนจะมีย้อนกลับไปคิดถึงบ้าง ว่าตอนนี้ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ มันจะเป็นยังไง แต่รู้สึกเหมือนโชคดี เพราะถ้าไปต่อมากกว่านี้ อาจจะทำให้เราเจ็บช้ำ ซึ่งทุกวันนี้ไม่ได้อยากลืม แต่เข้าใจว่าดีแล้วที่เป็นอย่างนั้น

แล้วกว่าที่คุณจะทำความเข้าใจกับความสัมพันธ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ยากแค่ไหน 

นาว: เราเคยได้ยินมาว่าการโตขึ้นอาจจะทำให้เจ็บปวดกับความรักน้อยลง แต่มันก็ยังเจ็บปวดอยู่ดี หมายถึงว่าพวกความสัมพันธ์อะไรต่างๆ ก็ยังกระทบกับจิตใจอยู่ดี ต่อให้เราผ่านอะไรมาเยอะแค่ไหน เพียงแค่โตขึ้นจะช่วยทำให้เรารับมือดีขึ้น อาจจะไม่ได้มานั่งฟูมฟาย ไม่ได้ไปนั่งจมกับมัน ไม่ได้กระทบกับงาน 

‘ย้ำคิดย้ำทำ’ นี้ มีอะไรพิเศษหรือแตกต่างไปจากสไตล์ Mirrr ที่ผ่านมาบ้าง

นาว: เราคิดว่าเป็นเรื่องครอบครัว เพราะว่ายังไม่เคยนำเสนอเรื่องครอบครัวมาก่อน แต่จริงๆ ไอเดียที่อยากจะนำเสนอเรื่องครอบครัว มีมาตั้งแต่เพลง ‘นิโคติน’ แต่ว่ายังไม่ได้ใช้ เลยรู้สึกว่าสิ่งนี้น่าจะใหม่กับ Mirrr 

ทำไมถึงเลือกประเด็นความสัมพันธ์ ‘ครอบครัว’ มาบอกเล่าผ่านมิวสิกวิดีโอเพลงใหม่นี้ 

โต: เรารู้สึกว่าถ้าเป็นเรื่องราวความรักของคู่ชีวิต คู่รัก ถ้าเกิดเขาเลิกกัน ก็อาจจะไปเจอคนใหม่ที่ดี ที่ตอบโจทย์ซึ่งอาจจะไม่ใช่ย้ำคิดย้ำทำ แต่พอเป็นเรื่องราวของครอบครัว เหมือนกลับไปที่จุดเดิมอยู่ดี เพราะเราหนีจากครอบครัวไม่ได้ หนีจากสายเลือด สารตั้งต้นในตัวเราไม่ได้ เราอาจจะเปลี่ยนแฟน แต่เปลี่ยนพ่อแม่ของเราไม่ได้ เรามีครอบครัวแบบไหนก็ต้องยอมรับที่พวกเขาเป็นแบบนั้น กับอีกหลายๆ อย่างมักมีจุดเริ่มต้นมาจากสถาบันครอบครัว สุดท้ายสภาพแวดล้อมมันหล่อหลอมคนคนหนึ่งขึ้นมา

ในมิวสิกวิดีโอจะเห็นคีย์สำคัญคือเรื่องครอบครัวที่มีผลกับชีวิตคนคนหนึ่งมาก เพราะเป็นพื้นฐานของทุกอย่าง เหมือนกับทุกตัวละครจะมีสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการย้ำคิดย้ำทำ ที่พวกเราอยากให้คนที่ได้เห็นหันมาแคร์คนในครอบครัว รับผิดชอบกับการกระทำของตัวเอง โดยเฉพาะผู้ใหญ่ เพราะสุดท้ายแล้วคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือเด็ก เราอยากให้สถาบันครอบครัวเป็นเซฟโซนให้กับเด็กได้ 

มีส่วนไหนที่มาจากชีวิตจริงของตัวเอง แล้วนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในมิวสิกวิดีโอเพลงย้ำคิดย้ำทำบ้างไหม

โต: น่าจะมีเป็นการ์ดยูกิของเรา เพราะว่าตอนเด็กๆ ชอบเล่นการ์ดยูกิ แล้วเรารู้สึกว่าการ์ดยูกิเป็นสิ่งที่เราต้องเล่นกับคนอื่น มันเป็นสิ่งที่เอาไว้หาเพื่อน ภาพในหัวตอนแรกคือเด็กคนนี้เข้ากับใครไม่ได้ แล้วมันมีการ์ดยูกิที่ดี ที่เขาเริ่มใช้คุยกับเพื่อนได้ เล่นกับเพื่อนได้

มีความคาดหวังกับคนฟังว่าเขาจะรู้สึกอย่างไรกับเพลง ‘ย้ำคิดย้ำทำ’ บ้างไหม

นาว: อยากให้ทุกคนได้เห็นว่าครอบครัวก็มีอีกแง่ เพราะถึงแม้ต่อให้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตากันครบๆ พ่อแม่ลูก ก็อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ เพราะปัญหาถือเป็นเรื่องปกติ พอรู้ว่าเป็นเรื่องปกติ เราก็จะพยายามหาวิธีแก้ไขจนได้  

โต: คือถ้าถามว่าผมคาดหวัง อาจจะเป็นคาดหวังให้มีคนมาดู หลังจากนั้นก็แล้วแต่เลย ใครมองสิ่งนี้เป็นยังไง ใครได้อะไรจากสิ่งนี้ไปในรูปแบบไหนก็แล้วแต่เลย แต่จุดประสงค์ของเราคือ อยากให้ใส่ใจ และแคร์คนในครอบครัว แล้วก็รับผิดชอบกับการกระทำและคำพูด

เพราะบางทีบางเรื่องก็อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ คำพูดบางอย่างที่เราคิดว่าเราตั้งใจดี แต่มันอาจจะมีผลกับตัวเขา กับความคิดเขาในอนาคตก็ได้ มันเป็นเหมือนอะไรก็ตาม ทุกๆ การกระทำมันมีผลกับคนคนหนึ่ง 

สุดท้ายในวันที่ Mirrr มีผลงานมากขึ้น เป็นศิลปินมากขึ้น อยากให้คนฟัง แฟนคลับ จดจำเราในรูปแบบไหน 

โต: จดจำเราในฐานะคนเท่ก็ได้ครับ ล้อเล่น เมื่อก่อนตอนเด็กๆ เคยมีมุมที่มีความคิดแบบเด็กๆ แต่พอมาทำงานกลับมีความรู้สึกว่า ไม่อยากให้เขาจดจำเรา อยากให้เขาอินกับเพลงเรา เพราะรู้สึกว่าเราก็คือคนธรรมดา มีผิด มีเพี้ยน มีบ้าๆ บอๆ 

“อยากให้คนจดจำผลงาน หรือจำว่าเป็น Mirrr มากกว่าจำเรา”

เพราะว่าถ้าจำเรา เขาอาจจะฟังเพลงเราแล้วอินน้อยลงก็ได้ หรือเขาอาจจะมองเราไม่ดีก็ได้ หรือเขาอาจจะเอาเราเป็นแบบอย่างแล้วเข้าใจว่าเราเป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งตัวเรามีข้อผิดพลาดเยอะแยะ เพราะเราเป็นคนธรรมดา 

นาว: คล้ายๆ กัน เหมือนกับว่าอยากให้คนจดจำในฐานะคุณค่าผลงาน อยากให้เขาชื่นชอบที่ตัวผลงาน เพราะแต่ละเพลงที่พวกเราตั้งใจสร้างขึ้นมาจริงๆ ผ่านการย้ำคิดย้ำทำ เอาประสบการณ์ เอาความเป็นเราใส่ลงไป สมมติถ้าทำเพลงนี้อยู่ ก็จะจดจ่ออยู่กับสิ่งนี้ 

“อยากให้พวกเขาได้เห็นดีเทล ได้ตีความ หรือได้อินกับสิ่งที่เราสร้างขึ้น โดยที่ไม่ต้องรู้ว่าเราเป็นใครก็ได้”