คุยกับ ‘จอย-ณัฐกาญจน์’ ผู้ก่อตั้ง ‘Joy​ Ride’ ลูกรับจ้าง-หลานจำเป็น บริการเพื่อคนสูงวัย ที่ให้การดูแลใส่ใจเสมือนพ่อแม่ตัวเอง

9 Min
1016 Views
03 Feb 2024

‘Joy Ride’ เป็นมากกว่าคนขับรถรับ-ส่ง เพราะยังเป็นคนคอยพาไปหาหมอ เก็บข้อมูลการรักษา รับยา พาไปเที่ยว กินข้าวนอกบ้าน พยุงเดินเข้าห้องน้ำ เอนเตอร์เทนยามอ่อนล้า ตลอดจนคอยรับฟังและปลอบโยนยามทุกข์ใจ ที่ไม่ต่างอะไรจากลูกหลานหรือคนในครอบครัว

ข้อความเบื้องต้นเป็นคำจำกัดความที่เข้าใจง่ายที่สุดของ ‘Joy Ride’ ที่ ไม่ใช่ Taxi แต่คือ ‘Nanny for Adults’ แพลตฟอร์มบริการรถรับ-ส่งพาไปหาหมอสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ไปจนถึงคนที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ โดยมี ‘จอย-ณัฐกาญจน์ เด่นวณิชชากร’ หญิงสาวอารมณ์ดี มีนัยน์ตาเปล่งประกายถึงรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เป็นผู้ก่อตั้ง

ในวันที่แสงแดดและอากาศช่างเป็นใจ BrandThink ได้ชวนเธอมาร่วมพูดคุยถึงจุดเริ่มต้นของไอเดียการบริการนี้ ตั้งแต่วันแรกที่รับรู้ว่า โลกไม่สดใสเหมือนเคย หมดไฟจากงานประจำ จนถึงวันที่หันมาสนใจสังคมผู้สูงวัย ทำธุรกิจด้วยใจจนกำไรที่ได้ ไม่ใช่เม็ดเงิน แต่คือ ‘ความสุข’ อันเป็นคุณค่าที่ทำให้อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป 

และบทสนทนาต่อจากนี้คือเรื่องราวของ Joy Ride

จุดกำเนิดของธุรกิจที่ชื่อว่า ‘Joy Ride’ มีความเป็นมาอย่างไร

จุดเริ่มต้นของการทำ Joy Ride คือวันที่เรารู้ว่าเป็นโรคซึมเศร้า ทั้งๆ ที่เราเป็นคนคิดบวก แต่ทำไมกลับไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต จำได้เลยตอนหมอบอกว่าเป็นโรคซึมเศร้า เรารู้สึกโล่งอก เพราะเราได้รู้ว่าเราป่วย ในขณะเดียวกันก็ตกใจว่า นี่เราเศร้าถึงขนาดเป็นซึมเศร้า ต้องการความช่วยเหลือจากคุณหมอแล้วนะ พูดเลยว่าหัวใจแตกสลายในห้องตรวจ 

จำได้เลย วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน 2564 เป็นวันที่เราตัดสินใจบิดกุญแจขับรถไปหาหมอ และเป็นวันที่ได้เห็นภาพคุณยายมาคนเดียว แล้วเกิดความสงสารและเทียบกับตัวเองว่า การมาโรงพยาบาลคนเดียวไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย จริงๆ เราอยากมีใครสักคนพามามากกว่า แล้วทำไมคนแก่ขนาดนี้เขาถึงต้องมาคนเดียวอีก แต่ก็นึกถึงเพื่อนร่วมงานเหมือนกันว่า พวกเขาอาจมีความจำเป็นบางอย่าง ทำให้พามาไม่ได้

จู่ๆ เหมือนวินาทีนั้น ทำให้เราตื่น คิดขึ้นมาว่า “ฉันคงต้องออกจากงาน และพาคนแก่ไปหาหมอ” เพราะในวันนั้นที่เราเป็นซึมเศร้า มันเกิดจากความเครียดเรื่องงาน ดังนั้นถ้าเราออกจากงาน อาจจะเป็นการฮีลใจตัวเอง แล้วการที่พาคนแก่ไปหาหมอ ก็น่าจะทำให้เรามีความสุข 

ตอนนั้นมีฉุกคิดบ้างไหม ถ้าหากตัดสินใจลาออกจากงานประจำ มาเปิดบริการให้ผู้สูงอายุแล้วอาจจะไปไม่รอด 

ทุกอย่างไปตายเอาดาบหน้า เพราะเราคิดว่าถ้ายังฝืนทำงานต่อ หรือยังจะสมัครไปทำงานที่อื่นอีก ก็อาจจะยังไม่หลุดพ้น เครียดกว่าเดิม ซึ่งตอนนั้นเงินเดือนถือว่าค่อนข้างเยอะ ได้ทำงานบริษัทใหญ่ๆ แต่พอคิดว่าถ้าเราไม่มีชีวิตอยู่ สุดท้ายแม้แต่เงินบาทเดียวก็จะหาไม่ได้ แล้วพ่อแม่เราจะอยู่ยังไง 

ตอนนั้นคิดแค่ว่าเรามีความสุขกับตัวเอง ไม่เป็นโรคซึมเศร้า และเรามีกำลังใจในการไปสู้กับงาน เพราะความคิดว่าสิ่งนี้อาจจะไปไม่รอดมันก็มีอยู่ตลอดเวลา ขนาดปีที่แล้วยังคิด ขนาดที่มีคนคอยสนับสนุนเราเยอะมาก เอาตรงๆ อย่างทุกวันนี้ เราก็ต้องกลับมาทำงานประจำ ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนปีที่แล้ว เพราะไม่มีเงินสำหรับให้ตัวเองจริงๆ

แล้วอีกอย่างความสุขเราค่อยๆ เปลี่ยนไป ช่วงแรกเราเป็นคนพาผู้สูงอายุไปหาหมอ จะได้รับคำขอบคุณ คำอวยพร ทำให้เรามีความสุข หลังจากนั้นแทนที่เราจะมีความสุขคนเดียว มันสามารถมีความสุขได้หลายคน เลยมีทีมงานขึ้นมา ที่บางคนอายุ 50 แล้ว ทำงานระดับสูงๆ โดนบีบให้ออก บางคนตกงานมาบ้าง ซึ่งไม่ว่า Joy Ride จะส่งใครไป ลูกค้าเขาแฮปปี้และรู้สึกว่ามั่นใจในทีม

ทำให้พอเราไม่ได้ไปรับลูกค้าเอง ทำให้ไม่มีเงิน จึงเป็นสาเหตุให้เราต้องกลับมาทำงานประจำ เป็นการทำงานสองอย่าง ระหว่าง ‘งานที่เรารัก’ ขับเคลื่อนด้วยแพสชัน กับ ‘งานที่ต้องทำ’ เพื่อเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ 

แล้วตอนนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง ที่ต้องทำควบคู่กันระหว่างทำด้วยแพสชันกับการเสี่ยงทนทุกข์กับงานประจำ

ทุกวันนี้เราขอบคุณการซัฟเฟอร์ในวันนั้น เรากลับไปขอบคุณโรคซึมเศร้า เพราะถ้าเกิดไม่มีเหตุการณ์เหล่านี้ อาจจะไม่มี Joy Ride 

อีกอย่างแม้เราจะชื่อจอย ที่แปลว่าความสุข สนุกสนาน ร่าเริง แต่เรา รวมถึงทุกคนไม่ได้มีความสุขได้ในทุกวัน ความทุกข์ยังเป็นเพื่อนที่อยู่ข้างๆ เรา ส่วนความเศร้าก็เข้ามาให้เราได้เห็น ได้รู้ว่าเราผ่านวันที่แย่ที่สุดมาได้แล้ว

แม้ก่อนเริ่มทำ Joy Ride มันจะแย่มากๆ ซึ่งเราไม่กลับไปอยู่จุดนั้นแล้ว เราเพียงแค่วางไว้เป็นเครื่องเตือนสติ การที่เราผ่านมาได้มันจะสามารถช่วยคนอื่นได้ด้วย ตอนแรกไม่ค่อยกล้าเล่าเรื่องนี้ กลัวคนจะว่าที่ให้คนเป็นซึมเศร้าพาพ่อแม่เขาไปหาหมอ แต่ต้องเล่าเพราะมันคือความจริง 

และวันนี้เราผ่านจุดนั้นมาได้แล้ว มีโอกาสที่จะกลับมารักตัวเอง และทำประโยชน์ให้คนอื่น มันยิ่งทำให้เราเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น เลยคิดว่าความเศร้าก็เป็นครูรูปแบบหนึ่ง ที่คอยดึงสติให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน 

ถ้าหากให้นิยาม Joy Ride ในแบบฉบับของคุณเอง จะเป็นแบบไหน

เราชอบที่ว่า Joy Ride คือ ‘ลูกรับจ้าง-หลานจำเป็น’ เพราะว่าเวลาที่เราไปห้องตรวจกับลูกค้า หมอมักจะถามว่าลูกมาด้วยเหรอ เขาจะบอกว่าหลานพามา บางครั้งก็เออออห่อหมกไป (ยิ้ม) พวกเขาจะไม่อยากบอกว่าลูกเขาจ้างมา หรือตัวเองจ้างมา 

ขณะเดียวกันลูกค้าของเราประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่เป็นคนทำงาน เป็นผู้หญิง เป็นแม่ และเป็นเดอะแบก เราเลยรู้สึกเหมือนเป็น ‘ผู้ช่วย’ กลุ่มคนเหล่านี้ ให้พวกเขารู้สึกว่าไม่เป็นไร ไม่ต้องกังวลนะ แม้จะติดประชุมหรือติดธุระ ก็มี Joy Ride 

เมื่อลูกค้า Joy Ride คือผู้สูงวัย มีสิ่งไหนที่คิดว่าควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษบ้าง

คงเป็นเรื่องการดูแล ‘กายกับใจ’ กายเป็นด้านความปลอดภัย เช่น ควรเข็นรถเข็นยังไง ไม่ใช่ปล่อยรถเข็นแล้วนั่งเล่นมือถือ จนคิวนัดหลุดไป มันต้องมีความกระตือรือร้น อย่างเข็นไปเข้าห้องน้ำ ถึงเขาบอกไม่ต้องๆ แต่เกิดไปลื่นล้มในห้องน้ำ เขาทำยังไง เหมือนเราเลี้ยงเด็กคนหนึ่งเหมือนกัน ที่ต้องมีความรับผิดชอบมากๆ 

ส่วนใจ เป็นการคอยรับฟัง เขามีปัญหาอะไรหรือเปล่า ผู้สูงอายุบางคนทะเลาะกับลูกหลานมา หรืออาจมีบางอย่างที่ถ้าเล่าให้ข้างบ้านฟังก็อาจเอาไปเม้าท์ต่อ เล่าให้ญาติฟังเดี๋ยวเป็นดราม่า แต่ถ้าเขามาให้เราฟัง เราต้องเก็บเป็นความลับ ให้เขาได้พูดแล้วรู้สึกสบายใจ 

เราจึงจำเป็นต้องรู้ และทำความเข้าใจว่าปรับตัวยังไง เพื่อสื่อสารกับผู้สูงอายุ เพราะพวกเขาค่อนข้างขี้น้อยใจ บ่อยครั้งเป็นเรื่องของ ‘ครอบครัวและความสัมพันธ์’ เราอาจจะต้องเป็นเหมือนจิ๊กซอว์เล็กๆ ในการเชื่อมต่อ ตอนแรกเป็นเหมือนตัวเชื่อมระหว่างบ้านกับโรงพยาบาล ขณะเดียวกันเราก็เป็นจิ๊กซอว์ที่เชื่อมระหว่างคนในบ้านกันเอง ของพ่อแม่กับลูก หรือพ่อแม่กับหลาน 

คิดว่าการดูแล ‘พ่อแม่คนอื่น’ เหมือนหรือต่างกับการดูแล ‘พ่อแม่ตัวเอง’ อย่างไร

Joy Ride ไม่ได้ดีกว่าลูกตัวจริง เราเป็นแค่ตัวช่วย อาจจะไม่ได้ดูแลดีเท่ากับพ่อแม่ของเรา แต่เราจะพยายามช่วยดูแลพ่อแม่ของคนอื่น ให้เหมือนที่อยากให้คนอื่นดูแลพ่อแม่เรา อย่างพ่อแม่เรายังชอบกินไม่เหมือนกัน วิธีการเอาใจก็แตกต่างกัน เจ็บป่วยเป็นโรคไม่เหมือนกัน ถึงแม้โรคเหมือนกัน บางครั้งก็มีแนวทางการรักษาไม่เหมือนกัน 

ดังนั้นการดูแลพ่อแม่คนอื่น เราต้อง ‘ใส่ใจและมีความรับผิดชอบ’ มากกว่าพ่อแม่ของตัวเอง จึงต้องทำการบ้านอยู่ตลอด เพราะบริการเราไม่ได้ถามแค่ว่าบ้านอยู่ไหน อยู่โรงพยาบาลอะไร วันไหนบ้าง แต่เราถามว่าคุณพ่อคุณแม่เพิ่งผ่าตัดอะไรมา อาหารที่ห้ามกินมีอะไร มีข้อควรระวังไหม มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง และก่อนหน้านี้ไปหาหมอว่ายังไงบ้าง มาหาครั้งนี้ต้องการอะไร 

ในวันที่เราไปอยู่ในห้องตรวจ มันคือ ‘นาทีทอง’ หมอถามอะไรมาต้องตอบได้ หมอพูดอะไรก็ต้องจดมา กินยากี่เม็ด ถ้าอาการไม่ดีขึ้นต้องผ่าตัดอะไร เราต้องจดให้ละเอียด ห้ามเข้าใจผิด เพราะท้ายที่สุดแล้วสุขภาพดีไม่ได้เกิดที่โรงพยาบาล แต่เกิดที่บ้าน ถ้าข้อมูลที่ถูกต้องส่งไปให้ลูกหลาน แล้วพ่อแม่เขาได้กินยาครบ กายภาพครบ ก็ไม่ต้องไปหาหมอบ่อย 

มีพ่อแม่คนอื่น หรือลูกค้าสูงวัยคนไหนบ้างไหม ที่คุณรู้สึกผูกพันมากเป็นพิเศษ 

ถ้ามากๆ สำหรับเรา มีอยู่สองเคส เคสแรกเป็นผู้ป่วยโรคไต ซึ่งเขาต้องไปฟอกไตสัปดาห์ละ 3 วัน แล้วมีอยู่วันหนึ่งเป็นช่วงตรุษจีน พอเราลงไปถึงโรงพยาบาล เขาก็เรียก จอยๆ แล้วหยิบซองอั่งเปาปึกหนึ่งส่งให้ แล้วให้หาชื่อตัวเอง มันมีชื่อน้องผึ้ง น้องสวย น้องกุง ซึ่งชื่อผึ้งกับสวยคือชื่อของหลานจริงๆ ส่วนชื่อจอยกับกุง เป็นชื่อของหลานรับจ้าง คือมันรู้สึกดีมากๆ เขามองเราเป็นหลาน เป็นครอบครัวของเขา 

พอมาถึงวันที่เขาจากเราไปแล้ว เราเสียใจ แต่มันเป็นความรู้สึกมีความสุข ในแบบที่เขาไม่ต้องทรมานแล้วนะ ซึ่งเราคิดมาตลอดว่า ถ้าเกิดวันหนึ่งประสบความสำเร็จ คนที่ต้องดีใจมากๆ ไม่แพ้พ่อแม่แท้ๆ คงเป็นเขาคนนี้ 

ส่วนอีกเคสเป็นเคสที่มีความสุขมากๆ คือ เขาเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านม แล้วต้องไปฉายแสงเป็นคอร์ส คอร์สละ 20-30 วัน ตลอดระยะเวลาในการดูแล เรารับฟังเขา ชวนเขาคุย ถึงเราไม่ได้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ แต่เป็น ‘บุคลากรทางการพูด’ ด้วย จนกระทั่งวันหนึ่งเขาทำการฉายแสงแล้วหาย เรารู้สึกปลาบปลื้ม รู้สึกดีใจ ที่เขาไม่ต้องมานั่งเสียเวลาไปหมอแล้ว ไม่ต้องนั่งรอคิวนานแล้ว

สิ่งที่ได้รับจากการทำธุรกิจเพื่อผู้สูงอายุ ที่ต้องใช้ทั้งหัวใจ ความใส่ใจ และความเข้าใจนี้คืออะไร

โอเคมันเป็นธุรกิจ แต่เป็นธุรกิจที่สร้างผลกระทบทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุมีสุขภาพกายใจที่ดีขึ้น ลูกหลานเองก็ไม่ต้องลางาน ไม่ต้องกังวล 

แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราสามารถทำธุรกิจให้เติบโตแข็งแรง จากการเพิ่มจำนวนลูกค้าและเพิ่มจำนวนทีมงาน วันนั้นเราอาจจะได้กำไร สามารถคืนสิ่งดีๆ สู่สังคมได้

บอกเลยว่าไม่ได้กำไร ถึงจะพออยู่ได้ก็แบบน้อยมาก เพราะเอาตรงๆ เราให้ทีมงาน ซึ่งตอนนี้ Joy Ride มีประมาณ 15-20 คน เงินเข้ามาเท่าไหร่ ส่วนมากก็จะไหลไปที่ทีมงาน แล้วการทำงานของเรามีความตั้งใจมากเลย ในการที่จะส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ แต่มันก็มีค่าใช้จ่ายหลังบ้าน มีค่าระบบการจัดการหลายๆ อย่างที่ลูกค้าไม่เห็น 

แต่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะมันทำให้เรามีมาตรฐานในการบริการ

แล้วมีแนวทางอย่างไรต่อไปบ้าง เมื่อธุรกิจที่สร้างความสุขนี้ไม่สามารถสร้างกำไรได้ 

อันดับแรกคือ เรากลับเข้ามาทำงานประจำ คู่ไปกับการนำเสนอขอทุน ไปหาเครื่องมือในการช่วยทำงาน แต่ถึงแม้บางเดือนมันขาดทุน แต่ไม่รู้ทำไมเวลาเราทำสิ่งดีๆ มันจะมีเงินเข้ามาช่วยเหลืออยู่ตลอด อยู่ดีๆ ก็มีลูกค้าใหม่จองยาว 20 วัน คนอื่นเรียกเงินหมุน สำหรับ Joy Ride นี่มันถังออกซิเจนที่ทำให้เราได้หายใจต่อ

แล้วทุกวันนี้ก็มีคนเห็นคุณค่าของบริการนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ คงเป็นเพราะสิ่งที่เราทำมันอาจจะเป็นสิ่งที่ดี เขาอยากจะช่วย ทำให้ทุกวันนี้ Joy Ride ไม่มีกำไรเข้ามา แต่มีกองเชียร์โคตรเยอะมาก เรารู้สึกว่าทุกคนอยากเห็นเราประสบความสำเร็จ เห็นธุรกิจเราเติบโต ลูกค้าก็อยากให้เราแข็งแรง เลยเหมือนได้เติมน้ำมันเต็มถังจนเราไปต่อได้ 

และสิ่งที่ทำให้ Joy Ride เติบโตขึ้น ไม่ใช่เพราะเราเก่ง แต่เป็นเพราะว่าเราไม่หยุดที่จะทำไปเรื่อยๆ (ยิ้ม) เรามองเป็นเหมือนงานกลุ่มที่มันตอบโจทย์กับผู้คน ทำให้เราเรียนรู้ทั้งเรื่องธุรกิจและสังคม ได้เห็นว่า เออ ดีแล้ว ที่วันนั้นเราไม่ล้มเลิก เพราะสุดท้ายแล้ว ความล้มเหลวไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด แต่การล้มเลิกต่างหาก 

Joy Ride ได้เปลี่ยนมุมมองหรือชีวิตของคุณไปอย่างไรบ้าง 

ชีวิตไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเสียทีเดียว แต่พอได้ทำงานตรงนี้ มันทำให้เรามองในมุมที่กว้างมากขึ้น จากคนที่เคยมองทุกอย่างแบบคนโลกสวย หรือในเชิงของธุรกิจ ก็ตลกตัวเองเหมือนกัน ไม่คิดว่าจะเป็นผู้ประกอบการ เราเขินที่จะบอกว่าเป็นซีอีโอ (ยิ้ม) เลยจะชอบบอกทุกคนว่าเป็น ‘Director of Joy’ ที่อยากทำให้ตัวเองมีความสุข ทีมงานมีความสุข และลูกค้ามีความสุข

แล้วก็ได้เห็นศักยภาพของตัวเองมากขึ้น จากการลองผิดลองถูก ว่าเฮ้ย! ถ้าผิดไม่มีใครด่านี่หว่า แต่ถ้าถูกก็จะได้คำชม เริ่มจากอย่าดูถูกตัวเอง ถ้าเกิดมีไอเดียแล้วเก็บไว้กับตัว มันคือการทำแท้งความคิดตัวเอง ฉะนั้นเราลองทำมันก่อน มันอาจจะมีโอกาสรอด หรือได้รับการสนับสนุน ซึ่งเราคิดว่ามีอีกหลายคนที่มีไอเดียดีๆ กว่าเราด้วยซ้ำ แต่ไม่ได้ทำ เพราะตัวเองไม่ยอมเริ่มต้น แล้วกลัวที่จะล้มเหลว จนลืมว่าท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่เราต้องก้าวข้าม นั่นก็คือความกลัว เรากำลังสู้กับตัวเองอยู่ต่างหาก

ผู้สูงวัยเขามักชอบให้คำอวยพร มีคำอวยพรไหนที่คุณจำได้ขึ้นใจจนถึงทุกวันนี้

คำอวยพรจากลูกค้าคนแรกเลย เราเรียกเขาว่าพ่อ ตอนนั้นเขาเป็นโควิด เราก็ไปรับ พอส่งเขาเสร็จแล้วก็บอกเขาว่า “มีอะไรจะบอก  พ่อเป็นลูกค้าคนแรกของหนู พ่อช่วยอวยพรหนูได้ไหมคะ” เขาได้อวยพรกลับมาว่า “พ่อเห็นแต่ความสดใสในแววตาของเรา พ่อรู้เลยว่าหนูจะเจริญรุ่งเรือง หนูจะเจริญยิ่งขึ้นไป หนูจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ”

ทั้งๆ ที่วันนั้นเราเศร้ามาก พยายามจะเอาตัวเองเชียร์อัปคนที่อยู่ในโรงพยาบาลสนามมา 20 วัน พอเราเห็นความสุขของเขา เราก็มีความสุข ใจมันก็ฟู ทำให้วันครบรอบของทุกปี เราจะเชิญเขามากินข้าวด้วยตลอด เพื่อเป็นเครื่องระลึกว่า พ่อเห็นไหม ที่พ่อพูดเป็นความจริง ถ้าไม่มีครอบครัวแรกที่จ้างเราวันนั้น อาจจะไม่ได้เป็นแบบทุกวันนี้

นอกจากการบริการที่ตอบโจทย์ผู้สูงวัย และลูกหลาน ยังตอบโจทย์คุณในมิติด้านใดอีกบ้าง

มิติด้านความสุข ทุกวันนี้มันทำให้เราเห็นคุณค่าของตัวเองว่า โห… โชคดีที่วันนั้นเราไม่ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามความรู้สึก เราคงจะเสียใจ พ่อแม่ก็คงจะเสียใจ แล้วก็คงไม่มี Joy Ride เกิดขึ้น แต่จริงๆ แอบคิดว่าถึงแม้ไม่มีเรา แต่อาจจะมีบริการพาผู้สูงวัยที่อาจไม่ใช่ชื่อ Joy Ride เกิดขึ้นนะ หมายถึงว่า คงจะมีคนทำบริการพาผู้สูงอายุไปหาหมอ เพราะต้องบอกก่อน เราก็ไม่ได้เป็นคนแรกที่ทำสิ่งนี้ มีคนอื่นทำมาก่อน ซึ่งเรารู้ทีหลังจากที่ตัดสินใจลาออกจากงานแล้ว

“เราคิดว่าตัดสินใจถูกที่สุด ตรงที่ว่าอาชีพพาผู้สูงอายุไปหาหมอนี้ 

มันไม่ได้ทำเงิน แต่มันทำให้เรามีชีวิตอยู่ต่อ”

คิดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่ทำให้คุณยืนหยัดสานต่อธุรกิจนี้

‘ความสุข’ และ ‘ความหลงใหล’ (passion) เพราะพอหาแพสชันของตัวเองเจอแล้ว มันเป็นตัวหล่อเลี้ยงให้เรามีความสุข ขณะเดียวกันความสุขก็จะทำให้เรามีแพสชันมากขึ้น วนลูปแบบนี้เรื่อยๆ อีกอย่างเราอาจจะเคยได้ยินคำว่า ‘แรงบันดาลใจ’ แต่มีคนบอกเราว่าจริงๆ มันคือ ‘ใจบันดาลแรง’ เพราะเมื่อไหร่ที่เรามีใจ แรงมันจะออกมาเอง

คำถามสุดท้าย ทุกวันนี้คิดว่าตัวเองตัดสินใจถูกไหมที่ก่อตั้ง Joy Ride ขึ้นมา

ยิ่งกว่าถูกหวย นี่คิดว่าเราถูกหวยยังมีวันที่ใช้เงินหมด แต่นี่คือเราได้สร้างอะไรบางอย่าง  ที่มีคุณค่ามากเกินกว่าแค่เงินก้อนหนึ่งจะใช้แล้วหมดไป เพราะมันคือกำไรทางสังคม