มองภาคธุรกิจผ่านสายตาสีเขียวของ ‘Goodwill Compounding’ บริษัทที่ปรึกษาในการสร้างแบรนด์ ที่เชื่อว่าธุรกิจสามารถยั่งยืน ควบคู่กับการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
“ภาคธุรกิจเป็นภาคที่มีพลังที่สุดในการสร้างความยั่งยืนให้กับโลก”
หนึ่งในความเชื่อ ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักของ ‘Goodwill Compounding’ บริษัทที่ปรึกษาในการสร้างแบรนด์ยั่งยืน ที่อยากให้เจ้าของกิจการทุกคนมีเมล็ดพันธุ์ที่ดี อยากสร้างสิ่งดีๆ แล้วพวกเขานำเมล็ดพันธุ์นั้น สร้างแบรนด์ที่ยั่งยืนได้
จึงเป็นโอกาสดีที่ BrandThink ได้ร่วมพูดคุยกับ ‘ยอด-บุญชัย สุขสุริยะโยธิน’ (Co-Founder and Director of Change) ‘เบนซ์-สายธาร ชัยพรแก้ว’ (Co-Founder and Chief of Awesome Purpose) และ ‘เฌอ-พิรญาณ์ พงษ์พานิช’ (Strategic Sustainability Consultant) 3 กำลังสำคัญของ Goodwill Compounding ตั้งแต่จุดเริ่มต้นการก่อตั้ง ไปจนถึงความตั้งใจของบริษัทที่อยากสร้างธุรกิจให้ยั่งยืน ควบคู่กับการสร้างการเปลี่ยนแปลง
จุดเริ่มต้นการก่อตั้งบริษัทเป็นอย่างไร
เบนซ์: จริงๆ พวกเราเคยเป็นทีมแพลนเนอร์ คือเป็นทีมกลยุทธ์ของบริษัทชูใจ (บริษัทเอเจนซีโฆษณา) มาก่อน พวกเราทำงานด้วยกันมานานหลายปี ระหว่างที่เราทำงานด้วยกัน ก็มีเสี้ยวหนึ่งในใจที่เราอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ได้มากกว่านี้ เพราะการทำเอเจนซีโฆษณา เหมือนเราอยู่ปลายน้ำมากๆ ทำแค่การสื่อสาร แต่เรารู้สึกว่า เฮ้ย! ถ้าอยากสร้างการเปลี่ยนแปลง ต้องเอาตัวเองมาเป็นต้นน้ำมากกว่านี้ อยากเข้าไปเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้ได้
ยอด: ช่วงหลังพวกเราได้ทำโปรเจกต์เกี่ยวกับความยั่งยืนค่อนข้างเยอะ พอยิ่งได้ศึกษายิ่งน่าสนใจ เพราะความยั่งยืนอาจจะคิดแค่เรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่ความจริงมันมากกว่านั้น มีเรื่องของชีวิตผู้คน ความเหลื่อมล้ำ ความเท่าเทียมทางเพศ ความยุติธรรม เรารู้สึกว่ามันสนุก เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการก่อตั้งทีมนี้ขึ้นมา
ทำไมถึงตั้งชื่อว่า ‘Goodwill Compounding’
เบนซ์: มาจากคำว่า ‘Goodwill’ ซึ่งมีด้วยกันสองความหมาย เป็นทั้งความตั้งใจดี และค่านิยมของแบรนด์
ส่วนคำว่า ‘Compounding’ เป็นเหมือนแก่นตัวตนอันหนึ่งของพวกเรา เพราะความเชื่อที่ว่าพวกเขาต้องขยายสิ่งนี้ต่อไปเรื่อยๆ เหมือนสมมติเราอ่านหนังสือ อ่านวันละนิดวันละหน่อยทุกวัน สุดท้ายแบบมันจะประกอบสร้างไปเรื่อยๆ
ตั้งต้นด้วยความเชื่อเดียวกัน คืออยากสร้างการเปลี่ยนแปลงใช่ไหม
ยอด: ใช่ เป็นจุดประสงค์สูงสุดของเราเลย พวกเราเชื่อว่าถ้าเราเปลี่ยนแบรนด์ได้ เปลี่ยนธุรกิจได้ ภาคธุรกิจมันมีพลังมาก ทั้งพลังทำลายล้างและพลังสร้างสรรค์ ซึ่งถ้าเราสามารถเอาพลังนั้นมาสร้างด้านบวกให้มากขึ้น หรือทำด้านลบให้น้อยลง เราก็น่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนโลกใบนี้ได้เช่นกัน
เบนซ์: เวลาทำงานให้ลูกค้า ต้องสร้างแบรนด์ให้สักองค์กร หรือแบรนด์สักแบรนด์ สิ่งที่พวกเราทำคือ เราจะไปคุยกับกลุ่มผู้บริหารก่อนว่าคุณค่า แพสชัน ความฝัน ของเขาคืออะไร ก็ต้องเข้าไปคุย ไปสัมภาษณ์แล้วค่อยแคะออกมาว่า สิ่งที่เขาต้องการเปลี่ยนแปลงไปในทางเดียวกับเราไหม
ยอด: ซึ่งจากประสบการณ์ เราจะเจอลูกค้าประมาณสองแบบ แบบแรกคือ ถ้าลูกค้าเขามีความตั้งใจ เหมือนเป็นอินเนอร์ของเขา เราจะรู้สึกได้เลย บางรายก็รู้เรื่อง ‘ความยั่งยืน’ แล้วเขาก็เอาเลย เพราะเขาอยากทำจริงๆ อยากสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่บางรายเขาไม่รู้จักความยั่งยืน แต่มีความตั้งใจที่ดี พอเราคุยกับเขาก็สามารถชวนเขามาทำเรื่องดีๆ ได้
ส่วนอีกแบบคือ แค่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ ว่าทำแล้วทุกคนชอบ เขาพอใจแค่นี้ ไม่ได้ต้องการทำอะไรจริงจัง หรือต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงจริงๆ เราก็จะปฏิเสธไปเลย เพราะอยากรับงานคนที่มีความตั้งใจทำสิ่งที่ดี
ทำไมถึงให้ความสนใจกับการสร้างความเปลี่ยนแปลง หรือความยั่งยืนมากเป็นพิเศษ
ยอด: ก่อนหน้านี้เราอยู่ในวงการโฆษณา คำว่าโฆษณาคือการพูด การสื่อสาร การสร้างภาพ สร้างเสียง สร้างสตอรี่ แล้วที่ผ่านมาเราเคยเชื่อว่าโฆษณาต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อมีการสื่อสารที่ดีด้วยแล้ว แต่หลังจากทำมาหลายปี ทำไมมันแทบไม่เปลี่ยน ทำไมธุรกิจที่เรารู้ว่าไม่ได้ทำดีจริง สุดท้ายโฆษณาออกมาได้ โอ้! ทุกอย่างเขียวไปหมด
เลยรู้สึกว่าโฆษณาอาจจะยังไม่ตอบโจทย์เรา ยังไม่สามารสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ แต่โชคดีที่โปรเจกต์ท้ายๆ เราได้ทำงานกับลูกค้าที่อินเรื่องเดียวกัน เลยช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กันและกัน ซึ่งรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ
เฌอ: พอยิ่งโตขึ้น ยิ่งมีโซเชียลมีเดีย เราจะเริ่มสังเกตเห็นความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม การเข้าถึงโอกาสที่ต่างกัน แต่ทุกคนที่คิดจะเปลี่ยนคืออะไร ส่วนตัวไม่เคยรู้สึกว่าความยั่งยืน เป็นแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสีเขียว แต่คือการที่เฉลี่ยทุกๆ อย่างให้ทุกคนได้กินอิ่มเหมือนกัน นั่นแหละคือจุดที่รู้สึกว่าเราอาจจะต้องเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงแล้วหรือเปล่า
การเปลี่ยนแปลงที่ว่า ขยายความได้ไหมว่าคืออะไร
เบนซ์: ในมุมของเราการเปลี่ยนแปลงมันคือ พอเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นบนโลก เราเลือกทำให้มันดีก็ได้ ทำให้มันแย่ก็ได้ แล้วแต่ว่าจุดหมายปลายทางคืออะไร ถ้าเกิดก่อนหน้านี้มองแต่เงินๆๆ ทำไงก็ได้ให้ได้กำไรสูงสุด แต่เอ๊ะ เราปรับได้ไหม ไม่ต้องทำร้ายโลก ไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีกับสังคม แล้วทำให้ธุรกิจโต ไปพร้อมกับทำให้สังคมดีขึ้นได้ไหม
“คนที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงจริงๆ เราจะสัมผัสแพสชันเขาได้ ฟังเขาพูดแล้วขนลุก มองตาแล้วมีอะไรอยู่ในนั้น เราอยากทำงานกับคนแบบนี้”
มีวิธีการสังเกตอย่างไรว่าเขามีความตั้งใจอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงจริงๆ
เบนซ์: ทุกวันนี้ พอมีข้อกำหนดว่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ต้องมี ESG กลายเป็นว่าทุกคนทำตัวเขียวหมดเลย แล้วจะรู้ได้ไงว่าเขียวจริง เขียวไม่จริง ต้องบอกว่าเราเจอลูกค้ามาหลากหลายมากๆ
มันอาจจะฟังดูตลกนิดนึง แต่เหมือนเราเข้าไปถึงใจเขาจริงๆ ฟังเขาพูดแล้วขนลุก มองตาแล้วมันมีอะไรอยู่ในนั้น คนมีแพสชันมันสัมผัสได้ อยากทำสิ่งนั้นจริงๆ แล้วถ้าเขามีสิ่งนั้นในตัว แค่เราได้คุยกับเขาก็จะ อ๋อ เออฉันต้องทำงานกับคนนี้ ฉันอยากทำ มันจะสัมผัสถึงสิ่งนั้นได้เอง เห็นความตั้งใจดีที่ซ่อนอยู่
แต่บางคนเราฟังจบแล้วก็ไม่ได้สัมผัสถึงสิ่งที่อยู่ข้างใน ซึ่งไม่ใช่แค่สิ่งที่จับต้องไม่ได้ และเราดูที่วิธีการทำธุรกิจของเขาด้วย มันจะมีความตั้งใจที่จะลดผลกระทบด้านลบให้น้อยลง หรือทำเรื่องดีให้มากขึ้น
ยอด: แล้วอีกส่วนหนึ่ง เวลาพวกเราแนะนำตัวจะบอกเลยว่า อะไรที่พวกเราจะไม่ทำ ถ้าคุณทำเกี่ยวกับการ washing อย่าจ้างเรา ที่อื่นจะทำเรื่องพวกนี้ได้ดีกว่าเรา เงินไม่ใช่สิ่งที่เราให้ความสำคัญอันดับแรก Goodwill ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงก่อน แล้วเงินจะมาเอง เราเชื่อแบบนั้น
อะไรบ้างที่ Goodwill Compounding จะไม่ทำ
ยอด: มีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อ ข้อแรกก็คือ เราไม่ทำ Greenwashing, Rainbow Washing, Impact Washing หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวกับ washing ที่ทำเพื่ออยากได้ภาพลักษณ์แบรนด์ที่ดี แต่ไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลง ข้อสองคือ เราไม่ทำ CSR ที่มีไว้สร้างอิมเมจเปลือกๆ เราจะทำ CSR เฉพาะที่เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง ข้อสามคือ เราไม่ทำ Project Sustainability ที่มีไว้แค่ส่งการบ้านตลาดหุ้น แต่ไม่ได้สร้างความยั่งยืนอะไรเลย
มีความคิดเห็น หรือมุมมองต่อธุรกิจที่เป็นแบบ Greenwashing ในปัจจุบันอย่างไร
เบนซ์: ธุรกิจที่ทำ Greenwashing ส่วนใหญ่จะมีสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ ‘รู้และตั้งใจทำ’ อีกกลุ่มคือ ‘ไม่ได้ตั้งใจทำ’ แต่ขาดองค์ความรู้ว่าทำยังไงให้มันไม่ฟอกเขียว ซึ่งคนกลุ่มหลังเรารู้สึกว่าขอให้เขาแค่มีใจที่อยากเปลี่ยนแปลง เราก็พร้อมจะช่วยเขา
ยอด: อาจเป็นความยากในสังคม หรือในประเทศเรา หมายถึงคนยังขาดความรู้เรื่อง ‘ความยั่งยืน’ สมมติเขาตั้งใจที่จะทำจริงจังแต่เจอพาร์ตเนอร์ธุรกิจที่ไม่เข้าใจเรื่องความยั่งยืน ต้องทำให้อิมแพคมากๆ โอเวอร์ เกินจริงไว้ก่อน แต่ถ้าเข้าใจแล้วจะรู้ว่า ความยั่งยืนทำได้แค่ไหนก็เคลมได้แค่นั้น ห้ามสร้างแบรนด์เกินจริง เท่านี้จะจบเลย
แล้วความยั่งยืนที่แท้จริง ควรเป็นแบบไหน
เบนซ์: ความยั่งยืนมันควรที่จะทำซ้ำได้ ความยั่งยืนไม่ใช่ CSR ความยั่งยืนไม่ใช่ได้ภาพเขียวๆ อิมเมจปังๆ ครั้งเดียวจบ อันนี้ไม่ได้เรียกว่าความยั่งยืน แล้วความยั่งยืนทำยังไงให้มันยั่งยืน มันควรจะเข้าไปอยู่ในองค์ประกอบของการทำธุรกิจเลย เพื่อให้มันได้เกิดขึ้นซ้ำ และได้อยู่ในธุรกิจได้จริงๆ
ยอด: แน่นอนว่าเขาทำหรือยัง อันนี้สำคัญจริงๆ ถ้าเขาแค่พูดแต่ยังไม่ได้ทำ อันนั้นยังไม่ใช่ความยั่งยืน เพราะยังไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมา ต้องทำแล้วมันเกิดอิมแพคจริงๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ ถึงจะพูดได้ว่าสร้างความยั่งยืนแล้ว
พอมีจุดยืนที่ชัดเจน กลัวบ้างไหมว่าจะอยู่ในตลาดไม่ได้
เบนซ์: เราเคยมีความกลัว ไม่กล้าทำธุรกิจ พอเราไปเรียนปริญญาโทเลยทำธีสิสเกี่ยวกับทำไมคนถึงกลัวการทำธุรกิจ ไปคุยกับผู้ประกอบการหญิง 10 คน ก็พบว่าตั้งแต่ก่อนก่อตั้ง ทำธุรกิจ หลังทำธุรกิจ ความกลัวมันเกิดขึ้นในทุกๆ ขั้นตอน ความกลัวมันเปลี่ยนไปเสมอ ดังนั้นเราไม่ได้ศึกษาความกลัวอยู่ เราศึกษาความกล้า
“ทุกคนเจอความกลัว สิ่งที่ตามมาคู่กันคือ จะจัดการกับความกลัวยังไง นี่แหละที่เรียกว่าความกล้า”
แล้วความกลัวมันก็หายไปเลย หายไปเพราะเรามีทีมทุกคน มีคนที่มีความเชื่อไปในทิศทางเดียวกัน ต่อจากนี้เราไม่กลัว เรามีความกล้าขึ้นมาแทน
อีกอย่างรู้สึกว่าเราต้องกล้าปฏิเสธกับสิ่งที่ไม่ใช่ด้วย เพื่อทุ่มเททุกเวลา ทุกทรัพยากรที่เรามีกับสิ่งที่ใช่ ฉะนั้นการปฏิเสธลูกค้าไม่ใช่เรื่องน่ากลัว การเดินเข้าไปหาแล้วจับมือลูกค้าที่ใช่ไปด้วยกันต่างหาก คือความกล้า
นอกเหนือจากจุดยืนของบริษัทแล้ว คิดว่าอะไรคือจุดแข็งของบริษัทอีกบ้าง
เบนซ์: บริษัทเรามีความรู้ที่หลากหลายศาสตร์ ทั้งในแง่ของความยั่งยืน พวกเราก็ศึกษาจนแตกฉาน ส่วนในแง่ของการทำแบรนด์และธุรกิจ พวกเราก็เข้าใจอย่างดี นอกจากนี้เราก็มีความรู้ เรื่องจิตวิทยา เศรษฐศาสตร์ สัมคมศาสตร์ พร้อมกับมีมุมมองในการจัดการปัญหา ที่สามารถหาแนวทางการแก้ไขจากหลายๆ แง่มุม
อีกอย่างเวลาสร้างแบรนด์ ทั่วๆ ไปอาจจะมองแค่ Logo, CI หรือจะแต่งตัวยังไง แต่ของพวกเราคือถอดออกมาหมดเลย แคะตัวตนที่แท้จริงของเจ้าของแบรนด์ออกมา เพราะเราสามารถสร้างแบรนด์ที่เป็นตัวตนของเขาได้อย่างแท้จริง
ยอด: พวกเราทุกคนในทีมมีแพสชันจริงๆ อย่างเวลารับสมัครงาน หรือชวนน้องๆ มาทำด้วยกัน ที่อื่นอาจจะดูแค่ความสามารถ แต่ของเราจะดูเรื่องของแพสชันที่อยากทำสิ่งดีๆ อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาก่อน เลยกลายเป็นว่าคนในทีมเรามีแต่คนมีแพสชัน
ภายใต้ความเชื่อ หรือแพสชันที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงจริงๆ กลัวบ้างไหมว่าจะเกิดขึ้นจริงไม่ได้
เฌอ: กลัวไม่มีคนทำมากกว่า ถ้าเทียบกันระหว่างความกลัวว่ามันจะไม่เกิดขึ้นจริง เรากลัวไม่มีคนคิดที่จะเริ่มมากกว่า เพราะจริงๆ ทุกการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยคนกล้าอยู่แล้ว เรารู้สึกพอมาทำตรงนี้มันไม่มีความกลัวที่มันจะไม่เกิด แต่กลัวไม่มีคนคิดที่จะเริ่มมากกว่า
ความยาก ความท้าทายของการทำงานนี้คืออะไร
เบนซ์: เป็นทั้งความยากและความง่ายคือ ‘การหาลูกค้าที่ใช่’ ถ้าเจ้าของบริษัทเขาเป็นคนที่ใช่จริงๆ มีแพสชัน ทุกอย่างมองตาตรงกับเราเนี่ยแหละยาก ทำยังไงให้เราหาคนอย่างนี้เจอ แต่พอเป็นความยากปุ๊บจะกลายเป็นเรื่องง่ายทันที เพราะกระบวนการมันจะไหล ตัวตนของเขาจะออกมาจากธุรกิจ ทุกอย่างมันลงล็อกกันหมด
ยอด: ซึ่งการจะหาลูกค้าที่ใช่แบบนั้น เราต้องชัดก่อน ว่าอะไรที่เราทำ ไม่ทำ ฉะนั้นเราต้องชัดเจน ยอมที่จะตัด ยอมที่จะไม่ได้เงิน ยอมที่จะไม่โต แล้วสิ่งที่ใช่เท่านั้นที่จะเดินเข้ามาหาเราเอง
ทำอย่างไรให้ความตั้งใจไม่ไขว้เขว หรือหลงทางไปตามสภาพแวดล้อมและสิ่งที่มากระทบ
เฌอ: ถ้านึกถึงแค่ปัจจุบันอย่างเดียวก็จะยาก คิดว่าเรามีลูกค้าไหม เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องของการคิดเผื่ออนาคต คิดว่าเราไม่อยากส่งต่อสังคม ส่งต่ออนาคตแบบนี้ไปให้คนรุ่นหลังที่เขาไม่รู้เรื่องอะไรเลยด้วยซ้ำ เมื่อเรารู้แล้วว่าเราอยากส่งต่ออนาคตแบบไหนให้พวกเขา เราเลยมีความเชื่อ มีมิชชันในแต่ละวันที่ชัดเจน เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงเรา
และด้วยความที่ Goodwill Compounding ไม่ได้มุ่งเน้นจะได้กำไรเยอะอยู่แล้ว แต่มันคือความมั่นคงทางการเงิน เรามีเงินเพื่ออะไร กินข้าวครบสามมื้อ นอนตอนกลางคืน ตื่นมากินข้าว เพราะงั้นสิ่งที่พวกเราโฟกัสน่าจะเป็นความมั่นคงทางความรู้สึก ที่อยากทำอะไร อยากเป็นคนแบบไหนให้กับโลกใบนี้
เบนซ์: ขอขยายความต่อ ความกล้ามันเกิดจาก หนึ่งความเชื่อ ตั้งแต่วันแรกเรามีความเชื่อว่า ‘ฉันอยากทำ’ อยากตื่นมาทำงานเหลือเกิน แล้วอะไรที่ทำให้เรายังอยากลุกขึ้นมาทำงานทุกๆ วัน คือเราได้เจอคนที่อยากทำเรื่องนี้ มีแพสชันเดียวกัน เหมือนเติมไฟให้กัน
เราเชื่อว่าผู้ประกอบการที่ทำเรื่องนี้ เขาต้องเจอคำถามแบบเดียวกันว่า “ฉันต้องทำดีเหรอ โลกแม่งแย่ขนาดนี้ ฉันยังต้องทำดีเหรอ” เราว่าเสี้ยวหนึ่งในใจทุกคน คงเคยถามคำถามนี้กับตัวเอง แต่เชื่อว่าถ้าเราไปต่อแล้วคนอื่นเห็นเราไปต่อ เขาก็จะอยากไปต่อ เหมือนไฟที่ค่อยๆ ช่วยกันจุดแล้วก้าวไปด้วยกัน
ถ้าเกิดมีคนบอกว่า ความเชื่อ หรือความตั้งใจของคุณไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง จะตอบกลับเขาว่าอย่างไร
เฌอ: ตอบแค่ว่าคอยดู เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงมันใช้เวลา เราไม่สามารถโชว์เขาได้เลยว่า วันนี้มีบริษัทนี้มา พรุ่งนี้สังคมภาคธุรกิจจะดีขึ้น ทุกอย่างมันแค่ต้องรอดูเวลา เหมือนการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น
เราไม่สามารถไปบอกเขาได้เลยว่า “ต้องเชื่อเราว่ามันเปลี่ยนแปลงได้เว้ย! มันทำได้!” สุดท้ายเราแค่ทำ แล้วรอเวลาที่การเปลี่ยนแปลงมันจะค่อยๆ เกิดขึ้นเอง มันเหมือนเราปลูกเมล็ดพันธุ์อะไรสักอย่าง ต้องค่อยๆ รอ ต้องคอยรดน้ำ แล้วเชื่อว่ามันจะโต
สุดท้ายมองทิศทางในอนาคตของ Goodwill Compounding เป็นอย่างไรต่อไป
เฌอ: เป็นพื้นที่ที่สบายใจของคนที่อยากเปลี่ยนแปลง เพราะแค่เขาอยากเปลี่ยนแปลง แล้วเดินเข้ามาหาเรา เราพร้อมที่จะเป็นพื้นที่ที่สบายใจให้เขา ช่วยเขาอย่างเต็มความสามารถ ไม่เป็นแค่พาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ ลูกค้า แต่ช่วยในฐานะของคนที่อยากเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน
เบนซ์: มองเป็นพื้นที่ของการเติบโต เพราะตั้งแต่ทำมา เราโตขึ้น เห็นโลกกว้างขึ้น เก่งขึ้น ทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข ตื่นมามีไฟในตา มีแพสชันที่อยากทำ มีความตั้งใจในการคัดลูกค้า แล้วทำงานให้มันออกมาดีจริง สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง และทำให้ธุรกิจในประเทศไทยสามารถยั่งยืนได้จริงๆ
“ยั่งยืนที่ไม่ได้แค่อยู่ในกระดาษแล้วต้องส่งตลาดหุ้นว่าฉันทำ ESG ครบแล้ว แต่ยั่งยืนที่ทำให้ประเทศแย่ๆ นี้มันดีขึ้น”