คุยกับ ‘แฟรี่ รดา’ อดีตเด็กโฮมสคูล ที่มีทั้งเวลาและอิสระในการออกแบบหลักสูตรชีวิตตัวเอง

5 Min
9589 Views
04 Mar 2023

ช่วงวิกฤตโรคระบาดที่ผ่านมา ได้กระเทาะปัญหาระบบการศึกษาออกมาให้เห็นมากขึ้น เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนให้ไปเรียนในรูปแบบออนไลน์แทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นการสะท้อนตัวครูผู้สอนเอง ที่อาจมีความพร้อมไม่เพียงพอนัก บวกกับตัวนักเรียนเองที่ปรับตัวไม่ทัน

ส่งผลทำให้ ‘Home School’​ (โฮมสคูล) อีกทางเลือกหนึ่งของการศึกษา ที่ ‘บ้าน’ เปรียบเสมือน ‘โรงเรียน’ และนอกบ้านยังเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้

BrandThink ชวน ‘แฟรี่’ รดา นิ่มกิตติกุล อดีตเด็กโฮมสคูลที่เติบโตนอกรั้วโรงเรียนมาตลอดระยะเวลา 9 ปี ซึ่งปัจจุบันเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มานั่งไทม์แมชีนย้อนเวลากลับไปยังช่วงชีวิตนั้น เพื่อถ่ายทอดมุมมอง และความรู้สึกของเด็กบ้านเรียนที่หลายคนสงสัยว่าเป็นอย่างไร

ลองนิยามการเรียนแบบโฮมสคูลในแบบฉบับของเราให้ฟังหน่อย

หลักๆ มันคือ การที่เราเรียนผ่านหลักสูตรที่ออกแบบเองได้ เพราะทุกคนในระบบตอนนี้คือเรียนด้วยหลักสูตรแกนกลางแบบเดียว

แต่โฮมสคูลมันเหมือนเป็นการสร้างโรงเรียนขึ้นมาใหม่ มีนักเรียนคนเดียว

ที่บ้านต้องจดทะเบียนกับทางเขตแล้วก็เขียนหลักสูตรการเรียนเอง บอกวิธีการวัดผล บอกเกณฑ์คะแนน วิธีการเรียน การนับชั่วโมง เลือกได้ว่าจะเอา 9 สาระวิชาแบบในโรงเรียน หรือกลุ่มประสบการณ์ก็ได้ เป็นการกำหนดหลักสูตรเอง

จุดเริ่มต้นอะไรที่ทำให้ก้าวเข้าสู่การเรียนโฮมสคูล

ช่วงที่ทำโฮมสคูลยาวๆ จริงๆ คือ ช่วงชั้นประถมปีที่ 4 จนจบมัธยม 6 แต่ว่าช่วงก่อนหน้านี้อนุบาล 1 ถึงประถม 3 ก็มีช่วงที่เราเข้าๆ ออกๆ อยู่บ้าง

เริ่มแรกที่แม่ให้โฮมสคูลคือมีพี่สาว แล้วพี่สาวเป็นคนมีพัฒนาการไว เลยไปหาหมอที่ไปหาเป็นประจำอยู่แล้ว เขาก็แนะนำให้ทำโฮมสคูล หลังจากนั้นแม่ก็มีความคิดกับทางเลือกนี้อยู่ในหัวตลอด ก็เลยศึกษามาตั้งแต่ตอนนั้น

แต่ช่วงที่มาออกจากโรงเรียนจริงๆ คือบ้านมีลูกสามคน ตอนนั้นทั้งสามคนเข้าโรงเรียนเดียวกันหมดเลย ดันเจอครูไม่ดีพร้อมกัน แม่เขาเลยรู้สึกว่าทำไมต้องมาคอยลุ้นตลอด เหมือนเสี่ยงโชค ว่าปีนี้ลูกจะได้ครูประจำชั้นดี ไม่ดี แล้วก็มีปัญหาสุขภาพด้วย ตอนนั้นเราเป็นโรคภูมิแพ้ ต้องรักษาไม่งั้นจะเป็นเรื้อรัง เลยตัดสินใจออกมาดีกว่า

แปลว่าพ่อแม่เหมือนเป็นครูของเรา

เป็นเหมือนผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นคนคอยจัดการหลักสูตรในการเรียนให้เรา

ผู้อำนวยการโรงเรียนคนนี้ใจดีไหม

(หัวเราะ) ถ้าในด้านนี้แม่รับฟังมาก จริงๆ มีช่วงหนึ่งที่แม่จะมาอัปเดตกันทุกปี โดยให้เราเขียนว่าปีนี้อยากเป็นอะไร อยากรู้อะไร อยากเรียนอะไร มานั่งดูว่าทำไมถึงอยากเรียนอันนี้ อยากเรียนจริงๆ ใช่ไหม แล้วจากการพูดคุยทั้งหมดก็จะมาดูกันว่า ต้องยังไงบ้าง ไปคุยกับใครได้บ้าง ต้องฝึกเพิ่มตรงไหน เพื่อส่งเสริมสิ่งที่ลูกอยากทำ แล้วค่อยๆ ปรับหลักสูตรไปแต่ละปี

ย้อนกลับไปตอนที่อยู่ในโรงเรียน แล้วต้องออกมาเรียนแบบโฮมสคูล รู้สึกอย่างไรบ้าง

ตอนนั้นไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะแม่ก็ไม่ได้บังคับว่าต้องออกมาเรียนถาวร ที่รู้สึกจริงๆ น่าจะเป็นเรื่องเพื่อนมากกว่า เพราะยังติดเพื่อน เราเพิ่งจะมีเพื่อนจริงๆ จังๆ ครั้งแรกตอนอยู่ชั้นประถม 3 เอง เลยอยากเรียนต่อ

ถ้าจำไม่ผิดช่วงนั้นอยากเป็นหมอด้วย ตอนนั้นเลยมีความคิดว่าถ้าเราเรียนในโรงเรียนจะได้วิชาการมากกว่า เพราะเรารู้ตัวตั้งแต่ตอนนั้นว่าเราบังคับตัวเองไม่ได้แน่ๆ

แล้วคิดว่าข้อดีของการเรียนแบบโฮมสคูลคืออะไร

ข้อดีอย่างแรกคือเรื่องเวลา แต่จริงๆ ก็แล้วแต่รูปแบบด้วย หลักๆ ที่ได้คือมีเวลามากขึ้น เราไม่จำเป็นต้องเรียนอะไรที่เราไม่อยากเรียน หรือคิดว่าไม่มีประโยชน์ในอนาคต ถ้าเราอยากไปทำงานสายนี้ หากไม่มีความจำเป็นก็อาจจะเรียนแค่พื้นฐาน แล้วเอาเวลาตรงนั้นออกไปใช้ชีวิต ออกไปทำกิจกรรมในวันธรรมดาได้ เพราะปกติเด็กตามระบบก็ต้องไปโรงเรียน

อีกเรื่องคือมีความยืดหยุ่น เราปรับได้หมด จะเรียนวิชาไหนมากกว่า เพิ่มลดอะไร ปรับครู เปลี่ยนครูเมื่อไหร่ก็ทำได้หมด ตามใจเราเมื่อไหร่ก็ได้

ข้อเสียของการเรียนแบบโฮมสคูลล่ะ

ข้อเสียที่นึกออกตอนนี้คือ เราต้องมีวินัยกับตัวเองสูง เพราะว่าไม่มีกฎเกณฑ์ครอบเราไว้ชัดเจน เลยต้องใช้วินัยสูงมาก หลายๆ ครั้งเราเรียนโดยไม่มีครูสอน เรียนเอง ค้นคว้าเอง ซึ่งถ้าไม่มีวินัยมันก็จะทำแป๊บเดียวแล้วก็พัง

แล้วก็จำได้ว่าตอนที่เพิ่งออกมาทำโฮมสคูล รู้สึกว่าทำยังไงดี ถึงจะเรียนได้เท่ากับตอนที่เรียนในโรงเรียน ต้องจ้างใครมาสอน ตอนนั้นเลยยังเคว้งๆ อยู่นิดหน่อย

อีกอย่างแม้ไม่ใช่ประสบการณ์ส่วนตัว แต่มีน้องสาวเราที่เขาไม่เข้าใจความกดดันของการสอบ เพราะปกติมันจะมีความกดดัน เพราะต้องแข่งขัน ต้องอ่านหนังสือ แต่น้องไม่เข้าใจถึงความรู้สึกตรงนั้น

อย่างเราถึงเราจะรู้ว่าไม่มีผลในการใช้ชีวิตหรอก แต่พอจะต้องสอบเราก็จะกดดันตัวเองอยู่ดี เพราะมันเป็นประสบการณ์บางอย่าง ที่โรงเรียนเชป (shape) ให้เราเป็นแบบนั้น

ซึ่งก็บอกไม่ได้ว่าดี หรือไม่ดีนะ แค่อาจจะมีปัญหา ถ้าสมมติจะเข้ามหาวิทยาลัย หรือจะเปลี่ยนไปเรียนในระบบสักวันหนึ่ง น้องเขาอาจจะสู้ไม่ไหว ต้องปรับตัวเยอะมากๆ

การเรียนโฮมสคูล ทำให้ขาดสังคมและมนุษยสัมพันธ์ไปหรือเปล่า

คิดว่าไม่ เพราะว่าเรามีเวลาเหลือเยอะมากขึ้น มันทำให้เราออกไปอยู่ในสังคมการทำงานจริงๆ ได้ออกไปลองใช้ชีวิต ได้เจอคนที่หลากหลายมากกว่าเพื่อนในโรงเรียน

จริงไหม ที่โฮมสคูลทำให้ค้นหาตัวตนได้เร็วกว่าคนอื่น

ด้วยระยะเวลาไม่ได้คิดว่าเร็วกว่าคนอื่นขนาดนั้น แต่ยอมรับว่าพอเราได้ลองอะไรมาเยอะ แล้วไม่ใช่การลองที่เสียเปล่า ทำให้ตัดชอยส์ทุกอย่างมาแล้วว่าอะไรใช่ หรือไม่ใช่ มันทำให้ชัดเจนมากขึ้น ว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องการเรียนบนโลกทุนนิยมนี้

ซึ่งการค้นหาตัวเองของเรา พอเลือกแล้วมันก็ยังเปลี่ยนได้ตลอด ไม่เหมือนเด็กมัธยมคนอื่นๆ ที่ต้องเลือกสายแล้วมันเปลี่ยนไม่ได้

แล้วคิดว่าอะไรคือความยากของการเรียนโฮมสคูล

เรื่องของการต้องทำเอกสารทางราชการ มันต้องติดต่อกับทางเขตการศึกษา เอาง่ายๆ พอเราบอกว่าทำโฮมสคูล เขาก็รู้นะว่ามันคืออะไร แต่ในใจเขาไม่รู้เลยว่าถ้าจะเริ่มต้องทำยังไง มันเลยกลายเป็นว่ามีแต่คนที่รู้ว่ามี แต่ไม่รู้ว่าจะไปถึงตรงนั้นได้ยังไง

อย่างพ่อแม่เราก็ทำโฮมสคูลมานาน ครอบครัวอื่นๆ ที่อยากทำบ้างก็จะมีการมาถาม มายืมไปเป็นแพทเทิร์นในการเขียนเอกสารถึงทางเขตให้ง่ายขึ้น ในฐานะคนเป็นพ่อแม่ คนที่จะทำให้ลูกน่าจะไม่รู้ตรงนี้มากกว่า

มีค่าใช้จ่ายเยอะกว่าการเรียนในระบบหรือเปล่า

แล้วแต่บ้านเลย เพราะอย่างที่บอกไปมันยืดหยุ่นได้หมด จะเรียนน้อย เรียนมาก ที่จริงแล้วบ้านที่ทำโฮมสคูลแบบนี้ได้เงินสนับสนุนด้วย เหมือนโรงเรียนทั่วไป

สมมติถ้าไม่ได้เรียนแบบโฮมสคูล ต้องไปเรียนในโรงเรียน คิดว่าตัวเองจะเป็นอย่างไร

คง depress กว่านี้ (ยิ้ม) แต่ก็คิดว่าเราจะทำได้ดีในการทำข้อสอบ น่าจะไม่มีปัญหาในแง่การเรียน แต่จะได้มาอยู่ถึงจุดนี้ ตอนนี้ได้ไหม ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน อาจจะไม่มีมุมมองที่โตแบบนี้ก็ได้

การเรียนแบบโฮมสคูล มันคือการที่ทำให้เราเห็นโลก เราโตกว่าคนอื่น เพราะว่าเราเจอ เราเห็นการทำงานกับผู้ใหญ่ เราไม่มีความอาฟเตอร์ช็อกใดๆ เราค่อนข้างเข้าใจโลกใบนี้แล้ว

ไม่ได้เรียนแค่เพื่อให้เกรดดี แต่เราเรียนให้เต็มที่เท่าที่เราบาลานซ์สุขภาพจิตให้ดี ไม่ให้ตัวเองพังกับเรื่องนี้ ไม่ทุ่มสุดตัว จนเราไม่ไหว เกรดมันไม่ได้เป็นตัว define ชีวิตทั้งชีวิตเรา หรือการันตีว่าจะได้งานดีๆ เสมอไป เพราะปัจจุบันสายงานเราก็สนสกิลมากกว่าสนเกรด

ทุกวันนี้คิดว่าตัดสินใจถูกไหมที่เรียนโฮมสคูล

ไม่อยากบอกว่าถูกไหม แต่เอาเป็นบอกว่าเราพอใจกับสิ่งที่เป็นละกัน ผลลัพธ์ท้ายที่สุดออกมาเรารู้สึกพอใจกับการได้เรียนโฮมสคูล

มันก็มีบ้าง ช่วงที่รู้สึกอยากเข้าโรงเรียนมากๆ ตอนช่วงขึ้นมัธยมปลาย เราแค่อยากมีเพื่อนบ้าง เพื่อนเดิมๆ ที่ใช้เวลาอยู่ด้วยกันนานๆ เพราะมีเพื่อนแต่มันก็เป็นเพื่อนค่ายที่ไม่ได้เจอกันบ่อยๆ เพราะเขาก็มีเพื่อนในโรงเรียนเขาอยู่แล้ว

แต่เราคิดว่าก็โอเค เราได้ประสบการณ์ดีๆ คอนเนกชันก็เยอะมาก ได้ฝึกงานก่อนเข้ามหาวิทยาลัย มันทำให้เราโตขึ้น เข้าใจโลกเยอะขึ้น ทำให้เรามีสกิลอะไรหลายๆ อย่าง ที่พอเข้ามหาวิทยาลัย เรารู้สึกว่าเรามีทักษะมากกว่าคนอื่นในวัยเดียวกัน แต่พูดไปอาจจะดูแบบหลงตัวเอง (เขิน)

ถ้าอย่างนั้นในอนาคตหากมีลูก จะยังเลือกให้เรียนโฮมสคูลแบบเราไหม

เราเคยคิดเรื่องนี้จริงจังอยู่ช่วงหนึ่ง อยากให้เรียนทั้งแบบโฮมสคูล และแบบในโรงเรียน แต่คิดไม่ตกเลยว่าจะเป็นช่วงไหนดี ที่จะให้เรียนโฮมสคูล ตอนไหนเรียนในโรงเรียน แค่รู้สึกว่าลูกต้องรับรู้ว่าระบบการสอบมันคืออะไร ยังไง เพราะการอยู่ในโรงเรียน มันก็เป็นแรงผลักดันได้เหมือนกัน แต่ก็อยากมีเวลาให้เขาได้ใช้ชีวิต เลยยังไม่ได้คำตอบที่ไฟนอล

พอถึงตอนนั้นจริงๆ เราอาจจะคุยกับลูกเป็นหลักมากกว่า เพราะมันคงไม่ได้เหมาะกับทุกคน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ ด้วย โครงสร้างครอบครัว หรือต้องดูลูกเราด้วยว่าอยากเรียนอะไร เพื่อผลักดันเขาให้มันตอบโจทย์ และมีประสิทธิภาพมากที่สุด