1 Min

นักวิทยาศาสตร์ฉีด ‘ฮอร์โมนความรัก’ ให้สิงโต…ผลคือพวกมันเชื่องขึ้น

1 Min
1225 Views
22 Apr 2022

ถ้าจะพูดถึง ‘ความรัก’ ในทางปรัชญาก็เรียกได้ว่าเถียงกันมาเป็นพันปี แต่ในทางเคมีค่อนข้างชัดเจนว่าสิ่งที่มนุษย์เรียกกันว่า ‘ความรัก’ มันคือความรู้สึกหลังร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่ชื่อ ‘ออกซีโทซิน’ (Oxytocin) ออกมา ซึ่งฮอร์โมนนี้ไม่ได้มีแค่ในมนุษย์ แต่มีในสัตว์เลี้ยงจำนวนมาก ตั้งแต่มนุษย์ยันปลาหมึก

มันเป็นฮอร์โมนที่แม่จะหลั่งออกมาเวลาอุ้มลูก เป็นฮอร์โมนที่มนุษย์และหมาที่เลี้ยงจะหลั่งออกมาเวลาจ้องหน้ากันและกัน พูดง่ายๆ ว่ามันคือความรักในรูปแบบเคมีนี่เอง

ทีนี้นักวิทยาศาสตร์ก็เลยสงสัยว่า แล้วถ้าเราฉีดฮอร์โมนนี้เข้าไปตรงๆ มันจะส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย ซึ่งสัตว์ที่ได้รับเกียรติในการทดลองนี้ได้แก่สิงโต 23 ตัวในศูนย์อนุรักษ์สัตว์ป่าที่แอฟริกาใต้

การฉีดฮอร์โมนเป็นไปอย่างทุลักทุเล เพราะไม่มีการวางยาสลบใดๆ แต่เป็นการเอาเนื้อดิบซึ่งเป็นของโปรดมาล่อสิงโต ก่อนนักวิจัยจะบรรจงฉีดออกซีโทซินไปตรงจมูกสิงโต เหตุที่ต้องฉีดตรงนี้เพราะเป็นจุดที่ฮอร์โมนจะวิ่งไปยังสมองโดยตรง

ความน่าสนใจคือหลังจากฉีดฮอร์โมน สิงโตดูจะ ‘เป็นมิตร’ กันมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่านักวิจัยไม่ได้คิดไปเอง เพราะมีตัวชี้วัดเชิงปริมาณอย่างการโยนฟักทองให้สิงโตกัดเล่น ซึ่งพวกที่ได้รับฮอร์โมนไปมันจะเล่นใกล้ๆ กันราว 3 เมตร แต่ตัวที่ไม่ได้รับฮอร์โมนมันจะไม่เล่นใกล้กันเลย และอยู่ห่างกันประมาณ 7 เมตร

นี่เป็นบทพิสูจน์บางประการว่าฮอร์โมนออกซีโทซินส่งผลให้สิงโตเชื่องขึ้นจริงๆ แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ มันก็ไม่ได้เชื่องเสียทีเดียว เพราะนักวิจัยยังรายงานว่า อาการ ‘หวงอาหาร’ นั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลยระหว่างกลุ่มสิงโตที่ได้รับฮอร์โมนหรือไม่ได้รับ

ถามว่าการทดลองนี้บอกอะไรเรา? คำตอบก็คือมันพิสูจน์ว่าการรับออกซีโทซินไปตรงๆ น่าจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ความรู้สึกของสิ่งมีชีวิตได้จริงๆ หรือมีศักยภาพที่จะเป็น ‘ยา’ ได้ และในกรณีสิงโต ถ้าเขาจะทดลองต่อด้วยการเพิ่มโดสเข้าไป สิงโตก็อาจเชื่องระดับเลิก ‘หวงอาหาร’ หรือละทิ้งสัญชาตญาณก้าวร้าวรุนแรงระดับพื้นฐานก็ได้

แน่นอนว่าถ้าเอาไปทดลองกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็อาจได้ผลที่น่าสนใจแตกต่างกันไป

อ้างอิง