4 Min

ทำไมบริษัทเทคโนโลยีอเมริกาถึงเต็มไปด้วย CEO เชื้อสายอินเดีย

4 Min
944 Views
15 Dec 2021

Select Paragraph To Read

  • แล้วเกิดอะไรขึ้น? เอาจริงๆ มันอธิบายได้หลายมิติจากหลายฝั่ง และเราจะเริ่มจากอเมริกาก่อน
  • แต่สิ่งที่อยากจะพูดถึงคือ คนอินเดีย
  • และก็ไม่น่าแปลกเลยที่ในที่สุด คนอินเดียหัวกะทิเหล่านี้จะขึ้นเป็นซีอีโอ

ข่าวการเปลี่ยนซีอีโอของทวิตเตอร์เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2021 อาจไม่ใช่เรื่องที่เกินคาดของหลายๆ คนเลย เพราะซีอีโอเก่าอย่าง แจ็ค ดอร์ซีย์ (Jack Dorsey) ช่วงหลังๆ ดูจะไปเอาดีทางคริปโทจริงๆ จังๆ

แต่เรื่องที่อาจสะดุดตาหลายๆ คนก็คือ ซีอีโอคนใหม่เป็นคนอินเดีย และบางคนก็อาจเริ่มรู้สึกว่า “อีกแล้วเหรอ”

ในความเป็นจริงความรู้สึกแบบนี้มีที่มาและมีเหตุผลด้วย เพราะช่วงหลังๆ คนเชื้อสายอินเดียได้ขึ้นเป็นซีอีโอของบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ในอเมริกาเยอะจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล ไมโครซอฟท์ ซานดิสก์ และจริงๆ ก็มีบริษัทเด่นๆ ที่เราไม่รู้จักอีก รวมกันเป็นสิบๆ บริษัทที่คนอินเดียได้ขึ้นเป็นซีอีโอ

แล้วเกิดอะไรขึ้น? เอาจริงๆ มันอธิบายได้หลายมิติจากหลายฝั่ง และเราจะเริ่มจากอเมริกาก่อน

อเมริกานั้น ดั้งเดิมเป็นประเทศที่ใครไปตั้งรกรากก็ได้ แต่อเมริกาก็เริ่มเปลี่ยนแปลงสำคัญในปี 1882 ภายใต้กฎหมายชื่อ Chinese Exclusion Act ที่เป็นกฎหมายแรกตั้งแต่ตั้งอเมริกาที่แบนไม่ให้คนเข้าประเทศ โดยกฎหมายนี้เริ่มจากจีน และสักพักก็ลามไปห้ามคนทั้งเอเชียอพยพเข้าไปอเมริกา

เหตุผลที่เป็นแบบนี้ ถ้าจะให้อธิบายจะยาวมาก แต่เอาเป็นว่าในต้นศตวรรษที่ 20 อเมริกานั้นแทบจะมีแต่โควตาให้ผู้อพยพชาวยุโรปตะวันตกเข้าประเทศ ดังนั้นผลที่ตามมาก็คือ คนที่ไปตั้งรกรากในอเมริกาจะเป็นชาวยุโรปตะวันตกซะเยอะ และลูกหลานของคนเหล่านี้ ก็มักจะเป็นเจ้าของธุรกิจใหญ่ๆ ทุกวันนี้

นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้วว่าอเมริกาคือชาติที่สร้างมาด้วยฝีมือของ ‘ผู้อพยพ’ แต่ประเด็นคือ ตั้งแต่ตั้งประเทศมาถึงครึ่งแรกศตวรรษที่ 20 ‘ผู้อพยพ’ ที่ว่านั้นเป็น ‘คนขาว’ เกือบหมด

ทีนี้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในทศวรรษ 1960 เกิดขบวนการสิทธิพลเมือง ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและเหยียดสารพัด ซึ่งผลอย่างหนึ่งก็คือ Immigration and Nationality Act ในปี 1965 มันยกเลิกโควตาว่าผู้อพยพเข้าอเมริกาจะต้องเป็นชาวยุโรปตะวันตกเท่านั้น คือใครจะมาก็ได้ แค่มีความสามารถก็พอ และนี่คือการกลับไปหาสปิริตที่อเมริกาสร้างประเทศมาในช่วงแรก คือการเปิดรับคนเก่งจากทั่วโลกมาเป็นพลเมือง

ในโลกนี้ มีหลายต่อหลายชาติอยากไปอเมริกาและได้อานิสงส์จากกฎหมายนี้ คนไทยเข้าไปอเมริกาเยอะจนเกิด ‘ไทยทาวน์’ ก็เป็นผลจากการเปลี่ยนนโยบายผู้อพยพนี้ คนละตินอเมริกันเข้าไปจำนวนมากในอเมริกาก็เกิดจากกฎหมายนี้

แต่สิ่งที่อยากจะพูดถึงคือ คนอินเดีย

อเมริกาเป็นชาติที่ต้องการพัฒนาประเทศไปในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างชัดเจน และจะพัฒนาไป ก็ต้องการแรงงาน ซึ่งแรงงานในอเมริกาก็ไม่พอ ต้องการแรงงานเพิ่ม แต่แรงงานพวกนี้ก็ไม่ใช่หาง่ายๆ เพราะต้องการ ‘คนมีความรู้’ หรือพูดง่ายๆ คือคนที่เก่งเลข เก่งวิทยาศาสตร์

ชาติเอเชียรวมๆ ค่อนข้างลือชื่ออยู่แล้วว่าเก่งด้านนี้ เพราะระบบการศึกษาเอเชียบ้าคลั่งพอควร ซึ่งก็ทำให้บริษัทอเมริกันหันมามองหาลูกจ้างจากเอเชีย โดยเฉพาะในตำแหน่งต่ำๆ หรือพูดง่ายๆ แม้แต่งานยากๆ บริษัทอเมริกันต้องการ ‘แรงงานราคาถูกและคุณภาพดี’ อย่างน้อยๆ ก็คือเทียบกับแรงงานอเมริกัน

สองชาติที่ประชากรมากมายและลือชื่อว่า ‘เก่งเลข’ ชัวร์ๆ คือจีนและอินเดีย พอดีจีนเป็นคอมมิวนิสต์และไม่ให้คนออกนอกประเทศในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 ก็ตัดจีนไป หวยก็เลยมาออกที่อินเดียที่เป็น ‘ประเทศเสรี’ ที่ประชากรมากมายมหาศาลและไม่มีข้อห้ามคนมาทำงานอเมริกาแน่ๆ

แต่คนอินเดียที่จะเก่งและ ‘มีปัญญา’ พอจะไปทำงานในอเมริกาก็ ‘ไม่ธรรมดา’ อินเดียเป็นประเทศที่ยากจนมากๆ (ตั้งแต่ตอนโน้นถึงตอนนี้) หรือให้ตรงกว่านั้นคือความเหลื่อมล้ำสูงสุดๆ ไม่ใช่ทุกคนที่จะใช้ภาษาอังกฤษได้ ไม่ใช่ทุกคนที่จะเรียนจบปริญญา ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีปัญญาซื้อตั๋วเครื่องบิน และไม่ใช่ทุกคนที่จะมีปัญญาไปเรียนปริญญาโทที่อเมริกา

ซึ่งที่ว่ามานี้มันคือ โครงสร้างชีวิตพื้นๆ ของพวกซีโอโอคนอินเดียในอเมริกาเลย คนพวกนี้คือคนอินเดียที่บ้านพอมีฐานะ เรียนที่อินเดียจนจบปริญญาตรี ไปต่อปริญญาโทที่อเมริกา และทำงานต่อในบริษัทไอที และไต่เต้าในบริษัทจนได้ขึ้นเป็นซีอีโอในที่สุด

คือไม่มีประเทศไหนที่ ‘ส่งออกวิศวกรคอมพิวเตอร์’ ไปอเมริกามากเท่าอินเดียอีกแล้ว และตำแหน่งงานสายนี้ที่ทำโดยคนต่างชาติในอเมริกา แทบจะครึ่งหนึ่งถูกครองโดยคนอินเดีย

ตรงนี้เลยทำให้ มองไปที่บริษัทไอทีไหนเราก็จะเจอโปรแกรมเมอร์คนอินเดีย คนเลยมีภาพว่าคนอินเดีย ‘เก่งคอมพิวเตอร์’ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่เชิง เพราะคนอินเดียก็เป็นแบบมนุษยชาติอื่นโดยพื้นฐานทางกายภาพ คนอินเดียแค่มีระบบการศึกษาที่เน้นพวกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจริงๆ ตามประสาเอเชีย ซึ่งที่เจอคนอินเดียเต็มไปหมด ก็เพราะคนอินเดียมีเยอะ มันไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้น

ที่ต้องไม่ลืมก็คือ ในอินเดีย คนที่ ‘เก่ง’ มันไม่มีที่ทางไป เพราะเศรษฐกิจไม่ได้พัฒนาไปขนาดนั้นด้วย มันอยู่ในประเทศไม่ได้ มันต้องโกอินเตอร์เท่านั้น หรือพูดง่ายๆ คุณเป็นวิศวะคอมพิวเตอร์ อยากทำงานพวกสตาร์ทอัพ ในอินเดียมันไม่มีงานให้คุณทำ ดังนั้นนี่เลยทำให้คนอินเดียที่พอมีโอกาสหน้าที่การงานแห่กันไปทำงานสายเทคโนโลยีที่อเมริกาซึ่งเป็นชาติที่พวกเขามีทักษะทางภาษาอยู่แล้ว (เพราะมันมีประเทศที่สตาร์ทอัพเยอะก็จริง แต่ไปทำงานต้องเรียนภาษาใหม่ เช่น อิสราเอลอุตสาหกรรมไอทีโตมาก แต่จะไปทำงานก็ต้องรู้ภาษาฮิบรู)

กระบวนการที่คนอินเดียเก่งไอทีแห่ไปทำงานอเมริกาที่ว่ามันไม่ได้เกิดในปีสองปี อย่างที่บอก มันเกิดตั้งแต่การแก้กฎหมายผู้ลี้ภัยในช่วง 1960s แล้ว และมันก็ค่อยๆ เปลี่ยนแรงงานในอเมริกา และมันก็สร้างแพตเทิร์นว่าชนชาติหนึ่งๆ มักจะไปทำอาชีพหนึ่งๆ ในอเมริกา เช่น คนเม็กซิกันทำงานแม่บ้าน คนฟิลิปปินส์ทำงานนางพยาบาล หรือคนอินเดียทำงานเขียนโปรแกรม เป็นต้น

ผลในระยะยาวก็คือ มันทำให้ ‘พนักงานระดับหัวกะทิ’ ของพวกบริษัทไอทีเป็นคนอินเดีย และคนพวกนี้ก็ไต่เต้าในบริษัทขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งบริหารนานแล้ว

และก็ไม่น่าแปลกเลยที่ในที่สุด คนอินเดียหัวกะทิเหล่านี้จะขึ้นเป็นซีอีโอ

ดังนั้น เรื่องเหล่านี้มันมีที่มายาวนาน และมีรากฐานจากการเปลี่ยนนโยบายผู้อพยพของอเมริกามากว่าครึ่งทศวรรษ มีรากฐานมาจากการที่อินเดียไม่มีที่ทางให้ ‘คนเก่ง’ ฯลฯ ซึ่งนี่เป็นความสมเหตุสมผลในเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของมัน

และเอาจริงๆ มองในบริบททุกวันนี้ ปรากฏการณ์ที่คนอินเดียขึ้นเป็นใหญ่เป็นโตในบริษัทไอทีอเมริกาก็ไม่น่าจะหยุดลงง่ายๆ เพราะถึงแม้ยุคหลังอเมริกาจะชะลอการรับผู้อพยพแล้ว แต่เศรษฐกิจอินเดียเองก็ยังพัฒนามารองรับ ‘คนเก่ง’ ของตัวเองไม่ได้ และมันดูจะทำให้คนอินเดียระดับ ‘หัวกะทิ’ ยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำที่จะหลุดไปทำงานที่อเมริกาได้ คือพวกเก่งกลางๆ จะไปยากแล้ว เพราะโควตาจำกัด พวกที่จะหลุดไปได้ก็คือพวกโคตรเก่งเท่านั้น และก็ไม่แปลกที่คนพวกนี้ในระยะยาวก็น่าจะได้เป็นใหญ่เป็นโตเช่นเดียวกับคนอินเดียรุ่นที่ไปทำงานก่อนหน้า

อ้างอิง: