ชอบกินนมและผลิตภัณฑ์นมกันไหมครับ? บางคนน่าจะชอบ ซึ่งเวลานึกถึงนม เรามักจะนึกถึงนมวัว อย่างไรก็ดี มันก็ไม่ได้มีแค่วัวเท่านั้นที่มี ‘นม’ เพราะจริงๆ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมดมี ‘นม’ ทั้งนั้น และมนุษย์ก็น่าจะกินได้แทบทั้งหมดด้วย
ถ้าจะให้เดาว่า ในโลกนี้ มนุษย์กิน ‘นม’ ตัวอะไรรองจากวัว คิดว่าคนส่วนใหญ่จะเดาว่า ‘แพะ’ แต่นั่นเป็นคำตอบที่ผิดครับ เพราะสัตว์ที่มนุษย์เอานมมันมาบริโภคเป็นอันดับ 2 รองจากวัว คือ ควาย
ควายนี่นะ? ใช่ครับ ควายแบบที่เรารู้จักกันนี่แหละ
บ้านเราอาจไม่คุ้นกับการกินนมควายเท่าไหร่ เพราะเราไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมที่กินนมกันมาแต่โบราณ ซึ่งเอาจริงๆ ถ้าเป็นคนภาคกลางก็คงจะไม่คุ้นกับการกินเนื้อควายด้วยซ้ำ (ทั้งที่จริงๆ มันถือเป็น ‘ของอร่อย’ ในภาคเหนือ)
แต่เอาจริงๆ ในอดีต คนก็ไม่ได้กินนมควายเท่าไหร่หรอกครับ เขากินนมวัวกันเป็นหลักทั้งนั้น เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ที่กินนมเป็นหลักคือเขตหนาว ซึ่งมันเป็นเขตที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของควาย ดังนั้นดั้งเดิมเขาเลยกินกันแต่นมวัวเป็นหลัก และเวลาพูดถึง ‘นม’ เฉยๆ มันก็หมายถึง ‘นมวัว’
อย่างไรก็ดี ในยุคนี้อันเป็นยุคที่การค้าถึงกัน สินค้าจากเขตเขตร้อนที่คนเขตหนาวบริโภคกันมากมายนี่เรียกได้ว่ามีนับไม่ถ้วน การผลิตที่หนึ่งเพื่อส่งไปบริโภคอีกที่หนึ่งซึ่งไม่ผลิตเลยไม่ใช่เรื่องแปลก โดยปัจจัยที่ทำให้ทุกวันนี้นมควายนั้นถูกผลิตและบริโภคเพิ่มขึ้นมหาศาลเป็นรองแค่นมวัวในระดับโลก ก็เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในรสนิยมทางการบริโภคนมของคนอินเดีย เพราะทุกวันนี้การที่นมควายเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีมูลค่าสูงเป็น Top 20 ของผลิตภัณฑ์การเกษตรทั้งโลกได้ มันเกิดจากการบริโภคของคนอินเดียเน้นๆ เพราะการผลิตนมควาย 2 ใน 3 ของการผลิตทั้งโลก เกิดที่อินเดีย
อินเดียเป็นประเทศที่เราจะจำว่ามันเต็มไปด้วยวัว ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่จริงๆ นี่ก็เป็นภาพที่เก่าแล้ว เพราะทุกวันนี้อินเดียเต็มไปด้วยควายเสียมากกว่า เพียงแต่เราจะไม่เห็นควายเดินตามถนนเหมือนวัว เพราะควายในอินเดียมันอยู่ตามฟาร์ม ซึ่งประชากรควายเกินครึ่งโลกทุกวันนี้ อยู่ในอินเดีย
อินเดียเป็นสังคมบูชาวัวมาแต่โบราณ และครอบครัวพอมีฐานะในอินเดียทางตอนเหนือก็จะต้องมีวัวประจำครัวเรือน โดยวัวนั้นมีบทบาททางเศรษฐกิจมากๆ สำหรับคนอินเดีย ตั้งแต่ใช้ไถนาโดยตรง ใช้นมมาเป็นแหล่งโปรตีนและไขมัน ใช้มูลมาตากแห้งทำเชื้อเพลิง เรียกได้ว่าเลี้ยงวัวตัวเดียว มีประโยชน์หลากหลายมากๆ ในสังคมเกษตร และทำให้สังคมอินเดียใกล้ชิดกับวัวมากมาแต่อดีต (จริงๆ มีนักวิชาการเคยเสนอด้วยซ้ำว่าที่คนอินเดียบูชาวัวและไม่กินวัว มันเกิดจากความสำคัญทางเศรษฐกิจของวัวที่มีมาแต่โบราณนี่เอง)
อย่างไรก็ดีในช่วงทศวรรษ 1970 การเกษตรในอินเดียก็เปลี่ยนไปภายใต้ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘การปฏิวัติเขียว’ หรือการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการเกษตรที่เกิดทั่วโลก ซึ่งอธิบายง่ายๆ คือการเปลี่ยนมาใช้รถแทร็คเตอร์ไถนาแทนวัวควาย และการเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงแทนปุ๋ยอินทรีย์ และเทคนิคการควบคุมศัตรูพืชแบบโบราณ
การปฏิวัติเขียวส่งผลมหาศาลต่อโลกในแง่ของการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร นั่นเป็นสิ่งที่เราจะไม่พูดในที่นี้ แต่อีกสิ่งที่มัน ‘disrupt’ ก็คือ การไถนาของวัว หรือพูดง่ายๆ คือมันทำให้วัว ‘ตกงาน’
ผลของการ ‘ตกงาน’ ของวัวควายในสังคมส่วนใหญ่ก็คือ คนก็เลี้ยงเพื่อการเกษตรกันน้อยลง นี่คือเรื่องปกติ แต่สังคมที่ ‘บูชาวัว’ อย่างอินเดีย สิ่งที่มีลักษณะพิเศษก็คือ คนอินเดียฆ่าวัวไม่ได้ ดังนั้นผลก็คือวัวในอินเดียทุกวันนี้ก็เลยจะเดินเตร็ดเตร่ไปทั่ว เพราะแม้มันไม่มีหน้าที่ทางเศรษฐกิจเหมือนสมัยก่อน แต่จะฆ่าทิ้งก็ไม่ได้เพราะมีข้อห้ามทางศาสนา
แม้ว่าวัวจะไม่มีบทบาททางเศรษฐกิจเหมือนเดิมแล้ว แต่สิ่งที่มันมีบทบาทมากๆ ในวัฒนธรรมอินเดีย (โดยเฉพาะตอนเหนือ) ก็คือมันเป็นตัววางโครงสร้างอาหารการกินและโภชนาการของคนอินเดียเลย เพราะคนอินเดียตอนเหนือ ส่วนใหญ่เป็นมังสวิรัติ ไม่กินเนื้อสัตว์ใดๆ และแหล่งโปรตีนและไขมันหลักๆ ของคนอินเดียก็มาจากนมวัวและผลิตภัณฑ์นมทั้งนั้น ซึ่งเวลามันอยู่ในอาหาร คนอินเดียจะกินมันในรูปของชีสและโยเกิร์ตสไตล์อินเดียต่างๆ
ดังนั้นถึงแม้ว่าคนอินเดียจะไม่นิยมเลี้ยงวัวแล้ว คนอินเดียก็ยังต้องการกินนม ชีส และโยเกิร์ตอยู่ และนั่นเป็นปัจจัยที่ทำให้ ‘นมควาย’ มีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น หลังจากวัวนั้นหมดบทบาททางการเกษตรไปแล้วในอินเดีย
ทำไมต้อง ‘นมควาย’? อธิบายง่ายๆ เน้นๆ เลยคือ ‘นมควาย’ ตอบโจทย์ด้านอาหารการกินของคนอินเดียได้มากกว่านมวัวเยอะ เพราะมันมีไขมันมากกว่านมวัวเป็นสองเท่าตัว ซึ่งนี่ก็เป็นปัจจัยที่เพียงพอแล้วที่มันจะเป็นนมที่เอาไปทำชีสและโยเกิร์ตได้ดีกว่านมวัว เพราะคนอินเดียก็น่าจะเช่นเดียวกับคนจากแทบทุกที่ในโลกที่รู้สึกว่า รสชาติที่ ‘มัน’ กว่า = อร่อยกว่า
นอกจากนมควายจะตอบโจทย์ด้านรสชาติของฝั่งผู้บริโภคมากกว่านมวัวแล้ว ทางฝั่งผู้ผลิต การเลี้ยงควายนั้นก็คุ้มค่ากว่าเลี้ยงวัว ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า ถ้าเลี้ยงวัวรีดนม วัวแก่ไปก็ส่งเข้าโรงเชือดไม่ได้ เพราะข้อห้ามทางศาสนา แต่ข้อห้ามเดียวกันนี้ ไม่ได้บังคับใช้กับควาย ดังนั้นควายที่เลี้ยงเพื่อเอานม หากแก่ถึงขั้นให้นมได้น้อยลง ทางเจ้าของยังสามารถส่งเข้าโรงเชือดเพื่อแปรรูปควายให้เป็น ‘เนื้อควาย’ พร้อมทั้งสร้างรายได้ ได้อีกด้วย ซึ่งแม้ว่าคนอินเดียจะเป็นมังสวิรัติกันถึงราวๆ 30 เปอร์เซ็นต์ แต่คนอื่นๆ ก็กินเนื้อควายกัน และเหนือไปกว่านั้น อินเดียยังเป็นผู้ส่งออกเนื้อควายรายใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย ซึ่งเนื้อที่ว่านี้รู้จักกันในตลาดโลกว่า Carabeef หรือ Carabao Meat (ซึ่งปลายทางใหญ่คือ เวียดนาม เพราะที่นั่นจะมีการลักลอบส่งไปจีนอีกทีในฐานะ ‘เนื้อวัว’ แต่นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเล่ากันยาวว่าทำไมมันเป็นแบบนั้น)
สรุปง่ายๆ ควายและนมควายนั้นดีกว่าวัวและนมวัวอย่างชัดเจนทั้งจากมุมของผู้บริโภคและผู้ผลิตในอินเดีย มันก็เลยส่งผลให้คนอินเดียในภาคการเกษตรนั้นเปลี่ยนมาเลี้ยงควายอย่างต่อเนื่อง จนทุกวันนี้ที่ผลผลิตส่วนใหญ่ที่เคยได้จากวัวในอดีต เปลี่ยนมาเป็นได้จากควายไปหมดเรียบร้อยแล้ว
อ้างอิง
- The Hindu Business LIne. Cow Belt or Buffalo Nation? https://bit.ly/3OaItlS
- Times of India. Cow Milk vs. Buffalo Milk: Pros and cons. https://bit.ly/3kL0BTR
- The Indian Express. Where Indian buffalo meat exports go. https://bit.ly/3kL0BTR
- Medium. Cow V/s Buffalo Milk — An Analysis. https://bit.ly/32U1pQd
- Wikipedia. https://bit.ly/301020w