ถ้าคนไทยไม่ได้เปิดรับวัฒนธรรมมาจากฝั่งตะวันตก ชีวิตเซ็กซ์ของคนไทยก็คงอาจปราศจากการ “จูบปาก” ต่อไป
เซ็กซ์ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแค่บทรักที่บรรเลงกันอยู่บนเตียง แต่หมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพศในรูปแบบรักโรแมนติกด้วย
อ้างอิงจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 เพราะเนื่องจากวิถีชีวิตคนไทยแต่เดิมนั้นกินหมากกันจนฟันดำ ไม่ใช้แปรงสีฟัน ทำความสะอาดอย่างมากก็ใช้เปลือกหมากหรือไม้ข่อยถูๆ เอา การแสดงความรักโดยการใช้ปากสัมผัสอีกฝ่าย จึงมีแค่การหอมแก้ม หรือจุ๊บปากนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น
แต่หลังจากคนไทยเลิกกินหมาก การจูบก็ยังไม่เป็นที่นิยม เพราะเนื่องจากคนไทยยังมีความเชื่อกับทัศนคติที่ว่าข้างในปากคืออาณาเขตส่วนตัว สกปรก จึงไม่สมควรจะดูดปากแลกลิ้นกัน ซึ่งไม่ต่างจากการถือหัวของผู้ชาย หรือการถือว่าผ้าถุงเป็นของต่ำ
ส่วนตัวผู้เขียนเองก็เคยมีประสบการณ์สมัยเด็ก ที่ได้เจอชาวตะวันตกเขาจูบปากกันในที่สาธารณะแล้วรู้สึกตกใจ หรือเคยได้นั่งดูหนังอเมริกันร่วมกับครอบครัว ที่พอถึงฉากจูบปากทีไร คนรอบข้างที่เป็นผู้ใหญ่มีอายุอานามก็แสดงท่าทาง “ยี้” กันเป็นแถบๆ
แต่การที่คนไทยไม่จูบปากนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะวัฒนธรรมอีกครึ่งโลกก็ไม่ได้บรรเลงรักด้วยการจูบปากแต่อย่างใด “William Jankowiak” ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเนวาดา ลาสเวกัส (the University of Nevada Las Vegas) ค้นพบจากการศึกษาวัฒนธรรมจาก 168 ที่ทั่วโลกว่ามีเพียง 46 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีการใช้ปากจูบปากเพื่อแสดงความรักเชิงโรแมนติก
ในประเทศไทย แม้จะมีเรื่องราวทางเพศจะปรากฏตามภาพจิตรกรรมฝาผนังในนาม “ภาพสังวาส” ของหญิงชายที่กำลังเกี้ยวพาราสี กอดรักฟัดเหวี่ยงจนเสื้อผ้าหลุดลุ่ย แต่สิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดกับการจูบในบทบรรเลงรักเหล่านั้นเป็นเพียงแค่การ “หอมแก้ม” เท่านั้น
ถ้าไปดูตาม “บทอัศจรรย์” หรือ “ฉากเซ็กซ์” ตามวรรณคดีไทย ก็ยิ่งเห็นชัดว่า คนไทยไม่นับการจูบปากให้อยู่ในเรื่องบนเตียงจริงๆ
ในงานวรรณกรรมราชสำนัก ช่วงก่อนจะรับจารีตของประชาชนโดยการใช้ความเปรียบในบทอัศจรรย์ จะมีการกล่าวถึงพฤติกรรมทางเพศอย่างตรงไปตรงมา
เช่น ในเรื่อง “ราชาพิลาป” แต่งขึ้นช่วงราวๆ สมัยรัตนโกสินทร์ ก็มีเพียงประโยค “จุมพิตณนงคริมไร โอษฐคันธกัลยา” ที่หมายถึงการจุมพิษที่ข้างๆ ริมฝีปากเท่านั้น ไม่ได้บดเบียดริมฝีปากกันจะๆ
ในบทรักหญิงสองชายหนึ่งในเตียงเดียวอย่างเรื่อง “ลิลิตพระลอ” จะมีประโยค “เชยชมชู้ ‘ปากป้อน’ แสนอมฤตรสข้อน สวาทเคล้าคลึงสมรฯ” ที่ถ้าอ่านแบบไม่รู้ลึกมาก คนสมัยนี้ก็อาจตีความว่ามันคือการจูบปาก แต่แท้จริงแล้ว “ปากป้อน” ที่ว่านี้ หมายถึงการพูดฉะอ้อน พูดเอาใจเท่านั้นเอง
ส่วนในเรื่อง “อิเหนาคำฉันท์” แต่งโดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ก็มีประโยค “สองโอษฐเอมอร ตฤบรสรสาสรรพ์” ที่อาจดูเหมือนว่ากำลังบรรยายถึงสองปากที่กำลังอิ่มเอมในรสของกันและกัน แท้จริงก็แล้วก็หมายถึงการที่สองฝ่ายชายหญิงกำลังฉะอ้อน ฉอเลาะแก่กันและกันเท่านั้น
การจูบปากในสังคมไทย แม้จะเริ่มมีการเลียนแบบจากวัฒนธรรมฝรั่งในสมัยร. 5 แต่ก็มักทำกันแค่ในวงแคบๆ อย่างคนที่เคยไปเรียนต่างประเทศ และเป็นเพียงเรื่องรโหฐานของคนสองคน
อย่างที่เคยยกมาตอนต้นถึงหลักฐานที่ว่ามีวัฒนธรรมเพียงครึ่งหนึ่งของโลกเท่านั้นที่จูบปากกัน ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่วิถีไทยแท้ๆ ไม่ได้รวมการจูบปากอยู่ในบทรัก
แต่ก็อาจมีข้อถกเถียงเช่นกันว่าคนไทยสมัยก่อนอาจจะจูบปากกันก็ได้ เพียงแต่ไม่นิยมทำในที่แจ้ง นิยมทำในที่ลับ จนไม่ได้เป็นที่ประจักษ์แก่ธารกำนัล แล้วไม่ได้บันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์เท่านั้นเอง
อ้างอิง
- Silpa-Mag. คนไทยเราเริ่ม “จูบปาก” ตั้งแต่เมื่อใด? . https://bit.ly/3zNAK5M
- BBC. The reasons humans started kissing. https://bbc.in/38NG8dk