3 Min

เข้าใจวิกฤตการเมืองปากีสถาน ที่เกิดจากอดีตนายกรัฐมนตรี กล้าท้าทาย ‘กองทัพ’

3 Min
541 Views
22 May 2023

นายกฯ เก่าถูกบีบให้ออกจากตำแหน่ง ประชาชนประท้วง ทหารหนุนฝ่ายค้านให้เป็นรัฐบาล และทหารก็ไล่ปราบผู้ชุมนุมที่สนับสนุนนายกฯ คนเก่า เกิดเหตุการณ์นองเลือด…

ที่พูดมานี้ไม่ใช่การเมืองไทยในอดีต แต่เป็นการพูดถึง ‘การเมืองปากีสถาน’ สดๆ ร้อนๆ ในปี 2023 ซึ่งเรื่องราวมาถึงจุดนี้ได้ยังไงต้องเล่าย้อนไปหน่อย

เมื่อปี 2018 ปากีสถานมีเลือกตั้งทั่วไป พรรคของอดีตนักคริกเก็ต ฮีโร่ประจำชาติอย่าง ‘อิมราน ข่าน’ (Imran Khan) ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ชนิดนำอันดับ 2 ขาดลอย และได้ตั้งรัฐบาล ทำให้อิมราน ข่าน ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีปากีสถาน

ข่านเป็นนายกฯ ที่ได้รับความนิยมมาก คนคาดหวังว่าจะได้เห็นการเมืองใหม่ๆ นี่เลยทำให้ข่านทำในสิ่งที่นายกฯ ปากีสถานในอดีตไม่เคยทำมาก่อน คือการวิพากษ์วิจารณ์ทหารชั้นนายพลและกองทัพ

เรื่องนี้อาจไม่แปลกในสังคมประชาธิปไตยเต็มใบ แต่สังคมที่รัฐบาลพลเรือนต้องเกรงใจ ‘ทหาร’ ตลอดเหมือนอย่างปากีสถาน การที่คนลุกมาโจมตีทหารหรือกองทัพอย่างเปิดเผยในพื้นที่สาธารณะเป็นสิ่งที่ผิดปกติของชีวิตมาก เพราะในประเทศเหล่านี้ การเกรงใจ ‘คนมีปืน’ เป็นเหมือนกฎที่ไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ยิ่งถ้าเปรียบกับไทย คนส่วนใหญ่ก็อาจจะจำไม่ได้ว่ามีนายกฯ คนไหน ‘วิจารณ์กองทัพ’ อย่างเปิดเผยบ้าง ซึ่งสถานการณ์ในปากีสถานก็คล้ายๆ กัน คงเข้าใจกันไม่ยาก

ทีนี้ข่านก็เป็นนายกฯ ที่ ‘ค่อนข้างแรง’ ในการพยายามจะให้ทหารถอยออกจากการเมือง แต่หลังจากที่เขาขึ้นเป็นนายกฯ ได้ปีเศษ โควิด-19 ก็แพร่ระบาดทั่วโลก เศรษฐกิจปากีสถานที่แย่อยู่แล้ว ก็เลยยิ่งแย่ไปอีก เงินเฟ้อกระจุยกระจาย คนตกงานเพียบตามสเต็ป ภาวะแบบนี้ผู้นำดีๆ เก่งๆ ก็ยังโดนด่า เพราะไม่มีใครทำอะไรได้ และสุดท้ายเนื่องจากปากีสถานเป็นระบบการเมืองหลายพรรค ถึงพรรคของข่านจะชนะ แต่ก็ไม่แลนด์สไลด์ ขั้วอำนาจเปลี่ยนได้ตลอด สุดท้ายข่านเลยถูกพรรคร่วมรัฐบาลรวมกับฝ่ายค้านรวมหัว ‘โหวตไม่ไว้วางใจ’ ฐานจัดการเศรษฐกิจช่วงโควิดไม่ดีจนต้องออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงกลางปี 2022 และหลังจากพ้นตำแหน่งเขาก็โดนเช็กบิล เพราะถูกไล่ฟ้องสารพัดคดี รวมกันเป็น 100 คดี ตั้งแต่คดีคอร์รัปชัน ยันหมิ่นศาสนา

แต่พอหลุดจากตำแหน่ง ข่านก็ ‘เต็มที่กับชีวิต’ เลยก็ว่าได้ ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนข่านก็มองว่าฝ่ายตรงข้ามต้องการเอาคดีการเมืองมาสกัดการเคลื่อนไหว ทำให้ข่านนำการประท้วงเรื่อง ‘ทหารแทรกแซงการเมือง’ และม็อบฝ่ายที่อยู่ข้างเดียวกันก็ออกมารวมตัวประท้วงด้วย จนกลายเป็นม็อบใหญ่โตมากๆ (ทั้งนี้ ข่านได้คะแนนเสียง 1 ใน 3 ของคะแนนทั้งหมดตอนชนะเลือกตั้ง ซึ่งผู้สนับสนุนแบบนี้ก็ถือว่ามากพอจะจัดม็อบมาชนรัฐบาลแบบสบายๆ)

และจะเรียกว่าทางกองทัพ ‘กลัว’ ข่านก็น่าจะได้ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีใครลุกขึ้นมาท้าทายกองทัพปากีสถานในระดับนี้มาก่อน และนี่อาจเป็นเหตุผลให้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 มีความพยายามจะ ‘ลอบสังหาร’ ข่าน กลางการชุมนุม ซึ่งข่านโดนยิงเข้าที่ขาและไม่ตาย แถมยังประกาศว่า กองทัพอยู่เบื้องหลังการลอบสังหารครั้งนี้ ซึ่งก็แน่นอน กองทัพปฏิเสธ แต่คนปากีสถานส่วนใหญ่เชื่อตามข่าน ทำให้กระแสต่อต้านกองทัพแรงขึ้นไปเรื่อยๆ

สุดท้าย ข่านเจอหน่วยคอมมานโดบุกจับกุมถึงบ้าน ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2023 ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องปกติแน่ๆ ที่ ‘คอมมานโด’ จะบุกบ้านอดีตนายกรัฐมนตรีเพื่อจับกุมคดีคอร์รัปชัน เพราะถ้าเป็นประเทศอื่นๆ ที่เป็นประชาธิปไตยก็ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย พูดง่ายๆ เหตุการณ์จับกุมรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้ยิ่งชัดเจนมากขึ้นว่า การเล่นงานข่านทั้งหมดมันมีแรงจูงใจทางการเมืองเบื้องหลังชัดเจน และในขณะเดียวกันก็เป็นการยืนยันว่า สิ่งที่ข่านพูดในการประท้วงนั้น ‘มีมูล’

ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2023 ข่านก็ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ แต่ผู้สนับสนุนข่านก็ไม่ยอมง่ายๆ เดินขบวนไปล้อมทั้งบ้านนายพลและหน่วยทหาร เพื่อกดดันให้ปล่อยตัวข่านออกมา และก็แน่นอนอีกว่า ทางกองทัพก็ส่งทหารออกมาปราบม็อบกันจนมีคนตายและบาดเจ็บจำนวนไม่น้อย แต่ม็อบก็ไม่ยอมและประท้วงต่อไป ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองปากีสถานตึงเครียดสุดๆ

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นในชาติตะวันตก จนอาจจะดูเป็นเรื่องแปลกสำหรับคนในประเทศพัฒนา แต่สำหรับผู้คนในประเทศที่ ‘ทหารยังมีอิทธิพลเหนือการเมือง’ ก็คงจะเห็นว่าที่ว่ามาทั้งหมดคือ ‘หนังม้วนเดิมๆ’ ทั้งนั้น ซึ่งคำถามว่าจะทำยังไงทหารถึงจะออกไปจากการเมือง พวกนักรัฐศาสตร์และนักประวัติศาสตร์คงเถียงกันกระจุยกระจาย เพราะ ‘ทางออก’ ของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน และก็น่าจะเลียนแบบกันไม่ได้ด้วย

แต่ที่แน่ๆ โดยทั่วไป การจะกดดันหรือผลักดันให้ทหารออกจากการเมืองไม่ใช่การสู้แค่ยกเดียวจบ แต่ต้องสู้กันหลายยก และอาจใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี ดังนั้นประเทศไหนที่อยู่ในภาวะแบบนี้ก็เรียกได้ว่าต้องต่อสู้อย่างอดทนกันไปยาวๆ กว่าจะมี ‘ประชาธิปไตยเต็มใบ’ กันในที่สุด