รู้จัก “ทัตสึ” แล้ว รู้จัก “อิคุเมน” ไหม? ดูการต่อสู้ค่านิยม “ผู้ชายทำงาน ผู้หญิงอยู่บ้าน” ของญี่ปุ่น

4 Min
473 Views
13 May 2021

“ตอนนี้…ฉันเป็นพ่อบ้านแล้ว”

เขาพูดด้วยเสียงเคร่งขรึม ดวงตายากูซ่าซ่อนอยู่หลังแว่นดำ บนหัวผูกผ้าคาดผม บนตัวสวมผ้ากันเปื้อนสีขาวที่มีรูปหมาชิบะแลบลิ้น

ลูกน้องเก่าของยากูซ่าในตำนาน ‘ทัตสึคนอมตะ’ ไม่เข้าใจว่าทำไมลูกพี่สุดโหดของเขาถึงทิ้งการงาน เพื่อมาตั้งใจเรียนทำอาหารแบบนี้ และเหมือนทัตสึรู้ว่าในใจลูกน้องเก่ากำลังคิดอะไร เขาจึงอธิบายต่อไปโดยมีดนตรีร็อคบาดใจช่วยขับประโยคของเขาให้ดราม่าและโคตรเท่ยิ่งขึ้น

“ฉันกำลังปกป้องถิ่น (บ้าน) ของฉัน ด้วยวิธีของฉันเอง”

ทัตสึยื่นผลงานโครเกต์ชีสชิ้นเอกสุดน่ากินให้ลูกน้องเก่า ก่อนกล่าวจบว่า

“นายไม่อาจปกป้องสิ่งสำคัญด้วยความรุนแรงได้หรอกนะ”

นี่คือฉากสั้นๆ ฉากหนึ่งของแอนิเมชั่นดัดแปลงจากมังงะเรื่อง “The Way of the House Husband” หรือชื่อญี่ปุ่นคือ “Gokushufudou” ผลงานลายเส้นสุดฮาของ “Kousuke Oono” ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้

แม้จะเป็นฉากสั้นๆ ที่ปูมาไว้เพื่อตบมุก (มุกอะไร หาดูต่อได้ในเน็ตฟลิกซ์) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ทัตสึ” อดีตยากูซ่าที่หันมาปรนนิบัติบ้านเมียและบ้านอย่างจริงจังคนนี้ ทำให้การเป็นพ่อบ้านดูเป็นสิ่งที่ “โคตรเท่”

แต่รู้ไหม กว่าที่จะมีทัตสึคุงในวันนี้ พ่อบ้านยุคแรกเริ่มหลายๆ คนในญี่ปุ่นเคยต้องอยู่อย่างยากลำบากเพราะอับอายในหน้าที่ของตน

หนึ่งในนั้นคือ “Shuishi” ชายวัย 30 อดีตพนักงานสายไอที ที่เคยต้องทำงานเฉลี่ยมากกว่าเดือนละ 120 ชั่วโมง

“ฉันจะออกไปทำงานหาเงิน ส่วนคุณก็อยู่บ้านดูแลตัวเองเถอะนะ”

นี่คือสิ่งที่ Shuishi ไม่ได้คาดคิดว่าจะได้ยิน หลังจากเขาเสนอหย่ากับภรรยา เพราะทราบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis)

เหตุการณ์ในชีวิตของ Shushi ฉากนี้ เกิดขึ้นในช่วงต้นยุค 2000 ที่ภาพคุ้นตาของชายญี่ปุ่น คือบุรุษสวมสูทถือกระเป๋าเอกสาร ยืนเบียดบนรถไฟฟ้าเพื่อไปทำงาน และญี่ปุ่นเองก็มีค่านิยมที่เชื่อว่า การทำงานหนักเป็นการแสดงออกถึงความเป็น “ชายที่สมบูรณ์แบบ”

ค่านิยมนั้นย้อนกลับมาทำร้าย Shuishi

เวลาเขาจะออกไปซื้อของที่ร้านค้าในเวลากลางวัน เวลาที่ชายเช่นเขาควรใส่สูทอยู่ในออฟฟิศ เขามักจะเปลี่ยนชุดจากชุดอยู่บ้านไปเป็นชุดสูท เพราะในช่วงเวลานั้น ภาพชายสวมชุดธรรมดาซื้อของในเวลาทำงาน ถือเป็นภาพแปลกตาในสังคมญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีศัพท์สแลง “Himo” ที่แปลว่า สาย เอาไว้เรียกผู้ชายที่อยู่บ้านให้เมียเลี้ยง

ช่วงเวลาที่ Shuishi กำลังปรับตัว และต้องต่อสู้กับค่านิยมอย่างยากลำบาก ญี่ปุ่นก็กำลังเผชิญกับปัญหาประชากรเกิดใหม่ที่ลดลงเรื่อยๆ

รัฐบาลญี่ปุ่นเคยคิดว่ารากของปัญหาอัตราการเกิดตกต่ำ คือ “งาน” เพราะถ้าผู้หญิงทำงาน พวกเธอจะแต่งงานช้าลง มีลูกช้าลง เป็นความเชื่อที่ได้รับมาจากฝั่งอนุรักษนิยมของทางอเมริกา และแม้จะมีนโยบายโอกาสการจ้างงานอย่างเสมอภาค (EEO) กำเนิดขึ้นมาหลังปี 1986 แต่ญี่ปุ่นก็ยังจ่ายเงินเดือนให้ผู้หญิงน้อยกว่ามาก และไม่ค่อยยอมเลื่อนขั้นให้

แต่แม้จะกีดกันหน้าที่การงานกับผู้หญิง แต่เหมือนปัญหาเด็กเกิดน้อยก็ยังจะทวีความน่าหนักใจต่อไป

ญี่ปุ่นงมโข่งกับนักวิจัยทั่วประเทศอยู่นานว่าปัญหาจริงๆ อยู่ตรงไหน สุดท้ายแล้ว ก็ได้คำตอบใหม่ ว่าปัญหามันอยู่ที่ “ผู้ชาย” ไม่ใช่ “งาน”

ผู้หญิงมองว่าการมีลูกไม่น่าพิสมัย ไม่ใช่เพราะงานเยอะ แต่เพราะผู้ชายไม่ค่อยชอบช่วยเลี้ยงลูกต่างหากล่ะ

อาชีพเก่าของ Shuishi คือพนักงานไอทีซึ่งใช้เวลาในออฟฟิศถึงเดือนละกว่า 120 ชั่วโมง ตัวเขาและภรรยายังไม่มีลูก ส่วนเพื่อนในบริษัทที่มีลูก ก็แทบไม่ค่อยได้เจอหน้าเจ้าตัวเล็กที่บ้าน

สถิติในช่วงปี 1980 ชี้ว่าบรรดาพ่อๆ มีเวลาอยู่กับลูกไม่ถึง 40 นาทีต่อวัน (รวมเวลากินข้าวกับครอบครัวแล้ว) และยังมีผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า ผู้ชายญี่ปุ่นจะไม่ชงชาเอง และไม่สามารถจัดเสื้อผ้าของตัวเองโดยไม่มีภรรยาช่วย นอกจากนั้น พ่อยังมีบทบาทเป็น “ผู้ปกครอง” ลูก ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกจึงเหมือนกับผู้บังคับบัญชาและผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา จนเป็นที่มาของสำนวนสื่อถึง 4 สิ่งที่เด็กญี่ปุ่นกลัวมากที่สุดคือ jishin, kaminari, kaji, oyaji หมายถึง แผ่นดินไหว ฟ้าผ่า ไฟไหม้ และ “พ่อ”

ในปี 2008 รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานได้ออกสำรวจเหล่าคุณพ่อที่มีงานประจำ และค้นพบว่า หนึ่งในสามของพวกเขาอยากใช้เวลากับลูกๆ และอยากลาคลอดสำหรับฝ่ายพ่อ (Paternity leave) แต่ตนเองกลัวจะไม่ได้รับการยอมรับจากหัวหน้า ซึ่งก็คือเหล่าคนรุ่นเก่า กับธรรมเนียมเก่าๆ ที่คิดว่า การใช้เวลากับลูกๆ เป็นสิ่งที่ผู้ชายไม่ทำกัน

เพื่อต่อสู้กับค่านิยมเก่า ญี่ปุ่นจึงได้เริ่มร่างโครงการ “the Ikumen Project” ขึ้นมา

​​“Ikumen” มาจากการรวมกันของคำว่า ikuji แปลว่า รักลูก และคำว่า ikemen ที่แปลว่า หนุ่มฮอตหล่อล่ำ ซึ่งเป็นผู้ชายในอุดมคติแบบใหม่ของสังคมญี่ปุ่น ตรงกันข้ามกับพ่อผู้เหินห่างและบ้างานแบบเดิม

ตามสถานีรถไฟใต้ดินและตามท้องถนนในย่านคึกคัก ป้ายโฆษณาชิ้นใหม่เริ่มปรากฏแก่สายตาคนญี่ปุ่น เป็นภาพโปสเตอร์นักแสดงชายสวมสุดซูเปอร์แมน ยืนยืดอกอย่างผึ่งผาย ราวกับคำว่า “Ikumen” ที่พาดอยู่กลางอกทำให้เขาภูมิใจอย่างถึงที่สุด

โครงการ “Ikumen” ผลักดันบรรดาพ่อๆ ให้ความสำคัญกับครอบครัวมากขึ้น มีนโยบายสนับสนุนให้บริษัทเป็นที่ที่เอื้อต่อการทำหน้าที่พ่อ รวมถึงสนับสนุนสื่อต่างๆ ให้โปรโมตภาพลักษณ์ Ikumen แม้กระทั่งมีรางวัล “Ikumen แห่งปี” ให้กับเหล่าเซเลบริตี้ญี่ปุ่นเพื่อเป็นแบบอย่าง

เวลาผ่านไปล่วงเลยมาปี 2012 Shuishi มีลูกชายหนึ่งคน และเขาไม่ใช่ชายส่วนน้อยที่รับบทเป็นพ่อบ้านเลี้ยงลูกอีกต่อไปแล้ว และในปี 2015 เขาเริ่มพบปะกับกลุ่มที่มีชื่อว่า “สมาคมลับผองเพื่อนชาวพ่อบ้าน (Himitsu Kessha Shufu no Tomo)” ซึ่งคนในสมาคม มองว่าตัวเองเป็น “ขั้นกว่า Ikumen”

“Ikumen คือพ่อบ้านพาร์ทไทม์”

Shuishi อธิบาย

“แต่ว่าพ่อบ้านที่แท้จริง คือ ลูกจ้างเต็มเวลาที่อุทิศตนในหน้าที่”

คาแรคเตอร์ “ทัตสึ” ยากูซ่าผู้ทุ่มเทในหน้าที่พ่อบ้านนี้ จึงเป็นเหมือนผลพวงของค่านิยมสมัยใหม่ ที่รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งใจปั้นมันขึ้นมา สุดท้ายแล้ว แม้การกำเนิดของ Ikumen จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงค่านิยมของคนญี่ปุ่นได้อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ แต่มันก็ช่วยขยายพื้นที่ให้ทั้งหญิงและชายได้ร่วมยืนเคียงข้างกัน แทนที่จะยืนกันคนละฝั่งในกรอบของการดูแลครอบครัว

ว่าแต่คุณล่ะ เป็นพ่อบ้านเหมือนกันไหม?

อ้างอิง:

  • Topic. Japan’s Work Culture and the First Wave of Stay-At-Home Dads. https://bit.ly/3xqUj30
  • Brandthink. มือก็ไกว ดาบก็แกว่ง Ikumen ยอดมนุษย์พ่อที่จะมาช่วยกอบกู้สังคมญี่ปุ่น. https://bit.ly/3t538fs