‘บีเวอร์’ เป็นสัตว์อีกชนิดที่เกือบสูญพันธุ์ไปจากโลก จากการล่าอย่างหนักหน่วงของมนุษย์ในอดีต
สาเหตุหลักๆ มาจากความต้องการขนของมันเพื่อไปทำหมวก (สินค้าฮิตในยุคสมัยหนึ่ง) จากที่เคยมีบีเวอร์อยู่บนโลกสามสายพันธุ์ ตอนนี้ก็เหลืออยู่เพียงสองสายพันธุ์
และอีกสาเหตุก็อาจเป็นเรื่องเชิงนามธรรมสักนิด ที่เราอาจยังไม่เข้าใจความหมายของการมีชีวิตอยู่ และเรื่องราวที่ถูกเรียกว่าสายสัมพันธ์ในธรรมชาติ
เมื่อบีเวอร์สร้างเขื่อน
เมื่อพูดถึงบีเวอร์ สิ่งที่เรานึกออกตามมาก็คือ พวกมันเป็นสัตว์ที่ชอบสร้างเขื่อนในแม่น้ำ หรือในความหมายหนึ่งก็คือ ‘บ้าน’ สำหรับอาศัยและหลบภัยจากหมาป่าหรือหมีที่เป็นศัตรูตามธรรมชาติของพวกมัน
แต่ในความหมายที่มากกว่านั้น การมีอยู่ของเขื่อนและตัวบีเวอร์ คือการเติมเต็มความอุดมสมบูรณ์ให้สิ่งมีชีวิตนานับชนิดได้เข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันในสมบัติสาธารณะ
หากบีเวอร์หายไป เขื่อนก็หายไป สัตว์หลายชนิดที่ต้องพึ่งพาโครงสร้างทางวิศวกรรมศาสตร์ทางธรรมชาติก็จะหายตามไปเช่นกัน
ภาพที่ชัดเจนประการหนึ่งหลังจากบีเวอร์หายไปเพราะถูกล่าและป่าถูกทำลาย คือจำนวนปลาแซลมอนที่ลดน้อยถอยลงตามมาอย่างมีนัยสำคัญ
เราอาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่าปลาแซลมอนในธรรมชาติได้สูญพันธุ์เพราะถูกจับมากเกินไปในน่านน้ำหลายแห่ง แต่ขณะเดียวกันความล่มสลายของระบบนิเวศก็ถือเป็นอีกตัวการใหญ่ที่คุกคามชีวิตแซลมอนและสัตว์น้ำอีกเป็นจำนวนมาก
ในที่นี้เราจะไม่พูดถึงการกินแซลมอนของคน เพราะต่างรู้ดีว่าส่วนใหญ่แซลมอนในจานนั้นส่งตรงมาจากฟาร์ม แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าปลาแซลมอนไม่ได้เป็นอาหารของคนเพียงสายพันธุ์เดียว แต่หมีกริซลีย์เองก็ต้องการปลาแซลมอนไม่ต่างจากเราเหมือนกัน
ที่หลบภัยของแซลมอน
ปัจจุบัน มีนักอนุรักษ์กลุ่มเล็กๆ กำลังทำโครงการชื่อว่า ‘Tulalip Beaver Project’ เพื่อย้ายเอาบีเวอร์ที่ระหกระเหินรอนแรมมาอยู่กลางเมืองเพราะป่าถูกทำลาย ให้ได้กลับไปอยู่ในระบบนิเวศที่เหมาะสมกับพวกมันอีกครั้ง
โครงการนี้ดำเนินการในพื้นที่ชุมชนหลายแห่งในรัฐวอชิงตัน โดยมีความหวังลึกๆ ว่าการส่งบีเวอร์กลับป่า จะช่วยเพิ่มจำนวนแซลมอนในธรรมชาติได้ในอนาคต
เมื่อบีเวอร์เริ่มลงมือสร้างเขื่อน กระแสน้ำจะไหลช้าลง ลูกปลาจึงไม่ต้องออกแรงในการว่ายต้านกระแสน้ำมากนัก ทำให้พวกมันมีพลังและอัตราการรอดที่มากขึ้น
เขื่อนของบีเวอร์ยังทำให้ระดับน้ำบางจุดเพิ่มสูง ช่วยระบายความร้อนในน้ำได้ดี เพราะปริมาณน้ำที่สูงทำให้ส่วนที่ลึกได้รับความร้อนจากแสงแดดได้ยาก กลายเป็นเงื่อนไขเหมาะสมกับลูกแซลมอนที่ต้องการน้ำเย็นฉ่ำ
นอกจากนี้ แอ่งน้ำลึกยังช่วยให้แซลมอนตัวน้อยได้ใช้เป็นที่หลบภับจากสัตว์นักล่า เช่น นกกระสาสีน้ำเงิน อีกด้วย
ปัจจุบัน กรมประมงของสหรัฐฯ ลงความเห็นกันชัดเจนแล้วว่า “การสนับสนุนให้บีเวอร์สร้างเขื่อน” มีความสำคัญต่อการฟื้นฟูประชากรสัตว์น้ำที่ใกล้สูญพันธุ์ทั้งแชลมอนและชนิดอื่นๆ ในโอเรกอน
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน ความเป็นไปได้ที่จะทำให้แซลมอนในธรรมชาติกลับมาอุดมสมบูรณ์นั้น นักวิทยาศาสตร์บางคนตั้งข้อสังเกตว่ามันเป็นการ ‘คาดหวังที่สูงเกินไป’ เพราะปัญหาที่เชื่อมโยงต่อการสูญพันธุ์ของปลาแซลมอนมีสาเหตุมากกว่าการหายไปของบีเวอร์ ตั้งแต่เรื่องโดยตรงอย่างการทำการประมง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้วงจรชีวิตของแซลมอนผิดเพี้ยนไปจากเดิม
ดังนั้น เรื่องนี้อาจต้องอาศัยเวลา และแก้ไขปัญหาด้านอื่นๆ ควบคู่กันไป
บีเวอร์ต้องรอด
สำหรับโครงการ Tulalip Beaver Project ที่กล่าวถึงไปนั้น เป็นโครงการเล็กๆ ที่มีทุนรอนไม่มากนัก นอกจากเป้าหมายเรื่องการฟื้นฟูระบบนิเวศดังที่กล่าวไปแล้ว โครงการนี้ยังมีวัตถุประสงค์อีกอย่างคือ การช่วยชีวิตบีเวอร์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เพราะถึงแม้ว่าบีเวอร์จะได้รับสิทธิการคุ้มครองตามกฎหมาย แต่ดูเหมือนในทางปฏิบัติจะทำได้ไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะกับกลุ่มบีเวอร์ที่อาศัยอยู่ผิดที่ผิดทาง เนื่องจากการขยายตัวของเมืองต่าง ที่ทำให้ตัวบีเวอร์ต้องระหกระเหินมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคน
ในระบบนิเวศของเมืองที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ผู้คนใช้สายตามองการมีอยู่ของบีเวอร์ไม่ต่างอะไรจากสัตว์ร้าย จากนิสัยที่ต้องตัดไม้สร้างเขื่อน ทำให้ต้นไม้ที่ผู้คนตั้งใจปลูกไว้ถูกโค่นล้ม มิหนำซ้ำ เขื่อนที่บีเวอร์สร้างยังไปกีดขวางทางระบายน้ำของชุมชน ทำให้เกิดน้ำท่วมขังถนนในบางฤดู
ในปี 2017 มีรายงานการฆ่าบีเวอร์ในรัฐวอชิงตันมากถึง 1,700 ตัว ด้วยเหตุผลสั้นๆ ว่า “รำคาญ” ส่วนในโอเรกอน และแคลิฟอร์เนีย เกษตรกรมองว่าบีเวอร์เป็น “สายพันธุ์ที่เป็นอันตราย” ขณะที่ก่อนหน้านั้นในปี 2016 กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกายอมรับว่าได้กำจัดบีเวอร์ เพราะปัญหาความขัดแย้งไปมากกว่า 23,000 ตัว ทั่วประเทศ
ฉะนั้น ภารกิจสำคัญของ Tulalip Beaver Project ก็คือการย้ายบีเวอร์กลับไปอยู่ป่า เพื่อช่วยชีวิตพวกมันและเพื่อฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศนั่นเอง
นอกจากโครงการ Tulalip Beaver Project ยังมีโครงการ Sky Beaver ที่ทำงานในรูปแบบเดียวกัน แต่กระจายกำลังกันช่วยเหลือบีเวอร์กันคนละพื้นที่ รวมถึงยังมีหน่วยพันธมิตรอื่นๆ ร่วมลงมือทำในเป้าหมายเดียวกัน
ก็หวังว่าโครงการทั้งหมดจะสำเร็จในอนาคตข้างหน้า
อ้างอิง
- Smithsonian Mag. Scientists Are Relocating Nuisance Beavers to Help Salmon. https://bit.ly/3tks571
- Earthtouch News. They Will Build it> https://bit.ly/3h3B1Lw